'ที.แมน' มุ่งพัฒนานวัตกรรม รับ 'ตลาดยา-เทรนด์สุขภาพ' โต

'ที.แมน' มุ่งพัฒนานวัตกรรม  รับ 'ตลาดยา-เทรนด์สุขภาพ' โต

ตลาดยาแผนปัจจุบัน สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เติบโตอย่างต่อเนื่องแม้จะลดลงบ้างในวิกฤติโควิด-19 แต่ปัจจุบัน เทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรง การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย และนโยบายของภาครัฐที่ผลักดันสมุนไพรไทย ถือเป็นปัจจัยที่หนุนให้ภาพรวมอุตสาหกรรมด้านสุขภาพเติบโต

KEY

POINTS

  • ตลาดยาแผนปัจจุบัน สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรง สังคมสูงวัย และการผลักดันสมุนไพรไทย ถือเป็นปัจจัยที่หนุนให้ภาพรวมอุตสาหกรรมด้านสุขภาพเติบโต
  • TMAN ชู 8 กลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม ขยายทีมผู้เชี่ยวชาญ พร้อมขยายฐานลูกค้ากลุ่มลูกค้าโรงพยาบาล และต่างประเทศ 
  • อีกทั้งยังมีแผนการลงทุนเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต โดยเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างและ/หรือติด ตั้งเครื่องจักร เพื่อรองรับการขยายฐานลูกค้าได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ข้อมูล Krungsri Research พบว่า ทิศทางอุตสาหกรรมยายังมีศักยภาพเติบโตต่อเนื่อง จากแนวโน้มการจำหน่ายยาในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2566 – 2568 คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโต 5-6% ต่อปี เนื่องจากทิศทางของเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยต่างชาติกลับมาใช้บริการมากขึ้น

 

ตลอดจนการเข้าถึง ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจดูแลสุขภาพ ส่งผลให้ความต้องการบริโภคยาเพิ่มขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าการจำหน่ายยาผ่านโรงพยาบาลจะเติบโตเฉลี่ยที่ 6.3% ต่อปี ขณะที่มูลค่าการจำหน่ายผ่านร้านขายยา (OTC) จะเติบโตเฉลี่ยที่ 5.0 % ต่อปี

 

ตลาดยาเติบโต แม้ในวิกฤติโควิด-19

“ประพล ฐานะโชติพันธ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ” หรือ “TMAN”) กล่าวถึง ยุทธศาสตร์มุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมยาและเวชภัณฑ์ที่มีคุณภาพ สนับสนุนคนไทยมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน ว่า ตลาดยาแผนปัจจุบัน มีมูลค่า 2 แสนกว่าล้านบาท ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยายังอยู่ได้แม้จะเติบโตลดลงจากราว 6% เป็น 2% และกลับมาได้หลังวิกฤติ

 

โดยมีปัจจัยในเรื่องของสิทธิประกันสุขภาพของคนไทยทั้งสิทธิทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ เป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดยาเติบโต รวมถึง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี 2565 ที่มาพร้อมกับโรคโดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพมากขึ้น เพื่อป้องกันโรคต่างๆ สภาพอากาศ ฝุ่น PM2.5 อากาศไม่สะอาด มีเชื้อโรคเจือปน และการเข้าสู่สังคมเมืองทำให้ต้องเผชิญมลภาวะและขาดการออกกำลังกาย ความต้องการเสริมภูมิคุ้มกันหรือป้องกันโรคเพิ่มขึ้น เป็นโอกาสตลาดยา

 

\'ที.แมน\' มุ่งพัฒนานวัตกรรม  รับ \'ตลาดยา-เทรนด์สุขภาพ\' โต

ขณะเดียวกัน ตลาดสมุนไพร เติบโตกว่า 5.5% โดยไทยนับเป็นผู้นำด้านสมุนไพรในอาเซียน รวมถึง BCG Model ที่เป็นเป้าหมายของภาครัฐ ในการนำเทคโนโลยียกระดับมาตรฐาน ประสิทธิภาพสมุนไพร เป็นปัจจัยเอื้อหนุน อีกทั้ง ตลาดเสริมอาหาร ซึ่งเติบโตกว่า 8.4 - 9% จากปัจจัยจากสังคมสูงวัย และเทรนด์หลังโควิด-19 ที่คนเริ่มมองหาวิตามินเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน

 

สำหรับการทำตลาดในประเทศของที.แมน การขยายฐานลูกค้ากลุ่มโรงพยาบาล เน้นการวิจัยและพัฒนาเวชภัณฑ์ยาใหม่ ที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า กลุ่มโรงพยาบาล โดยเฉพาะเพิ่มเติม เช่น ยารักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และกลุ่มยาที่ที.แมนมีความเชี่ยวชาญเดิม เช่น กลุ่มยารักษาโรคทางเดินหายใจ สินค้าที่มุ่งเน้นการจำหน่ายให้ลูกค้ากลุ่มโรงพยาบาลโดยเฉพาะ เช่น ยารักษากลุ่มผู้ป่วยที่มีระดับโคเลสเตอรอลสูง ภาวะปลายประสาทอักเสบ ภาวะต่อมลูกหมากโต

 

8 กลยุทธ์ เคลื่อนธุรกิจ

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 แบรนด์เวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ภายใต้ กลุ่มบริษัท ที.แมน รวมทั้งสิ้น 221 แบรนด์ และนำเข้าหรือจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของบุคคลภายนอกอีก 18 แบรนด์ รวมทั้งสิ้นกว่า 804 ผลิตภัณฑ์ (SKUs) และมีเครือข่ายกลุ่มลูกค้าองค์กรเป็นพันธมิตรครอบคลุมทั้งร้านขายยา โรงพยาบาล คลินิกเวชกรรมและเสริมความงาม ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade)

 

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีโรงงานผลิตยาแผนปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง ได้แก่ โรงงานผลิต ที.แมน ฟาร์มา และโรงงานผลิต เฮเว่น เฮิร์บ มีศักยภาพการผลิตที่มีจุดเด่นได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตระดับสากล มาตรฐานหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต (GMP PIC/S) มาตรฐานหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการกระจายยา (GDP PIC/S) มาตรฐานห้องปฏิบัติการระดับสากล ISO 17025 และการรับรองมาตรฐานอื่นๆ

 

\'ที.แมน\' มุ่งพัฒนานวัตกรรม  รับ \'ตลาดยา-เทรนด์สุขภาพ\' โต

 

“ธนัท พลอยดนัย” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและผลิตภัณฑ์ TMAN กล่าวถึง 8 กลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ได้แก่

1) พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและนวัตกรรมใหม่ ครอบคลุมทั้งกลุ่มเวชภัณฑ์ ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับการรักษากลุ่มโรคสำคัญ และกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ พร้อมกับมุ่งสร้างมาตรฐานการสกัดสารสกัดจากธรรมชาติภายใต้ NatureCeutical ตลอดจนการสรรหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

2) ขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยวางแผนลงทุนขยายกำลังการผลิต เช่น การติดตั้งเครื่องจักรสำหรับบรรจุผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและสร้างการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) เป็นต้น

 

3) สรรหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ โดยกลุ่มบริษัทฯ มีแผนจะขยายทีมเภสัชกร นักวิทยาศาสตร์ อีกทั้งมุ่งขยายทีมเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายเพื่อสามารถเข้าถึงลูกค้าองค์กรกว้างขวางมากขึ้น

 

4) การมุ่งเน้นสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างได้รับการยอมรับผู้บริโภค โดยจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค นำเสนอจุดขายของผลิตภัณฑ์ทำให้แบรนด์แตกต่างและมุ่งสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ

 

5) การขยายธุรกิจจัดจำหน่ายเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ของบุคคลภายนอก เพิ่มนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย พร้อมทั้งปรับโครงสร้างฝ่ายขายและขยายทีมเจ้าหน้าที่ขาย

 

6) การขยายฐานลูกค้ากลุ่มลูกค้าโรงพยาบาล โดยมุ่งพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม

 

7) มุ่งขยายการจัดจำหน่ายตลาดต่างประเทศ โดยการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของกลุ่มบริษัทฯ ผ่านการสรรหาผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ

 

8) การขยายธุรกิจรับจ้างผลิต (ODM/OEM) โดยใช้ศักยภาพโรงงานที่ได้รับรองมาตรฐานการผลิตระดับสากล ผลิตผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอื่นๆ ภายใต้แบรนด์ของบุคคลภายนอก

 

\'ที.แมน\' มุ่งพัฒนานวัตกรรม  รับ \'ตลาดยา-เทรนด์สุขภาพ\' โต

 

ลงทุน ขยายฐานลูกค้าต่างประเทศ

“ตรัส อบสุวรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการ TMAN กล่าวว่า เพื่อรองรับการขยายฐานลูกค้าได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศกลุ่มบริษัทฯ มีแผนการลงทุนเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต โดยเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างและ/หรือติด ตั้งเครื่องจักร ซึ่งประกอบด้วย

 

1) ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานผลิต ที.แมน ฟาร์มา โดยลงทุนติดตั้งเครื่องจักรและระบบการผลิตยาแผนปัจจุบันประเภท เม็ด น้ำ และครีมเพิ่มเติม คาดว่าทั้ง 2 ส่วนจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 ปี 2567

2) โครงการปรับปรุงและขยายศูนย์วิจัยและพัฒนา รวมทั้งลงทุนอุปกรณ์เครื่องมือวิจัย คาดว่าจะเปิดใช้งานได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2567

3) โครงการก่อสร้างคลังสินค้าและอาคารสำนักงานของบริษัท เฮเว่น เฮิร์บ จำกัด รวมถึงการปรับปรุงที่ดินและติดตั้งระบบ

4) โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพร สำหรับสายการบรรจุผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในโรงงานผลิต เฮเว่น เฮิร์บ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 ปี 2567

5) โครงการขยายกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ของบริษัท เฮเว่น เฮิร์บ จำกัด โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 ปี 2567 ซึ่งทำให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทของแข็ง (Solid Dosage Form) ได้

6) โครงการพัฒนาระบบงานขายบนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเพิ่มการทำงานส่วนงานขายให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อผ่านระบบดังกล่าว

7) โครงการปรับปรุงมาตรฐานการผลิตโดยลงทุนในเครื่องมือควบคุมคุณภาพการผลิตยาแผนปัจจุบัน

และ 8) โครงการปรับปรุงสายการผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

 

\'ที.แมน\' มุ่งพัฒนานวัตกรรม  รับ \'ตลาดยา-เทรนด์สุขภาพ\' โต