ควรหยุดวิ่งออกกำลังกายอายุเท่าไร? | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
สมัยที่ผมยังเป็นเด็ก การวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด เราจะพูดกันว่า จะไปวิ่งเล่นและส่วนใหญ่
ตอนเรียนระดับประถมและมัธยม ก็จะวิ่งเล่นเตะบอลเป็นหลัก เพราะเพื่อนๆ เล่นกันได้หลายคน โดยต้องมีอุปกรณ์หลักอันเดียวคือ ลูกบอล หรือเมื่อมีโอกาส ก็ไปเล่นบาสเก็ตบอล ยิ่งต้องวิ่งเหนื่อยกว่า
เมื่ออายุมากขึ้น ก็เล่นแบตมินตันและเทนนิส ต่อมาตอนอายุ 30 ปี เริ่มมีครอบครัวและรับผิดชอบงานการมากขึ้น ก็แทบจะหยุดการเล่นกีฬาและออกกำลังกายทั้งหมด
ซึ่งในกรณีของตัวผมเองนั้น เริ่มกลับมาออกกำลังกายเป็นประจำ (โดยการวิ่ง) อีกครั้งตอนอายุ 56 ปี วันนี้อายุ 67 ปี แปลว่าวิ่งออกกำลังกายมากว่า 10 ปีแล้ว
คำถามคือ ควรจะวิ่งออกกำลังกายถึงอายุเท่าไร หมายความว่า ควรหยุดวิ่งเมื่ออายุเท่าไร เป็นคำถามที่ผมได้หาข้อมูลมาให้คำตอบตัวเองและท่านผู้อ่านในครั้งนี้
คำตอบสั้นๆ คือ จากงานวิจัยต่างๆ ผมยังไม่พบว่า มีข้อสรุปที่ชัดเจน ให้หยุดการวิ่งเป็นประจำเพื่อออกกำลังกาย เพราะอายุมากเกินไป แต่จะต้องวิ่งอย่างถูกต้อง และระมัดระวังไม่ให้บาดเจ็บ เพราะผู้สูงอายุจะฟื้นตัวช้ากว่าคนที่ยังหนุ่มแน่น สรุปคือ There is no age limit to running
นักวิ่งที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของโลกคือ นาย Ed Whitlock ชาวอังกฤษ-แคนาดา ที่เสียชีวิตไปเมื่อ 7 ปีที่แล้ว (ปี 2017) ตอนอายุ 86 ปี เป็นฝรั่งที่ร่างกายค่อนข้างเล็ก เหมือนคนเอเชีย คือสูง 170 เซนติเมตร และน้ำหนักตัวเพียง 51 กิโลกรัม
นาย Whitlock เป็นนักวิ่งเร็วสมัยเป็นนักเรียน และต่อมาศึกษาต่อจนได้ปริญญาด้านวิศว และเริ่มวิ่งมาราธอนตอนอายุ 41 ปี และต่อมาสร้างสถิติโลกมากมาย เช่น
- ในปี 2000 ตอนอายุ 69 ปี วิ่งมาราธอนใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง 52 นาที กับอีก 47 วินาที (2:52:47)
- ในปี 2003 (อายุ 73 ปี) ทำสถิติโลกใหม่สำหรับคนอายุ 70-74 ปี โดยใช้เวลาเพียง 2:54:48
- ในปี 2004 (อายุ 74 ปี) ใช้เวลา 2:58:40 จะเห็นได้ว่า วิ่งช้าลงไปประมาณ 4 นาที หรือประมาณ 2.2% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเมื่ออายุมากขึ้น กำลังวังชาก็จะต้องถกถอยลงไป
แต่ก็ยังเป็นสถิติที่น่าภูมิใจ เพราะยังวิ่งได้เร็วกว่านาย Spyridon Louis (อายุ 23 ปี) ซึ่งเป็นนักกีฬาเหรียญทองคนแรกของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกยุคปัจจุบัน (ปี 1896 หรือ 128 ปีที่แล้ว) ที่ทำเวลาวิ่งมาราธอนใช้เวลา 2:58:50 กล่าวคือนาย Whitlock ซึ่งอายุมากกว่า 51 ปี วิ่งเร็วกว่า นาย Spyridon Louis 10 วินาที
นาย Whitlock วิ่งมาราธอนครั้งสุดท้าย เดือนตุลาคม 2016 (อายุ 85 ปี) ซึ่งนาย Whitlock ประเมินว่า รวมทั้งสิ้น ได้วิ่งมาราธอนทั้งหมดประมาณ 42 ครั้ง และเสียชีวิตเดือนมีนาคม 2017 จากโรคมะเร็งที่ต่อมลูกหมาก
กรณีของนาย Whitlock นั้นอาจเป็นกรณีพิเศษ แต่ก็เป็นตัวอย่างให้ผมเห็นว่า การออกกำลังกายโดยการวิ่งเป็นประจำนั้น น่าจะเป็นส่วนสำคัญในการทำให้นาย Whitlock มีร่างกายที่แข็งแรงและสมบูรณ์จนถึงช่วง 6 เดือนสุดท้ายของชีวิต
ในขณะที่สถิติเฉลี่ยนั้น ผู้ชายจะใช้ชีวิต 5 ปีสุดท้ายโดยมีสภาพพิการ ไม่สมบูรณ์ (living with disabilities) และสำหรับผู้หญิงช่วง ร่างกายพิการไม่สมบูรณ์นั้น จะยาวนานกว่า คือ 7 ปี
ประเด็นคือ เมื่อเราแก่ตัว เราต้องการให้บั้นปลายชีวิต มีคุณภาพมากกว่าค่าเฉลี่ยที่กล่าวถึงข้างต้น ซึ่งการออกกำลังกายโดยการวิ่งเป็นประจำ เป็นคำตอบสำหรับผม โดยผมคาดหวังว่าอีก 10-20 ปีข้างหน้าจะวิ่งได้สัปดาห์ละ 15 กิโลเมตร
เพราะหากวิ่งได้ ก็ต้องแปลว่า ร่างกายแข็งแรงพอที่จะช่วยตัวเองในชีวิตประจำวัน ให้ทำอะไรตามใจชอบได้ สามารถเดินทางไปเที่ยวกับลูกหลานได้โดยไม่เป็นภาระกับเขา ไม่ได้ต้องการจะวิ่งมาราธอนตอนอายุ 85 ปีเช่นนาย Whitlock แต่อย่างใด
นอกจากนาย Whitlock แล้วก็ยังมีผู้สูงวัยคนอื่นๆ อีกที่ทำให้เรามั่นใจว่าการดูแลร่างกายให้สามารถวิ่งได้สัปดาห์ละ 10-15 กิโลเมตรตอนอายุ 85 ปี น่าจะทำได้โดยไม่ยากนัก เช่น
คุณปู่ Hiromu Inada (ปัจจุบันอายุ 91 ปี) เป็นคนอายุมากที่สุดในโลกที่สามารถเข้าเส้นชัยการแข็งขันไตรกีฬา (Ironman Triathlon) ที่เกาะ Kona มลรัฐฮาวายในปี 2018 ตอนนั้นอายุ 86 ปี โดยใช้เวลาทั้งหมด 16 ชั่วโมงกับอีก 53 นาที
(เพราะต้องว่ายน้ำ 3.8 กิโลเมตร ถีบจักรยาน 180 กิโลเมตร และจบด้วยการวิ่งมาราธอน 42 กิโลเมตร) โดยนาย Inada เริ่มเข้าแข่งขันไตรกีฬาตอนอายุ 78 ปี (ปี 2011) ยืนยันข้อมูล ไม่ได้เขียนผิดครับ แปลว่า it’s never too late to start ครับ
คุณย่า Cherie Gruenfeld (ปัจจุบันอายุ 80 ปี) เริ่มต้นแข่งขันไตรกีฬาอายุ 48 ปี และในเดือนตุลาคม 2022 (อายุ 78 ปี) คว้าชัยชนะ (ไม่ได้เข้าเส้นชัยเฉยๆ) สำหรับกลุ่มผู้หญิงอายุ 75-79 ปี ในการแข่งขัน Ironman World Championship ที่เกาะ Kona มลรัฐฮาวาย เช่นกัน
คุณย่า Gruenfeld คว้าชัยชนะรวมทั้งสิ้น 13 ครั้งและเข้าแข่งขันไตรกีฬารวมทั้งสิ้น 28 ปี หากคำนวณจากอายุที่เริ่มเข้าแข่งขันคือ 48 ปี ก็แปลว่าคุณ Gruenfeld เข้าแข่งขันไตรกีฬาเกือบทุกปีและหากไม่ติดการระบาดของ Covid-19 (ปี 2020 และ 2021) ก็คงจะเข้าแข่งขันทุกปี
ดังนั้น การที่เราทุกคนมาเริ่มวิ่ง (หรือเดินเร็วก็ยังได้) เป็นประจำให้ได้สัปดาห์ละ 20 กิโลเมตรและทำต่อไปอีกเรื่อย ๆ 20-30 ปี จึงน่าจะเป็นอะไรที่ทำได้และควรทำ
เพื่อให้ได้มาซึ่งร่างกายที่แข็งแรงตอนสูงวัย โดยตั้งเป้าว่า จะต้องสามารถเดินและวิ่งไป-มา ได้จนวันสุดท้ายของชีวิตครับ.