ปัญหา 'กระดูกและข้อ' โรคยอดฮิตชีวิตแอคทีฟ
นิ้วล็อก-มือชา โรคยอดฮิตที่พบได้โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานที่มักใช้คอมพิวเตอร์ทำงานเป็นประจำ ขณะที่ โรคกระดูกและข้อ มักจะเป็นปัญหาใหญ่ จากอายุมากขึ้น ความเสื่อมถอยของร่างกายย่อมตามมา ปัจจุบัน มีการใช้เทคโนโลยีในการบำบัดรักษาเพื่อฟื้นฟูอาการบาดเจ็บได้
KEY
POINTS
- ปัญหาของกระดูกและข้อ โรคยอดฮิตที่พบได้ตั้งแต่กลุ่มคนที่อายุน้อยจนถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งโรคเกี่ยวกับข้อที่พบบ่อยและคนไทยเป็นมากที่สุด คือ โรคข้อเข่าเสื่อม และโรคกระดูกพรุน
- ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ดูแลสุขภาพกระดูกและข้อคนไทย ด้วยนวัตกรรม และบริการสุขภาพ มุ่งพัฒนาและยกระดับบริการทางการแพทย์เพื่อรองรับการให้บริการดูแลสุขภาพแก่ประชาชน
- “Body Composition” เครื่องมือวัดมวลกระดูก หนึ่งในตัวช่วยวิเคราะห์ส่วนประกอบของร่างกายได้อย่างละเอียด ทั้งในส่วนของกระดูก กล้ามเนื้อ ไขมัน ปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ว่ามีความสมดุลหรือไม่
นิ้วล็อก-มือชา โรคยอดฮิตที่พบได้โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานที่มักใช้คอมพิวเตอร์ทำงานเป็นประจำ มีการใช้คีย์บอร์ด หรืออุปกรณ์ต่างๆ เป็นระยะเวลานานในแต่ละวัน ส่งผลทำให้เกิดอาการมือชา นิ้วล็อกได้ ซึ่งหากถ้ายังปล่อยไว้ไม่ทำการรักษาอาการมักจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ปัญหาโรคกระดูกและข้อ มักจะเป็นปัญหาใหญ่ อายุมากขึ้นเท่าไหร่ ความเสื่อมถอยของร่างกายย่อมตามมา ยิ่งอายุมากยิ่งต้องระวังโรคกระดูกและข้อต่าง ๆ เช่น กระดูกพรุน กระดูกหัก ข้อเข่าเสื่อม ฯลฯ
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ดูแลสุขภาพกระดูกและข้อคนไทยให้บริการสุขภาพด้านกระดูกและกล้ามเนื้อ ที่ปัญหาโรคกระดูกและข้อเป็นปัญหาใหญ่ มุ่งพัฒนาและยกระดับบริการทางการแพทย์เพื่อรองรับการให้บริการดูแลสุขภาพแก่ประชาชน ครอบคลุมบริการตรวจวินิจฉัย รักษา และการผ่าตัดรักษาโรคทางกระดูกและข้ออย่างครบวงจรโดยศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์เฉพาะทางครอบคลุมทุกสาขา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 'ออฟฟิศซินโดรม' โรคประจำคนวัยทำงาน แก้ได้ด้วยศาสตร์สมุนไพร
- 'ออฟฟิศซินโดรม'ชนวนเกิดโรคกระดูกสันหลังเสื่อม
- 5 เคล็ดลับหลีกเลี่ยงอาการออฟฟิศซินโดรม
โดยมีศูนย์กระดูกและข้อ หรือออร์โธปิดิกส์ เปิดให้บริการทางการแพทย์ ณ ชั้น 1 โซนโถงลิฟต์ B อาคารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง ครอบคลุมบริการตรวจวินิจฉัย รักษา และการผ่าตัดรักษาโรคทางกระดูกและข้ออย่างครบวงจรโดยศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์เฉพาะทางครอบคลุมทุกสาขา ด้วยนวัตกรรมบริการสุขภาพด้านกระดูกและข้อที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล อีกทั้งให้บริการวิชาการและวิชาชีพด้านสุขภาพที่เป็นเลิศแก่สังคมในกลุ่มโรคทางกระดูกและข้อ เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพและสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพ (Health Literacy) ให้กับคนในสังคมไทย
ปัญหาของ กระดูกและข้อ โรคยอดฮิตที่พบได้ตั้งแต่กลุ่มคนที่อายุน้อยจนถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งโรคเกี่ยวกับข้อที่พบบ่อยและคนไทยเป็นมากที่สุด คือ โรคข้อเข่าเสื่อม มักจะพบบ่อยใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสูงอายุ ได้แก่ วัยตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป กลุ่มนี้จะเป็นโรคข้อเสื่อมหรือโรคข้อเข่าเสื่อม
อีกกลุ่ม คือ กลุ่มที่อายุต่ำกว่า 50 ปี คือตั้งแต่อายุประมาณ 20 ปีขึ้นไปจนถึง 50 ปี กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ได้รับการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือจากการเล่นกีฬาซึ่งก็จะเป็นการปวดข้ออีกแบบหนึ่ง คือ ได้รับการบาดเจ็บ อาจจะมีเส้นเอ็น หมอนรองกระดูกฉีกขาดในข้อเข่า
สำหรับปัจจัยที่จะทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อม นอกจากอายุและการใช้งาน น้ำหนักตัวก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผล ถ้าเรามีน้ำหนักตัวมาก จะทำให้น้ำหนักทั้งหมดถูกถ่ายเทไปยังข้อเข่าเยอะ นอกจากนี้อาจมีโรคที่เกิดร่วมด้วย เช่น ผู้ป่วยที่เคยมีอุบัติเหตุข้อเข่า อาจทำให้ในอนาคตสามารถเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ง่ายขึ้น และยังมีกลุ่มโรคที่ทำให้เกิดข้ออักเสบ เช่น โรคเก๊า โรครูมาตอยด์
การรับมือกับโรคข้อเข่าเสื่อม
นพ.ณัฐวุฒิ ชนะฤทธิชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านออร์โธปิดิกส์ สาขาเวชศาสตร์บูรณสภาพในข้อสะโพกและข้อเข่า โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ข้อเข่าเปรียบเสมือนล้อรถ เมื่อใช้ไปนาน ๆ ยางล้อรถก็มีการสึกหลอ เพราะฉะนั้นข้อของคนก็เสื่อมไปตามวัยเช่นเดียวกัน ทุกคนเป็นข้อเข่าเสื่อมได้แต่เราต้องมีวิธีดูแลรักษา เพื่อให้ข้อเข่าจะอยู่กับเราได้นานๆ
"หากคนไข้สังเกตอาการ แล้วพบว่ามีอาการก๊อบแก๊บในข้อเข่า มีอาการข้อยึด ข้อตึง ข้อฝืด ถือเป็นอาการปกติโดยทั่วไปที่สามารถพบได้ในโรคข้อเข่าเสื่อม แต่หากมีอาการปวดเป็นเวลานาน ทำกิจวัตรประจำวันแล้วเกิดอาการเจ็บปวด หรือทานยาแล้วยังไงไม่ดีขึ้น ต้องรีบเข้าพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ"
เมื่อประเมินอาการแล้วพบว่า มีการแค่บางเวลา แพทย์จะใช้วิธีการนำ การหลีกเลี่ยงท่าทางที่อาจทำให้เกิดการเจ็บปวด เช่น การนั่งคุกเข่า การนั่งยอง
แต่ถ้ามีน้ำหนักตัวเข้ามาเกี่ยวข้องจนทำให้เกิดการเจ็บปวดบริเวณข้อเข่า แพทย์จะแนะนำให้ควบคุมน้ำหนักตัว หากใช้วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้วยังไม่ได้ผล แพทย์จะแนะนำการใช้ยา ตั้งแต่ยาที่รับประทานเพื่อบรรเทาอาการปวด ยาบำรุงข้อเข่า การฉีดยาเพื่อรักษา เช่น สเตรียรอย น้ำหล่อเลี้ยงข้อเข่า และเกล็ดเลือด
“น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ข้อเข่ารับน้ำหนักและแรงเพิ่มขึ้นถึง 3 กิโลกรัม เพราะฉะนั้นถ้าลดน้ำหนักได้ 1 กิโลกรัม จะทำให้ข้อเข่ารับน้ำหนักได้ดีขึ้น” นพ.ณัฐวุฒิ กล่าว
องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าสถิติผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนจนกลายเป็นปัญหาทางสาธารณสุข อันดับ 2 รองจากโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด โดยผู้หญิงทั่วโลกเป็นโรคกระดูกพรุน มากกว่า 200 ล้านคน
สาเหตุหลักของการเป็นโรคกระดูกพรุน เกิดจากการขาดแคลเซียม ซึ่งเมื่อมีอายุมากขึ้นจะส่งผลให้กระดูกบางลง มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดกระดูกทรุด เปราะ หัก ได้ง่าย สำหรับอันตรายจากโรคกระดูกพรุนทำให้ ปวดหลัง หลังโก่งงอ เคลื่อนไหวลำบาก หายใจลำบาก ปอดทำงานได้ไม่ดี เหนื่อยง่าย มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง อาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นทุพพลภาพหรือเสียชีวิต
การรับมือกับโรคกระดูกพรุน
นพ. อรรถพร ลาวัณย์ประเสริฐ แพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้เมื่อมีอายุที่มากขึ้น ความแข็งแรงของกระดูกจะลดลง ซึ่งการล้มเบา ๆ อาจทำให้เกิดกระดูกหักได้ง่าย และเกิดทุพพลภาพหรืออัตราการเสียชีวิตที่มากขึ้น สำหรับวิธีการป้องกันเมื่ออายุถึงเกณฑ์ คือ ผู้หญิง อายุ 65 ปี และผู้ชาย อายุ 70 ปี แพทย์แนะนำให้เริ่มตรวจมวลกระดูกในร่างกายผ่านเครื่องมือได้
“Body Composition” เครื่องมือวัดมวลกระดูก
เป็นเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกาย โดยใช้หลักการวิเคราะห์ค่าจากจากความต้านทานของกระแสไฟฟ้าต่อเซลล์ในร่างกาย ซึ่งเป็นกระแสไฟฟ้าพลังงานต่ำผ่านเข้าสู่ร่างกาย แล้ววัดเป็นค่าความต้านทานต่อการไหลของกระแสไฟฟ้าในเนื้อเยื้อต่างๆ ในร่างกาย เพื่อนำไปใช้ในการประมวลผล ไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกาย และไม่ส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เครื่อง Body Composition จะสามารถช่วยวิเคราะห์ส่วนประกอบของร่างกายได้อย่างละเอียด ทั้งในส่วนของกระดูก กล้ามเนื้อ ไขมัน ปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ว่ามีความสมดุลหรือไม่
ค่าที่ได้จาการวิเคราะห์ จะนำข้อมูลให้แพทย์ช่วยประเมินภาวะโภชนาการของร่างกาย หากมีค่ามวลใดที่ต่ำก็ควรที่ออกกำลังในส่วนนั้นเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ซึ่งค่าที่ถือว่าปกติจะขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน นอกจากลุ่มผู้สูงอายุยังมีกลุ่มคนวัยทำงานที่ส่วนใหญ่ต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์เป็นประจำ หรือกลุ่มคนที่ติดโทรศัพท์มือถือก็มีปัญหาเกี่ยวกับโรคกระดูกและข้อที่เรียกว่า
โรค นิ้วล็อก-มือชา
โรคยอดฮิตที่พบได้โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงานที่มักใช้คอมพิวเตอร์ทำงานเป็นประจำ มีการใช้คีย์บอร์ด หรืออุปกรณ์ต่างๆ เป็นระยะเวลานานในแต่ละวัน ส่งผลทำให้เกิดอาการมือชา นิ้วล็อกได้ ซึ่งหากถ้ายังปล่อยไว้ไม่ทำการรักษาอาการมักจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
พญ.อรอรุณ เมฆะทิพย์พันธ์ แพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ หน่วยศัลยกรรมทางมือและข้อศอก โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า มือชา นิ้วล็อก เรียกได้ว่าเป็นโรคของคนขยัน ขยันแรกคือกลุ่มพ่อบ้านแม่บ้านที่ทำงานบ้านซึ่งทำกิจวัตรที่ทำให้เกิดการเกร็งข้อนิ้วเกิดขึ้น
"ขยันที่สอง คือ กลุ่มคนที่ขยันทำงาน เช่น ทำงานออฟฟิศ การใช้ข้อนิ้วทำงานตลอดเวลา ขยันที่สามคือกลุ่มคนที่ขยันออกกำลังกาย เช่น กลุ่มนักกอล์ฟ นักแบตมินตัน นักเทนนิส หรือนักกีฬาประเภทอื่น ๆ ที่มีการใช้ข้อมือเป็นกิจวัตร มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนิ้วล็อก มือชา"
ปัญหาที่พบจากนิ้วล็อก - มือชา
ปัญหาหลักที่จะพบได้บ่อย มีอยู่ 3 อาการ คือ
1. อาการนิ้วล็อก เกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มเส้นเอ็นงอนิ้วที่บริเวณฝ่ามือตรงตำแหน่งโคนนิ้ว ทำให้นิ้วขยับได้ไม่ดี งอข้อนิ้วมือแล้วไม่สามารถเหยียดกลับคืนได้เหมือนเดิม หรือรู้สึกเหมือนนิ้วถูกล็อกไว้
2. อาการมือชา เกิดจากการหนาตัวของกระดูกบริเวณข้อมือ เอ็นไปกดรัดเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อและเส้นประสาทที่บริเวณฝ่ามือ ซึ่งทำหน้าที่รับความรู้สึก เมื่อมีการเคลื่อนไหวข้อมือมาก ๆ จึงทำให้เกิดการระคายมากขึ้น
3. อาการปวดข้อมือ เกิดจากเส้นเอ็นบริเวณข้อมืออักเสบ ซึ่งเป็นผลจากการใช้งานที่ต้องบีบหรือกดนิ้วโป้งมากๆ
การรับมือกับนิ้วล็อก-มือชา
พญ.อรอรุณ กล่าวว่า การรักษาสามารถรักษาได้ตามอาการที่พบ แต่เริ่มแรกที่ควรทำที่สุดคือ การพักการใช้งาน ใช้ให้น้อยลง หรือการปรับท่าการใช้งานให้ถูกต้อง หากพักการใช้งานแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาที่ช่วยบรรเทาอาการอักเสบกล้ามเนื้อ หรือยาฉีดจำพวกสเตรียรอยที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่ และวิธีสุดสุดท้ายของการรักษาคือการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดจะไม่สามารถกลับมาเป็นซ้ำอีก ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้กิจวัตรของคนไข้ด้วยเช่นกัน
รักษาและฟื้นฟู ด้วยเทคโนโลยี
นพ.สิทธานต์ อิ่มประสิทธิชัย แพทย์ออร์โธปิดิกส์เฉพาะทาง สาขาเวชศาสตร์การกีฬาและผ่าตัดส่องกล้อง กล่าวว่า ปัจจุบันมีการรักษากระดูกที่หลากหลายด้วยการใช้เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการตรวจด้วย MRI หรือที่เรียกว่า การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด การทำอัลตราซาวด์ หรือการเข้าเครื่องประคบเย็น รวมถึงการผ่าตัดเพื่อส่องกล้อง
ด้าน นพ.วสพล กล่าวเสริมว่า นอกจากจะรักษาแล้วทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ยังดูแลเรื่องการฟื้นตัวหลังการผ่าตัด ด้วยการทำกายภาพบำบัด มีคลินิกการฟื้นฟูการบาดเจ็บหลังจากการเล่นกีฬา และมีการตรวจประเมินข้อต่อและกล้ามเนื้อต่างๆ ด้วยเครื่องเทคโนโลยี ซึ่งทำให้เรารู้ว่าการเคลื่อนไหวของเราเป็นอย่างไร ส่งผลให้เราสามารถวางแผนการออกกำลังกายหรือการพัฒนาร่างกายของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ