คุณแม่ต้องระวัง 'น้ำผึ้ง' อันตรายสำหรับทารก ต่ำกว่า 1 ปี ห้ามกิน !
คุณแม่ต้องระวัง 'ป้อนน้ำผึ้งให้ลูก' อาจเป็นการป้อนยาพิษ แม้น้ำผึ้งจะมีสรรพคุณมากมาย และมาจากธรรมชาติ แต่อาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย Clostridium botulinum ก่อให้เกิดโรคโบทูลิซึม ส่งผลให้ป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี
Key Point :
- 'น้ำผึ้ง' อาหารที่มาจากธรรมชาติ มากสรรพคุณ ซึ่งหลายคนมองว่าอาหารที่มาจากธรรมชาติ มักมีประโยชน์และไร้โทษ
- แต่รู้หรือไม่ว่า 'น้ำผึ้ง' เป็นพิษสำหรับทารก โดยเฉพาะอายุน้อยกว่า 1 ปี อาจก่อให้เกิดโรคโบทูลิซึมในทารก ป่วยรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิต
- อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าผู้ปกครองนำน้ำผึ้งป้อนเด็กทารก ในหลายกรณี ไม่ว่าจะผสมน้ำผลไม้ หรือคำแนะนำในโลกโซเชียลที่ว่า รักษาไอกรนในเด็ก จนแพทย์ต้องออกมาเตือนบ่อยครั้ง
วัยทารกเป็นวัยที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคได้ง่าย เนื่องจากเด็กในวัยนี้มีภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ต่ำ ดังนั้น เวลาที่ผู้ปกครองจะให้ลูกรับประทานอาหารอะไร ก็ควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะ ‘น้ำผึ้ง’ ที่หลายคนมองว่าเป็นอาหารจากธรรมชาติ และไม่มีพิษมีภัย แต่รู้หรือไม่ว่า คุณแม่อาจกำลังป้อนยาพิษให้กับลูกน้อย
หลายครั้งมีความเข้าใจผิดๆ ที่ผู้ปกครองนำน้ำผึ้งไปป้อนให้กับเด็กทารก ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ หมอหมู - รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ยกตัวอย่าง เด็กทารกวัย 2 เดือน เกือบเสียชีวิต หลังจากแม่ทานน้ำผึ้ง เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการป่วยรุนแรง จนทำให้เกิดอาการชักและเกือบเสียชีวิต
โดยเด็กทารกคนนี้เกิดมาโดยไม่มีปัญหาสุขภาพ แต่อาการของเขาทรุดลงอย่างรวดเร็วภายหลังจากรับประทานน้ำผึ้ง และได้เข้ารับการรักษาในห้องไอซียู เนื่องจากมีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้ออ่อนแรง ปอดติดเชื้อ หายใจลำบาก และมีอาการชัก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "นมแม่" สายใยแห่งรัก สร้างความผูกพันทางใจ จากแม่สู่ลูก
- 'มนุษย์แม่' ที่ทุกคนต้องการ คือ คนธรรมดา?
- 'ลูกน้อยกินยาก' แก้ได้ด้วยการฝึกวินัยการกิน
ทีมแพทย์ได้ส่งอุจจาระของเด็กชายไปตรวจและค้นพบ Clostridium botulinum ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สร้างสารพิษที่ทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกับที่ใช้ในโบทอกซ์ โชคดีในกรณีนี้ ทารกฟื้นตัวเต็มที่หลังจากต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลาหนึ่งเดือนและได้รับการรักษาด้วยยาต้านพิษ
หรือ จากกรณีที่ The Japan Times รายงานว่า มีทารกวัย 6 เดือน เสียชีวิตจากภาวะโบทูลิซึมในเด็กทารก (Infant Botulism) เหตุจากครอบครัวป้อนทารกด้วยน้ำผึ้งผสมกับน้ำผลไม้ นอกจากนี้ ยังพบคำแนะนำการป้อนน้ำผึ้งให้ทารก เพื่อรักษาอาการต่างๆ เช่น ไอกรน ในโลกโซเชียลจนแพทย์ต้องออกมาเตือน
ทำไมทารกกินน้ำผึ้ง ถึงอันตราย
หมอหมู อธิบายว่า เด็กทารกอายุต่ำกว่า 1 ขวบห้ามรับประทานน้ำผึ้ง เพราะในน้ำผึ้งอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย Clostridium botulinum ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคโบทูลิซึมในทารก (Infant botulism) โรคโบทูลิซึมเป็นภาวะที่เกิดจากสารพิษของเชื้อ Clostridium botulinum ซึ่งสามารถทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงและอาจเสียชีวิตได้ ระบบทางเดินอาหารของทารกยังไม่สมบูรณ์ ความเป็นกรดในลำไส้ยังไม่สามารถกำจัดเชื้อ Clostridium botulinum ได้ จึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อนี้ได้มากกว่าผู้ใหญ่
รู้จักกับโรคโบทูลิซึม
ข้อมูลจาก นิตยสารสาระวิทย์ โดย สวทช. อธิบายว่า โรคโบทูลิซึม เป็นภาวะอาหารเป็นพิษที่เกิดจากการได้รับสารพิษจากเชื้อแบคทีเรียคลอสติเดียมโบทูลินัม (Clostridium Botulinum) ที่ปนเปื้อนในอาหาร โดยเชื้อนี้เจริญเติบโตได้ดี และสร้างสสารพิษในภาวะที่มีออกซิเจนน้อย มักพบใน
1. อาหารกระป๋องที่มีการจัดเก็บไม่ได้มาตรฐาน เช่นมีรอยบุบ รั่ว หรือแตก
2. หน่อไม้ปี๊ป ที่ไม่ได้ปรุงด้วยความร้อนนานพอ หรือปรับค่าความเป็นกรดที่เหมาะสม
3. น้ำผึ้ง
อาการ
ภาวะโบทูลิซึม สามารถเกิดได้กับเด็กทารกที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี สารพิษจะทำให้มีอาการ ดังนี้
- ท้องเสีย หรือท้องผูก
- กลืนน้ำ และอาหารลำบาก
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- อาจมีอาการหายใจลำบาก
- หรือหัวใจหยุดเต้น
- หากไม่รีบไปพบแพทย์อาจเกิดอันตรายจนเสียชีวิตได้
เนื่องจากทารกมีการพัฒนาการของระบบย่อยอาหารยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ แบคทีเรียซึ่งเข้าสู่ทางเดินอาหารจึงแบ่งตัวสร้างสปร์ และสารพิษได้ แต่กรณีเด็กโต หรือผู้ใหญ่ ลำไส้จะกำจัดเชื้อออกไปจากร่างกายได้ก่อนที่เชื้อจะเพิ่มจำนวนจึงทำให้สามารถบริโภคน้ำผึ้งได้โดยไม่อันตราย
นอกจากนี้ น้ำผึ้งยังมีรสหวานจัดการให้ทารก หรือเด็กบริโภคน้ำผึ้งนั้นจะทำให้ติดรสชาติหวาน ฟันผุ เป็นโรคอ้วนหรือขาดสารอาหารที่มีประโยชน์ได้จะเห็นได้ว่าไม่ควรให้ทารกที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปีกินน้ำผึ้งโดยเด็ดขาด เพราะอาจเสี่ยงได้รับเชื้อหรือสารพิษได้ดังนั้นก่อนที่จะให้ลูกน้อยรับประทานอาหารอะไรควรศึกษาให้ดีก่อนไม่เช่นนั้นอาจเกิดอันตรายได้
โรคไอกรนในเด็ก
โรคไอกรนในลูกน้อย จะป้องกัน ดูแลอย่างไร ?
ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า 'โรคไอกรน' เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Bordetella pertussis ก่อให้เกิดการไออย่างรุนแรงต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์
โดยเฉพาะในเด็กทารกและเด็กเล็กจะมีความรุนแรงมาก จํานวนผู้ป่วยโรคไอกรนได้ลดลงอย่างมากหลังจากเริ่มมีการใช้วัคซีนไอกรน แต่ในระยะหลังจํานวนผู้ป่วยโรคไอกรนได้เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ
อาการของโรคไอกรน
แบ่งออกได้เป็น 3 ระยะคือ
- ระยะต้น ผู้ป่วยจะมีอาการนําามูกไหล แน่นจมูก ไอเล็กน้อยเหมือนอาการหวัด ระยะนี้อาจเป็นอยู่นานประมาณ 1-2 สัปดาห์
- ระยะรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการไอรุนแรงติดกันไม่มีจังหวะพักตั้งแต่ 5 ครั้งขึ้นไปและเมื่อจบชุด ผู้ป่วยจะพยายามหายใจเข้าอย่างแรง จนเกิดเสียงดังฮู้ปขึ้น ในเด็กเล็กอาจมีอาการเขียวได้เนื่องจากอาการไอรุนแรงมาก ผู้ป่วยส่วนมากมีอาการอาเจียนร่วมด้วยหลังการไอ ผู้ป่วยบางรายอาจมีเลือดออกในตาขาวและมีจุดเลือดออกกระจายอยู่บริเวณใบหน้าและลําตัวท่อนบน อาการในระยะนี้จะเป็นอยู่นานประมาณ 10 วันถึง 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นนานถึง 2-6 สัปดาห์
- ระยะฟื้นตัว อาการไอจะค่อยๆ ทุเลาและหายไปในเวลา 6-10 สัปดาห์ อาการไอแต่ไม่รุนแรงอาจคงอยู่เป็นเวลาหลายสัปดาห์
ภาวะแทรกซ้อนที่สําคัญที่บางครั้งอาจมีความรุนแรงถึงแก่ชีวิต ได้แก่ ภาวะแทรกซ้อนทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งพบได้บ่อย โดยเฉพาะปอดอักเสบและปอดแฟบ นอกจากนั้นยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนทางสมอง ผู้ป่วยอาจมีอาการชัก เกร็ง หรือซึมลงได้
การรักษา
การรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะจะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ โดยเฉพาะถ้าให้ในระยะแรก แต่ถ้าให้หลังจากผู้ป่วยมีอาการไอแล้วอาจไม่ค่อยมีผลต่อการดําเนินโรค แต่ก็ยังแนะนําเพื่อลดการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น ยาที่แนะนําให้ใช้ได้ ได้แก่ erythromycin, azithromycin หรือ clarithromycin ซึ่งยาเหล่านี้สามารถใช้ได้ทั้งเพื่อการรักษาและการป้องกันในผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไอกรน
การป้องกันโรคไอกรน
การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การให้วัคซีน วัคซีนป้องกันไอกรนจะให้โดยการฉีดที่อายุ 2, 4, 6, 18 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ปี
วัคซีนไอกรนนี้จัดเป็นวัคซีนพื้นฐานซึ่งเด็กทุกคนต้องได้รับ วัคซีนไอกรนที่เป็นวัคซีนพื้นฐานนี้เป็นชนิดเต็มเซลล์ อยู่ในรูปของวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน มีประสิทธิภาพดีในการป้องกันโรค แต่อาจมีปัญหาเรื่องของผลข้างเคียง เช่น อาการปวด บวม แดง ในตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ ร้องกวน ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน และมีผื่นได้ บางรายมีอาการร้องกวนไม่หยุดเป็นเวลานาน และอาการทางระบบประสาท
วัคซีนไอกรน ที่เป็นวัคซีนทางเลือกอีกชนิดหนึ่งเป็นชนิดไม่มีเซลล์ ซึ่งจะพบผลข้างเคียงต่างๆ น้อยกว่าวัคซีนไอกรนชนิดเต็มเซลล์ วัคซีนไอกรนชนิดไม่มีเซลล์นี้อยู่ในรูปของวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนเช่นเดียวกัน และยังอาจรวมกับวัคซีนอื่นๆ ที่เป็นวัคซีนทางเลือกที่ให้ในช่วงอายุเดียวกันได้ เช่น โปลีโอ ตับอักเสบบี และวัคซีนป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ
ในเด็กโตอายุ 10-12 ปี สามารถรับวัคซีนป้องกันคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เช่นเดียวกันแต่วัคซีนที่ใช้จะเป็นชนิดที่ต่างกับวัคซีนที่ใช้ในเด็กเล็ก เด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนไอกรนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันหลังจากอายุ 10-12 ปี ก็สามารถรับวัคซีนนี้ได้เช่นกันจําานวน 1 ครั้ง หลังจากนั้นแนะนําให้ฉีดวัคซีนคอตีบ-บาดทะยักกระตุ้นซ้ำทุกๆ 10 ปี
ในเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือนซึ่งยังได้รับวัคซีนไม่ครบ 3 ครั้ง ระดับของภูมิคุ้มกันอาจไม่เพียงพอในการป้องกันโรค เมื่อสัมผัสกับผู้ป่วยก็อาจมีอาการได้
ปัจจุบันแนะนําให้ฉีดวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน สําหรับผู้ใหญ่ จํานวน 1 ครั้ง แก่หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ระหว่าง 27-36 สัปดาห์ เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์สร้างภูมิคุ้มกันต่อไอกรนในระดับที่สูงและสามารถให้ภูมิคุ้มกันนี้ผ่านไปยังทารกในครรภ์และป้องกันโรคไอกรนได้
อ้างอิง :