‘รอยช้ำปริศนา’ บนร่างกาย อาจเสี่ยงเป็นโรคร้ายที่คาดไม่ถึง

‘รอยช้ำปริศนา’ บนร่างกาย อาจเสี่ยงเป็นโรคร้ายที่คาดไม่ถึง

รอยช้ำปริศนา ? ที่เกิดขึ้นตามร่างกายของเรา บางครั้งเกิดจากการกระแทกขอบโต๊ะ เก้าอี้ ซึ่งไม่เป็นอันตราย สามารถหายเองได้ใน 1-2 สัปดาห์ ขณะเดียวกัน ก็เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรหมั่นสังเกตอาการ หากรอยช้ำมีขนาดใหญ่กว่า 2 ซม. หรือมีอาการอื่นร่วมด้วยควรรีบปรึกษาแพทย์

Key Point :

  • รอยช้ำตามร่างกาย หาสาเหตุไม่ได้ เดินไม่ระวัง ! ชนขอบโต๊ะขอบเตียงจนเป็นรอยช้ำตามร่างกาย เหตุการณ์แบบนี้อาจเกิดขึ้นหลายครั้งในชีวิตประจำวัน
  • ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 50 ขึ้นไป ที่เส้นเลือดเปราะบาง เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังเสื่อมถอย การทานยาบางชนิด และโรคประจำตัว ทำให้เกิดความเสี่ยงจ้ำเลือดง่ายกว่าคนปกติ
  • รอยช้ำเหล่านี้จะสามารถหายได้เองในระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่หากมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้น เช่น มีไข้สูง รอยช้ำมีขนาดใหญ่ขึ้น อาจมีความผิดปกติทางร่างกายได้

 

 

รอยช้ำ ตามร่างกายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง ผศ.พญ.กชวรรณ บุญญวัฒน์ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า รอยช้ำ จ้ำเลือด เป็นอาการที่เกิดขึ้นตามผิวหนังของร่างกาย โดยส่วนใหญ่มักเกิดตามหลังการกระทบกระแทก เช่น ชนสิ่งของ หกล้ม บางครั้งอาจมีอาการกดแล้วเจ็บร่วมด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ในผู้สูงอายุที่มากกว่า 50 ปีขึ้นไป อาจพบรอยช้ำตามหลังการกระทบกระแทกที่ไม่รุนแรงได้ ซึ่งเกิดจากผิวหนังที่บางเนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้น ร่วมกับความเปราะบางของเส้นเลือดฝอย เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังเสื่อมถอยลง โดยเฉพาะด้านนอกของแขน หลังมือ แต่ไม่เป็นอันตราย นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุจากยา หากคนไข้ได้รับยาประเภทสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน หรือทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด รวมถึงโรคประจำตัวที่มีความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดความเสี่ยงจ้ำเลือดง่ายกว่าคนปกติ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

รอยช้ำ เกิดจากอะไร

รอยช้ำ เป็นการบาดเจ็บบริเวณผิวหนังที่เกิดขึ้นจากเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังแตก และมีเลือดสะสมอยู่ใต้ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นเกิดเป็นรอยช้ำขึ้นมา ซึ่งจะหายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์

สาเหตุ

  • การกระแทกอย่างรุนแรง เช่น ตกบันได เจาะเลือด หรือชนขอบโต๊ะ
  • ยาบางชนิด เช่น แอสไพริน ยาต้านการแข็งตัวของเลือดหรือยากลุ่มสเตียรอยด์
  • ขาดสารอาหารบางอย่าง เช่น วิตามินซี
  • อายุที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผิวหนังมีความบอบบาง
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับวาย หรือไตวายเรื้อรัง
  • การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสเดงกี
  • เกล็ดเลือดต่ำหรือเกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ
  • มีความผิดปกติของระบบการแข็งตัวของเลือด

 

รอยช้ำแบบไหนที่ควรเข้ารับการตรวจรักษา

ส่วนใหญ่รอยช้ำที่เกิดจากการกระทบกระแทกหรืออุบัติเหตุจะสามารถหายเองได้ในระยะเวลา 2 สัปดาห์ จึงไม่มีความอันตราย อย่างไรก็ตาม หากรอยช้ำที่เกิดขึ้นไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ หรือรอยช้ำที่มีขนาดใหญ่ ขนาด 2 เซ็นติเมตรขึ้นไป เกิดบริเวณหลายตำแหน่งในร่างกาย คลำได้เป็นก้อนใต้ผิวหนัง เกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน อาจมีเลือดออกผิดปกติบริเวณอื่นร่วมด้วย หรือมีอาการร่วมอื่น ๆ เช่น ไข้สูง อ่อนเพลีย เจ็บบริเวณรอยช้ำเพิ่มมากขึ้น อาจจะต้องปรึกษาแพทย์เพื่อประเมิน วินิจฉัย และทำการรักษาต่อไป

 

"รวมถึง จ้ำเลือดที่เกิดขึ้นใต้ชั้นผิวหนังลงไป เช่น ชั้นกล้ามเนื้อ ชั้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน หรือ เกิดขึ้นร่วมกับมีเลือดออกบริเวณอื่น ตามเยื่อบุต่างๆ เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดา ประจำเดือนมามากในผู้หญิง ซึ่งเกิดพร้อมกับจ้ำเลือดเหล่านี้ ต้องเข้ารับการรักษา"

 

 

รอยช้ำเสี่ยงโรคอะไรบ้าง

รอยช้ำที่เกิดขึ้นในบางครั้งอาจเป็นอาการที่บ่งบอกโรคหรือภาวะผิดปกติของร่างกายบางอย่างได้ โดยเฉพาะโรคในระบบเลือด หรือหลอดเลือด โดยโรคที่อาจเป็นไปได้ เช่น โรคเกล็ดเลือดต่ำ หรือมีภาวะเกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ

  • ภาวะไขกระดูกทำงานบกพร่อง
  • โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

 

วิธีรักษารอยช้ำเบื้องต้น

รอยช้ำที่เกิดขึ้นหากมีอาการที่ไม่รุนแรงหรือผลข้างเคียงเกิดขึ้นสามารถรักษารอยช้ำเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง ดังนี้

ประคบเย็น

  • รอยช้ำที่เกิดภายใน 48 ชั่วโมงแรก จากการกระทบกระแทกควรประคบเย็นทันที โดยเอาน้ำแข็งใส่ถุงพลาสติกห่อด้วยผ้า แล้วนำมาประคบบริเวณที่มีรอยช้ำอย่างน้อย 20 นาที เนื่องจากความเย็นจะทำให้เลือดใต้ผิวหนังมีความแข็งตัว

ประคบร้อน

  • เมื่อระยะเวลาผ่านไป 2 วัน หลังจากการเกิดรอยช้ำสามารถประคบร้อนได้ โดยการใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นมาประคบในบริเวณที่มีรอยช้ำครั้งละ 10 นาที วันละ 2-3 ครั้ง เพื่อให้เลือดมีการไหลเวียนได้ดีขึ้นทำให้รอยช้ำหายเร็ว

รับประทานยาแก้ปวด

  • หากผู้ป่วยมีอาการปวดร่วมด้วยสามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ เช่น ยาพาราเซตามอล

 

รอยช้ำที่เกิดขึ้นตามร่างกายอาจมีสาเหตุที่แน่ชัด เช่น การกระทบกระแทกสิ่งของหรือการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ซึ่งสามารถรักษาหายได้ด้วยการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและหายเองได้โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามหากรอยช้ำที่เกิดเป็นมากขึ้น หรือมีความผิดปกติร่วมดังที่กล่าวข้างต้น ควรเข้าพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

 

"สำหรับ การป้องกันสำหรับผู้สูงอายุ แนะนำว่า ควรจัดที่อยู่อาศัยให้ไม่มีความเสี่ยง ป้องกันการกระทบกระแทก พลัดตกหกล้ม วางของให้เป็นที่ ขณะเดียวกัน ผิวหนังที่เสื่อมตามอายุ ควรหลีกเลี่ยงแสงแดด ทาครีมให้ผิวหนังชุ่มชื่นก็สามารถช่วยได้" 

 

 

 

อ้างอิง : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี