สุขภาพ 'หู' ดูแลให้ดี ไม่ใช่แค่ได้ยิน แต่ยังช่วยในการทรงตัว
หลายคนอาจคิดว่า หู มีหน้าที่แค่ช่วยให้เราได้ยินเสียง แต่ความจริงแล้ว ยังมีหน้าที่ช่วยในการทรงตัว หากมีอาการเวียนหัว บ้านหมุน ล้มทั้งยืน อาจเป็นสัญญาณของโรค โรคตะกอนหินปูนหูชั้นในเคลื่อน หรือ โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน นอกจากนี้ ยังมีโรคอื่นๆ ที่เราไม่ควรมองข้าม
KEY
POINTS
- หู นอกจากทำหน้าที่ในการได้ยิน ยังช่วยเรื่องของการทรงตัว ดังนั้น ถ้าเกิดปัญหาเกี่ยวกับหูก็จะส่งผลต่อทั้งการได้ยินและร่างกาย
- หากมีอาการเวียนหัวบ้านหมุน คลื่นไส้อาเจียน อาจเป็น โรคตะกอนหินปูนหูชั้นในเคลื่อน โดยอาการจะเกิดขึ้นราว 1 นาที แต่ไม่มีอาการระบบประสาทอื่นๆ เช่น แขนขาอ่อนแรง
- นอกจากนี้ โรคที่อาการคล้ายกัน คือ น้ำในหูไม่เท่ากัน แต่ระยะเวลาการเกิดอาการจะนานกว่า อยู่ที่ราว 20 นาที – 1 ชั่วโมง
พูดถึงหู เรามักจะคิดว่าหน้าที่หลักของหูคือ เป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่ในการได้ยิน แต่จริง ๆ แล้ว หูยังมีหน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการช่วยเรื่องของการทรงตัว ดังนั้น ถ้าเกิดปัญหาเกี่ยวกับหูก็จะส่งผลต่อทั้งการได้ยินและร่างกายของเรามากเลยทีเดียว
อ.พญ.นวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในรายการ พบหมอรามาฯ ทางช่องทาง รามาแชนแนล Rama Channel โดยอธิบายว่า นอกจากหูจะทำหน้าที่ได้ยินเสียงแล้ว ยังเกี่ยวกับการทรงตัวด้วย ความเชื่อมโยงของหูกับอวัยวะอื่นๆ นั้น จมูกเมื่อเราหายใจเข้าไป หลังโพรงจมูกจะมีท่อต่อเล็กๆ ต่อเข้ากับหูชั้นกลาง ถ้าท่อปรับแรงดันผิดปกติ เวลาเป็นหวัด หรือ ตอนเครื่องบินลงจะรู้สึกหูอื้อ
เวียนหัวล้มทั้งยืน สัญญาณโรคหินปูนในหูเคลื่อน
หากมีอาการเวียนหัวบ้านหมุน คลื่นไส้อาเจียน อาจเป็น โรคตะกอนหินปูนหูชั้นในเคลื่อน โดยส่วนใหญ่หูชั้นในมี 2 พาร์ต คือ การได้ยิน และ การทรงตัว การทรงตัวจะมีคล้ายๆ ตะกอนหินปูน ซึ่งมีตำแหน่งที่อยู่ แต่หากเมื่อไหร่มันกลิ้งออกมาจากที่ของมัน คนไข้จะมีอาการเวีนยศีรษะบ้านหมุน โดยอาการจะเกิดขึ้นราว 1 นาที และอยู่ที่การขยับของศีรษะ เช่น นอนทำฟัน นอนสระผมที่ร้าน หรือกำลังลุก มีการขยับเป็นตัวกระตุ้น แต่ไม่มีอาการระบบประสาทอื่นๆ เช่น แขนขาอ่อนแรง
“อย่างไรก็ตาม อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน อาจจะเป็นจากหู และ จากศีรษะ ที่พบบ่อย ดังนั้น ต้องดูในรายละเอียดด้วย โดยให้แพทย์ตรวจวินิจฉัย”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "หลอดเลือดไตตีบ" ภาวะอันตราย ที่ไม่ควรละเลย
- เช็ก อาการ ‘วัยทอง’ ประตูสู่วัยชรา เตรียมพร้อม รับมืออย่างไร
- 'หูอื้อ' ไม่ได้ยิน มีเสียงวิ้ง ภาวะผิดปกติที่ไม่ควรละเลย
สำหรับ ตะกอนหินปูน หน้าที่ คือ การทรงตัว หากหลุดจากตำแหน่งที่ควรจะอยู่ทำให้มีอาการเหล่านี้ได้ โดยปัจจัยเสี่ยง คือ การกระแทกศีรษะแรงๆ อุบัติเหตุ ล้ม หัวฟาด หรืออายุเยอะขึ้น ซึ่งทำให้หินปูนหลวม พอขยับทำให้กลิ้งออกมา
การวินิจฉัย รักษา
เมื่อหินปูนหลุดออกมาแล้ว ก่อนอื่นต้องให้แพทย์ตรวจว่ามาจากหินปูนที่หูหรือสาเหตุอื่น แต่หากเป็นโรคนี้ แพทย์จะมีวิธีตรวจ โดยการขยับศีรษะเพื่อดูลูกตา มีท่าทางในการตรวจ ว่าลูกตากระตุกตามแพตเทิร์นของโรคหรือไม่
โดยวิธีการรักษา คือ การจัดท่าให้เข้าที่ ให้ตะกอนค่อยๆ เคลื่อน พลิกตัวตาม และลุกนั่ง รักษาตามข้างที่เป็น และหากไม่ดีขึ้น จะใช้เครื่องมือในการสั่นให้หินปูนเข้าที่ น้อยมากที่จะต้องผ่าตัด เพราะอาการจะเป็นแค่ 1 นาทีแล้วหาย หากไม่ดีขึ้นจะมีการกายภาพให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม มีโอกาสเป็นซ้ำ
"อันตรายของการเวียนศีรษะบ้านหมุน คือ หากคนไข้กำลังทำงานที่กับเครื่องจักร หรืออยู่ที่สูง ขับรถ จะทำให้อันตรายได้ เพราะเวลาบ้านหมุนจะรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมเคลื่อนที่ แต่ระยะเวลาที่เป็นไม่นาน ไม่เกิน 1 นาที แต่มีโอกาสเป็นซ้ำเรื่อยๆ หากมีปัจจัยกระตุ้น"
“น้ำในหูไม่เท่ากัน” ต่างจาก "ตะกอนหินปูนในหูหลุด" อย่างไร
น้ำในหูไม่เท่ากัน อาการคล้าย โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด แต่ระยะเวลาการเกิดอาการจะนานกว่า อยู่ที่ราว 20 นาที – 1 ชั่วโมง สาเหตุมาจาก ท่อน้ำในหูชั้นใน เกิดการเป่ง ทำให้ผิดปกติ ส่งผลต่อการได้ยินลดลง บางคนเป็นๆ หายๆ บางคนจะได้ยินเสียงในหูตามมาด้วย ทำให้รู้สึกปวดแน่นๆ ในหู และมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน อย่างไรก็ตาม บางคนอาจจะแค่เวียนศีรษะบ้านหมุน แต่การได้ยินไม่ลดลง ไม่จำได้มีทุกอาการ
การวินิจฉัย รักษา
การรักษาโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน คล้ายๆ โรคความดัน คือ จำกัดอาหารประเภทโซเดียม มียาที่ขยายหลอดเลือดไปเลี้ยงหู ลดแรงดัน ประคับประคองอาการ แต่การปฏิบัติตัว คือ ลดทานโซเดียม และระวังอาหารบางอย่างที่ไม่เค็มแต่มีโซเดียม คือ อาหารที่มีเบกกิ้งโซดา เช่น ขนมปัง ร่วมกับการทานยา และติดตามอาการ มีสิทธิเป็นๆ หายๆ และขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการทานอาหาร
หู เป็นมะเร็งได้หรือไม่
จากกรณีข่าวชาวจีน ที่มีอาการปวดหูข้างซ้าย มีของเหลวไหลออกมาจากหู โดยแพทย์แจ้งว่าเป็นโรคมะเร็งช่องหูภายนอก อ.พญ.นวรัตน์ อธิบายว่า หูเป็นมะเร็งได้ เซลล์เกิดการอักเสบเรื้อรัง ทำให้เซลล์โตขึ้น ลุกลามเป็นมะเร็ง ขณะที่ บางคนไม่ทราบสาเหตุ หรือ มะเร็งสัมพันธ์กับการโดนรังสียูวี เหมือนกับมะเร็งผิวหนัง หรือ จากอายุที่เยอะขึ้นเพราะมักจะเจอในคนที่อายุค่อนข้างเยอะ
“มะเร็งช่องหู สามารถพบได้ อาจจะโตเป็นก้อน และมีการลุกลาม กินเข้าไปในหูชั้นกลาง ชั้นใน ขึ้นอยู่กับว่าจะลุกลามแค่ไหน โดยเป็นโรคที่เกิดขึ้นน้อย หากเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆ อยู่ที่ราว 1% แต่สามารถเป็นได้”
การรักษา
สำหรับ การรักษา ขึ้นอยู่กับระยะการแพร่กระจาย ในส่วนของการรักษาจะคล้ายกับมะเร็งทั่วไป คือ ผ่าตัด ฉายแสง เคมีบำบัด ขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์ หากระยะแรก ไม่กระจาย จะมีโอกาสหายได้สูงกว่าระยะที่กระจายแล้ว หากกระจายแล้ว ต้องดูด้วยว่ากระจายไปที่ส่วนไหน หากไปทางเส้นเลือด สมอง ปอด ฯลฯ ค่อนข้างรักษาค่อนข้างยาก
การสังเกตอาการ
- หากโตจนใหญ่ และอุดตัน จะทำให้การได้ยินลดลง คล้ายอาการขี้หูอุดตัน
- หากโตเป็นแผล แตก มีเลือด บางคนอาจจะพบว่ามีน้ำกลิ่นเหม็นๆ ออกมาเพราะมีการติดเชื้อร่วมด้วย มีเลือดออกหู กลิ่นผิดปกติ การได้ยินลดลง
- หากโตจนลามเข้าไปในหูชั้นใน ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่โดน หากโดนในส่วนของการรับเสียง การได้ยินเส้นประสาทก็เสียด้วย หากโดนในส่วนการทรงตัว จะมีการเวียนศีรษะบ้านหมุนได้
- หากตัวมะเร็งกินเส้นประสาทหูชั้นใน ทำให้เส้นประสาทหูเสีย และทำให้หูหนวกได้
"ขี้หู" มีประโยชน์อย่างไร ทำไมไม่ควร "แคะหู"
อ.พญ.นวรัตน์ อธิบายว่า ความจริงแล้ว ขี้หู เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ไม่ต้องพยายามกำจัดมันออกมา เพราะทำให้ชุ่มชื่น และหากมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไป ขี้หูจะดักจับออกมาคล้ายๆ ขี้ไคล ทั้งนี้ ขี้หูคนเรามีหลายแบบ โดยธรรมชาติจะค่อยๆ หลุดเอง ยกเว้น การติดเชื้อ อุดตัน รูหูเล็ก การมีขี้หูเยอะมากกว่าปกติ ขี้หูอุดตัน อาจทำให้หูอื้อ ฉะนั้น ไม่ต้องพยายามแคะออก เว้นแต่อุดตันและควรพบแพทย์
"การแคะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง มีการติดเชื้อตามมาได้ บางคนชอบใช้ไม้แคะหู ทำให้ขี้หูส่วนปลายถูกดันเข้าไป ขี้หูอุดตัน อักเสบเรื้อรังได้หากมีแผล ย้ำว่า ขี้หู มีประโยชน์ เว้นแต่จะอุดตัน จึงจะก่อให้เกิดอันตราย"
ชอบ "ใส่หูฟัง" ฟังเพลงเสียงดังนานๆ อันตรายหรือไม่
อ.พญ. นวรัตน์ กล่าวว่า การได้ยินเสียงที่ดังมากๆ นานๆ มีโอกาสเส้นประสาทหูเสียได้ เส้นประสาทหูจะมีหลายความถี่ ตั้งแต่ความถี่ต่ำ ไปจนถึงความถี่สูง ซึ่งส่วนใหญ่เส้นประสาทหูจะเริ่มเสียที่ความถี่สูงก่อน
ในกรณีที่เส้นประสาทหูเสีย 2 ข้างไม่เท่ากัน ต้องดูว่ามีสาเหตุอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น กลุ่มเนื้องอกสมองกดทับเส้นประสาทรับเสียง หรือ การได้ยินดี แต่การแยกคำ เช่น ให้พูดตาม ได้ยินแต่พูดไม่ได้ ต้องดูว่ามีเนื้องอกในสมองหรือไม่
"ขณะเดียวกัน ปัจจุบัน คนใส่หูฟังกันเยอะ และมีหูฟังแบบตัดเสียงรบกวนรอบข้าง ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับหูไม่ต่างจากหูฟังแบบปกติ แต่ขึ้นกับความดังที่เปิด และระยะเวลา"
"เสียงปริศนาในหู" มาจากไหน
สำหรับบางคนได้ยินเสียงแปลกๆ ภายในหู อาจมาจากมีแมลงหรือสิ่งแปลปลอมเข้าไปในหูได้ อ.พญ.นวรัตน์ อธิบายว่า ส่วนใหญ่จะเจอแมลง หรือ เศษผมเล็กๆ บางคนไปโดนแก้วหู ทำให้หูอื้อ ทั้งนี้ นอกจากแมลง สิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ก็เจอได้ เช่น เด็กที่เอาลูกปัดไปใส่เข้าไป
หากมีสิ่งแปลกปลอมในหู เช่น แมลง แนะนำให้ใช้น้ำมันพืช ไม่แนะนำให้ใช้น้ำเพราะแมลงจะตกใจและตะกุยได้เพราะน้ำไม่มีความหนืด แต่หากเป็นกลุ่มน้ำมันพืชจากธรรมชาติ ให้หยอดและเอียงออกมา และดูว่าแมลงออกมาครบหรือไม่ ชิ้นส่วนขาดหายหรือไม่ อาการดีขึ้นหรือไม่ หากแมลงชิ้นส่วนหาย ยังปวดหูอยู่ ให้ไปพบแพทย์ ส่วนคนที่มีประวัติ "แก้วหูทะลุ" การหยอดอะไรเข้าไปต้องระวัง
ดูแลสุขอนามัย "หู" อย่างไร
ข้อมูลจาก รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลแนะนำ การดูแลรักษาสุขอนามัยของหู เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติของหูเกิดขึ้น ดังนี้
1.ควรระวังไม่ให้น้ำเข้าหู โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นหูชั้นนอกอักเสบ น้ำที่เข้าไปในช่องหูชั้นนอก อาจทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกรำคาญต้องใช้ไม้พันสำลีเช็ดทำความสะอาด ซึ่งจะทำให้การอักเสบของหูชั้นนอกเพิ่มมากขึ้น หรือผู้ป่วยที่มีเยื่อบุแก้วหูทะลุ
สามารถป้องกันน้ำเข้าหูได้โดย เอาสำลีชุบวาสลีนอุดหู หรือใช้หมวกพลาสติก คลุมผมโดยให้ปิดถึงหู หรือใช้วัสดุอุดรูหู (ear plug) เมื่อน้ำเข้าหู ควรเอียงศีรษะเอาหูข้างนั้นลงต่ำ ดึงใบหูให้กางออก และเฉียงไปทางด้านหลัง ทำให้ช่องหูอยู่ในแนวตรง ที่น้ำจะไหลออกมาได้ง่าย ซึ่งส่วนใหญ่ปัญหาน้ำเข้าหูจะหายไปทันที ไม่ควรปั่น หรือแคะหู
2. เมื่อมีการติดเชื้อในโพรงจมูก เช่น หวัด , โพรงหลังจมูก , โพรงไซนัส (ไซนัสอักเสบ) มีอาการกำเริบของโรคภูมิแพ้ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ควรรีบรักษาให้บรรเทาหรือให้หายโดยเร็ว เนื่องจากมีทางติดต่อระหว่างโพรงหลังจมูก และหูชั้นกลางผ่านทางท่อยูสเตเชี่ยน
ถ้าเป็นโรคดังกล่าวเรื้อรัง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางหูได้ เช่น หูชั้นกลางอักเสบ,น้ำขังในหูชั้นกลาง ท่อยูสเตเชี่ยนทำงานผิดปกติ หรือแม้แต่ทำให้ประสาทหูอักเสบ เกิดภาวะประสาทหูเสื่อมเฉียบพลันได้ นอกจากนั้น ไม่ควรสั่งน้ำมูกแรง โดยเฉพาะเอามือบีบจมูกแล้วสั่งน้ำมูก เพราะจะทำให้เชื้อโรคในช่องจมูก และไซนัสเข้าสู่หูชั้นกลางได้ง่าย ไม่ควรว่ายน้ำ , ดำน้ำ , เดินทางโดยเครื่องบิน หรือเดินทางขึ้นที่สูง-ต่ำอย่างรวดเร็ว (เช่น ใช้ลิฟต์)
เพราะท่อยูสเตเชี่ยน ซึ่งทำหน้าที่ปรับความดันของหูชั้นกลางกับบรรยากาศภายนอกไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ อาจทำให้มีอาการปวดหู,หูอื้อ,เสียงดังในหู หรือเวียนศีรษะ บ้านหมุนได้ ถ้าจำเป็นควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ เพื่อให้เกิดอาการผิดปกติดังกล่าวน้อยที่สุด
3.ควรระมัดระวังอย่าให้เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุกับหู หลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนบริเวณหู และบริเวณใกล้เคียง เช่น การถูกตบหู อาจทำให้เยื่อบุแก้วหูทะลุและฉีกขาด,การที่ศีรษะกระแทกกับพื้นหรือของแข็ง อาจทำให้กระดูกรอบหูแตก ทำให้ช่องหูชั้นนอกฉีกขาด,มีเลือดออกในหูชั้นกลางหรือชั้นใน,มีน้ำไขสันหลังรั่วออกมาทางช่องหู กระดูกหูเคลื่อนทำให้การนำเสียงผิดปกติไป
4.โรคบางชนิด โดยเฉพาะเกี่ยวกับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหู อาจทำให้ประสาทหูเสื่อม เกิดหูหนวกหรือหูตึงได้ ควรใส่ใจในการดูแลรักษาโรคต่าง ๆ เหล่านี้ให้ดี เช่น โรคหวัด , โรคหัด , คางทูม , เบาหวาน , โรคไต , โรคไขมันในเลือดสูง , โรคความดันโลหิตสูง , โรคกรดยูริกในเลือดสูง , โรคโลหิตจาง , โรคเลือด
และควรระวังปัจจัยบางชนิดที่อาจทำให้ประสาทหูเสื่อมเร็วกว่าปกติ เช่น เครียด , วิตกกังวล , พักผ่อนไม่เพียงพอ , การสูบบุหรี่ (สารนิโคติน) , รับประทานอาหารเค็ม เครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาท เช่น กาแฟ , ชา , น้ำอัดลม (สารคาเฟอีน) พยายามออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงประสาทหู
5.หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเสียงดังเป็นระยะเวลานาน ๆ (เสียงในสถานเริงรมย์,โรงงานอุตสาหกรรม) เสียงดังมาก ๆ ในระยะเวลาสั้นๆ (เสียงปืน,เสียงประทัด) เพราะจะทำให้ประสาทหูค่อย ๆ เสื่อมลงทีละน้อย หรือเสื่อมแบบเฉียบพลันได้ ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง เช่น ที่อุดหู (ear plug) หรือที่ครอบหู (ear muff)
6.ก่อนใช้ยาทุกชนิดไม่ว่าจะฉีด รับประทาน หรือหยอดหู ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรเสมอ เพราะยาบางชนิด เช่น ยาต้านจุลชีพ (aminoglycoside) , ยาแก้ปวด (aspirin) หรือยาขับปัสสาวะ บางชนิดอาจมีพิษต่อประสาทหูและประสาททรงตัว อาจทำให้ประสาทหูเสื่อมหรือเสียการทรงตัวได้ ผู้ป่วยอาจแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาหยอดหูได้
7.ขี้หู เป็นสารธรรมชาติที่ร่างกายสร้างขึ้น เพื่อหล่อเลี้ยงให้หูชั้นนอกชุ่มชื้น และป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรีย และป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในช่องหู โดยธรรมชาติขี้หูจะถูกขับออกมาเองจากช่องหู ไม่จำเป็นต้องแคะหู
ถ้ามีขี้หูอุดตันมากจนทำให้หูอื้อ ควรปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูก บางคนที่มีปัญหาขี้หูเปียกและออกมาจากช่องหูมาก อาจใช้ยาละลายขี้หูหยอดในหูเป็นประจำ เพื่อทำการล้างขี้หู (อาจใช้เพียงอาทิตย์ละครั้ง ถ้าไม่มีปัญหาอาจห่างออกไปเป็น 2,3,4 อาทิตย์ หยอด 1 ครั้ง) ซึ่งจะช่วยลดการอุดตันของขี้หูในช่องหูชั้นนอกได้ อาจทำความสะอาดช่องหูโดยใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำสะอาดให้ชุ่ม และเช็ดบริเวณปากรูหูออกมา ไม่ควรแหย่ไปลึกกว่านั้น
8.เมื่อมีอาการผิดปกติทางหู เช่น หูอื้อ,มีเสียงดังในหู,มีอาการเวียนศีรษะหรือบ้านหมุน,ปวดหู,มีน้ำหรือหนองไหลออกจากรูหู,คันหู,หน้าเบี้ยว หรือใบหน้าครึ่งซีกเป็นอัมพาต ควรรีบปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูก
อ้างอิง : รามาแชนแนล Rama Channel , คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล