กินหวาน-เพิ่มความชรา | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ชื่อบทความข้างต้น ผมลอกมาจากบทความที่อยู่ในเว็บของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ชื่อเต็มว่า “กินหวานดับร้อน เพิ่มความชรา” โดยสาระสำคัญ ผมขอตัดต่อมาโดยสรุปดังนี้
"การเลือกรับประทานอาหารที่มีรสชาติหวานและมีความเย็น เพื่อช่วยดับกระหายคลายร้อนตัวอย่างเช่น ไอศกรีม ผลไม้ลอยแก้ว น้ำแข็งไส น้ำหวาน และน้ำอัดลม จนเกิดเป็นความเคยชินว่าอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวานจะทําให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า หากไม่ได้รับประทานของหวานก็จะรู้สึกไม่มีแรง อ่อนเพลีย หงุดหงิด
เราเรียกลักษณะอาการนี้ว่า “ภาวะติดนํ้าตาล” และเมื่อร่างกายได้รับน้ำตาลในปริมาณมากเกินความต้องการ น้ำตาลเหล่านั้นก็จะแปรรูปเป็นไขมันสะสมไปทั่วร่างกาย ผลที่ตามมาคือการเกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน และยังเพิ่มอัตราความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดอีกด้วย
การรับประทานของหวานในปริมาณมากเป็นประจํานั้น ส่งผลให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ก่อให้เกิดปฏิกิริยาไกลเคชั่น (Glycation) อันเป็นสาเหตุของความชราก่อนวัยอันควร
เนื่องจากโมเลกุลของน้ำตาลที่เรารับประทานเข้าไปจะไปเกาะติดกับโปรตีน ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของอวัยวะรวมถึงเซลล์ต่างๆ ภายในร่างกาย ก่อให้เกิดสารที่เรียกว่า AGEs (Advanced Glycation End-Products) เมื่อสารตัวนี้ผ่านเข้าสู่เซลล์ต่างๆ ของร่างกายก็จะส่งผลให้เซลล์บริเวณนั้นตายหรือเสื่อมสมรรถภาพในการทํางานลง
จากการวิจัยพบว่า AGEs เป็นตัวทําลายคอลลาเจน รวมไปถึง ใยโปรตีนในผิวหนัง ส่งผลให้เกิดริ้วรอยและมีจุดด่างดําตามมา นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อเซลล์สมองก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์
อีกทั้งยังเป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง เนื่องจากโมเลกุลของน้ำตาลที่ไปเกาะโปรตีนในหลอดเลือดนั้นส่งผลให้ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดลดลง"
ดังนั้น ผมจะขอแนะนำให้คนที่อยากมีความรู้ลึกซึ้งจริงๆ เกี่ยวกับน้ำตาล โรคอ้วนและเบาหวาน ไปดูคลิป youtube และ podcast เกี่ยวกับเรื่องนี้ชื่อเรื่องว่า Three ways to prevent diabetes ตามลิงค์ได้ครับ
คลิปนี้ให้ข้อมูลที่ละเอียดดีมากเกี่ยวกับโรคเบาหวาน แต่เป็นภาษาอังกฤษ (และผู้เชี่ยวชาญที่ถูกสัมภาษณ์เป็นคนสกอตแลนด์ สำเนียงจึงฟังยากเล็กน้อย) ผมจึงขอสรุปสาระสำคัญดังนี้
1.ศ. Sattar เล่าว่า คนเอเชียมีความเสี่ยงสูงกว่าคนผิวขาวในการจะเป็นโรคเบาหวานประมาณ 2-4 เท่า โดยน่าจะเป็นเพราะตับอ่อนของคนเอเชียมีสมรรถภาพต่ำกว่า ส่วนสาเหตุที่ผู้หญิงมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานน้อยกว่าผู้ชายก็เพราะว่า ผู้หญิงเก็บไขมันใต้ผิวหนัง (โดยเฉพาะที่บั้นท้ายและต้นแขนและต้นขา) ได้มากกว่าผู้ชายที่ไขมันจะเข้าไปกระจุกตัวที่อวัยวะสำคัญๆ ที่กลางท้อง
2.เบาหวานนั้น อาจจะไม่ได้เกิดการกินน้ำตาลมากเกินพอเสมอไป แต่จากการกินมากเกินไปในภาพรวมทำให้มีไขมันส่วนเกินที่เข้าไปกระจุกอยู่ในที่ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย
3.อินซูลิน ที่ผลิตโดยตับอ่อนนั้นมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการรักษาความสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อกินอาหารแป้งและ/หรือน้ำตาล ระดับน้ำตาลในเลือดจะเพิ่มสูงขึ้น อินซูลินก็จะหลั่งออกมาเพิ่มขึ้นเพื่อ “เปิดประตู” ให้น้ำตาลไหลเข้าไปเก็บเอาไว้ที่เซลล์ต่างๆ โดยเฉพาะเซลล์กล้ามเนื้อ
และพร้อมกันนั้น ระดับอินซูลินที่สูงขึ้นจะส่งสัญญาณให้ตับหยุดการผลิตน้ำตาล ในทางตรงกันข้าม ตอนนอนหลับกลางคืนที่ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ระดับอินซูลินก็จะลดต่ำลง ส่งสัญญาณให้ตับผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยความชาดแคลน เพราะร่างกายจำเป็นต้องใช้น้ำตาลตลอดเวลา โดยเฉพาะอวัยวะสำคัญๆ ที่ใช้พลังงานมาก เช่น สมองและหัวใจ เป็นต้น
4.การเข้าสู่ภาวะก่อน (เสี่ยง) เป็นเบาหวาน (pre-diabetic) จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนที่ระดับน้ำตาลปกติประมาณ 1 เท่าตัว (ค่าน้ำตาลในเลือดประมาณ 100-125 mg/dl หรือน้ำตาลสะสม (HbA1c) 5.7-6.4%) ซึ่งการวัดน้ำตาลสะสมนั้น แม่นยำกว่า และควรให้อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 5.7%
5.ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เป็นโรคเบาหวานคือ การที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 5 กิโลกรัมหรือมากกว่า เอวเริ่มใหญ่ขึ้น (ผู้ชายไม่ควรเกิน 37 นิ้ว ผู้หญิง 34 นิ้ว) ความดันโลหิตสูงขั้น (ตัวบนเกิน 140 ตัวล่างเกิน 85) และระดับคอเลสเตอรอลสูงเกินเกณฑ์ (ท่านผู้อ่านควรทราบข้อมูลตรงนี้ครับ)
6.เมื่อเรากินอาหารมากเกินไป เราจะบังคับให้ตับอ่อนทำงานหนัก (ผลิตอินซูลินจำนวนมากตลอดเวลา) แต่ก็ยังไม่สามารถกำจัดพลังงานส่วนเกินได้จนต้องแปลงเป็นไขมันที่เข้าไปเกาะตัวที่ตับและที่กล้ามเนื้อ (และที่อื่นๆ)
แต่เมื่อมีไขมันมาเกาะตับมากขึ้น ตับจะไม่สามารถรับสัญญาณจากอินซูลิน (ดื้ออินซูลิน) ทำให้ไม่หยุดผลิตอินซูลินเมื่อสมควรหยุด เร่งให้เกิดอาการดื้ออินซูลิน กล้ามเนื้อที่มีไขมันมากขึ้นจะดื้ออินซูลินและมีความต้องการพลังงานลดลง
โดยสรุปคือ โรคเบาหวานเกิดเพราะร่างกายเอาไขมัน (ส่วนเกิน) ไปเก็บเอาไว้ “ผิดที่ผิดทาง”
7.ภาวะเบาหวานจะทำให้อวัยวะสำคัญๆ เสื่อมสภาพ ได้แก่ ตับอ่อน ตับ (ไขมันพอกตับกับเป็นโรคที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก) และนำไปสู่อาการไตวาย (ไม่ใช่เพราะการกินอาหารเค็มอย่างเดียว) ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ ตาบอดและแผลหายช้า เป็นต้น
การเป็นโรคเบาหวานกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเพราะภาวะเบาหวานนั้นใช้เวลาพัฒนาหลายปีและไม่ค่อยมีอาการที่ชัดเจนในตอนแรก การมีระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์สูงเป็นตัวชี้วัดความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวาน
นอกจากนั้นการเป็นเบาหวานก็อาจมีอาการบางอย่าง เช่น การต้องปัสสาวะบ่อย (เพื่อขับน้ำตาลออกจากร่างกาย) การเป็นแผลบ่อยๆ และแผลหายช้า ตลอดจนความรู้สึกอ่อนเพลีย
จึงควรระมัดระวังไม่ให้น้ำหนักตัวสูงเกินเกณฑ์ โดยเฉพาะที่รอบเอวและควรออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อรักษากล้ามเนื้อให้สามารถเผาผลาญพลังงาน เพื่อไม่ให้มีส่วนเกินที่จะต้องถูกแปลงเป็นไขมันและไปพอกตับและตับอ่อน (และอวัยวะอื่นๆ) ครับ
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร