กว่าจะได้“จิตแพทย์”1 คน ต้องใช้เวลา 10ปี

กว่าจะได้“จิตแพทย์”1 คน ต้องใช้เวลา 10ปี

รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ระบุชัดเจนว่า สถานการณ์ด้านสุขภาพจิตของประเทศไทยมีความรุนแรงขึ้น มีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มสูงขึ้น

KEY

POINTS

  • ไทยวิกฤตขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพจิตและจิตเวชของไทย พบ มีสัดส่วนจิตแพทย์ 0.7 ต่อแสนประชากร ขณะที่ผู้ป่วยทางจิตเวชเพิ่มขึ้น ผู้มีปัญหาทางจิต10 ล้านคน
  • จิตแพทย์ 1 คน จะต้องเรียน 10 ปี โดยต้องจบคณะแพทยศาสตร์ 6 ปี เป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะอีก 1 ปี จากนั้นจึงมาเรียนต่อเฉพาะทางจิตแพทย์ เป็นแพทย์ประจำบ้านต่ออีก 3 ปี จึงจะเป็นจิตแพทย์เต็มตัว
  • ทุกช่วงวัยกำลังประสบปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และกลุ่มผู้ที่มีความเครียดสูง ขณะที่จำนวนจิตแพทย์ลดน้อยลง

รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ระบุชัดเจนว่า สถานการณ์ด้านสุขภาพจิตของประเทศไทยมีความรุนแรงขึ้น มีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ไทยประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพจิตและจิตเวชของไทย พบว่า ในปี 2565 ไทยมีจำนวนจิตแพทย์รวมทั้งหมด845 คน คิดเป็นอัตราส่วนจิตแพทย์ 1.28 ต่อ ประชากรแสนคน และมีนักจิตวิทยา (คลินิก) 1,037 คน คิดเป็น 1.57 ต่อประชากรแสนคน และ พยาบาลจิตเวช4,064 คน คิดเป็น 6.14 ต่อประชากรแสนคน เท่านั้น

โดยจังหวัดที่มีจิตแพทย์ สูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร (5.0 ต่อประชากรแสนคน) ขณะที่บางจังหวัดไม่มีจิตแพทย์เลย โดยภาพรวม อัตราส่วนจิตแพทย์ของไทยต่ำกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนด และต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

คนไทยเจ็บป่วย มีปัญหาสุขภาพจิต 10 ล้านคน ทุกวัยเครียด ซึมเศร้าพุ่ง

ทำอย่างไร เมื่อไทย กลายเป็น "สังคมคนโสด" เปิดปัจจัย ทำไมไม่มีคู่

WHOกำหนด10คน/แสนประชากร

กรมสุขภาพจิตสำรวจบุคลากรที่ทำงานด้านสุขภาพจิตในระบบบริการของรัฐทุกสังกัดทั่วประเทศ เมื่อเดือนธันวาคม 2565 พบว่าประเทศไทยมีจำนวน

  • จิตแพทย์ทั่วไป 409 คน
  • จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น 112 คน
  • พยาบาลจิตเวช 3,630 คน
  • พยาบาลจิตเวชเด็ก 681 คน
  • นักจิตวิทยาคลินิกและนักจิตวิทยา 1,170 คน
  • คิดเป็นอัตราส่วนจิตแพทย์ทั่วไป 0.7 คนต่อแสนประชากร
  • สัดส่วนจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น0.81 คนต่อแสนประชากร

ขณะที่มาตรฐาน WHO กำหนดให้มีจิตแพทย์ 10 คนต่อประชากร 100,000 คน เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนจิตแพทย์ใน 6 ประเทศภูมิภาคอาเซียน พบว่า

  • สิงค์โปร์มีสัดส่วนจิตแพทย์ต่อประชากรมากที่สุดคือ 4.19 คนต่อแสนประชากร
  • มาเลเซีย 1.05 คนต่อแสนประชากร
  • ไทย 0.70 คนต่อแสนประชากร
  • กัมพูชา 0.39 คนต่อแสนประชากร
  • พม่า 0.38 คนต่อแสนประชากร
  • อินโดนีเซีย 0.31 คนต่อแสนประชากร

กว่าจะได้“จิตแพทย์”1 คน ต้องใช้เวลา 10ปี

กองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต ได้เปิดแผนการผลิตสหวิชาชีพเฉพาะทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ระยะเวลา 5 ปี (ตั้งแต่ปี 2566-2570) ดังนั้น นักจิตวิทยาเฉพาะทาง 400คน โดยผลิต 80 คนต่อปี พยาบาลเฉพาะทางจิตเวช PG 4 เดือน 1,500 คน ผลิต300 คนต่อปี นักสังคมสงเคราะห์เฉพาะทางจิตเวช 400 คน ผลิต 80 คน ต่อปี นักกิจกรรมบำบัดเฉพาะทางจิตเวช 250 คน ผลิต 50 คน ต่อปี และเภสัชกรเฉพาะทางจิตเวช 150 คน ผลิต 30 คน ต่อปี

เรียน10ปีกว่าจะเป็นจิตแพทย์

"รศ.นพ.มนัท สูงประสิทธิ์" อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่าจิตแพทย์ 1 คน จะต้องเรียนจบคณะแพทยศาสตร์ 6 ปี เป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะอีก 1 ปี จากนั้นจึงมาเรียนต่อเฉพาะทางจิตแพทย์ เป็นแพทย์ประจำบ้านต่ออีก 3 ปี จึงจะเป็นจิตแพทย์เต็มตัวโดยผู้ที่เลือกเรียนต่อเฉพาะทางจิตแพทย์จะต้องมีความสนใจและอยากจะเข้าใจเรื่องราวชีวิตของผู้อื่น มีความเห็นใจ และไม่รู้สึกเบื่อหน่ายหรือรำคาญที่จะต้องรับฟังความทุกข์ของผู้อื่น มีความสนใจในเรื่องของจิตใจ ครอบครัว และสังคม  

อนึ่งระหว่างเรียน 3 ปีแพทย์ประจำบ้านจะได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้ป่วยภายใต้การกำกับดูแลจากอาจารย์ การปฏิบัติงานจะครอบคลุมทั้ง ผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยในผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉิน ผู้ป่วยรับปรึกษาจากสาขาอื่น นิติจิตเวช จิตเวชชุมชน จิตเวชสารเสพติดและจิตเวชผู้สูงอายุ เพื่อให้มีความชำนาญในการวินิจฉัยและการดูแลรักษา รวมไปถึงการฟื้นฟูผู้ป่วยให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามศักยภาพของผู้ป่วย

กว่าจะได้“จิตแพทย์”1 คน ต้องใช้เวลา 10ปี

ระหว่างที่เรียนจะเน้นการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์เชื่อมโยง และตั้งคำถาม ผ่านกิจกรรมวิชาการต่างๆ รวมถึงฝึกฝนทักษะการทำงานเป็นที่มร่วมกับสหวิชาชีพ ทักษะการสื่อสารและการแก้ปัญหา รวมไปถึงพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำ มีการประเมินแพทย์ผู้เข้าอบรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านความรู้ ทักษะทางคลินิกการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพและความเป็นมืออาชีพ ผ่านการสอบข้อเขียน การสอบสัมภาษณ์ผู้ป่วยและแบบประเมินการปฏิบัติงาน สำหรับการสอบเพื่อวุฒิบัตร แพทย์ประจำบ้านจะต้องส่งงานวิจัยที่สมบูรณ์ 1 ฉบับ และรายงานการทำจิตบำบัดผู้ป่วยจำนวน 2 ราย

โดยสถิติผู้สนใจเรียนจิตแพทย์ ปี 2563 มีจำนวน 48 คน ปี 2564 จำนวน 47 คน ปี 2565 จำนวน 50 คน และปี 2566 จำนวน 57 คน ทั้งนี้ตามแผนราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย จะมีการเพิ่มตำแหน่งการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านจิตเวชศาสตร์เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ฝึกอบรมตามศักยภาพได้ปีละ 58 คน ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตจิตแพทย์ใหม่เข้าไปในระบบบริการได้ประมาณ 290 คน เพิ่มขึ้นเป็น 355 คนระหว่างปีการฝึกอบรม 2567 – 2571

กว่าจะได้“จิตแพทย์”1 คน ต้องใช้เวลา 10ปี

3 อันดับแรกโรคทางจิตเวช 

ศ.เกียรติคุณ นพ.รณชัย คงสกนธ์ จิตแพทย์ที่ปรึกษา โรงพยาบาล BMHH - Bangkok Mental Health Hospital เปิดเผยว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่มีอายุเฉลี่ย 25 - 40 ปี เมื่อเดือน ส.ค. - พ.ย.2566 พบว่า 3 อันดับแรกของโรคทางจิตเวชที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และกลุ่มผู้ที่มีความเครียดสูง ซึ่งปัญหาส่วนมากเกิดจากปัญหาครอบครัว ปัญหาคู่ครอง ปัญหาเรื่องการทำงาน และปัญหาทางการเงิน

เนื่องจากคนในช่วงอายุเหล่านี้อยู่ระหว่างการวางแผนชีวิตอย่างจริงจัง และต้องแบกรับความกดดันสูงทั้งจากครอบครัว และสังคมสูง ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังในการแต่งงาน มีลูก มีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตค่อนข้างมาก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่มีความเครียด ความกดดัน และมีการแข่งขันสูง นอกจากนี้ยังมีโรคทางจิตเวชที่มีผู้เข้ารับการรักษามากไม่แพ้กันก็คือ อันดับ 4 โรคแพนิก และอันดับ 5 โรคไบโพลาร์

โดยอาการของผู้ป่วยจิตเวชเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น โรคซึมเศร้า เกิดจากสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล จึงมีอารมณ์เศร้าผิดปกติ การรักษาด้วยยาเพื่อช่วยปรับสารเคมีในสมองจึงเป็นเรื่องสำคัญ ร่วมกับการรักษาด้วยการทำจิตบำบัด หรือพฤติกรรมบำบัด ตามอาการของผู้ป่วย

ทั้งนี้โรคทางจิตเวชเป็นโรคที่รักษาได้ยาก เพราะเป็นโรคที่เกี่ยวกับความรู้สึก พฤติกรรม และความคิด ซึ่งต่างจากโรคทางกายทั่วไป ทุกคนจึงจำเป็นต้องสังเกตตัวเองหรือคนใกล้ชิดเพื่อมองหาสัญญาณของอาการป่วย และปัจจัยร่วม หรือพฤติกรรมผิดปกติบางอย่างที่ทำเป็นประจำ เพื่อแพทย์จะได้รักษาได้ตรงจุด เพราะนอกจากการรับประทานยาเป็นประจำเแล้ว ความคิด และพฤติกรรมก็เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันปรับปรุงแก้ไข

กว่าจะได้“จิตแพทย์”1 คน ต้องใช้เวลา 10ปี

ปัญหาสุขภาพจิตแต่ละช่วงวัย

ปัจจุบันพบผู้ป่วยเข้ารับบริการด้านจิตเวชมากขึ้น จากจำนวน 1.3 ล้านคน ในปีงบประมาณ 2558 เป็น 2.8 ล้านคน ในปีงบประมาณ 2562 และ 2.9 ล้านคน ในปีงบประมาณ 2566 โดยพบผู้มีปัญหาอาจมากถึง 10 ล้านคน ทำให้สัดส่วนผู้มีปัญหาสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก จากปี 2556 พบผู้มีปัญหา 7 ล้านคน ส่วนปี 2566 พบผู้มีปัญหา 10 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่ายังมีผู้ที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาจำนวนมาก

แต่ละช่วงวัย มีสาเหตุของการเครียดที่แตกต่างกัน โดย

“เด็กและเยาวชน” เครียด-ซึมเศร้าจากการเรียน ความคาดหวังในอนาคต และการเงินของครอบครัว รวมถึงการกลั่นแกล้งกันในสถานศึกษา

ขณะที่ “วัยทำงาน” เครียดจากการทำงาน การติดสุรา การใช้สารเสพติด และปัญหาจากการดำรงชีวิต พบว่า

  • คนไทยใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของแต่ละวันไปกับการทำงาน
  • คนกรุงเทพฯ 7 ใน10 มีอาการหมดไฟในการทำงาน
  • กรุงเทพฯ จัดอยู่ในอันดับที่ 5 ใน 100 เมืองของประเทศทั่วโลกที่มีคนทำงานหนักเกินไปและมีพนักงานประจำกว่า ร้อยละ 15.10 ทำงานล่วงเวลามากกว่า 48 ชั่วโมง/สัปดาห์

ส่วน ผู้สูงอายุ เหงาและโดดเดี่ยว สูญเสียคุณค่าในตนเอง เพราะการขาดกิจกรรมและการอยู่คนเดียว รวมทั้งมีภาวะความจำเสื่อม และมีปัญหาสุขภาพจิตด้านอื่นๆ