“นางยก นางแบก” กระดูกสันหลังคด มดลูกหย่อน นิ้วล็อค

“นางยก นางแบก” กระดูกสันหลังคด มดลูกหย่อน นิ้วล็อค

โรคกระดูกและกล้ามเนื้อจากการทำงาน เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพในวัยทำงาน ซึ่งพบอัตราป่วยที่สูงทุกปี โดยเฉพาะผู้หญิงหากยกของหนัก แบกกระเห๋าหนัก อาจเกิดกระดูกสันหลังคด นิ้วล็อค มดลูกหย่อนได้

KEY

POINTS

  • โรคกระดูกและกล้ามเนื้อจากการทำงาน เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพในวัยทำงาน ซึ่งพบอัตราป่วยที่สูงทุกปี
  • “นางยก นางแบก” เป็นสิ่งที่ผู้หญิงไม่ควรจะหาทำ เพราะการยกและแบกของหนักสำหรับผู้หญิง อาจส่งผลต่อสุขภาพตามมาได้อย่างมาก
  • การใช้กระเป๋าสะพายข้างเดียว อาจเสี่ยงต่อการเป็น “กระดูกสันหลังคด” หากหิ้วของหนักโดยใช้นิ้ว เสี่ยงเป็น “นิ้วล็อค” หรือการยกของหนัก ทำให้เกิด “มดลูกหย่อน”

โรคกระดูกและกล้ามเนื้อจากการทำงาน สถิติการป่วยกลุ่มโรคกระดูกและกล้ามเนื้อ จากการทำงานในระบบ Health Data Center (HDC) สะท้อนให้ทราบว่ากลุ่มโรคกระดูกและกล้ามเนื้อจากการทำงาน เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพในวัยทำงานซึ่งพบอัตราป่วยที่สูงทุกปี

การเจ็บป่วยส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของลูกจ้างทั้งนี้ กลุ่มอาการของโรคกระดูกและกล้ามเนื้อจากการทำงานที่พบบ่อยในวัยทำงาน คือ

  • อาการปวดหลังระดับล่าง 
  • การอักเสบของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อ 
  • กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืด 

 

 2 ลักษณะของเกิดโรคกระดูกและกล้ามเนื้อ

1. เกิดจากอุบัติเหตุหรืออันตรายโดยตรงต่ออวัยวะ เกิดการบาดเจ็บทันที เช่น โดนบีบอัด กระแทกที่มือหรือปวดหลังโดยฉับพลันหลังก้มหยิบจับของ

2.การบาดเจ็บสะสม มักจะเกิดจากการประกอบอาชีพที่มีปัจจัยเสี่ยงทางการยศาสตร์ เช่น ท่าทางในการทำงานที่ไม่เหมาะสม ก้มๆ เงยๆ ทำงานในระดับไหล่หรือสูงกว่า เอื้อมตัวหยิบของ บิดข้อมือ ทำท่าทางซ้ำๆ หรือยกของหนักตลอดเวลา เป็นต้น

งาน-อาชีพที่เสี่ยงโรคกระดูกและกล้ามเนื้อ

  • การยกของที่ไม่เหมาะสม
  • อาชีพที่จำต้องก้ม หรือบิดเอวซ้ำๆเป็นเวลานาน เช่น อาชีพที่นั่งทำงานกับพื้นเป็นประจำ อาชีพขับรถประจำทาง รถบรรทุก ขับแท็กซี่ เกษตรกร ประมง
  • อาชีพทำงานนั่งโต๊ะ เช่น เสมียน นักบัญชี พนักงานพิมพ์ งานหัตถกรรม ตัดเย็บเสื้อผ้า
  •  แม่ครัว ช่างยนต์ ช่างซ่อมเครื่องจักร พนักงานขนของ

 

อาการโรคกระดูกและกล้ามเนื้อที่พบ

1.กลุ่มอาการปวดหลังเฉียบพลัน เกิดจากการก้มยกของ หรือการบิดเอวที่ผิดจังหวะ อาการปวดกระจายอยู่บริเวณแผ่นเอวเบื้องล่าง หรือบริเวณแก้มก้นอาจร้าวไปทั่วบริเวณต้นขา และหัวเข่า พบว่าร้อยละ 80-90 อาการจะดีขึ้นจนเป็นปกติภายใน 2-3 สัปดาห์

2.กลุ่มอาการปวดร้าวไปที่ขา ประวัติการเจ็บป่วยคล้ายกับกลุ่มแรก แต่มีอาการปวดร้าวไปที่ขาบริเวณน่องและปลายเท้า

3.กลุ่มอาการปวดล้าบริเวณน่อง ขณะเดินและผู้ป่วยต้องหยุดเดินหลังจากเดินได้ระยะทางหนึ่ง โรคกลุ่มนี้มักเกิดจากการตีบแคบของโพรงรากประสาท ซึ่งไม่เกี่ยวเนื่องกับการบาดเจ็บจากการประกอบอาชีพ

กระเป๋าสะพายไหล่ กับกระดูกสันหลังคด

ในส่วนของผู้หญิงนั้น จะมีความเสี่ยงมีอาการป่วยจากการยกของหนัก และแบกของหนักได้มาก อย่างเช่น ก่อนหน้ามีการแชร์ข้อมูลว่าการสะพายกระเป่าหนักบนไหล่ข้างเดียว ทำให้เกิดสันหลังคดได้
อย่างไรก็ตาม หน่วยผ่าตัดกระดูกสันหลัง สถาบันออร์โธปิดิกส์ รพ.เลิดสิน กรมการแพทย์ ระบุข้อมูลว่า  โรคกระดูกสันหลังคดเอียง เป็นการคดงอหรือบิดเบี้ยวของกระดูกสันหลังไปด้านข้าง ทำให้เสียสมดุล  แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มแรก เป็นกลุ่มเด็กที่มีภาวะกระดูกสันหลังคดเอียง ที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด พบได้บ่อยถึง 80 % แบ่งตามอายุที่เริ่มแสดงลักษณะดังกล่าว คือ 0-3 ปี 4-10 ปี และ 11-18 ปี ภาวะนี้พบบ่อยในเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย

กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มภาวะกระดูกสันหลังคดเอียงที่ทราบสาเหตุ เกิดจากโรคทางระบบพันธุกรรม หรือกลุ่มโรคความผิดปกติทางระบบเส้นประสาทต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น โรคท้าวแสนปม ความผิดปกติของกล้ามเนื้อ กลุ่มนี้จะทำให้มีภาวะกระดูกสันหลังคดเอียงมาก

การรักษาภาวะกระดูกสันหลังคดเอียง สามารถแบ่งแนวทางการรักษาออกได้เป็น 3 ข้อหลักขึ้นอยู่กับมุมความคดเอียงของกระดูกสันหลังที่เกิดขึ้น ตั้งแต่การติดตามสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด การสวมชุดอุปกรณ์ป้องกันการคดเอียง และการผ่าตัดแก้ไข

 

ยกของหนัก มดลูกหย่อน

นอกจากนี้ ผู้หญิงที่ยกของหนักอาจส่งผลทำให้มดลูกหย่อนได้ ซึ่งรพ.บางปะกอก สมุทรปราการ  ให้ข้อมูลสาเหตุที่ทำให้เกิดได้หนึ่งในนั้น คือ  “ยกของหนัก”  โดยผู้ที่ต้องยกของหนักมากๆ เป็นเวลานาน จะส่งผลต่ออวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน

ขณะที่มดลูกหย่อนหรือมดลูกต่ำ คือ ภาวะที่มดลูกหย่อนหรือเลื่อนหลุดลงต่ำมาอยู่ที่ช่องคลอด จากปกติอยู่ภายในอุ้งเชิงกราน และส่วนใหญ่ผู้ที่เกิดภาวะมดลูดหย่อนมักมีอวัยวะอื่นภายในอุ้งเชิงกรานหย่อนลงมาด้วย เช่น กระเพาะปัสสาวะ หรือลำไส้


“นางยก นางแบก” กระดูกสันหลังคด มดลูกหย่อน นิ้วล็อค

 

อาการของผู้ที่เกิดภาวะมดลูกหย่อนค่อนข้างรุนแรงไปจนถึงรุนแรงมาก

  •  รู้สึกหน่วงเหมือนถูกถ่วงที่อุ้งเชิงกราน หรือรู้สึกมีบางอย่างโผล่ออกมาจากช่องคลอด ซึ่งบางครั้งจำเป็นต้องดันกลับเข้าไปข้างในช่องคลอด รวมทั้งรู้สึกคล้ายนั่งทับลูกบอลเล็กๆ
  •  มีเนื้อเยื่อโผล่ออกมาจากช่องคลอด หรือมองเห็นมดลูกโผล่ออกมากจากช่องคลอด
  • เลือดออกจากช่องคลอด
  • มีตกขาวมากขึ้น
  • รู้สึกไม่สบายหรือลำบากเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  •  มีปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะ
  • กระเพาะปัสสาวะอักเสบหลายครั้ง
  • ท้องผูก
  •  เดินไม่สะดวก

 

หิ้วของหนัก นิ้วล็อค

“นิ้วล็อค” เป็นอีกโรคที่ผู้หญิงที่หิ้วของหนักเสี่ยงที่จะเป็น โดยมักมีอาการนิ้วมือ และนิ้วมือล็อค ไม่สามารถเหยียดตรงได้ง่าย เนื่องจากการอักเสบของปลอกเอ็นกล้ามเนื้อนิ้ว  ถึงแม้ว่าโรคนี้จะมีกลุ่มเสี่ยงชัดเจน แต่ผู้ป่วยที่พบมากจะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และมีอายุประมาณ 40-60 ปี  

สาเหตุส่วนใหญ่จะมาจากการใช้งานนิ้วมืออย่างหนัก เช่น

  • ผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือระบบสัมผัส
  • แม่บ้านผู้ใช้งานมืออย่างหนัก ในการหิ้วของหนัก ซักผ้า หรือการทำงานบ้านอื่นๆ ทำให้นิ้วมือต้องเกร็งอย่างหนัก
  • ผู้ชายที่ทำอาชีพที่ต้องใช้กำลังจากนิ้วมือ เช่น ชาวไร่ ชาวนา ชาวสาว พนักงานโรงงาน ช่างซ่อมที่ต้องใช้ไขควง ช่าง นักกีฬากอล์ฟ   นักกีฬายูโด
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่ก่อให้เกิดการอักเสบบริเวณเนื้อเยื้อที่มือ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเกาต์ โรคเบาหวาน โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ

สิ่งที่จะป้องกันโรคนิ้วล็อค

1. หลีกเลี่ยงการหิ้ว หรือยกของหนัก เพื่อถนอมนิ้วมือ

2. พักมือ เมื่อใช้งานโทรศัพท์หน้าจอสัมผัสเป็นเวลานาน ควรพักเป็นระยะ เช่นใช้งาน 45 นาที และพัก 10 นาที

3. ควรใช้เครื่องทุนแรง หากจำเป็นต้องทำงานที่ใช้มือ กำ หยิบ  บีบ หรือยก

 

วิธีหลีกเลี่ยง อาการจากยกของหนัก

วัยทำงานหลีกเลี่ยงโรคกระดูกและกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะอาการปวดหลัง ด้วยการหลีกเลี่ยงและป้องกันโดยปฏิบัติ ดังนี้
1.ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน และหลีกเลี่ยงท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น

  • ลักษณะงานที่ทำต้องยกของหนักเป็นประจำ ให้ใช้เครื่องทุ่นแรง แทนการใช้แรงคนยก
  •  หากจำเป็นต้องยกของหนัก โดยไม่มีเครื่องทุ่นแรงให้แบ่งของให้มีนำหนักที่พอเหมาสำหรับกำลังที่ที่ยกของตนเอง
  • หลีกเลี่ยงการยกของที่อยู่สูงกว่าระดับความสูงของไหล่
  • หลีกเลี่ยงการยกของที่หนักแล้ววางลงในระดับที่ต่ำกว่า
  • ลักษณะงานที่ทำหากต้องนั่งทำงานนาน ๆ ควรนั่งทำงานบนเก้าอี้ที่มีพนักพิง และมีความสูงพอที่เท้าสามารถวางบนพื้นได้
  • ลักษณะงานที่ทำหากต้องยืนทำงานนาน ๆ ควรจัดให้มีเก้าอี้นั่งพักที่มีพนักพิง หรือจัดให้มีที่พักเท้า

2.การออกกำลังกาย จะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เป็นทางเลือกหนึ่งในการลดอาการปวดหลัง และสามารถทำได้ด้วยตนเอง ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย สามารถดูได้จากเอกสารแผ่นพับเผยแพร่

 

อ้างอิง : กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ,รพ.บางปะกอกสมุทรปราการ ,รพ.บางปะกอก 1