โควิดวันนี้ ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รอบสัปดาห์ ล่าสุด 446 ราย เสียชีวิต 3 ราย
โควิดวันนี้ ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รอบสัปดาห์ พบยอดผู้ติดเชื้อโควิดลดลง 446 ราย เฉลี่ย 64 ราย/วัน ด้าน "หมอธีระ" วิเคราะห์การระบาดของไทย จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบลดลง 13.7% และใส่ท่อช่วยหายใจลดลง 14.3%
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงาน โควิดวันนี้ ระบุ ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 (COVID-19) รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 3 - 9 มีนาคม 2567 โดยมี ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) จำนวน 446 ราย เฉลี่ยรายวัน จำนวน 64 ราย/วัน ผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล สะสม 5,107 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567)
ผู้เสียชีวิตโควิด-19 (รายสัปดาห์) จำนวน 3 ราย เฉลี่ยรายวัน จำนวน 1 ราย/วัน ผู้เสียชีวิต สะสม 51 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567)
ผู้ป่วยปอดอักเสบ 227 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 78 ราย
ด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กอัปเดตประเด็น "โควิด-19" (COVID-19) โดยระบุว่า
วิเคราะห์การระบาดของไทย
ตัวเลขสัปดาห์ล่าสุด 3-9 มีนาคม 2024 จำนวนผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล 446 ราย เสียชีวิต 3 ราย ปอดอักเสบ 227 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 78 ราย เทียบกับสัปดาห์ก่อน พบว่า จำนวนผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลลดลง 3.5% ปอดอักเสบลดลง 13.7% และใส่ท่อช่วยหายใจลดลง 14.3%
คาดประมาณจำนวนคนติดเชื้อใหม่ต่อวันอย่างน้อย 3,186-4,425 ราย
ทั้งนี้ ข้อมูลจากทั่วโลกชี้ให้เห็นว่า การระบาดในปัจจุบันมาจาก Omicron สายพันธุ์ JN.1 เป็นหลัก โดยประเมินกันว่าการระบาดในช่วงถัดจากนี้ไปน่าจะมาจากลูกหลานของ JN.1 เนื่องจากยังไม่มีสายพันธุ์ไหนที่มาแข่งได้ชัดเจน
ในขณะที่ BA.2.87.1 นั้น ด้วยตัวมันเองมีระดับการดื้อต่อภูมิคุ้มกันไม่ได้มากไปกว่า JN.1 การที่จะถีบตัวขึ้นมาครองสัดส่วนหลักอาจเป็นไปได้ยาก ยกเว้นว่าจะมีการกลายพันธุ์เพื่อพัฒนาสมรรถนะเพิ่มเติม
แม้ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยจะเป็นขาลง แต่จำนวนคนที่ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันยังมีจำนวนไม่น้อย จึงควรใช้ชีวิตโดยไม่ประมาท ระวังที่แออัด ระบายอากาศให้ดี
เลี่ยงแชร์ของกินของใช้ อยู่ห่างจากคนที่มีอาการไม่สบาย ไข้ ไอ จาม ใส่หน้ากากป้องกันตัว หากไม่สบาย ควรแยกตัวจากคนอื่น รีบตรวจรักษา
ย้ำอีกครั้งว่า ด้วยข้อมูลทางการแพทย์ ยืนยันว่าโควิด-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ และทำให้ป่วยและเสียชีวิตมากกว่าไข้หวัดใหญ่ รวมถึงเสี่ยงต่อผลกระทบระยะยาวอย่าง Long COVID อีกด้วย
การใช้ชีวิตแบบใส่ใจสุขภาพ คือวิถีชีวิตที่ควรทำเป็นกิจวัตร