ออก'สมุดปกขาว'แก้วิกฤตเด็กเกิดน้อย-สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์
“วราวุธ” เตรียมจัดเวทีแก้ปัญหาวิกฤตเด็กเกิดน้อย-สูงวัยสมบูรณ์แบบ ออกสมุดปกขาวชง ครม. ก่อนนำเสนอ “สหประชาชาติ” พร้อมเตรียมจัดวันสตรี 8 มี.ค.นี้
KEY
POINTS
- โครงสร้างประชากรเปลี่ยน เด็กอายุ 0-14 ปี เหลือเพียง 1 ล้านคน ขณะที่ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะเพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคน เป็น 18 ล้านคน
- พม.เตรียมจัดทำเป็นสมุดปกขาว นำเสนอคณะรัฐมนตรีต้นเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันครอบครัว แก้วิกฤตเด็กเกิดน้อย-สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์
- ประชากรยุค Post Modern ที่อายุต่ำกว่า 40 ปีจะอยู่ด้วยค่านิยมและความเชื่อ จึงควรนำเสนอวิธีการและขั้นตอนในลักษณะอธิบาย
ปี 2567 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มรูปแบบ โดยปี 2566 ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า ไทยมีประชากรผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 13 ล้านคน ของประชากรไทยทั้งประเทศ 66,057,967 คน หรือกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ และจะมีอัตราการเพิ่มขึ้นปีละกว่า 1 ล้านคนในปี 2567-2568 จากการส่งเสริมการมีบุตรเมื่อ 60 ปีก่อน
ข้อมูลจาก World Population 2022 ขององค์การสหประชาชาติ คาดการณ์ตัวเลขจำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 พันล้านคน โดยเป็นผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี อยู่ที่ 10 % และคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นภายในปี 2593 เป็น 16 %
ขณะที่ ข้อมูลจำนวนการเกิดของคนไทย 10 ปีย้อนหลัง จากสำนักบริการหารทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มท.) พบว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง
- ปี 2556 จำนวนเด็กเกิดใหม่ 782,129 คน
- ปี 2557 จำนวน 776,370 คน
- ปี 2558 จำนวน 736,352 คน
- ปี 2559 จำนวน 704,058 คน
- ปี 2560 จำนวน 703,003 คน
- ปี 2561 จำนวน 666,366 คน
- ปี 2562 จำนวน 618,205 คน
- ปี 2563 จำนวน 587,368 คน
- ปี 2564 จำนวน 544,570 คน
- และปี 2565 จำนวน 502,107 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ทำไมคนยุคใหม่ "ไม่นิยมมีลูก" เด็กเกิดใหม่น้อยลง ถึงจุดวิกฤติ
เร่งแก้ "เด็กเกิดใหม่น้อย" ก่อนสังคมไทยเข้าสู่สังคมไร้บุตรหลาน
วิกฤตเด็กเกิดน้อย สูงวัยพุ่งส่งผลกระทบประเทศ
ตั้งแต่ปี 2564 จำนวนการเกิดยังน้อยกว่าการตาย โดยการตาย 563,650 คน และปี 2565 จำนวน 595,965 คน ส่วนอัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate) หรือจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยของผู้หญิง 1 คน ลดลงเหลือเพียง 1.08 ซึ่งต่ำกว่าที่เหมาะสมหรือระดับทดแทนคือ 2.1 และมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่อง
ส่วนเด็กอายุ 0-14 ปี เหลือเพียง 1 ล้านคน ขณะที่ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะเพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคน เป็น 18 ล้านคน ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างจำนวนประชากรมากขึ้น และเสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงานกระทบเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงด้านประชากร
ขณะที่แนวโน้มประชากรไทยมีอายุยืนมากขึ้น โดยข้อมูลปี 2562 ประชากรเพศชายมีอายุขัยเฉลี่ย 65.9 ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2543 ที่มีอายุเฉลี่ย 59.9 ปี ส่วนเพศหญิงอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 70.9 ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2543 ที่อายุขัยเฉลี่ย 65.5 ปี
หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อคาดว่าอีก 60 ปี ประชากรไทยจะลดลงถึงครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 33 ล้านคน โดยวัยทำงานลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือ 14 ล้านคน
เล็งออกสมุดปกขาว เสนอครม.แก้วิกฤตเด็กเกิดน้อย
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่จะถึงนี้ กระทรวงพม.มี 2 กิจกรรม สำคัญที่จะถือ เป็นนโยบาย เร่งด่วนของกระทรวง คือวันที่ 7 มี.ค. เวลา 08.00 น. จะมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้หัวข้อ 'การพัฒนาความมั่นคงครอบครัวไทย ผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร' ซึ่งจะเป็นการพูดถึงปัญหาที่ประเทศไทยจะเจอในอนาคต 5-10 ปี ไม่ว่าจะเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบโดยสมบูรณ์ รวมถึงปัญหาเด็กแรกเกิดมีจำนวนน้อยลงทุกๆ ปี
ทั้งนี้ การประชุมจะแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มเด็กเยาวชน กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการ และจะมีการพูดถึงระบบนิเวศเพื่อความมั่นคงของครอบครัวไทย กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ต้องการให้ประเทศไทย สังคมไทย ภาครัฐและประชาชนได้ตระหนักถึงภัยที่กำลังจะมาถึง ในระยะ 5-10 ปีจากนี้ ว่าจะมีผลกระทบอย่างไรบ้างจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนทุกคน
"หลังการประชุมจะมีการรวบรวมผลการหารือและการ workshop ทั้ง 5 กลุ่มทำเป็นสมุดปกขาวและนำเสนอคณะรัฐมนตรีต้นเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันครอบครัว และปลายเดือนจะนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการประชากรและพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อแสดงให้สังคมโลกเห็นว่าปัญหาสังคมผู้สูงอายุนั้น ประเทศไทยมีการเดินหน้าแก้ปัญหาในมิติใดบ้าง"นายวราวุธ กล่าว
เตรียมจัดกิจกรรมวันสตรีสากล 8 มี.ค.นี้
นอกจากนั้น กิจกรรมที่ 2 จะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 8 มี.ค.นี้ช่วงบ่าย กรมกิจการเด็กและสถาบันครอบครัว จะจัดงานวันสตรีสากลภายใต้แนวคิด 'เสริมพลังสตรีและเด็กหญิงขจัดความยากจนสู่ความเท่าเทียมระหว่างเพศบนพื้นฐานครอบครัวที่อบอุ่น' เพราะวันที่ 8 มี.ค. องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันตรีสากล และประเทศไทยของก็ได้เฉลิมฉลองวันสตรีสากลนี้มาทั้งหมด 36 ปีแล้ว
โดยในงานนี้ จะพูดถึงการส่งเสริม พัฒนา สนับสนุนบทบาทสตรีทุกภาคส่วนของสังคมไม่ว่าจะภาครัฐ เอกชน และภาคการเมือง ให้มีการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ ซึ่งรัฐบาลนี้ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงการขจัดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่องค์กรสหประชาชาติกำหนดไว้
ปีนี้ภายในงานจะมีการมอบรางวัลเพื่อเชิดชูเกียรติแก่สตรี บุคคล และหน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานด้านสตรีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และจะมีการจัดนิทรรศการเครือข่ายด้านสตรีทั่วประเทศ ประชาชน และความเสมอภาคทางเพศโดยในวันเดียวกันนั้น ทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทั้ง 76 จังหวัดก็จะจัดงานเฉลิมฉลอง เนื่องในวันดังกล่าวเช่นเดียวกัน
มี.ค.นี้ ประกาศส่งเสริมการมีบุตรเป็นวาระแห่งชาติ
สำหรับในประเทศไทย รัฐบาลได้ส่งเสริมการมีบุตรเป็น “วาระแห่งชาติ” คาดว่าประกาศเดือน มี.ค.2567 มีความท้าทายถึงมาตรการสนับสนุนการมีบุตร สวัสดิการที่รองรับและจูงใจการเกิด รวมถึงการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเด็กให้พัฒนาทักษะได้ถึงวัยแรงงานเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต
รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขผลักดันการส่งเสริมมีบุตรอย่างมีคุณภาพในการพัฒนาประชากรและทุนมนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อบูรณาการทุกภาค ขณะนี้กำลังส่งรายละเอียดให้แต่ละหน่วยงานพิจารณา เพราะเกี่ยวข้องหลายกระทรวงก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะประกาศได้เดือน มี.ค.นี้ และมีเป้าหมายปี 2570 อัตราการเจริญพันธุ์รวมไม่น้อยกว่า 1.0 และปี 2585 ไม่น้อยกว่า 1.0-1.5
ทั้งนี้การประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ วันที่ 25 ธ.ค.2566 เห็นชอบ (ร่าง) วาระแห่งชาติส่งเสริมมีบุตรอย่างมีคุณภาพเน้น 3 มาตรการหลัก ดังนี้
1.ปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อการมีบุตร เช่น แก้ไข ปรับปรุง กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การสนับสนุนนโยบาย Family Friendly Workplace ช่วยค่าดูแลและเลี้ยงบุตร สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 2 ปี
2.เสริมสร้างความรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติ โดยให้คุณค่าทุกการเกิดมีความสำคัญ, บทบาทชาย-หญิง และความรู้และทัศนคติต่อการสร้างครอบครัวที่มีรูปแบบหลากหลาย
3.สนับสนุนให้ผู้ตัดสินใจมีบุตรได้รับดูแลครบวงจรและมีคุณภาพ ได้แก่ ดูแลรักษาภาวะมีบุตรยาก การส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการเด็ก รวมถึงให้คำปรึกษาทางเลือกในผู้ท้องไม่พร้อมเพื่อให้ตัดสินใจตั้งครรภ์ต่อได้รับการดูแล
'ธนาคารเวลา' เตรียมพร้อมรองรับสังคมสูงวัย
มีธนาคารเวลา ถูกนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยในปี 2561 โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้ “กรมกิจการผู้สูงอายุ” นำแนวคิดธนาคารเวลามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานของประเทศไทย และได้กำหนดให้เป็น 1 ใน 10 ประเด็นเร่งด่วนด้านผู้สูงอายุเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุ ที่มีเป้าหมายหลัก คือ ผู้สูงอายุไทยเป็น Active Ageing : Healthy, Security and Participation ผ่านการระดมพลังในหลายภาคส่วน
ธนาคารเวลา เริ่มจากผู้ที่ต้องการไปช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ มาสมัครเป็นอาสาสมัครธนาคารเวลา และจะมีผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่งที่ต้องการได้รับการดูแล มาสมัครขอรับการดูแล และให้ชุมชนแต่ละชุมชนช่วยดูแล จับคู่เชื่อมต่อ เป็นเรื่องของความไว้วางใจในการดูแลซึ่งกันและกัน กติกา คือ หากเราที่เป็นอาสาสมัคร เข้าไปดูแลผู้สูงอายุ 1 ชั่วโมง จะได้มา 1 คะแนน และเมื่อเวลาที่เราสูงอายุต้องการคนดูแล ก็จะได้สามารถใช้ 1 คะแนน เท่ากับ 1 ชั่วโมง ปัจจุบันมี อาสาสมัครในโครงการมากกว่า 10,000 คน มีการดูแลผู้สูงอายุครอบคลุมกว่า 150 พื้นที่
แก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย ต้องทำความเข้าใจสภาพสังคม
'ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน'นักประชากรศาสตร์ และที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติอ มองว่า การแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อยต้องเริ่มด้วยการทำความเข้าใจกับสภาพสังคมปัจจุบัน ประชากรยุค Post Modern ที่อายุต่ำกว่า 40 ปีจะอยู่ด้วยค่านิยมและความเชื่อ จึงควรนำเสนอวิธีการและขั้นตอนในลักษณะอธิบาย
โดยใช้ข้อมูลจากงานวิจัยสร้างแรงจูงใจให้คนกลุ่มนี้เห็นด้วย ดังนั้นนักวางแผนต้องเข้าใจประชากรที่จะเป็นวัยแรงงานในอนาคต เน้นการสร้างเรื่องราวเพื่อให้คนกลุ่มนี้รับรู้ เข้าใจและอยากมีลูก
อย่างไรก็ตาม การใช้นโยบายลักษณะนี้เป็นการโน้มน้าวให้คิด ไม่ได้บังคับให้แต่งงานหรือบังคับให้มีลูก เพียงแต่บอกว่า คนที่มีครอบครัวมีแนวโน้มสุขภาพดีและมีเงินออมมากกว่า ส่วนคนที่มีครอบครัวและมีลูกจะมีสุขภาพดี มีเงินออมมากกว่าคนที่มีครอบครัวแต่ไม่มีลูก เป็นสิ่งที่มีงานวิจัยยืนยัน
ฉะนั้น การแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อยในเวลานี้ หรือแม้แต่การแก้ปัญหาระยะสั้นเพื่อหวังเพิ่มจำนวนประชากรไทย อาจต้องทำให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป วางแผนนโยบายอย่างรอบคอบและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะการเกิดอาจไม่ใช่เรื่องของคนสองคนอีกต่อไป แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยชวนให้คิดก่อนตัดสินใจที่จะมีลูก