'ผายลม' กลิ่นที่บ่งบอกสุขภาพ จำนวนครั้งบอกโรค กลั้นตดก็เสี่ยง
'ตด' หรือ ผายลม อย่าคิดว่าไม่สำคัญ กลิ่นสามารถบ่งบอกสุขภาพได้ รวมถึง จำนวนครั้งที่ปล่อยออกมาแต่ละวันอาจบอกโรคบางอย่าง และควรปล่อยให้ตดออกมาตามธรรมชาติ อย่าพยายามกลั้น จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคได้
Keypoints:
- ตดหรือผายลม เป็นเรื่องของธรรมชาติ แต่อาจจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคลและช่วงเวลาตามสิ่งที่รับประทาน หรืออาการป่วย
- ลักษณะกลิ่น และจำนวนครั้งของการผายลมในแต่ละวัน อาจเป็นการส่งสัญญาณสุขภาพบางอย่างจากร่างกาย ลองมาเช็กกลิ่น 3 แบบ
- ถ้าพยายามกลั้นการผายลม อาจทำให้ลมนั้นถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกายผ่านผนังลำไส้ รวมถึง เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ
ตด หรือผายลม เกิดขึ้นจากการระบายลมในลำไส้ออกทางทวารหนัก ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนกาารกลืนลมเวลาที่เรากลืนอาหารกลืนน้ำลาย หรือจากการระบายแก๊สที่กิดจากการย่อยอาหารสะสมในระบบย่อย อาจมีเฉพาะเสียง กลิ่น หรือทั้งสองอย่าง
สาเหตุของการผายลม
- อาหารบางชนิดที่ทำให้เกิดแก๊สมาก เช่น อาหารโปรตีนสูง เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่ว น้ำอัดลมและแอลกอฮอล์ สำหรับอาหารที่ทำให้ตดมีกลิ่นรุนแรง เช่น คะน้า กะหล่ำปลี หน่อไม้ฝรั่งและผักที่มีกลิ่นแรง
- การกลืนอากาศระหว่างการเคี้ยวอาหาร หายใจ สูบบุหรี่
- โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ โรคลำไส้อักเสบ
- อาหารไม่ย่อย
- รับประทานอาหารในปริมาณมากและเร็วเกินไป
ประโยชน์การผายลม
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) มีการเผยแพร่ประโยชน์ของการผายลม โดยระบุว่า
1.บรรเทาอาการท้องอืด เมื่ออาหารไม่ได้ย่อยจะทำให้เกิดแก๊ส อาจมีอาการท้องอืดได้ การผายลมจึงเป็นการปล่อยก๊าซออกมา ช่วยบรรเทาอาการท้องที่อืด
2.กลิ่นสัญญาณบอกสุขภาพ หากเริ่มมีกลิ่นเน่าเหม็น อาจจะเป็นสัญญาณการแพ้แลคโตส อาหารไม่ย่อย หรือการติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร
3.ดมกลิ่น ในการผายลม จะมีสารไฮโดรเจนซัลไฟด์ออกมาด้วย ซึ่งมีการวิจัยพบว่าการสูดดมก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ในปริมาณน้อยๆ จะสามารถลดความเสียหายของเซลล์ในระยะยาวได้ และสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคไขข้อ และโรคหัวใจ
4.บ่งบอกอาจขาดสารอาหาร เนื่องจากการรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดก๊าซเป็นวิธีที่ทำให้จุลินทรีย์ในลำไส้จะได้รับสารอาหาร ถ้าไม่ค่อยผายลม นั่นก็เป็นเพราะ จุลินทรีย์ในลำไส้ของคุณไม่ได้รับสารอาหารที่ต้องการ นั่นหมายความว่าคุณต้องกินคาร์โบไฮเดรตให้มากขึ้น เช่น ถั่ว เมล็ดธัญพืช กะหล่ำปลี หัวหอม เป็นต้น
กลิ่น-จำนวนครั้งตดบอกสุขภาพ
กลิ่นของการผายลม สามารถบอกสุขภาพภายในสำไส้ได้ 3 แบบ
- ไร้กลิ่น เกิดได้จากทานโปรตีนน้อย
- มีกลิ่น เกิดจากการทานอาหารที่มีโปรตีนหรือผักที่มีกลิ่นแรง
- มีกลิ่นแรง มากผิดปกติอาจเกิดจากลำไส้มีการติดเชื้อแบคทีเรีย ลำไส้ที่มีอุจจาระค้างอยู่นานหรือลำไส้อุดตัน
สำหรับจำนวนครั้งที่ควรผายลดต่อวัน
- จำนวนครั้งที่ผายลมต่อวันอาจมากน้อยแตกต่างกันไป ซึ่งขึ้นอยู่กับอาหารที่รับประทาน และสุขนิสัยการขับถ่าย ตราบใดที่ไม่มีอาการแน่นท้องก็ถือว่าปกติ
- ถ้าสังเกตุพบว่าผายลมน้อยกว่าปกติหรือแน่นท้อง อาจเสียงต่อการเป็นโรคลำไส้อุดตัน
อย่างไรก็ตาม ทางการแพทย์ระบุว่ามนุษย์ต้องตดเฉลี่ยวันละ 10-20 ครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติเป็นการระบายแก๊สที่สะสมอยู่ในร่างกายที่อาจส่งผลให้ท้องอืด แต่หากมีกลิ่นและเสียงผิดปกติ หรือเกิดขึ้นพร้อมกับอาการทางเดินอาหารอื่นๆ อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าระบบการย่อยมีความผิดปกติ หรืออาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ โรคลำไส้อักเสบ
อันตรายของการกลั้นผายลม
การกลั้นผายลม จะทำให้ลมในลำไส้ไม่สามารถออกมาได้ เกิดการสะสมอยู่ในลำไส้มากขึ้น และอาจจะดันลมออกมา เมื่อลำไส้มีการบีบตัวแรงขึ้น ลมก็อาจออกมาทางทวารหนักในรูปแบบของผายลม หรืออาจถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกายผ่านผนังลำไส้
ทั้งนี้ การกลั้นผานลม อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ ที่เกิดการอักเสบ นูนพอง บริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง หรือผนังช่องท้องที่ไม่แข็งแรง และมีถุงเล็กๆ ขึ้นมา ส่งผลให้มีการบวม แดง เป็นฝี กลายเป็นแผลแตกได้
ความเสี่ยงของโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ มีสาเหตุเกิดได้จาก
- อายุที่สูงขึ้น
- พันธุกรรม หรือการเป็นฝาแฝดกัน
- การสูบบุหรี่
- การใช้ยาสเตียรอยด์ การใช้ยาแก้ปวดที่ก่อให้เกิดการเสพติด รวมทั้งการใช้ยาแอสไพริน หรือยาแก้อักเสบในกลุ่มเอ็นเสดติดต่อกันเป็นเวลานาน
- คนอ้วน
- ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย
- ผู้ที่ไม่รับประทานผัก ผลไม้ จะไม่มีไฟเบอร์ หรือกากใยอาหารในการกระตุ้นการขับถ่าย รวมทั้งการขาดวิตามินดี
- การกลั้นการผายลม ทำให้เกิดการสะสมของแก๊สในระบบทางเดินอาหาร ช่องท้องจึงเกิดการขยายตัว และเป็นสาเหตุของโรคถุงผนังลำไส้อักเสบได้
อ้างอิง: รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ,รพ.เพชรเวช,สสส.,รพ.สมิติเวช