มีปัญหาการนอน? เบิกค่า sleep test ผ่าน 'ประกันสังคม' ได้แล้ว ไม่เกิน 7,000 บาท
“ผู้ประกันตน” ที่มีปัญหา “การนอน” หรือป่วยโรค “หยุดหายใจขณะหลับ” และจำเป็นต้องใช้เครื่อง CPAP “ประกันสังคม” ให้เบิกค่าตรวจนอนหลับ (sleep test) ค่าอุปกรณ์ และอุปกรณ์เสริมได้แล้ว! โดยค่าตรวจเบิกได้ไม่เกิน 7,000 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567
ข่าวดีสำหรับผู้ประกันตนที่มีปัญหา "การนอนหลับ" จนกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน และต้องการเข้าไปตรวจ Sleep test แต่ก่อนหน้านี้อาจยังชั่งใจอยู่ ไม่ตัดสินใจไปตรวจเพราะกังวลค่าบริการราคาแพง แต่ตอนนี้ผู้ประกันตนสามารถเบิกค่าตรวจ Sleep test ได้แล้วผ่านประกันสังคม
ล่าสุด.. สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ประกาศหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2567 กรณี แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทน รักษาผู้ประกันตนที่ป่วยด้วย "โรคหยุดหายใจขณะหลับ" และมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า (Continuous Positive Airway Pressure : CPAP)
โดยสาระสำคัญของประกาศฉบับดังกล่าว คือ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม สามารถเบิกค่าตรวจนอนหลับ (sleep test) ค่าอุปกรณ์ และอุปกรณ์เสริมได้แล้ว โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป
2. ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้ (ช) ใน (2) ของข้อ 5 หมวด 1 แห่งประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม เรื่องหลักเกณฑ์ และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ลงวันที่ 25 ธ.ค. 2546 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 เรื่องหลักเกณฑ์ และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ลงวันที่ 3 เม.ย. พ.ศ. 2556
สำหรับ (ช) การตรวจวินิจฉัย และดูแลรักษาผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคหยุดหายใจขณะหลับ มีดังนี้
- ค่าตรวจนอนหลับ (Polysomnography) ชนิดที่ 1 (มีเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามขณะตรวจทั้งคืน) จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 7,000 บาท
- ค่าตรวจการนอนหลับ (Polysomnography) ชนิดที่ 2 (การตรวจวัดเหมือนการตรวจชนิดที่ 1 เว้นแต่ไม่มีเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามขณะตรวจ) จ่ายในอัตราเท่าที่จริงไม่เกิน 6,000 บาท
- ค่าอุปกรณ์เครื่อง CPAP และอุปกรณ์เสริมสำหรับการรักษาในอัตราที่สำนักงานกำหนด ดังนี้ 1) เครื่อง CPAP ราคาชุดละ 20,000 บาท และ 2) หน้ากากครอบจมูก หรือปากที่ใช้กับเครื่อง CPAP ราคาชิ้นละ 4,000 บาท
3. กรณีสถานพยาบาลที่สำนักงานกำหนดสิทธิในการรับบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ประกันตน ส่งตัวผู้ประกันตนไปรักษายังสถานพยาบาลอื่น โดยผู้ประกันตนได้รับการตรวจวินิจฉัย และอนุมัติเบิกใช้เครื่อง CPAP ให้สถานพยาบาลที่กำหนดสิทธิในการรับบริการทางการแพทย์ สำหรับผู้ประกันตนจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ พร้อมค่าอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้แก่สถานพยาบาลที่ทำการรักษา โดยสามารถเบิกค่าบริการทางการแพทย์ พร้อมค่าอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค ตามหลักเกณฑ์ และอัตราค่าบริการที่สำนักงานกำหนดตาม ข้อ 2
อนึ่ง ค่าอุปกรณ์เสริม รายการแผ่นกรองอากาศ (Filter) กระดาษ และแผ่นกรองอากาศฟองน้ำ ให้รวมอยู่ในค่าบริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลที่สำนักงานกำหนดสิทธิในการรับบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ประกันตน
ทั้งนี้ มีข้อมูลจากกรมการแพทย์ อธิบายว่า การตรวจการนอนหลับ หรือ sleep test เป็นการตรวจบันทึกลักษณะทางสรีรวิทยาหลายสัญญาณในขณะหลับ ซึ่งจะต้องใช้เวลาหนึ่งคืนในการตรวจ โดยให้ผู้ป่วยนอนหลับเหมือนปกติในทุกๆ วัน จากนั้นแพทย์จะวินิจฉัยโรคจากการหลับ เช่น โรคการหายใจผิดปกติขณะหลับ โรคนอนละเมอ ภาวะง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน เป็นต้น เพื่อประเมินระดับความรุนแรง การวินิจฉัยแยกโรคจากสาเหตุอื่น ชี้แนะแนวทางการรักษา ตลอดจนติดตามผลการรักษา เพื่อการวินิจฉัยและรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ
หากตรวจแล้วพบว่าคนไข้มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea, OSA) แพทย์จะพิจารณารักษาตามระดับความรุนแรงของโรคและโรคร่วม โดยมี วิธีการรักษา OSA หลักๆ ดังนี้
1. การใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (continuous positive airway pressure, CPAP) ถือเป็นมาตรฐานในการรักษา
2. การใส่ทันตอุปกรณ์ (oral appliance) โดยทันตแพทย์จะทำการประดิษฐ์ให้เหมาะสมสำหรับคนไข้ในแต่ละราย หลักการทำโดยดึงกรามล่างและลิ้นมาข้างหน้า เพื่อช่วยให้ทางเดินหายใจเปิดโล่ง หายใจสะดวกขึ้น
3. การผ่าตัดในคนไข้ที่มีปัญหาโครงสร้างของทางเดินหายใจส่วนต้นผิดปกติ ทั้งนี้ จะมีการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก เพื่อประเมินก่อนว่าผู้ป่วยมีความเหมาะสมที่จะผ่าตัดหรือไม่ อย่างไร
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการนอนหลับสามารถส่งผลต่อสุขภาพทางร่างกาย จิตใจ และเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ หากพบว่า มีอาการนอนกรนดังผิดปกติ หยุดหายใจ อาการง่วงนอนในเวลากลางวันมากผิดปกติทั้งที่นอนหลับเพียงพอแล้ว แนะนำให้มาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น เข้ารับคำปรึกษาจาก "สถาบันโรคทรวงอก" ที่มีให้บริการปรึกษาโรคจากการนอนหลับทุกวัน (เวลาทำการ 08.30 - 16.30 น. นอกเวลาทำการ 16.30 - 19.00 น.) หรือสามารถโทรสอบถามเพิ่มเติม 02-547-0999 ต่อ 30512