ทำไม? 'โรคหัวใจ' ยิ่งอายุน้อย-วัยทำงานยิ่งเสี่ยง เช็กสัญญาณเตือนที่ควรรู้

ทำไม? 'โรคหัวใจ' ยิ่งอายุน้อย-วัยทำงานยิ่งเสี่ยง เช็กสัญญาณเตือนที่ควรรู้

วันหัวใจโลก(World Heart Day)ตรงกับวันที่ 29 กันยายน ของทุกปี จัดขึ้น เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของโรคหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประชากรโลก และยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

Keypoint:

  • โรคหัวใจ ไม่ได้เลือกอายุอีกต่อไป ยิ่งอายุน้อย ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงอายุ 30-35 ปี หากไม่ได้เกิดจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ก็จะเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต
  • สัญญาณเตือนที่อาจทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ อาการเหนื่อยง่าย เจ็บแน่นหน้าอก  หน้ามืด เป็นลม หมดสติ ใจสั่น คลื่นไส้  ขาบวมผิดปกติ หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์ 
  • วันหัวใจโลก 29 ก.ย.นี้ ชวนทุกคนมาลด 5 พฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคหัวใจ  ได้แก่ การรับประทานอาหารไขมันสูง ไขมันทรานส์ ภาวะน้ำหนักเกิน ไม่ออกกำลังกาย  ภาวะความเครียด และสูบบุหรี่ ต้องหลีกเลี่ยง ลด ละ เลิก เพื่อดูแลหัวใจของตัวเอง

ปัจจุบัน 'โรคหัวใจ' เป็นโรคอันดับต้น ๆ ที่คร่าชีวิตของคนทั่วโลก มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เเละมีเเนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งโรคหัวใจไม่ได้พบเฉพาะผู้สูงวัย เเต่สามารถพบได้ในช่วงอายุ 30-35 ปี  ซึ่งอาจจะเกิดจากความผิดปกติตั้งเเต่กำเนิด หรืออาจเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่มีพฤติกรรมการกินที่ส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจ เช่น อาหารที่มีไขมันสูง อาหารรสหวาน อาหารรสเค็ม หรือ บุคคลใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจก่อนวัยอันควร

โดยสามารถจำแนกโรคหัวใจเป็น3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

1.กลุ่มที่มีความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว

2.กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน

3.กลุ่มที่มีการนำไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ เช่น โรคหัวใจเต้นพลิ้ว เป็นต้น

ทำไม? \'โรคหัวใจ\' ยิ่งอายุน้อย-วัยทำงานยิ่งเสี่ยง เช็กสัญญาณเตือนที่ควรรู้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

8 ‘อาหารลดความดัน’ ป้องกันโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

'เบาหวาน' ต้องรู้ กินอาหารแบบไหน ไม่ให้น้ำตาลสูง

‘หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน’ ทำไมคนร่างกายแข็งแรงก็ยังเสี่ยงเกิดภาวะนี้ ?

 

สาเหตุของโรคหัวใจในคนอายุน้อย

รศ. นพ.ทศพล ลิ้มพิจารณ์กิจ สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า โรคหัวใจที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเยอะที่สุดทั่วโลกคือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน พบได้มากในผู้สูงอายุ ตามมาด้วยโรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคกล้ามเนื้อหัวใจ แม้ในอดีตโรคหัวใจจะเป็นโรคที่พบเจอได้บ่อยในผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันกลับพบว่าคนที่อายุยังน้อยหรือวัยรุ่นก็มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้มากเช่นกัน

โดยสาเหตุหลักๆ ของโรคหัวใจในคนอายุน้อยนั้น  มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง

"คนอายุน้อยมักจะเป็นโรคหัวใจที่เกิดจากความผิดปกติที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่พบมากที่สุดก็คือการสูบบุหรี่ บางคนอายุแค่ 30 – 35 ปี ก็เป็นโรคหัวใจแล้ว หรือแม้แต่คนที่ร่างกายแข็งแรง เป็นนักกีฬาก็มีความเสี่ยงในการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติได้ โดยเฉพาะนักกีฬาอาชีพหรือผู้ที่ใช้ร่างกายหนัก ๆ ควรจะต้องตรวจเช็กสุขภาพหัวใจก่อนทุกครั้งเพื่อดูว่าสามารถเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่หักโหมได้หรือไม่"

ทำไม? \'โรคหัวใจ\' ยิ่งอายุน้อย-วัยทำงานยิ่งเสี่ยง เช็กสัญญาณเตือนที่ควรรู้

 

ทำไมคนอายุน้อย ถึงหัวใจล้มเหลว

หัวใจล้มเหลว คือ ภาวะที่หัวใจไม่สามารถปั๊มเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ เพราะหัวใจคนเรานั้นเปรียบได้กับ 'ปั๊มน้ำ' ถ้าหากปั๊มอ่อนแรง ก็จะไม่สามารถส่งน้ำออกไปใช้งานได้ ดังนั้น เมื่อหัวใจอ่อนแรงไม่สามารถปั๊มเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วล่ะก็ อวัยวะต่างๆ ของร่างกายก็จะเริ่ม 'ขาดเลือด' หรือ 'ไม่สามารถใช้เลือดได้' ไม่สามารถนำเอา 'ออกซิเจนในเลือด' ไปใช้งานได้ ซึ่งมักนำมาสู่ 'อาการวูบ' เป็นลม หรือถ้าหากเป็นถึงขั้นรุนแรง คือปั๊มเลือดออกไม่ได้เลย ก็จะทำให้ 'เลือดท่วมท้นอยู่ในปอด' ทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า 'น้ำท่วมปอด' หายใจไม่ทัน กลายเป็นหัวใจล้มเหลวจนถึงขั้นทำให้หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตได้

สาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวที่พบได้บ่อยก็คือ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยที่เป็นพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจต้องแบกรับน้ำหนักเยอะ ต้องทำงานหนัก จนพองโตและนำไปสู่หัวใจล้มเหลวในที่สุด

เหตุผลที่ทำให้ 'ภาวะหัวใจล้มเหลว' ถูกพบได้ในคนไข้ที่มีอายุน้อยเพิ่มมากขึ้น ก็เนื่องมาจาก

  • 'พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้คนในปัจจุบัน' ที่หันมานิยมบริโภคอาหารจำพวกฟาสต์ฟู้ดส์เยอะขึ้น
  • นิยมบริโภคอาหารที่มีรสหวาน บริโภคน้ำตาลเยอะขึ้น รวมไปถึงบริโภคอาหารรสจัด รสเค็มที่มีเกลือ มีโซเดียมสูง
  • ล้วนแต่เป็นปัจจัยนำไปสู่โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ได้ง่ายขึ้น ซึ่งโรคทั้ง 2 นี้ถือว่าเป็นพิษต่อหัวใจและหลอดเลือด ทำให้มีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวได้ง่าย และเร็วขึ้นกว่าเดิมแม้จะยังมีอายุน้อยอยู่
  • พฤติกรรมที่ขาดการออกกำลังกาย ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวเร่งโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้เช่นกัน
  • ทานอาหารไม่เหมาะสม จนทำให้น้ำหนักเกินมาตรฐาน ก็จะเป็นสาเหตุนำไปสู่การเกิดโรคในกลุ่ม Non-communicable Disease หรือ NCDs ซึ่งก็คือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ฯลฯ ซึ่งเป็นพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นพิษต่อหลอดเลือด จนเป็นสาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุดนั่นเอง

ทำไม? \'โรคหัวใจ\' ยิ่งอายุน้อย-วัยทำงานยิ่งเสี่ยง เช็กสัญญาณเตือนที่ควรรู้

สัญญาณเตือนอาการของโรคหัวใจ

  • อาการเหนื่อยง่าย

เบื้องต้นสามารถสังเกตอาการตัวเองได้จากพฤติกรรมเดิม ๆ ที่เคยทำได้ เช่น จากที่เคยขึ้นบันไดได้สองสามชั้นแบบสบาย ๆ ตอนนี้ขึ้นแค่ชั้นเดียวก็รู้สึกเหนื่อยแล้ว แสดงว่าร่างกายของคุณเริ่มผิดปกติแนะนำให้รีบไปเช็กด่วน เพราะนอกจากโรคหัวใจแล้วยังมีโรคอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายกันอีกด้วย

  • อาการเจ็บแน่นหน้าอก

โดยเฉพาะเวลาที่ออกแรงมักจะเจ็บบริเวณหน้าอกด้านซ้าย หายใจไม่ออก อึดอัดเหมือนมีของหนักมาทับที่หน้าอก บ่งบอกว่าอาจจะเป็นสัญญาณของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้

  • อาการหน้ามืด เป็นลม หมดสติ

เนื่องจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งจะวินิจฉัยได้ถูกต้องก็ต่อเมื่อได้รับการตรวจที่โรงพยาบาลเท่านั้น

  • อาการใจสั่น คลื่นไส้
  • ขาบวมผิดปกติ

เพราะเลือดที่ขาไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจได้สะดวก ทำให้เลือดค้างและทำให้ขาบวมได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการขาบวมร่วมกับอาการอื่นๆ นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจได้เช่นกัน

5 พฤติกรรมเสี่ยงโรคหัวใจ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หลอดเลือดหัวใจเสื่อมสภาพ เกิดได้จาก 2 ปัจจัย ได้แก่

1. ปัจจัยเสี่ยงทางร่างกายที่สามารถป้องกันได้ คือโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และการสูบบุหรี่

2.พันธุกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันหรือแก้ไขไม่ได้ แต่การป้องกันโรคดีและสำคัญกว่าการรักษาโรค

โดยห่างไกลได้ด้วยการเลี่ยง 5 พฤติกรรมเหล่านี้

1. การรับประทานอาหารไขมันสูง ไขมันทรานส์ - อาหารคอเลสเตอรอลสูง

เช่น เค้ก เบเกอรี่ เนื้อสัตว์ติดมัน ชีส อาหารสำเร็จรูป ฟาสต์ฟู้ด ขาหมู หมูสามชั้น หนังสัตว์ทอด แกงกะทิมันๆ ต่างๆ และอาหารปิ้งย่าง เมื่อรับประทานอาหารประเภทนี้เข้าไปในปริมาณมาก และต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง คอเลสเตอรอลสูงจนไปอุดตันในหลอดเลือดหัวใจทำให้หลอดเลือดตีบและอุดตัน และเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้

2. น้ำหนักเกิน (ภาวะอ้วน)

 การปล่อยให้ตัวเองมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ซึ่งมีค่า BMI มากกว่า 30 มีอัตราเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังและเป็นอันตรายต่อการทำงานของหัวใจเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งมักจะเกิดจากการมีไขมันเกาะในหลอดเลือดมาก ส่งผลให้การไหลเวียนโลหิตติดขัด กระทั่งหัวใจขาดเลือด และเสียชีวิตอย่างกะทันหัน นอกจากนี้ภาวการณ์อ้วนลงพุง โดยผู้หญิงที่มีรอบเอวมากกว่า 40 นิ้ว และผู้ชายที่มีรอบเอวมากกว่า 45 นิ้ว ต้องระวังตนเองเป็นพิเศษ เนื่องจากรอบเอวที่ใหญ่เกินไป ส่งผลถึงสุขภาพหัวใจด้วย

3. ภาวะความเครียดมากเกินไป

 ผู้ที่มีความเครียดมากๆ และเครียดอยู่เป็นประจำคือ กลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจเต้นผิดปกติมากที่สุด เพราะความเครียดจะไปกระตุ้นให้หัวใจทำงานหนักขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น จนอาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ รวมไปถึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัว ซึ่งเป็นภาวะที่หลอดเลือดแดงมีไขมัน มีการอักเสบต่างๆ มาเกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือด ก่อให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดง และเสี่ยงต่อภาวะหัวใจขาดเลือดได้

4. ขาดการออกกำลังกาย และพักผ่อนไม่เพียงพอ

หากหัวใจไม่เคยได้ออกกำลัง ก็จะทนต่อการทำงานหนักไม่ไหว เมื่อใดที่เราอยู่ในภาวะหัวใจต้องทำงานหนักแต่หัวใจรับไม่ไหว ก็จะทำให้หัวใจล้มเหลวได้ ซึ่งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพียงวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน เป็นตัวช่วยให้หัวใจได้ออกกำลัง เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับหัวใจ พร้อมใช้งานหนักได้มากขึ้น

รวมทั้งผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือน้อยกว่า 6 ชั่วโมง/วัน เสี่ยงป่วยเป็นโรคหัวใจ เนื่องจากการพักผ่อนไม่เพียงพอนั้นจะทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน และส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งทำให้เสี่ยงเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น

5. สูบบุหรี่

หลายคนอาจจะคิดว่าการสูบบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็งที่ปอดเท่านั้น จริงๆ แล้วบุหรี่เป็นสาเหตุที่สำคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เนื่องจากควันบุหรี่มีสารพิษหลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่ นิโคติน และคาร์บอนมอนอกไซด์ จะทำให้หลอดเลือดหัวใจหดตัว มีการจับตัวของไขมันที่ผนังหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจตีบลง จนเกิดภาวะหัวใจขาดออกซิเจน เส้นเลือดหัวใจตีบ เมื่อเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่ได้ จะเกิดอาการจุกเสียด เจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเวลาออกกำลังกาย มีโอกาสเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันจนเสียชีวิตได้โดยไม่รู้ตัว

ทำไม? \'โรคหัวใจ\' ยิ่งอายุน้อย-วัยทำงานยิ่งเสี่ยง เช็กสัญญาณเตือนที่ควรรู้

การป้องกัน รักษาอย่างไร? ให้ห่างไกลโรคหัวใจ

นพ. จีระศักดิ์ สิริธัญญานนท์ อายุรแพทย์ด้านโรคหัวใจ ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 3 กล่าวว่าโรคหัวใจสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ที่ส่งผลเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เเละหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีไขมันสูง รวมทั้งต้องนอนพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง เเละควรออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 3-4 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30-45 นาที อาจจะเป็นการวิ่ง ว่ายน้ำ  เป็นต้น

ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองโรคหัวใจ เป็นสิ่งที่สำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหัวใจเป็นอวัยวะหลัก ที่มีความสำคัญต่อร่างกาย ซึ่งหากตรวจคัดกรองหัวใจก่อนก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจก่อนที่จะสายเกินไป

แนวทางในการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น คือ การรักษาเพื่อให้หัวใจกลับมาแข็งแรงตามปกติ โดยอันดับแรก หากตรวจพบว่ามีน้ำและเกลือในร่างกายมากเกินไป แพทย์ก็จะต้องทำการขับเอาน้ำและเกลือในร่างกายออกก่อน หลังจากนั้นจึงให้ยาเพื่อป้องกันการทำลายกล้ามเนื้อหัวใจ และสุดท้ายก็ต้องไปรักษาที่ต้นตอว่า 'หัวใจล้มเหลวจากสาเหตุไหน?' เพื่อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำได้อีก

อย่างไรก็ตาม หากการให้ยาร่วมกับการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร ที่นำไปสู่การลดสาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ไม่ได้ผล หรือเป็นภาวะหัวใจล้มเหลวจากการที่หลอดเลือดหัวใจตีบตันมากๆ ลิ้นหัวใจรั่วรุนแรง จนไม่สามารถควบคุมรักษาด้วยการใช้ยาได้แล้ว ก็จำเป็นจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

ตรวจยีนโรคหัวใจ มีประโยชน์อย่างไรบ้าง

การตรวจหาความเสี่ยงโรคหัวใจรวมไปถึงโรคหลอดเลือดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เป็นการตรวจสุขภาพเชิงรุก ช่วยพยากรณ์ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เกิดจากพันธุกรรม เพื่อประโยชน์ในการวางแผนป้องกันและเฝ้าระวังการเกิดโรคได้ดียิ่งขึ้น การตรวจมีประโยชน์หลากหลายยกตัวอย่างเช่น

  • ทำให้ทราบว่ามียีนโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือไม่ ช่วยพยากรณ์ความเสี่ยง เพื่อวางแผนป้องกันก่อนที่จะเกิดโรค
  •  ในกรณีที่มีอาการ การตรวจช่วยหาสาเหตุ ยืนยันสาเหตุของการเกิดโรค เป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง แม่นยำ
  •   เมื่อพบการกลายพันธุ์ของยีนในผู้ป่วย ข้อมูลเหล่านี้จะสามารถใช้แนะนำสมาชิกสายตรงในครอบครัวให้ได้รับคำปรึกษาและการตรวจคัดกรองยีนต่อไปได้อย่างเหมา
  •  นอกเหนือจากนี้ผู้ป่วยที่อยู่ในขั้นตอนวางแผนครอบครัว และต้องการมีบุตร สามารถคัดกรองและวินิจฉัยความผิดปกติทางพันธุกรรมในตัวอ่อนเป็นการตรวจดูความผิดปกติของตัวอ่อนในระดับยีน ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย หรือการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) เพื่อหลีกเลี่ยงและหยุดโรคทางพันธุกรรมที่สามารถถ่ายทอดไปสู่ทารก

ตรวจยีนโรคหัวใจทำได้อย่างไร

การตรวจใช้เพียงตัวอย่างเลือดโดยไม่ต้องอดน้ำและอาหาร หรือตัวอย่างน้ำลายซึ่งต้องงดน้ำ งดอาหารประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนการตรวจ หลังจากนั้นจึงนำตัวอย่างเลือดหรือน้ำลายไปสกัดเป็นสารพันธุกรรมหรือที่เราเรียกว่า ดีเอ็นเอ (DNA) และนำไปตรวจโดยเครื่องมือในห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย เรียกขั้นตอนนี้ว่า Next Generation Sequencing เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมและแปลผล ถึงแม้ขั้นตอนการตรวจยีนจะง่ายและสะดวกสบาย แต่จำเป็นต้องใช้ความชำนาญของนักพันธุศาสตร์และแพทย์เฉพาะทางด้านเวชพันธุศาสตร์เพื่อแปลผลได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ โดยระยะเวลาในการแปลผลมักใช้เวลา 3-4 สัปดาห์

 "การตรวจยีนมีความแม่นยำสูงเพราะเป็นการใช้เทคโนโลยีที่ผ่านการใช้งานจนพิสูจน์ได้ถึงประสิทธิภาพและความแม่นยำ รวมถึงห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานสากล ผลตรวจเป็นที่รับรองทั่วโลก นอกจากนี้เรายังมีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชพันธุศาสตร์และนักพันธุศาสตร์ที่มีความชำนาญในการถอดรหัสดีเอ็นเอและแปลผลได้อย่างถูกต้อง สามารถตรวจเพียงครั้งเดียว ไม่ต้องทำซ้ำตลอดชีวิต"

 ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลโรคหัวใจ

ภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น ถ้าเป็นแล้ว ไม่มีทางรักษาหายขาด ดังนั้น ยิ่งหากเราปล่อยให้ตัวเองต้องเจอภาวะนี้เร็วขึ้น ก็จะยิ่งเท่ากับเป็นการทำให้ชีวิตเราต้องลำบากมากขึ้น มีความสุขน้อยลง เพราะปกติ คนส่วนใหญ่เป็นตอนอายุ 50 ปีขึ้นไป ก็ยังลำบากเลย แล้วถ้ามาเป็นตั้งแต่ 30 ต้นๆ ก็ยิ่งลำบาก ยิ่งเสียโอกาสในการใช้ชีวิตเข้าไปใหญ่

"เพื่อให้เราปลอดภัย มีสุขภาพแข็งแรงที่ห่างไกลจากภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องทำตั้งแต่วันนี้ และเดี๋ยวนี้เลยก็คือ 'การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต' เพื่อป้องกันไม่ให้เส้นเลือดเราเสื่อมเร็ว เราต้องดูแลตัวเองเรื่องอาหารการกิน และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ระวังอย่างให้ความดันสูง อย่าให้อ้วน อย่าให้น้ำหนักเกินมาตรฐาน อย่าให้ไขมันในเลือดสูง อย่าให้เป็นเบาหวาน อย่าสูบบุหรี่ อย่าดื่มเหล้า และก็อย่าเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะหากไม่ดูแลเรื่องเหล่านี้ล่ะก็ โอกาสที่เราจะหัวใจล้มเหลวตั้งแต่อายุน้อยๆ ก็จะยิ่งมีมากยิ่งขึ้น"

หัวใจ เสมือนเครื่องปั๊มน้ำให้กับร่างหายเพราะมีหน้าที่สูบฉีดเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย โดยในแต่ละวันหัวใจต้องทำการเต้นประมาณ 100,000 ครั้ง ซึ่งการที่หัวใจต้องทำงานตลอดเวลาและเป็นเวลานานก็มีสิทธิ์ที่จะทำงานผิดปกติและเสื่อมถอยลงไปตามอายุ และสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่ร่างกายจะส่งสัญญาณเตือนอันตรายเริ่มต้นจากโรคหัวใจ

 

หากพบความผิดปกติดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง เพราะโรคหัวใจไม่ใช่เรื่องที่ควรละเลย เมื่อรู้ถึงวิธีสังเกตโรคแล้ว การป้องกัน รักษา หัวใจ ให้ห่างจากโรค บำรุงให้อยู่ในความสมดุลตลอดชีวิต ก็สำคัญเช่นกัน งั้นมาดูวิธีง่ายๆ เพื่อดูแลหัวใจที่มีเพียงดวงเดียวของคุณ

ทำไม? \'โรคหัวใจ\' ยิ่งอายุน้อย-วัยทำงานยิ่งเสี่ยง เช็กสัญญาณเตือนที่ควรรู้

 

  •  เลี่ยงไขมันทรานส์

อาหารประเภท เบเกอรี่ ขนมขบเคี้ยว ครีมเทียม เนยเทียม มาการีน จังก์ฟู้ดส์ อาหารทอดต่าง ๆ ต่างอุดมไปด้วยไขมันทรานส์ที่มีการเติมไฮโดรเจนเข้าไปในน้ำมันพืชให้คงสภาพกึ่งแข็งกึ่งเหลวเพื่อให้น้ำมันมีคุณสมบัติที่เหมาะกับการทอด เพิ่มระดับไขมันเลว (LDL –  Low – Density Lipoproteins) ลดระดับไขมันดี (HDL – High – Density Lipoproteins) จึงส่งผลเสียต่อหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดโรคหัวใจตามมา หากบริโภคในปริมาณที่เกินพอดีหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน และเป็นต้นเหตุที่ภาวะหลอดเลือดหัวใจเสื่อมมักพบคนอายุน้อยขึ้นเรื่อยๆ

  •  ระวังเบาหวานและไขมันในเลือดสูง

จากพฤติกรรมการกินที่เกินลิมิต ทำให้เกิดเป็นโรคเบาหวานและภาวะไขมันในเลือดสูงตั้งแต่อายุน้อย ย่อมเป็นความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร โดยทั้งสองภาวะทำให้ผนังหลอดเลือดหัวใจอักเสบเรื้อรัง หากอุดตันจะส่งผลให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดชนิดเรื้อรังหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายแบบเฉียบพลันได้ ดังนั้นการควบคุมระดับน้ำตาลจึงมีความสำคัญ

  • การสูบบุหรี่

มีผลต่อหัวใจโดยตรง ไม่ว่าจะสูบมากหรือสูบน้อยล้วนเป็นตัวกระตุ้นการตีบตันของเส้นเลือดหัวใจให้เร็วขึ้น รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ  ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า 1 ใน 4 ของผู้ที่เสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบเป็นผลมาจากการสูบบุหรี่และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 10 เท่า เนื่องจากสารนิโคตินและก็าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในควันบุหรี่และสารอื่น ๆ ที่พบ ทำให้เส้นเลือดแข็ง ผนังเส้นเลือดหนา หัวใจเต้นไม่ปกติ หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ หัวใจขาดออกซิเจน เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน

  • ทานปลาบำรุงหัวใจ

ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาช่อน ปลาดุก และปลาน้ำจืดหรือปลาทะเล ล้วนมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ โดยผลการศึกษาในวารสาร JAMA ระบุว่า การที่ร่างกายได้รับกรดไขมันโอเมก้า 3 จะลดการเกิดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันรุนแรงได้ถึง 10% อีกทั้งยังลดความเสี่ยงหลอดเลือดอุดตันเพิ่มความยืดหยุ่นให้หลอดเลือด กระตุ้นการไหลเวียนเลือด และลดระดับคอเลสเตอรอล แต่หากไม่ค่อยได้ทานเมนูปลา การทานน้ำมันปลาในรูปแบบแคปซูลก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งควรประเมินความเสี่ยงโดยแพทย์เฉพาะทางก่อนรับประทาน

  • ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ

เน้นการเบิร์นไขมันด้วยการออกกำลังแบบ Fat Burn เป็นการออกกำลังกายในช่วงที่อัตราการเต้นของหัวใจเหมาะสมและมีสัดส่วนการเผาผลาญไขมันมากที่สุด อย่างน้อย5วันต่อสัปดาห์ วันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน การนอนหลับพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะถ้าอยากให้หัวใจแข็งแรง ไม่ควรนอนน้อยกว่า 6 – 8 ชั่วโมงต่อวัน ให้ ร่างกายยังคงได้พักผ่อน แต่สมองจะตื่นตัวขึ้นเพื่อกระตุ้นส่วนความจำให้ทำงานได้เต็มที่

  • จัดการความเครียด 

ความเครียด และความเครียดเรื้อรังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ส่วนความเครียดฉับพลัน โดยเฉพาะความเศร้าหลังจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในเดือนแรกเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตของผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ถึง 2 – 3 เท่า และหากมีภาวะซึมเศร้าจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจประมาณ 1.5 – 2 เท่า

การจัดการความเครียดจึงมีความสำคัญ ฉะนั้นการออกไปทำกิจกรรมพบปะเพื่อนบ้างจะช่วยให้หัวใจแข็งแรงได้ เพราะการมีความสัมพันธ์ทางสังคม (Social Relationship) ที่ดีกับบุคคลอื่นมีส่วนช่วยในการลดความเครียด ลดภาวะซึมเศร้า นำมาซึ่งการมีหัวใจที่แข็งแรง เพราะเกิดความเชื่อใจ สบายใจ เพิ่มแรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน

ทำไม? \'โรคหัวใจ\' ยิ่งอายุน้อย-วัยทำงานยิ่งเสี่ยง เช็กสัญญาณเตือนที่ควรรู้

ระบบของร่างกายล้วนสัมพันธ์กันทั้งสิ้น ทั้งร่างกายและจิตใจ จึงต้องดูแลควบคู่กันไปอย่างสมดุลเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคต่างๆ ไม่ใช่เพียงโรคหัวใจ

อ้างอิง: รามาแชนแนล ,โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4 และ โรงพยาบาลพญาไท