คัดกรองระดับชีวโมเลกุล ช่วยรักษามะเร็งได้ดีทุกระยะ

คัดกรองระดับชีวโมเลกุล   ช่วยรักษามะเร็งได้ดีทุกระยะ

โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า ในปี 2565 มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ประมาณ 20 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 9.7 ล้านคน

KEY

POINTS

  • โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์  เปิดศูนย์มะเร็งฮอไรซันบำรุงราษฎร์ ให้การบริบาลรักษาโรคมะเร็งอย่างครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่การดูแลเชิงป้องกัน การวินิจฉัยและการรักษาโรคมะเร็ง รวมทั้งการเฝ้าติดตามป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ 
  • ผู้ป่วยได้รับการตรวจมะเร็งแบบ Precision Cancer Medicine เพื่อหาความผิดปกติที่จำเพาะกับมะเร็ง จะช่วยให้แพทย์เลือกยาที่ช่วยหลีกเลี่ยงการเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาได้มากขึ้น
  • บริบทของผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่งผลกระทบที่ทำให้ผู้หญิงในมุสลิมเข้าถึงการดูแลสุขภาพหรือการคัดกรองโรคต่างๆ ให้ทันท่วงทีได้ค่อนข้างยาก

คาดการณ์ว่าในปี 2593 จะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่มากกว่า 35 ล้านคน และจากสถิติโรคมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในปี 2565 พบว่า แต่ละปีมีคนไทยป่วยเป็นมะเร็งรายใหม่ประมาณ 140,000 คน (หรือเฉลี่ย 400 คนต่อวัน) และเสียชีวิตประมาณ 83,000 คน

การรักษามะเร็งในอดีต เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็ง จึงเริ่มทำการรักษาตามระยะอาการของโรค ซึ่งมักเป็นการรักษาด้วยวิธีฉายแสง เคมีบำบัด และการผ่าตัด รังสีรักษาเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาโรคมะเร็ง โดยใช้รังสีพลังงานสูงฉายไปตำแหน่งของเซลล์มะเร็งเพื่อทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็งนั้น 

เป้าหมายของการใช้รังสีรักษา คือ การรักษาที่แม่นยำ ถูกต้อง, ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงน้อยที่สุด หรือไม่มีผลข้างเคียง และ ลดระยะเวลาในการเข้ารับการรักษา ปัจจุบันมีการตรวจรักษามะเร็งแบบ Precision approach ซึ่งเป็นวิธีตรวจความผิดปกติระดับชีวโมเลกุล เพื่อให้ได้มาซึ่งวิธีรักษามะเร็งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยในทุกระยะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ไม่อยากเสี่ยง 'โรคมะเร็ง' ลดอาหารกลุ่มเสี่ยง ช่วยได้ 30-40 %

'มะเร็งลำไส้ใหญ่' เรื่องใกล้ตัว เช็กพฤติกรรมเสี่ยง ก่อนสาย

ศูนย์มะเร็งฮอไรซันบำรุงราษฎร์ รักษามะเร็งครบทุกมิติ

โรคมะเร็งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาวะความเจ็บป่วย และคุณภาพชีวิตของประชากรทั้งในระดับประเทศและระดับโลก  ล่าสุดโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์  เปิดศูนย์มะเร็งฮอไรซันบำรุงราษฎร์ ให้การบริบาลรักษาโรคมะเร็งอย่างครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่การดูแลเชิงป้องกัน การวินิจฉัยและการรักษาโรคมะเร็ง รวมทั้งการเฝ้าติดตามป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ โดยให้การดูแลรักษาที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง มุ่งเน้นการดูแลแบบเฉพาะบุคคล เพื่อรักษาโรคและอาการที่ซับซ้อน ที่แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย

“ภญ.ดร.อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์”  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่าศูนย์มะเร็งฮอไรซัน  เป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Center of Excellence) ที่จะยกระดับการรักษาให้เป็นสถาบัน (Institute) ในปี 2567 นี้ ให้การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งกว่า 12,500 คนต่อปี และมีผู้ป่วยใหม่กว่า 1,000 คนต่อปี การดูแลครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่ป้องกัน วินิจฉัย และรักษาในทุก stage ของโรคมะเร็ง และออกแบบการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยมะเร็งแต่ละราย แบบสหสาขาวิชาชีพ

มีการประชุม Multidisciplinary Tumor Board และ Comprehensive Palliative Care ประยุกต์และผสมผสานปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีก้าวหน้า เช่น NGS มาร่วมในการวินิจฉัย และออกแบบการรักษาภาวะมะเร็งอย่างสมบูรณ์แบบ ให้มีความถูกต้องและแม่นยำ ได้ผลลัพธ์การรักษาที่ดี  

คัดกรองระดับชีวโมเลกุล   ช่วยรักษามะเร็งได้ดีทุกระยะ

ตรวจคัดกรองระดับชีวโมเลกุล สำหรับผู้ป่วยทุกระยะ

ปัจจุบัน มีการตรวจรักษามะเร็งแบบ Precision approach ซึ่งเป็นวิธีตรวจความผิดปกติระดับชีวโมเลกุล เพื่อให้ได้มาซึ่งวิธีรักษามะเร็งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยในทุกระยะ โดยแพทย์จะทำการตรวจชิ้นเนื้อปัจจุบันของผู้ป่วย ก่อนจะนำมาวิเคราะห์หาความผิดปกติในระดับชีวโมเลกุล และเลือกใช้ยารักษาที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยแบบเฉพาะบุคคล ทำให้ผลข้างเคียงจากการรักษาลดลง ต่างจากการรักษามะเร็งด้วยวิธีเคมีบำบัด

 ทั้งยังเป็นการตรวจมะเร็งที่สะดวก ไม่ใช้เวลานานมาก เมื่อผู้ป่วยได้รับการตรวจมะเร็งแบบ Precision Cancer Medicine เพื่อหาความผิดปกติที่จำเพาะกับมะเร็ง จะช่วยให้แพทย์เลือกยาที่ช่วยหลีกเลี่ยงการเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาได้มากขึ้น ลดระยะเวลาการฟื้นตัวของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ผลลัพธ์การรักษาในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม 450 คน จากสถิติในปี 2564-2565 พบว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ระยะ 1-3 มีอัตราการรอดชีวิตใน 1 ปี หลังได้รับการรักษา ถึง 100% ในขณะที่เกณฑ์มาตรฐานในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 99%, 97% และ 94% (ตามลำดับระยะ 1-3) ในขณะที่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ระยะที่ 4 มีอัตราการรอดชีวิตใน 1 ปี สูงถึง 90% เทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 61%

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย (Palliative Cancer Care) เป็นการดูแลที่มุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว ช่วยลดความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ โดยจะคำนึงถึงความต้องการและความปรารถนาของผู้ป่วยและครอบครัวร่วมด้วยเสมอ โดยศูนย์มะเร็งฮอไรซันมีทีม Palliative Tumor Board ประกอบด้วยทีมแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลแบบประคับประคองที่จะคอยติดตามประเมินอาการและให้การดูแลในทุกมิติอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำดนตรีบำบัดเข้ามาดูแลผู้ป่วยเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายได้ดียิ่งขึ้น

คัดกรองระดับชีวโมเลกุล   ช่วยรักษามะเร็งได้ดีทุกระยะ

มิชชัน ลีปฟรอก ดูแลสุขภาพผู้หญิง

ปัจจุบันยังมีความท้าทายในการเข้าถึงการตรวจและการรักษาโรคของผู้หญิงอยู่ โดยเฉพาะโรคมะเร็งอันดับต้นในผู้หญิง ทั้งมะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก ปี 2563 โรช ไทยแลนด์ ได้ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในการสร้างเครือข่ายและโครงการนำร่องให้แก่ประชาชน จนนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบการดูแลสุขภาพของผู้หญิงไทย 

หนึ่งในนั้นคือ โครงการมิชชัน ลีปฟรอก ที่มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงการดูแลสุขภาพสำหรับผู้หญิงในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้หญิงที่เข้าถึงยากและเปราะบาง เช่น ชาวมุสลิมในจังหวัดปัตตานี ด้วยการทำโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเองที่บ้าน ผ่านไปรษณีย์ เพื่อเป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้นให้ผู้หญิงไทยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียม

“พญ.ราตรี เจะเอาะ” หนึ่งในแพทย์ผู้ช่วยผู้ผลักดันและเป็นกระบอกเสียงในโครงการมิชชัน ลีปฟรอกจัดกิจกรรมตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และให้ความรู้แก่ผู้หญิงในจังหวัดปัตตานี กล่าวว่าการตรวจคัดกรองโรคต่างๆ อย่างโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก ซึ่งถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงและไม่ควรละเลยผู้หญิงทุกคนในไทยหันมาดูแลรักษาสุขภาพ และตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะยิ่งเพิ่มทางเลือกในการรักษา อัตราการรอดชีวิตก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

บริบทของผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่งผลกระทบที่ทำให้ผู้หญิงในมุสลิมเข้าถึงการดูแลสุขภาพหรือการคัดกรองโรคต่างๆ ให้ทันท่วงทีได้ค่อนข้างยากจึงต้องเข้าไปเปลี่ยนแปลงความเชื่อให้กลายเป็นความรู้ที่ถูกต้อง และเมื่อไรที่ความเชื่อได้เปลี่ยนเป็นความรู้ ก็จะทำให้ผู้หญิงมุสลิมค่อยๆ ยอมรับและสามารถเข้าถึงบริการของระบบสุขภาพได้ในทุกๆ ขั้นตอน แม้กระทั่งการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหรือการคัดกรองมะเร็งในทุกๆ โรค

คัดกรองระดับชีวโมเลกุล   ช่วยรักษามะเร็งได้ดีทุกระยะ

สำหรับมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศหญิง โดยมะเร็งเต้านมพบมากที่สุดถึง 37.9% และมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปอด แต่ความน่ากลัวของมะเร็งเต้านมจะลดลงตามความเร็วในการค้นพบ ดังนั้นการใส่ใจตรวจหามะเร็งเต้านมจึงเป็นเรื่องที่ผู้หญิงทุกคนควรให้ความสำคัญ หากตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะต้น และทำการรักษาอย่างถูกต้อง ก็จะยิ่งทำให้โรคมะเร็ง เต้านมมีโอกาสสูงที่จะหายขาดได้

ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ที่ได้รับการวินิจฉัย ประมาณ 70% มักอยู่ในระยะที่ 1 2 และ 3 ซึ่งถือว่าเป็นระยะเริ่มต้น และระยะที่ 4 หรือระยะแพร่กระจายอีกประมาณ 12% โดยการแบ่งระยะของโรคมะเร็งจะแปลผันโดยตรงกับอัตราการรอดชีวิตของคนไข้ ดังนั้นหากผู้ป่วยเป็นมะเร็งระยะที่ 0 ก็จะพบว่ามีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี สูงถึง 100% และหากเป็นมะเร็งระยะที่ 1 จะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ถึง 98% แต่ถ้าหากระยะของโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อัตราการการรอดชีวิตก็จะลดลงตามลำดับ ดังนั้นหากผู้หญิงทุกคนในไทยหันมาดูแลรักษาสุขภาพ และตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะยิ่งเพิ่มทางเลือกในการรักษา อัตราการรอดชีวิตก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน