ปี 2567 'โอกาส-ความท้าทาย' ตลาดอาหารสุขภาพสูงวัย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กลุ่มผู้สูงอายุ บทบาทสำคัญ ต่อธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม คาด ปี 2567 มูลค่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุ ไม่ต่ำกว่า 34,000 ล้านบาท ขยายตัวราว 6% จากปีที่ผ่านมา
Key Point :
- ผู้สูงอายุ เรียกว่าเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงบริการต่างๆ มีการพัฒนาเพื่อรองรับสังคมสูงอายุมากขึ้น
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปี 2567 มูลค่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุ ไม่ต่ำกว่า 34,000 ล้านบาท ขยายตัวราว 6%
- หากผู้ประกอบการมีการขยายการลงทุนและรุกตลาดมากขึ้น ก็ยังมีโอกาสขยายฐานลูกค้าผู้สูงอายุไปยังกลุ่มอื่นๆ เช่น ต่างจังหวัด และต่างประเทศ
จากฐานประชากรผู้สูงอายุไทยในปี 2566 ที่คาดว่ามีอยู่ราว 13 ล้านคน จะเพิ่มขึ้น เป็น 16 ล้านคน ภายในปี 2570 หรือเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรไทยทั้งหมด ส่งผลให้กลุ่มผู้สูงอายุจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นต่อธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยว่า จากกำลังซื้อของผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ที่ไม่สูงมาก สะท้อนจาก 34% ของจำนวนผู้สูงอายุไทยที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี จึงเป็นความท้าทายต่อธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ในการปรับแผนธุรกิจให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุ เพื่อรักษายอดขายและฐานลูกค้า ท่ามกลางค่าครองชีพที่ยืนสูง ต้นทุนการผลิตอาหารผู้สูงอายุที่ยังแพงกว่าการผลิตอาหารทั่วไป และการแข่งขันที่รุนแรง
คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุปี 2567 อาจอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 34,000 ล้านบาท ขยายตัวราว 6% จากปีที่ผ่านมา สะท้อนการเติบโตแบบระมัดระวัง โดยเป็นผลจากการขยายตัวของฐานประชากรผู้สูงอายุกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพ ซึ่งน่าจะขยายตัวได้ราว 4.5% จากปีที่ผ่านมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 'พาสูงวัย ไปหาหมอ' บริการมาแรง รับสังคมสูงวัย
- เทรนด์เที่ยวสูงวัยมาแรง! เช็คลิสต์ 5 ที่เที่ยวเอาใจวัย 'เกษียณ'
- เคลื่อนสังคมสูงอายุไทย ลดภาระผู้ดูแล ด้วยเทคโนโลยี
ขณะที่ฝั่งของค่าใช้จ่ายอาจเติบโตได้เพียง 1.5% จากปีที่ผ่านมา จากกำลังซื้อผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่ไม่ได้สูงมาก และหากเปรียบเทียบกับภาพรวมตลาดอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดของไทยที่มีมูลค่ากว่า 2.9 ล้านล้านบาท ก็ถือเป็นสัดส่วนที่ยังไม่สูง แต่ยังมีโอกาสจะเติบโต
ทั้งนี้ การเจาะตลาดระยะแรก ควรพุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้สูงอายุที่มีกำซื้อและมีภาวะพึ่งพิง โดยเน้นชูคุณภาพวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ทตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุ ภายใต้ราคาที่เข้าถึงง่าย โดยตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท หลัก คือ
1) อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุทั่วไป คิดเป็นสัดส่วน 92% ของมูลค่าตลาด อาหารเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุทั้งหมด ซึ่งเหมาะต่อการเจาะตลาดในระยะแรก เพราะเข้าถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเต็มใจจ่ายและต้องการอาหารที่เข้ามาช่วย ส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ไม่ยาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีรายได้สูง หรือมีรายได้ต่อปีเฉลี่ย 100,000 บาทขึ้นไป กลุ่มนี้มีสัดส่วนเกือบ 22% ของประชากรผู้สูงอายุไทย ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
2) อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง แม้จะมีสัดส่วนในตลาดเพียง 8% แต่มีแนวโน้มเติบโตจากจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงที่จะเพิ่มขึ้น จาก 4.1 แสนคนในปี 2564 คาดเพิ่มเป็นเท่าตัวที่ 8.3 แสนคน ภายในปี 2580 กลุ่มนี้ต้องการอาหารที่เฉพาะเจาะจง เหมาะสมกับโรค สภาพร่างกายและการรักษา ซึ่งโอกาสอาจอยู่ที่การร่วมมือกับสถานพยาบาลในการผลิตหรือหาช่องทางจำหน่ายร่วมกัน
ตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ของผู้สูงอายุยังเติบโตได้แบบค่อยเป็นค่อยไป ตามการเพิ่มขึ้นประชากรผู้สูงอายุไทย ทั้งสำหรับผู้สูงอายุทั่วไป จากการหันมาใส่ใจสุขภาพเชิงป้องกัน และอาหารทางการแพทย์สำหรับกลุ่มที่มีภาวะพึ่งพิง หากผู้ประกอบการมีการขยายการลงทุนและรุกตลาดมากขึ้น จนทำให้มีสินค้าหลากหลาย และทำราคาให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย ก็ยังมีโอกาสขยายฐานลูกค้าผู้สูงอายุไปยังกลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้สูงอายุในต่างจังหวัด รวมถึงโอกาสในการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุมาก อาทิ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป เป็นต้น