‘Healthy Organization Day ปีที่ 2’ ส่งไม้ต่อ 'องค์กรสุขภาพดี' สู่คนทั้งประเทศ
เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จับมือ สสส. จัดกิจกรรม Healthy Organization Day ปีที่ 2 ขับเคลื่อนองค์กรสุขภาพดี (Healthy Organization) ผ่านหลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพ (Health Leader) ในสถานที่ทำงาน
จากข้อมูลสถานการณ์กิจกรรมทางกายเพียงพอประเทศไทยซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ที่ส่งผลให้ตัวเลขการมีกิจกรรมทางกายของวัยผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นวัยทำงาน ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จนเกิดปัญหาด้านสุขภาพตามมา โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า หลังจากเกิดสถานการณ์โควิด 19 ทำให้วัยทำงานมีกิจกรรมทางกายลดลงจาก 66.8 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2564 เหลือ 65.8 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2565 หมายความว่าคนกลุ่มนี้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มากขึ้น
เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ กรุงเทพฯ เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จึงได้จับมือ สสส. จัดกิจกรรม Healthy Organization Day ปีที่ 2 เพื่อประกาศเจตนารมณ์ที่จะเร่งสร้าง ผู้นำสุขภาพ (Health Leader) ให้เกิดขึ้นในองค์กร เพื่อเป็นกลไกสำคัญสำหรับขับเคลื่อนกิจกรรมและโครงการสร้างเสริมสุขภาพพนักงานในองค์กร สู่การเป็น องค์กรสุขภาพดี (Healthy Organization) ทั้งประเทศ
จากครั้งแรกสู่ครั้งนี้ที่ Healthy Organization Day ได้ทำหน้าที่สร้างสถานที่ทำงานและสถานประกอบการที่เข้าร่วมให้เป็นองค์กรสุขภาพดี ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย บอกว่ายังสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างของสถานที่ทำงานและสถานประกอบการในไทยด้านสุขภาพอย่างแท้จริง
“Healthy Organization Day เป็นวันที่ทุกคนที่ตระหนักถึงสุขภาพมาพบกัน ได้แลกเปลี่ยนทัศนคติกัน ได้รู้จัก และเกิดความร่วมมือเชื่อมโยงกันมากขึ้น โดยเราใช้เป็นวันกระตุ้นให้สังคมรับรู้ว่าประเทศไทยมีกิจกรรมนี้ และทุกคนที่ทำงานไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม ก็จะได้ทราบว่านี่คือสิ่งที่ทุกองค์กรต้องมี
อันที่จริงก่อนที่จะเกิด "Healthy Organization Day" มีองค์กรที่เราไปให้ความรู้กว่า 300 องค์กร แต่ตอนนั้นเรายังไม่มีหลักสูตร มีหลายองค์กรที่เข้าร่วมแล้วอยากได้ประกาศนียบัตรเพราะราชวิทยาลัยฯ รับรองหลักสูตร ตอนนี้พอเรามีหลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพ พวกเขาก็กลับเข้ามาใหม่ ถ้ารวมทั้งหมดตอนนี้เรามี 400 กว่าองค์กรที่เข้าร่วม”
หลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน เป็นหลักสูตรเพื่อให้ผู้เข้าอบรมนำความรู้เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ การปรับสภาพแวดล้อมในองค์กรให้เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ และกระบวนการออกแบบโครงการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งปฏิบัติได้จริง ปัจจุบันจัดอบรมแล้ว 6 รุ่น มีผู้นำสุขภาพที่ผ่านเกณฑ์ได้รับใบประกาศนียบัตร รวม 282 คน จาก 100 องค์กรทั่วประเทศ
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวัน Healthy Organization Day นี้เป็นการเปิดให้องค์กรที่ได้ดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาพพนักงานเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน นำเสนอผลการดำเนินงานเพื่อขอรับ รางวัลเชิดชูเกียรติ Healthy Organization Award ส่งเสริมปัจจัยแห่งความสำเร็จ ในด้าน “ผู้นำองค์กร-ทีมผู้นำสุขภาพ-กระบวนการดำเนินงาน-นวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ” ซึ่งในปีนี้มีองค์กรที่ผ่านเกณฑ์ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจำนวน 25 องค์กร
“การดูแลสุขภาพ บางคนไม่มีเวลาอ่านหรือไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร การจัดอบรมเรากลั่นกรองเนื้อหาที่จำเป็นจริงๆ ที่สำคัญ เอามาไว้ในหลักสูตร เพราะฉะนั้นการเข้าเรียนหลักสูตรที่เป็นออนไลน์ก็ได้ ออนไซต์ก็ได้ แบบนี้ จึงเป็นอะไรที่ส่งเสริมองค์กรสุขภาพดีให้พัฒนาได้เร็วขึ้น เพราะมีคนช่วยดำเนินการ ถ้าผู้บริหารไม่มีใครช่วยทำตรงนี้แล้วเขาจะรวมตัวกันอย่างไร Health Leader ของเราจะทำกิจกรรมให้องค์กร ได้ผลอย่างไรก็มานำเสนอ แล้วองค์กรก็ได้รับการชื่นชม”
การสร้าง "Health Leader" หรือผู้นำสุขภาพดีนี้ รศ.นพ.เพชร รอดอารีย์ ประธานหลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน รองประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง เปรียบเปรยว่าเสมือนการสร้าง “ตัวตึง” ให้แต่ละองค์กร ด้วยการให้ตัวแทนขององค์กรนี้มาเข้าอบรม 3 คน ต่อหนึ่งองค์กรเพื่อสร้างทีมของตัวเองให้มีศักยภาพมากพอ แล้วนำความรู้บวกกับความสนใจที่มีอยู่แล้วกลับไปถ่ายทอดยังทุกคนในองค์กร
“จากเริ่ม 20 องค์กรในช่วงทดลอง ตอนนี้เราปรับให้คนเข้าร่วมได้มากขึ้น แล้วเหมาะสมกับวิถีการทำงานของเขา คือเขามาอบรมแล้วไม่เสียการเสียงาน เมื่ออบรมเสร็จแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือเขาได้นำเนื้อหาสาระ กระบวนการ วิธีการ กลับไปทำที่องค์กรเขา แล้ว Healthy Organization Day คือวันที่ส่งผลงานโครงการที่เขาไปดำเนินการแล้วตามแนวคิดของเขาเองมานำเสนอกัน แล้วเราตรวจประเมินว่าได้คุณภาพอยู่ในระดับใด ไม่ได้เป็นการแข่งขัน แต่เป็นการดูว่าเขาบรรลุเป้าหมายหรือไม่
ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของโครงการคือวัยทำงาน เป็นวัยที่มีศักยภาพเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง เขามองเห็นความสามารถของเขาในการสร้างงานสร้างเงิน เขาก็จะต้องคำนึงถึงสุขภาพ ถ้าเราไปสะกิดว่าสุขภาพเขาสำคัญ ทำให้เขาทำงานได้ดี ได้เงินด้วย ได้ Productivity ด้วย และได้สุขภาพด้วย เขาก็จะทำงานได้อย่างยั่งยืน พอเราไปทำในคนทำงานก็จะเกิดผลตอบรับในองค์กรมากขึ้น คนทำงานเหล่านี้เขาก็จะไปบอกคนที่บ้านให้ดูแลสุขภาพมากขึ้น รวมทั้งชุมชนด้วย”
นอกจากองค์กรที่เข้ารับการอบรมกว่า 100 องค์กรแล้ว ยังได้รับการเสริมพลังความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันเชิงนโยบายและการทำให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมทั่วประเทศ ได้แก่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานประกันสังคม, สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน), องค์การอนามัยโลก ร่วมกับการนำเสนอสินค้าและบริการที่คำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภค จากองค์กรภาคเอกชน เช่น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัทเอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน), บริษัท กาโตว์เฮ้าส์ จำกัด, บริษัท สไมล์ เอฟเวอรี่เดย์ จำกัด, ศูนย์ฝึกปฏิบัติการอาหารนานาชาติ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นต้น โดยมีแคมเปญสร้างเสริมสุขภาพประชาชนวัยทำงานในรูปแบบต่างๆ ทยอยเปิดตัวออกมาอย่างต่อเนื่อง
ไม่เพียงเท่านี้ หลักสูตรอบรมผู้นำสุขภาพในสถานที่ทำงาน เครือข่ายคนไทยไร้พุง ยังมีหลักสูตรอบรมใหม่ ที่จะเปิดตัวในเร็วๆ นี้ ได้แก่ หลักสูตรส่งเสริมการจัดประชุมที่ดีต่อสุขภาพ (Healthy + Activity Meeting) สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประชุม เพื่อให้เกิดการประชุมที่บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมาย พร้อมกับการสร้างเสริมสุขภาพของผู้เข้าประชุม, หลักสูตรการจัดชุดอาหารว่าง อาหารจัดเลี้ยงเพื่อสุขภาพ สำหรับผู้ให้บริการอาหารว่าง อาหารจัดเลี้ยงในการประชุม, หลักสูตรการออมสุขภาพ รับวัยอิสระรองรับการดูแลสุขภาพรายบุคคล ต่อเนื่องตั้งแต่วัยทำงาน จนถึงวัยเกษียณอย่างมีสุขภาพดี โดยติดตามรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ เครือข่ายคนไทยไร้พุง หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Email : [email protected]
ซึ่งผลลัพธ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ รศ.นพ.เพชร บอกว่าคือการที่สำนักงานประกันสังคมได้มีนโยบายของรัฐบาลการสนับสนุนสุขภาพมากขึ้น ซึ่งจะทำให้คนไทยทุกคนได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านการสร้างเสริมสุขภาพด้วย ซึ่งเป็นภาพใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นทั้งประเทศ
“นี่คือคำประกาศที่สำนักงานประกันสังคมบอกว่ามีการเซ็นMOU กันแล้วระหว่างสำนักงานประกันสังคม, กรมแรงงาน และกระทรวงสาธารณสุข คาดว่าในปีนี้เราจะได้เห็นผลตรงนี้ ซึ่งสำนักงานประกันสังคมได้ทดลองแล้วประมาณ 300,000 คน ใน 13 จังหวัด เรื่องการส่งเสริมสุขภาพคนทำงาน
เพราะสุขภาพที่ดีของทุกคน นำมาซึ่งความมั่นคง และการเติบโตขององค์กร รวมทั้งส่งต่อความสุขที่ยั่งยืนสู่สังคม จึงขอเชิญชวนให้ทุกองค์กร ร่วมกันก้าวสู่การเป็นองค์กรสุขภาพดี Healthy Organization จากนี้ไปคนวัยทำงานในองค์กรต่างๆ จะแข็งแรงไปด้วยกัน”
ด้าน ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี กล่าวทิ้งท้ายถึงความคาดหวังว่า “เราหวังว่าองค์กรอื่นที่ยังไม่ได้เข้าร่วม เมื่อทราบว่ามีกิจกรรมนี้ มีหลักสูตรนี้ ก็อยากให้มาร่วมหรือส่งคนมาอบรมให้เป็น Health Leader มากขึ้น จะทำให้องค์กรสร้างเสริมสุขภาพดีได้ง่าย เราเองคงทำให้หมื่นๆ องค์กรไม่ได้ แต่ถ้าเราสอนเขาอย่างน้อย 20-30 องค์กร เขาก็จะนำไปขยายได้เร็วขึ้น”