ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ อาจจะจำลูกไม่ได้แล้ว แต่ยังจำดนตรีได้
เพลงป็อปไทยเพลงหนึ่ง ทำให้เด็กไทย 8 ขวบมีคลื่นอัลฟาในสมองดี สร้างความสงบ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์อาจจะจำลูกตัวเองไม่ได้แล้ว แต่ยังจำดนตรีได้ เหล่านี้เป็นตัวอย่างสะท้อนถึงเรื่อง“ดนตรีบำบัด”ที่มีความเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพกายและจิตใจ
“ดนตรีบำบัด”จึงถูกนำมาใช้เป็นกิจกรรมเชิงการแพทย์ ที่ได้รับการออกแบบบนพื้นฐานของงานวิจัย เพื่อส่งเสริมเป้าหมายตามความต้องการของบุคคล โดยผู้รับบริการไม่จำเป็นต้องมีทักษะทางดนตรีมาก่อน นักดนตรีบำบัดจะทำหน้าที่สร้างสรรค์กิจกรรมดนตรีและเลือกใช้องค์ประกอบของดนตรีให้เหมาะสมกับเป้าหมายการบำบัดและตรงกับความชอบของผู้รับบริการแต่ละบุคคล กิจกรรมดนตรี เช่น ร้องเพลง เคลื่อนไหวตามจังหวะดนตรี เล่นเครื่องดนตรี ฟังเพลง แต่งเพลง เป็นต้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2567 วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลกับ กรมการแพทย์ โดยสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ และโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อการพัฒนาด้านดนตรีบำบัดสำหรับการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์
มีวัตถุประสงค์ 1.ร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาองค์ความรู้ด้านดนตรีบำบัดเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์และพัฒนาต่อยอดเป็นหลักสูตรการฝึกอบรมและเผยแพร่องค์ความรู้
2.ร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงนิสิต นักศึกษาและบุคลากรอื่นใดในสาขาที่เกี่ยวข้องกับด้านดนตรีบำบัดสำหรับการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ของหน่วยงานทั้งสี่ฝ่าย
3. ร่วมกันศึกษาวิจัย พัฒนานวัตกรรมด้านบริการสุขภาพในการสร้างองค์ความรู้ด้านดนตรีบำบัดเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ ให้เป็นที่รู้จักและแพร่หลาย
และ4. ร่วมกันส่งเสริม สนับสนุนให้ความร่วมมือด้านวิชาการ และการสร้างเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล มีความโดดเด่นเรื่องของดนตรี มีทั้งเครื่องดนตรี นักดนตรีและงานวิจัย ส่วนกรมการแพทย์มีบุคลากรด้านสุขภาพและฟื้นฟู ผู้ป่วยและบรรยากาศของความเจ็บป่วย จึงนำ 2 ส่วนมาเสริมหนุนกันให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ระยะต้นจะเน้นในกลุ่มผู้สูงอายุ และฟื้นฟูสุขภาพ
ดนตรีมีความหมายต่อสุขภาพ
ศาสตร์ของดนตรี ไม่ได้เพียงแค่ช่วยให้ผ่อนคลาย สนุกสาน แต่แท้จริงมีงานวิจัยรองรับมายาวนานว่า “ดนตรีมีความหมายต่อสุขภาพ การเรียนรู้ เยียวยาร่างกายและจิตใจ” โดยเกี่ยวข้องกับระดับสารเคมีในสมอง เมื่อได้ยินเสียงดนตรี เล่นดนตรี หรือมีบรรยากาศที่เกี่ยวข้องกับดนตรี รวมถึง ระดับภูมิคุ้มกันและการทำงานร่วมกันของหลายระบบในร่างกาย ดนตรีมีอิทธิพลสูงมาก
ในเด็กส่งเสริมให้การเรียนรู้ที่ดีขึ้น เช่น การเรียนรู้เรื่องเครื่องดนตรีที่ใช้คีย์บอร์ดมีงานวิจัยรองรับว่าทำให้ cognitive functions และ Executive Functions หรือ EF ดีขึ้น นอกจากนี้ ดนตรีบางประเภทมีข้อมูลรองรับเรื่องการคงอยู่ การไม่เสื่อม ดีกว่าคนไม่เกี่ยวข้องกับดนตรีเลย
ดนตรียังมีผลต่อร่างกายตั้งแต่เรื่องของการทรงตัว เมื่อให้คนฝึกทรงตัวอย่างเดียวกับมีดนตรีด้วย ผลลัพธ์ไม่เท่ากัน การใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก ทั้งแง่การฟังแล้วเกิดปฏิกิริยา และการพยายามเล่นดนตรี เรื่องการได้ยินเรียนรู้จังหวะเกี่ยวข้องกับบางอย่างในสมองที่มีผลต่อความจำ สมาธิ ภาษีสามารถใช้ดนตรีผยุงความสามารถภาให้คงอยู่หรือดีขึ้นกว่าเดิม
ต่อยอดสู่ดนตรีสไตล์ไทยบำบัด
ในแง่ของสุขภาพจิต มีการใช้ดนตรีมาบำบัด คนไข้เศร้าให้ระบายออกมาเป็นการแต่งเมโลดี้และเนื้อเพลง ช่วยเยียวยาความซึมเศร้าได้ แน่นอนว่าไม่ใช่การรักษาหลักแต่เป็นตัวช่วยที่ดีมาก และมีส่วนช่วยให้เกิดสัมพันธภาพที่ดี
“ดนตรีไม่ได้นำมาใช้เพียงแค่ส่งเสริมสุขภาพคนไข้ทั้งกายและใจ ยังนำมาใช้รักษาหรือเสริมการรักษา เช่น ผู้ป่วยบำบัดยาเสพติด ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ซึ่งดนตรีจะมาเป็นยาใจที่นำมาสู่ยากายได้อย่างดี”พญ.อัมพรกล่าว
เมื่อมีความร่วมมือกันเริ่มต้นจากเรื่องผู้สูงอายุและการฟื้นฟู เชิงสมรรถภาพทางกาย แต่ก้าวต่อไปยังขยายไปได้อีกกว้าง และเกิดงานวิจัยของไทยที่ควรจะเกิดขึ้นและรองรับศาสตร์ของดนตรีแบบไทย เพราะหากอ่านตำราต่างประเทศ ก็จะเป็นดนตรีแบบของต่างประเทศ เพลงคลาสสิคต่างๆ แต่ไม่มีดนตรีแบบไทย เช่น หมอลำแล้วเกิดผลอย่างไร แบบไหนดีกว่า จะมีการจับมือและมีงานวิจัยร่วมกันต่อไป
ย่อเวลาฟื้นฟูได้เกิน 50 %
ขณะที่ ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปกติคนจะใช้ดนตรีในแง่ของสันทนาการ แต่ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการนำดนตรีมาเพิ่มสุขภาวะที่ดี นำมาประกอบกับทางการแพทย์ ดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุ จะเป็นประโยชน์มาขึ้น ทั้งในเรื่องของการเสริมการรักษา ฟื้นฟู โดยมีงานวิจัยจำนวนมากที่พบว่า เมื่อนำดนตรีมาประกอบช่วยให้การรักษาดีขึ้น
เช่น ในผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ หากทำกายภาพบำบัดอย่างเดียว อาจจะใช้เวลานาน พอมีดนตรีเข้ามาด้วย ย่อเวลาได้เกิน 50 % เพราะผู้ป่วยที่ได้ยินจังหวะดนตรี จะอยากขยับร่างกายให้ตรงจังหวะ เป็นการบังคับกลายๆให้เคลื่อนไหวร่างกาย สมองก็จะจัดการทำงาน ในที่สุดก็ฟื้นฟูได้เร็วขึ้น เป็นต้น
เพลงป็อปไทยช่วยเกิดคลื่นสมองสงบ
นอกจากนี้ เรื่องของผู้ป่วยอัลไซเมอร์และสมองเสื่อมมีการใช้ดนตรีบำบัดมานาน โดยได้เรียนรู้ว่าดนตรีจะอยู่ในส่วนต่างๆของสมองไม่ได้อยู่ในส่วนเดียว เพราะฉะนั้น เมื่อสมองส่วนหนึ่งเสื่อม ดนตรีที่อยู่ในสมองส่วนอื่นๆก็ยังสามารถจำได้ ทำให้ผู้ป่วยอาจจะจำลูกตัวเองไม่ได้แล้ว แต่ยังจำดนตรีได้ เพราะซ่อนอยู่ในหลายส่วนของสมอง จากการที่ทำกิจกรรมดนตรีจะไม่มีใครนั่งฟังเฉยๆ จะต้องมีการขยับตัว แม้จะใช้รักษาไม่ได้แต่ช่วยชะลอความเสื่อม อาจจะจำบางอย่างได้มากขึ้นจากการเชื่อมโยงสมองบางส่วนกับดนตรี
และเมื่อ 2-3 ปีก่อน วิทยาลัยฯเคยมีการศึกษาด้วยการวัดคลื่นไฟฟ้าสมองอัลฟ่า ที่เกี่ยวข้องกับความสงบ ในเด็กไทย 8 ขวบ โดยให้ฟังเพลงป็อปของไทยเพลงหนึ่ง ทำให้คลื่นอัลฟ่าขึ้น แสดงว่าเขามีความคุ้นชินมาก ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นที่จะต้องลุกขึ้นมาเต้น เมื่อเปรียบเทียบกับการฟังเพลงคลาสสิกบางเพลง
สรุปว่า เพลงป็อปไทยเพลงนั้นทำให้คลื่นอัลฟ่าขึ้นได้มากสุด แต่ไม่ได้แปลว่าจะเกิดผลเช่นนี้กับคนกลุ่มวัยอื่นด้วย ขึ้นกับบริบท เพราะฉะนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีงานวิจัยเรื่องดนตรีบำบัดแบบของไทย
ต่อยอดสู่ใบรับรองนักดนตรีบำบัด
ปัจจุบันวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มีหลักสูตรดนตรีบำบัด ในระดับปริญญาโท การร่วมมือกับกรมการแพทย์ ก็จะทำให้นักศึกษาเข้ามาฝึกงานเจอผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ได้ฝึกทักษะเป็นประโยชนในแง่การเรียนการสอน ทางอ้อมได้ช่วยสังคมด้วย โดยจะให้นักศึกษาเข้ามาจัดดนตรีบำบัดในสถานพยาบาลทั้ง 3 แห่งที่MOUร่วมกัน นอกจากนี้ วิทยาลัยอยู่ระหว่างการพัฒนาหลักสูตร ดนตรีบำบัดในระดับปริญญาตรี และคาดหวังจะเปิดถึงระดับปริญญาเอกด้วย
“ที่สำคัญ ต้องการผลักดันให้นักดนตรีบำบัด มีใบประกอบโรคศิลปะหรือใบรับรอง เพื่อสร้างมาตรฐานและความน่าเชื่อถือให้กับผู้รับบริการ เพราะการเป็นนักดนตรีบำบัดจะต้องเป็นผู้ที่เล่นดนตรีได้ในระดับดี ที่จะสามารถสังเกตผู้ป่วยไปพร้อมๆกันได้ด้วย”ณรงค์กล่าว
ดนตรีที่เหมาะกับเฉพาะราย
การให้บริการดนตรีบำบัดนั้น จะต้องมีความเหมาะสมกับความจำเป็นของผู้ป่วยแต่ละรายด้วย พญ.บุษกร โลหารชุน ผอ.สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ บอกว่า สถาบันฯจะมีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุจะมีการตรวจประเมินเป็นรายบุคคล จากนั้นจะมีการประชุมทีมผู้ให้การรักษาทั้งเภสัชกร แพทย์ นักจิตวิทยา นักโภชนาการ เพื่อร่วมกันประเมินจุดที่เป็นภาวะบกพร่องของคนไข้ แล้วแก้ไขฟื้นฟูให้ตรงจุดนั้น และคงส่วนที่ยังดีอยู่ให้ยาวนานที่สุด เป็นการดูแลให้เหมาะกับเฉพาะราย และการจะจัดสรรประเภทไหนให้เหมาะสมมีงานวิจัยรองรับ