ตรวจเช็ก ป้องกันได้!! "6 โรคNCDs -โรคติดเชื้อ" ที่คร่าชีวิตคนมากที่สุด
การใช้ชีวิตของผู้คนที่กำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การทำงาน ภาวะทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ล้วนส่งผลพฤติกรรมการใช้ชีวิต อันนำไปสู่สุขภาพร่างกาย จิตใจ "โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs และโรคติดเชื้อ" เป็นกลุ่มโรคที่สามารถพบได้บ่อยในผู้คนทุกเพศ ทุกวัย
KEY
POINTS
- กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และโรคติดเชื้อที่คร่าชีวิตคนได้มากที่สุด ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอดปวม โรคท้องร่วง และวัณโรค
- เชื้อโรคบางชนิดไม่สามารถก่อให้เกิดโรค ขณะที่ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ แต่เมื่อร่างกายอยู่ในภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เชื้อเหล่านั้นกลับกลายเป็นเชื้อก่อโรคได้ทันที
- ป้องกันโรคได้ง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมการกิน เลือกอาหารเพื่อสุขภาพ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ จัดการความเครียด เลิกบุหรี่ งดแอลกอฮอล์ รักษาน้ำหนักและความดันโลหิต หมั่นตรวจสุขภาพ
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการเสียชีวิตและความพิการทั่วโลก โดยคิดเป็น 74% ของการเสียชีวิตทั้งหมด และมากกว่า 3 ใน 4 ปีที่อาศัยอยู่กับความพิการหรือเสมือนพิการ โดยได้ถูกเฝ้าระวังให้เป็นโรคระบาดแห่งแห่งศตวรรษที่ 21 จากหน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลก ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
โดยโรค NCDs หรือ non-communicable diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่เป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งจะมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ ค่อยๆ สะสมอาการอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีอาการของโรคแล้วมักจะเกิดการเรื้อรังของโรคด้วย จึงอาจจัดว่าโรค NCDs เป็นกลุ่มโรคเรื้อรังได้
ว่ากันว่า สาเหตุหลักสำคัญของกลุ่มโรค NCDs คือพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารรสจัด เช่น หวานจัด เค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง อาหารปิ้งย่าง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย การนอนดึก การมีความเครียดสูง การรับประทานยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เป็นต้น ดังนั้นคนที่มีพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเช่นนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค NCDs ได้มากกว่าคนอื่นๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สูงวัยเช็กด่วน! เครื่องคัดกรองกระดูกพรุนแบบพกพา' ตรวจได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง
3 กลุ่มโรค NCDs รู้ป้องกัน ลดเสี่ยงได้
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตและความพิการไปทั่วโลก โดยโรค NCDs เป็นกลุ่มอาการที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อเฉียบพลันอย่างรุนแรงเป็นหลัก แต่จะส่งผลร้ายแรงเมื่อเกิดการสะสมความเสื่อมเป็นระยะนานพอภายในร่างกายจนถึงจุดหนึ่งเมื่อเจอเหตุปัจจัยภายนอก เช่น การติดเชื้อไวรัส การเจอความเครียด การเกิดอุบัติเหตุบางอย่าง ก็จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจจะแสดงอาการเริ่มจากการเจ็บป่วยออดๆ แอดๆ ไปจนถึงขั้นแอดมิทที่โรงพยาบาล
ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับบุคคล โรคดังกล่าวมีผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามสถานการณ์การใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล รวมถึงคุณภาพชีวิต และผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจในวงกว้าง โรค NCDs เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะร้ายแรงของโรค
สำหรับ 3 อันดับโรคร้ายแห่งยุค รู้เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงก่อนจะสายไป ได้แก่
- โรคหัวใจ
- โรคมะเร็ง
- โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง
- โรคหัวใจ
เกิดจากสภาวะการทำงานที่ผิดปกติของระบบหัวใจ โรคหัวใจเป็นสาเหตุต้นๆ ของการเสียชีวิตทั่วโลกคือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน ซึ่งพบได้มากในผู้สูงอายุ ตามมาด้วยโรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือโรคหัวใจวายเฉียบพลัน ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าคนที่อายุยังน้อย เช่น เด็กเล็ก หรือวัยรุ่นก็มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้สูงขึ้น
ซึ่งโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคในระบบทางเดินหายใจหรือโรคปอดนั้น มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาโดยตลอด จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2019 พบว่าสาเหตุการเสียชีวิต 3 อันดับแรก ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง ตามลำดับ
โรคหัวใจสัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดสมอง
ทั้งนี้ โรคหัวใจ กับ โรคหลอดเลือดสมอง โรคทั้งสองอาจเกิดขึ้นได้ในเวลาไล่เลี่ยกัน เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคทั้งสองระบบมีความคล้ายคลึงกันมาก ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ โรคอ้วน การไม่ออกกำลังกาย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
โดยปัจจัยดังกล่าวเร่งหรือเอื้อต่อการเกิดคราบไขมันที่ไปเกาะด้านในผนังหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดที่คอ หลอดเลือดในสมอง เมื่อคราบไขมันสะสมมากขึ้น ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจและ/หรือหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและ/หรือสมองขาดเลือดเฉียบพลันได้ หรือในส่วนของการสะสมของคราบไขมันที่หลอดเลือดส่วนต้นคอ ถ้ามีการหลุดลอกของคราบไขมันไปยังหลอดเลือดสมอง ก็ทำให้เกิดสมองขาดเลือดได้เช่นกัน
อีกทั้งปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดเปราะบางไม่แข็งแรง เกิดภาวะหลอดเลือดโป่งพองในสมองหรือในช่องท้อง ส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดแตกหรือฉีกขาด นำไปสู่ภาวะเลือดออกในสมองหรือช่องท้อง ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตได้อีกด้วย
ขณะเดียวกัน การเกิดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน/หัวใจเต้นผิดจังหวะ ทำให้เลือดหมุนวนตกค้างอยู่ในหัวใจห้องบน เกิดลิ่มเลือดในห้องหัวใจและเกิดการหลุดลอยไปอุดตันหลอดเลือดในสมองได้ โดยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองที่สูงที่สุด และอาจสูงมากกว่า 5 เท่าหากผู้ป่วยมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย
นอกจากนั้น ยังมีรายงานพบด้วยว่าโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือหัวใจขาดเลือดนั้น เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็ง และในรายงานของสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association: AHA) ระบุว่า ในปี 2018 มีรายงานว่า หากมีคนไข้เป็นโรคหัวใจ 100 คน จะพบคนที่มีความเสี่ยงเป็นสโตรกได้ถึง 17 คน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องควบคุมสภาวะต่างๆ อย่างเหมาะสมให้อยู่ในระดับที่ปกติ และควรเฝ้าระวังโรคเหล่านี้แต่เนิ่น ๆ
ทำไม?เมื่อเป็นโรคปอดจะเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ
ส่วนโรคปอด กับ โรคหัวใจ ก็มีความสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุของหลักของการเกิดโรคปอด ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคมะเร็งปอด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease-COPD) เช่น ถุงลมโป่งพอง (Emphysema) ซึ่งมีส่วนทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้นเนื่องจากแรงต้านในปอดสูงกว่าปกติ ความดันของหลอดเลือดที่ไหลกลับเข้าสู่หัวใจเพิ่มขึ้น มีส่วนทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น จึงเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะมากขึ้นได้
อีกทั้งโรคถุงลมโป่งพองยังสามารถเพิ่มความดันโลหิตของหลอดเลือดปอด ซึ่งสามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจห้องขวาล้มเหลวได้ ภาวะนี้เป็นภาวะที่อันตราย ทำให้ผู้ป่วยเหนื่อยมากและเสียชีวิตได้ในที่สุด ทั้งนี้ ยังมีรายงานพบอีกว่า ในคนที่เป็นโรค COPD 100 คน จะมีคนที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจมากถึง 25-33 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะมากทีเดียว
นอกจากนั้นแล้ว ผู้ที่มีลิ่มเลือดอุดตันในปอด หากเกิดในภาวะเฉียบพลัน สามารถทำให้หัวใจหยุดเต้นหรือทำให้หัวใจด้านขวาวายฉับพลันได้ หรือในกรณีเรื้อรังก็สามารถทำให้เกิดภาวะความดันเลือดในปอดสูงได้
ในทางกลับกัน โรคหัวใจชนิดต่างๆ ก็ส่งผลต่อปอดด้วยเช่นกัน เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วมากจนบีบเลือดออกจากหัวใจได้ไม่ดี โรคหัวใจเหล่านี้ทำให้หัวใจทำงานได้ไม่ปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้เลือดคั่งค้างที่หัวใจ และล้นกลับไปที่ปอด ไปอยู่ในถุงลมของปอด ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมปอดได้ในที่สุด ปอดไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจหอบเหนื่อย เหนื่อยจนนอนราบไม่ได้ และ/หรือต้องตื่นขึ้นมาหายใจหลังจากหลับไปแล้ว ซึ่งภาวะนี้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ถ้ารักษาไม่ถูกต้องและทันท่วงที ทั้งนี้ หากพบโรคปอดเหล่านี้กับโรคหัวใจร่วมกัน จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอัตราการตายมากขึ้นได้อีกด้วย
"มะเร็ง" โรคร้ายที่พบผู้ป่วยมากขึ้น เกิดจากอะไร?
- โรคมะเร็ง
คือ กลุ่มของโรคที่เกิดจากเซลล์ของร่างกายมีความผิดปกติ ที่ DNA หรือสารพันธุกรรม หรือโรคที่เกิดจากความเสี่อมของไมโทคอนเดรีย (Mitochondria) เป็นองค์ประกอบภายในเซลล์แต่ละเซลล์ ทำหน้าที่สำคัญเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตพลังงานในร่างกายและมีสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอเป็นของตัวเองอย่างเฉพาะ หากเกิดความผิดปกติจะส่งผลให้เซลล์มีการเจริญเติบโต มีการแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์ รวดเร็ว และมากกว่าปกติ ทำให้เกิดก้อนเนื้อผิดปกติ และในที่สุดก็จะทำให้เกิดการตายของเซลล์ปกติที่อยู่ใกล้กับก้อนเนื้อมะเร็งที่เจริญเติบโตขึ้นนั้น เพราะสาเหตุจากการขาดเลือดไปเลี้ยงเซลล์ปกติที่เซลล์มะเร็งสามารถมีความสามารถแย่งพื้นที่การเจริญเติบโตจากหลอดเลือดและสารอาหารได้ดีกว่าเซลล์ปกติเพื่อความอยู่รอดของเซลล์มะเร็งนั้นเอง โดยจะเรียกชื่อโรคมะเร็งต่างตามอวัยวะที่เกิดขึ้น เช่น มะเร็งปอด มะเร็งสมอง มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งผิวหนัง เป็นต้น
หากทำคุณได้เข้าใจและเห็นภาพมากขึ้นอีกสักนิดต่อการกระตุ้นกระบวนการเกิดมะเร็งอย่างคร่าวๆ สิ่งแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีสังเคราะห์สำหรับผสมอาหารหรือเครื่องดื่มแปรรูป การเสพติดน้ำตาล รสเค็มหรืออาหารรสจัด เจอมลภาวะ เช่น ควันจากการเผาไหม้ ฝุ่น PM2.5 ความเครียด และเชื้อไวรัสบางชนิด ยิ่งหากคุณได้รับหรือสัมผัสกับสภาวะเหล่านี้เป็นเวลาต่อเนื่องและยาวนาน จะส่งผลต่อการอักเสบระดับเซลล์และ “นิวเคลียส” ที่เป็นศูนย์รวมรหัสพันธุกรรม (DNA) ของคุณ และมากไปกว่านั้นยังผลกระทบต่อไปยังภายในถึงสิ่งเล็กๆ
แต่สามารถส่งผลต่อสุขภาพคุณได้ในภาพรวมนั้นคือ “ไมโตคอนเดรีย (Mitochondria)” ที่อยู่ภายในของเซลล์ ทีมีหน้าที่ให้สัญญาณระหว่างเซลล์กับกระบวนต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ การผลิตพลังงาน กระบวนการเผาผลาญในร่างกาย (Metabolism) การเจริญเติบโตของเซลล์หรือการแยกเซลล์ออกจากกัน เป็นเหมือนเครื่องจักรที่ควบคุมและประสานงานการเกิดและทำลายเซลล์ที่เสื่อมสภาพ
ดังนั้น เมื่อระบบเผาผลาญพัง (Metabolic Syndrome) ที่ร่างกายจะแสดงภาวะของมีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนลงพุง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งมีโรคหลักๆ ตามตัวอย่าง 5 โรคร้ายในเนื้อหานี้ และนี่จะเป็นการบ่งชี้ว่าไมโตคอนเดรียของคุณมีปัญหาหรือเสียหายจากการอักเสบระดับเซลล์ได้เกิดขึ้นและต้องได้รับการฟื้นฟูด้านสุขภาพได้แล้ว และจะส่งผลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อมา คือ นิวเคลียสหรือสารพันธุกรรมของคุณก็จะเกิดความเสียหายและกลายพันธุ์ ทำให้เกิดการแบ่งตัวอย่างผิดปกติของเซลล์นั้นๆ และแพร่กระจายกลายเป็นเชื้อ หรือที่เราเรียกว่า โรคมะเร็ง ที่เป็น 1 ใน โรค NCDs ที่สำคัญ ที่เรากำลังกล่าวถึงนี้
รูปแบบการกลายพันธ์ุของยีนมะเร็ง
แบบที่ 1 การกลายพันธุ์ที่ถูกกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม เชื้อไวรัส ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือที่เราได้นำเสนอไปข้างต้นนี้
•เซลล์ที่กลายพันธ์ุจากภาวะผิดปกติของร่างกาย หรือจากการสัมผัสสิ่งกระตุ้นที่ก่อโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ
•โรคมะเร็งส่วนใหญ่ ประมาณ 90-95% เกิดได้สูงในรูปแบบนี้
แบบที่ 2 การกลายพันธุ์จากของยีนที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม (จากรุ่นพ่อแม่ถ่ายทอดส่งต่อไปสู่รุ่นลูกหลาน)
•โรคมะเร็ง ประมาณ 5-10% ที่จะเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือโรคมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม (Hereditary cancer) เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่มะเร็งกระดูก มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือโครลูคีเมีย เป็นต้น
วิธีสร้างความแข็งแรงไปถึงระดับเซลล์และไมโตคอนเดรียของคุณ
- กินอาหารต่อวันทั้งมื้อหลักและอาหารว่างไม่ถี่เกินไป หรืออาจพิจารณาวิธีการกินอาหารแบบ IF, 2MAD, OMAD อย่างเข้าใจและถูกวิธี โดยจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำและการประเมินความเหมาะสมอย่างต่อเนื่องกับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของคุณ เพราะหากสุขภาพคุณยังไม่พร้อมจะมีผลข้างเคียงได้
- เลือกกินหรือปรุงอาหารจากวัตถุดิบธรรมชาติ (Whole Foods) หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปหรือสำเร็จรูป ที่จะมีส่วนผสมทางเคมีขั้นสูงที่ดูจากฉลากแล้วต้องใช้การแปลหรือตีความทางวิทยาศาสต์ อาหารหรือเครื่องดื่มทีมีสัดส่วนสารให้ความหวานที่มาก อาหารเค็มจัด เผ็ดจัด และเครื่องดื่มดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรือพิจารณาการออกกำลังกายแบบ HIIT Excercise
- มีความคิดเชิงบวก และมีวิธีการจัดการกับความเครียดได้ดี
- นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
- งดสูบบุหรี่ กัญชา หรือการได้รับควันจากการเผาไหม้ หลีกเลี่ยงและป้องกันมลพิษทางอากาศ
หากข้อมูลสถิติทะเบียนมะเร็งประเทศไทย* ปี 2565 โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ รายงานว่าประเทศไทยจะมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่กว่า 140,000 คน หรือประมาณ 400 คนต่อวัน โดยโรคมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรกในคนไทย ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่/ทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก โดยในเพศชายเป็นมะเร็งตับและท่อน้ำดีมากที่สุด ส่วนเพศหญิงเป็นมะเร็งเต้านมมากที่สุด ปัจจัยภายนอกที่ก่อความเสี่ยงให้เกิดมะเร็ง ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การกินอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง การสูดมลพิษทางอากาศ เป็นต้น และปัจจัยภายใน เช่น ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง การสืบทอดทางพันธุกรรม เป็นต้น
หายใจติดขัด เสี่ยงโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง
- โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง
โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากระบบทางเดินหายใจเป็นส่วนสำคัญของร่างกายที่ช่วยให้เราสามารถหายใจและได้รับออกซิเจนที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต อย่างไรก็ตาม มีหลายปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคที่เกี่ยวข้องกับปอด โรคหืด หรือโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถทำให้เกิดอาการหายใจติดขัดและปัญหาทางเดินหายใจอื่นๆ ได้
โรคระบบทางเดินหายใจ โดยโรคระบบทางเดินหายใจในเด็กที่พบบ่อย สามารถจำแนกแบบง่ายๆ เป็นโรคระบบทางเดินหายใจส่วนบน และระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจและจัดการโรคระบบทางเดินหายใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรค ดังนี้
- โรคหวัด โรคของระบบทางเดินหายใจส่วนบน
โรคหวัดเป็นหนึ่งในโรคที่พบบ่อยที่สุดในมนุษย์ โดยส่วนใหญ่เป็นโรคของระบบทางเดินหายใจส่วนบน โรคหวัดมักจะมีอาการเจ็บคอ น้ำมูกไหล ไข้ และอาการปวดกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดความไม่สบายและผิดปกติในการทำกิจวัตรประจำวัน
- ปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโรคหวัด
การสัมผัสกับผู้ป่วยโรคหวัด หากมีการสัมผัสกับบุคคลที่ติดเชื้อโรคหวัด เช่น การแชร์ของใช้ส่วนตัว การจับมือ หรือการสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อโรค อาจจะทำให้เราติดหวัดได้
การสัมผัสกับสิ่งของ เชื้อโรคหวัดสามารถติดต่อได้ผ่านพื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น มือที่สัมผัสกับแหล่งติดเชื้อแล้วสัมผัส
การไอหรือจาม เชื้อโรคหวัดสามารถแพร่กระจายผ่านละอองน้ำละอองที่พบในลมหายใจขณะไอหรือจาม โดยละอองน้ำนั้นอาจทำให้ติดเชื้อได้
สภาวะที่อ่อนแอ บุคคลที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภาวะป่วยเป็นโรคเรื้อรัง อาจมีความเสี่ยงที่สูงขึ้นในการติดเชื้อโรคหวัด
สาเหตุร่วมที่ใช้ประเมินความเสี่ยงของโรค
ถ้าพูดกันแบบตรงไปตรงมา 3 โรคร้ายดังกล่าว เป็นโรคที่คุณสร้างเองโดยไม่รู้ตัวหรือเป็นพฤติกรรมที่คุณคุ้นชินไปกับชีวิตประจำวัน เนื่องจากพฤติกรรมหรือไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่ส่งเสริมให้เสี่ยงต่อโรคดังกล่าวนั้น เช่น
- การกินอาหารต่อวันที่ถี่มากไป พร้อมกับการเลือกกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ (การเสพติดน้ำตาล อาหารหวานจัด เค็มจัด ทอดกรอบ อาหารแปรรูปขั้นสูงด้วยสารปรุงแต่งทางเคมี)
- การรับมือกับความเครียดได้ไม่ดี
- การไม่ออกกำลังกาย
- การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์
- อยู่ภายใต้ความเสี่ยงมลพิษทางอากาศ
ทางเลือกในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรคร้าย
- หมั่นหาความรู้หรืออัพเดตองค์ความรู้ด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในกรดูแลสุขภาพได้อย่างเข้าใจและเหมาะกับตนเอง
- เลิกสูบบุหรี่หรือการรับควันบุหรี่มือสอง รวมถึงป้องกันตนเองโดยไม่พาตนเองไปเสี่ยงในพื้นที่ควันหรือมลพิษทางอากาศโดยไม่จำเป็น
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป
- กรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง NCDs เช่น โรคระบบเผาผลาญอาหารพัง โรคไต โรคตับ ฯลฯ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอย่างเคร่งครัด
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- เรียนรู้ที่จะจัดการและอยู่กับความเครียดให้ได้ รวมถึงการปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความเครียด
- เลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ พร้อมเน้นบำรุงหลอดเหลือด หัวใจ ป้องกันการเกิดภาวะดื้ออินซูลิน เช่น อาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนหรือแบบสแกนดิเนเวียร์ ที่จะมุ่งเน้นอาหารจากธรรมชาติให้มากที่สุด โดยแหล่งอาหารควรเป็นแหล่งอาหารจากธรรมชาติ เช่น ผักสีเขียว บรอกโคลี พืชตระกูลถั่ว ปลา เนื้อสัตว์ ไข่ ผลิตภัณฑ์จากนม และรับประทานโปรตีนจากเนื้อปลา สัตว์ปีก ไข่ และผลิตภัณฑ์จากนมในปริมาณเพียงพอต่อมื้อ ลดอาหารแปรรูปให้ได้น้อยมากที่สุดหรือไม่นำมาบริโภค ใช้น้ำมันจากน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ (Extra Virgin Olive Oil: EVOO ) หรือน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันที่ไม่ผ่านกระบวนการความร้อนสูงในการประกอบอาหาร เน้นรับประทานผลไม้เป็นของว่างแทนของหวาน เช่น สตรอเบอร์รี่ แบล็คเบอรี่ แอปเปิ้ล มะเขือเทศ และกีวี่ อีกทั้งจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอดี หากเป็น อาหารไทย สามารถรับประทานผักสดกับน้ำพริกไทยที่มีส่วนประสมของหอมแดง กระเทียม และยิ่งดีหากสามารถจัดหาน้ำพริกดังกล่าวนี้ได้ทุกมื้อ จะยิ่งเป็นการช่วยสนับสนุนสุขภาพของระบบหลอดเลือดหัวใจและสมองได้เป็นอย่างดี
- รักษาน้ำหนักและความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ออกกำลังกายพร้อมกับฝึกลมหายใจอย่างสม่ำเสมอ เช่น การออกกำลังกายแบบแอโรบิกหรือแบบ HIIT Excercise การฝึกโยคะ เป็นต้น
- หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ
- หากตรวจประเมินแล้วพบว่าเป็นโรค NCDs ใดๆ แล้ว ควรอยู่ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
รู้จักโรคติดเชื้อเกิดจากอะไรได้บ้าง?
นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ ศูนย์วิจัยสุขภาพบีดีเอ็มเอส ระบุว่า โรคติดเชื้อ (infectious diseases)หมายถึง โรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อโรค การที่จะทำให้เกิดโรคมีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายประการ เช่นชนิดและปริมาณของเชื้อโรค ภูมิต้านทานของร่างกายผู้ป่วย ปัจจัยทางพันธุกรรม เป็นต้น บางครั้งเชื้อโรคก็ไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ เช่น ภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ก็จะสามารถกำจัดเชื้อได้ แต่เมื่อร่างกายอ่อนแอลง เชื้อโรคก็จะก่อเหตุทันทีเชื้อโรค อาจเรียกได้หลายอย่างเช่น เชื้อจุลินทรีย์ จุลินทรีย์ เชื้อจุลชีพ จุลชีพ ศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับเชื้อโรค เรียกว่า จุลชีววิทยา ซึ่งแบ่งออกเป็นแขนงย่อยๆ อีกมากมายหลายแขนง
เชื้อโรคบางชนิดไม่สามารถก่อให้เกิดโรค ขณะที่ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ แต่เมื่อร่างกายอยู่ในภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เชื้อเหล่านั้นกลับกลายเป็นเชื้อก่อโรคได้ทันที กระบวนการติดเชื้อเป็นปฏิกิริยาที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ขึ้นกับว่าร่างกายสามารถตอบโต้หรือจัดการกับเชื้อโรคได้หรือไม่เชื้อโรคที่เรียกว่า จุลชีพประจำถิ่น อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์โดยไม่ทำให้เกิดโรค เช่น ในลำไส้นอกจากจะช่วยผลิตสารที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกายแล้ว ยังช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลชีพที่ทำให้เกิดโรคได้ด้วย
เชื้อก่อโรคที่พบได้บ่อย
เชื้อก่อโรคที่พบได้บ่อย ได้แก่ เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อปรสิต
- โรคติดเชื้อไวรัสที่รู้จักกันดี ได้แก่ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคไวรัสตับอักเสบ โรคพิษสุนัขบ้า โรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบ โรคเอดส์ เป็นต้น
- โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่รู้จักกันดี ได้แก่ ไข้ไทฟอยด์ โรคฉี่หนู บาดทะยัก ไข้กาฬหลังแอ่น โรคซิฟิลิส เป็นต้น
- โรคติดเชื้อราที่รู้จักกันดี ได้แก่ โรคเชื้อราที่ผิวหนัง โรคติดเชื้อแคนดิดา โรคติดเชื้อแอสเปอจิลลัส เป็นต้น
- โรคติดเชื้อปรสิตที่รู้จักกันดี ได้แก่ โรคพยาธิชนิดตัวแบน โรคพยาธิตัวกลม โรคมาลาเรีย โรคบิดมีตัว โรคเท้าช้าง เป็นต้น
โดยโรคที่พบผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น ได้แก่ โรคปอดบวม โรคท้องร่วง และวัณโรค
รู้ทันอาการโรคปอดบวม ปอดอักเสบ
โรคปอดบวม ปอดอักเสบ คือ ภาวะติดเชื้อในปอด ซึ่งอาจจะเป็นข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ ทั้งนี้ เนื่องจากในถุงลมปอดอาจมีของเหลวหรือหนองคั่งสะสม มีเสมหะสีเขียวเหลือง มีไข้หนาวสั่น และหายใจลำบากร่วมด้วย
อาการของโรคปอดบวม ปอดอักเสบ
- ผู้ที่เป็นโรคปอดบวม ปอดอักเสบจะมีอาการแตกต่างกันไป เช่น
- เจ็บหน้าอกเมื่อหายใจหรือไอ
- ผู้ป่วยสูงอายุอาจมีอาการซึมและสับสน
- ไอมีเสมหะ
- อ่อนเพลีย
- มีไข้ เหงื่อออกมากและหนาวสั่น
- มีอุณหภูมิร่างกายลดลงกว่าปกติ โดยเฉพาะ ในผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียร่วมด้วย
- หายใจหอบถี่
เมื่อใดที่ควรรีบไปพบแพทย์
ผู้ป่วยในกลุ่มต่อไปนี้ ที่มีอาการหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก มีไข้ต่อเนื่อง เช่นอุณหภูมิสูงเกิน 37.5 เซลเซียสขึ้นไป หรือมีอาการไอต่อเนื่อง ควรพบแพทย์
- เป็นผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
- เป็นผู้ป่วยเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปีลงมา
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวและระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- ผู้ที่อยู่ระหว่างการทำเคมีบำบัดหรือรับยากดภูมิ
ปอดบวมเกิดจากสาเหตุใด?
โรคปอดบวมเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงและปล่อยให้เชื้อโรคบางชนิดเข้าสู่ปอดและเกิดการติดเชื้อลุกลามขึ้น แม้ว่าสุขภาพจะยังดีอยู่แล้ว แต่บางครั้ง เชื้อโรคเหล่านี้แข็งแรงมากจนระบบภูมิคุ้มกันต้านไม่ได้ โรคปอดบวมมี 4 ประเภท ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรคและตำแหน่งที่ติดเชื้อ ได้แก่:
- โรคปอดอักเสบชุมชน (Community-acquired Pneumonia) ซึ่งพบได้บ่อยที่สุดและเกิดขึ้นนอกโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาล โดยทั่วไปเกิดจากแบคทีเรีย สิ่งมีชีวิตที่คล้ายแบคทีเรีย ไวรัส รวมถึง โควิด -19
- ปอดอักเสบที่ติดมาจากโรงพยาบาล (Hospital-acquired Pneumonia)
- ปอดอักเสบที่เกิดจากการเข้ารับการบริการด้านสุขภาพ (Healthcare-associated Pneumonia)
- โรคปอดอักเสบจากการสำลักอาหาร หรือน้ำลาย (Aspiration Pneumonia)
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคปอดบวม
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคปอดบวม ได้แก่ :
- เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
- มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคไต ตับแข็ง
- สูบบุหรี่
- มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือกินยากดภูมิ
โรคท้องร่วง ร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้
- โรคท้องร่วง หรืออุจจาระร่วง (Diarrhoeal Diseases)
เป็นภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระเหลวผิดปกติ โดยจะมีอาการถ่ายเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน หรือถ่ายเป็นมูกเลือด รวมถึงอาจมีอาเจียนร่วมด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีสาเหตุมาจากการได้รับเชื้อไวรัสที่เรียกว่า “โรต้าไวรัส”
โรต้าไวรัส (Rotavirus) เป็นเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคติดเชื้อและโรคติดต่อ ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้มีหลายสายพันธุ์ เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัสโรต้าจะทำให้เกิดการอักเสบในกระเพาะอาหารและลำไส้ ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมน้ำหรือสารอาหารได้ จนเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง และเกิดเป็นอาการท้องเสียฉับพลัน ในบางรายอาจมีอาการรุนแรงมากจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
เชื้อไวรัสโรต้ามักเจริญเติบโตได้ดีและทนต่อสภาพแวดล้อมได้นาน โดยเฉพาะในที่แห้งและเย็น จึงมักพบมากในฤดูหนาว ซึ่งการแพร่เชื้อมีอยู่หลายช่องทาง ทั้งผ่านการกินอาหารหรือน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ มีการสัมผัสกับเชื้อตามวัตถุต่างๆ แล้วไปสัมผัสบริเวณใบหน้าจนเข้าทางปาก ทั้งนี้เชื้อยังแพร่กระจายทางอุจจาระได้อีกด้วย
อาการแบบไหน เข้าข่ายโรคท้องร่วง
หลังการรับเชื้อไวรัสโรต้าเข้าสู่ร่างกายประมาณ 1-6 วัน ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการเหล่านี้
- มีอาการถ่ายเหลววันละ 3 ครั้งขึ้นไป หรือถ่ายเป็นมูกเลือด
- คลื่นไส้ อาเจียนบ่อย
- แน่นท้อง ปวดท้อง ท้องอืด หรือปวดท้องรุนแรง
- มีไข้สูง
- ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว
- ไม่สามารถรับประทานอาหารหรือน้ำได้
- รู้สึกหน้ามืดเป็นลม หรือช็อกหมดสติ
หากพบว่ามีอาการเข้าข่าย หรือมีความเสี่ยงว่าจะเป็นโรคท้องร่วง ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที เพราะหากปล่อยไว้อาจกลายเป็นอาการเรื้อรัง และโรคอาจลุกลามรุนแรงจนก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้
ท้องร่วงรักษาได้...ให้ปฏิบัติดังนี้
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคท้องร่วงจะสามารถหายได้เอง โดยอาการจะเริ่มดีขึ้นภายใน 2-3 วัน แต่ในระหว่างนั้นควรปฏิบัติตัวเพื่อบรรเทาอาการท้องร่วงร่วมด้วย ดังนี้
- ควรดื่มน้ำให้มากๆ และดื่มเกลือแร่ (ORS) เพื่อชดเชยน้ำการสูญเสียน้ำจากการขับถ่าย
- งดอาหารรสจัด และอาหารที่มีกากใยสูง ควรเลือกอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย และปรุงสุกเท่านั้น
- หมั่นสังเกตดูสีของปัสสาวะ หากยังมีสีเข้มอยู่ แสดงว่ายังดื่มน้ำไม่เพียงพอ ควรดื่มน้ำเปล่า หรือน้ำเกลือแร่เพิ่มขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาหยุดถ่าย เพราะจะทำให้ลำไส้เก็บเชื้อโรคเอาไว้เป็นเวลานาน
- หากปฏิบัติตามดังนี้แล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ถ่ายเป็นมูกเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีก่อนที่จะเกิดภาวะช็อกหรือหมดสติ
วัณโรคยังอยู่ ไม่ได้หายไปไหน
ผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคเป็นโรคติดเชื้อร้ายแรงชนิดหนึ่ง ซึ่งโดยมากแล้วจะมีผลต่อปอด หรือที่เรียกว่า "วัณโรคปอด" ทั้งนี้ วัณโรคปอดเป็นโรคติดต่อและสามารถแพร่สู่คนผ่านละอองฝอยจากการไอและจามได้
วัณโรคปอดมีอาการอย่างไร
วัณโรคมีอยู่ 2 ประเภท คือ วัณโรคแฝง และ วัณโรคระยะแสดงอาการหรือระยะกำเริบ คนที่มีวัณโรคแฝงจะไม่แสดงอาการและวัณโรคชนิดนี้จะไม่แพร่กระจายไปยังบุคคลอื่น อย่างไรก็ดี วัณโรคแฝงอาจกลายมาเป็นวัณโรคระยะแสดงอาการหรือระยะกำเริบได้ และจำเป็นต้องได้รับการรักษาเช่นเดียวกัน ในขณะที่วัณโรคระยะแสดงอาการหรือระยะกำเริบนั้นทําให้ผู้ป่วยมีอาการของวัณโรค และสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้
ผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคระยะแสดงอาการหรือระยะกำเริบอาจมีอาการดังต่อไปนี้:
- มีอาการไอเรื้อรังยาวนานถึง 3 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น
- ไอแล้วเสมหะมีเลือดปนออกมา
- มีอาการเจ็บหน้าอก ขณะหายใจหรือไอ
- มีอาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติ
- มีน้ำหนักลดแบบไม่ทราบสาเหตุ
- มีอาการอ่อนเพลีย
- มีไข้ หรือมีเหงื่อออกในเวลากลางคืน
- รู้สึกหนาวสั่น
- รู้สึกไม่อยากอาหาร
โดยทั่วไปแล้ว วัณโรคอาจเป็นกันได้ตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายนอกเหนือจากปอดก็ได้ เช่น ไต กระดูกสันหลัง หรือสมอง โดยจะมีอาการแตกต่างกันไปตามบริเวณร่างกายที่เกิด เช่น ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหลังหากวัณโรคลงกระดูกสันหลัง และผู้ป่วยอาจมีเลือดในปัสสาวะหากวัณโรคลงไต
สังเกตอย่างไร? ว่าเป็นวัณโรค ต้องรีบพบแพทย์
ผู้ป่วยวัณโรคปอดจะมีไข้ น้ำหนักลดโดยหาคำอธิบายไม่ได้ มีเหงื่อออกในเวลากลางคืน หรือไอเรื้อรังโดยนิยามคือมากกว่า 3 สัปดาห์ หากมีอาการเหล่านี้ ผู้ป่วยควรพบแพทย์ทันที โดยแพทย์อาจใช้วิธีซักประวัติ ตรวจร่างกาย และผลปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อระบุสาเหตุของโรค
สาเหตุของวัณโรคปอด
โดยทั่วไปแล้ว วัณโรคปอดมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis ที่ทำให้เกิดโรค ที่รับผ่านกันมาจากละอองฝอยทางอากาศ วัณโรคเป็นโรคติดต่อ แต่ก็ไม่ได้ติดกันง่าย ๆ ซึ่งหมายความว่า ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะติดโรคจากคนใกล้ชิดหรือคนที่ทํางานด้วยกัน ไม่ใช่คนแปลกหน้า อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์จะได้รับเชื้อและเกิดวัณโรคง่ายกว่าคนทั่วไป เนื่องจากมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ นอกจากนี้ เชื้อวัณโรคบางชนิดมีการดื้อยา โดยเฉพาะกลุ่มยาไอโซไนอาซิดและไรแฟมพิซิน
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดวัณโรคปอดมีอะไรบ้าง
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดวัณโรคปอดมีหลายอย่าง เช่น:
- มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เนื่องจากมีโรคบางอย่างหรือเข้ารับการรักษาบางประเภท เช่น เป็นเอดส์ หรือ กำลังทำเคมีบําบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง
- เดินทางหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดวัณโรคสูง
- กำลังใช้สารบางอย่าง เช่น สูบบุหรี่ ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง
- ไม่มีบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขให้ผู้ป่วยได้เข้าใช้บริการ
- อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรค เช่น กำลังอาศัยอยู่หรือเคยทำงานในสถานพยาบาล หรือกำลังอาศัยอยู่ในหรืออพยพมาอยู่ในประเทศที่มีการติดเชื้อวัณโรคสูง หรือกำลังอาศัยอยู่กับผู้ที่ติดเชื้อวัณโรค
การตรวจทางห้องปฏิบัติการเมื่อเกิดโรคติดเชื้อ
โรคติดเชื้อส่วนใหญ่จำเป็นต้องส่งตรวจเพื่อวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ การตรวจบางชนิดทำได้ง่ายไม่ยุ่งยาก ในขณะที่การตรวจบางอย่างยุ่งยาก และลำบากมาก ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการช่วยให้การวินิจฉัยแม่นยำ และการรักษามีประสิทธิภาพได้ผลมากยิ่งขึ้น มาตราฐานของห้องปฏิบัติการจึงมีความสำคัญต่อกระบวนการวินิจฉัยโรคติดเชื้อทุกชนิด
แนวทางการรักษาโรคติดเชื้อ
1.พิจารณาให้ยาต้านจุลชีพที่เหมาะสม ในขนาดที่ถูกต้อง เป็นระยะเวลาที่ได้ผลดีที่สุดส่วนใหญ่การพิจารณาใช้ยาต้านจุลชีพจะแบ่งเป็นสองระยะ
- ระยะแรกเป็นการให้ยาตามข้อมูลเบื้องต้น เช่น ลักษณะอาการเจ็บป่วย สถิติของเชื้อโรคที่มักเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ
- ระยะต่อมา จะมีการนำผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการมาใช้ประกอบ และอาจมีการปรับเปลี่ยนให้ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น
2.ทดสอบความไวของยาต้านจุลชีพเสมอ ทั้งจากรายงานในสถานพยาบาลแห่งนั้นรายงานจากหน่วยงานราชการ และรายงานจากห้องปฏิบัติการอ้างอิง
3.หัวใจสำคัญของการรักษาโรคติดเชื้อ นอกจากการใช้ยาต้านจุลชีพที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว ยังต้องให้การรักษาความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับระบบต่างๆของร่างกาย ในทางการแพทย์เรียกว่า การรักษาประคับประคอง (supportive treatment) ได้แก่ การรักษาสมดุลของภาวะสารน้ำ และเกลือแร่ในร่างกาย การดูแลระบบไหลเวียนโลหิต การทำงานของหัวใจ ความดันเลือด การประเมินปัญหาในการหายใจของผู้ป่วย ดังนี้เป็นต้น
4.หมั่นติดตามการเปลี่ยนแปลงของอาการผู้ป่วยอยู่เสมอ โรคติดเชื้อเป็นโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคตลอดเวลา ดังนั้นการติดตามผลการรักษา ไม่ว่าจะเป็นยาต้านจุลชีพหรือการรักษาอื่นๆ จึงช่วยให้เกิดผลสำเร็จในที่สุด
5.ในปัจจุบันแพทย์จำเป็นต้องชี้แจงอธิบายให้ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในเรื่องของความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับโรคติดเชื้อและเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อีกประการหนึ่งที่สำคัญมากคือการบอกกล่าวถึงผลแทรกซ้อนของโรคที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจอย่างถูกต้องในเบื้องต้นและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง
อ้างอิง:โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ,ศูนย์วิจัยสุขภาพบีดีเอ็มเอส ,โรงพยาบาลบีเอ็นเอช ,โรงพยาบาลเปาโล ,โรงพยาบาลเมดพาร์ค