จบปัญหา "สิว-ฝ้า กระ" ได้เอง แอปพลิเคชันใช้AI วิเคราะห์ ไอเดียเด็กมจธ.
จากปัญหาผิวหน้าที่ตัวเองเจอ สู่การคิดพัฒนาแอปพลิเคชัน SKINSENSE ที่นำ AIเข้ามาช่วยประเมินวิเคราะห์ผลจบปัญหาสิว-ฝ้า กระได้เอง ไอเดียนักศึกษาวิศวะ คอมพิวเตอร์ มจธ.
ภายในงานกิจกรรมที่มีชื่อว่า “Project Day” ซึ่งเป็นการนำเสนอ “โครงงานวิศวกรรม (Project)” ของนักศึกษาชั้นปี 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุบรี(มจธ.)หรือบางมด หนึ่งใน”โปรเจกต์จบ”ที่น่าสนใจ คือ “SKINSENSE” ระบบวิเคราะห์และให้คำแนะนำสุขภาพผิวหน้าโดยใช้ Machine Learning ที่จะช่วยให้สามารถดูแลผิวหน้าเพื่อแก้ปัญหาสิวและความผิดปกติของเม็ดสีผิวได้ด้วยตนเอง
พัฒนาแอปฯ 1 ปีการศึกษา
ศรัลวริลณ์ ว่องอุดมธนกุล และณัฐกานต์ แก้วไพรำ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 เจ้าของไอเดีย แอปพลิเคชัน“SKINSENSE” เล่าว่า เริ่มจากที่พวกเราเห็นความสำคัญของผิวหน้า อยากดูแลผิวหน้าได้ด้วยตัวเอง ซึ่งยังไม่มีแอปพลิเคชันที่ให้ข้อมูลตรงจุดนี้ ที่มีอยู่จะเป็นแอปฯปรึกษากับแพทย์ที่อาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่มากและใช้เวลาหากแพทย์นัดให้ไปพบ
“เป็นที่มาที่ทำให้คิดทำโมบายแอปพลิเคชันSKINSENSE เพื่อให้สามารถดูแลผิวหน้าได้ด้วยตัวเอง”ศรัลวริลณ์กล่าว
จากนั้นตรวจสอบปัญหายืนยันว่าคนอื่นๆต้องเจอเหมือนกันหรือไม่ ด้วยการสำรวจแบบสอบถามจำนวน 70 คน พบว่าส่วนใหญ่เจอปัญหาคล้ายกัน คือ ถ้ามีปัญหาผิวหน้าก็อยากดูแลรักษาเองถ้ามีข้อมูล โดยเฉพาะปัญหาผิวหน้าที่พบส่วนใหญ่ในเรื่องของสิวและความผิดปกติของเม็ดสีบนใบหน้าอย่างฝ้า กระ
จึงเริ่มต้นพัฒนาแอปฯด้วยการออกแบบดีไซน์ว่าจะต้องมีฟีเจอร์อะไรบ้าง Database///ที่ใช้เก็บข้อมูล เพราะแอปฯจะมีการเก็บข้อมูลด้วยเพื่อใช้เปรียบเทียบใบหน้าตัวเองก่อนและหลังได้เป็นประวัติไว้ รวมถึง ออกแบบตัวยูไอของแอปฯ ใช้เวลาพัฒนาประมาณ 1 ปีการศึกษา
ใช้AIประเมินระดับความรุนแรง
ในการเข้าใช้งานแอปพลิเคชัน SKINSENSE ผู้ใช้จะต้องลงทะเบียนแอคเคาท์ ล็อกอินเข้าแอปฯ โดยจะมีฟีเจอร์ให้สแกนใบหน้า เพื่อประเมินวิเคราะห์ปัญหาผิวหน้า 2 เรื่องหลักที่จะให้บริการในแอปฯ คือ สิวและความผิดปกติของเม็ดสี
“จะใช้AIในวิเคราะห์และประเมินระดับความรุนแรงของสิวและความผิดปกติของเม็ดสี ซึ่งการประเมินระดับความรุนแรงของสิวมีความแม่นยำ 73”ณัฐกานต์กล่าว
เนื่องจากฐานข้อมูลเกี่ยวกับระดับความรุนแรงของสิวที่นำมาใช้เป็นแหล่งข้อมูลให้AIนั้น นำมาจากรายงานในต่างประเทศที่มีการแบ่งระดับความรุนแรงของสิวไว้เป็น 5 ระดับและมีรูปภาพของสิวแต่ละระดับ จึงนำมาพัฒนาให้AIวิเคราะห์และประเมินผล เมื่อผู้ใช้สแกนใบหน้าได้
แต่ในส่วนของความผิดปกติของเม็ดสีศรัลวริลณ์และณัฐกานต์ บอกว่า เป็นความท้าทายของโปรเจกต์นี้อย่างมาก เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับระดับความผิดปกติของเม็ดสีหาได้ยากมา ไม่ค่อยมีหน่วยบริการเก็บข้อมูลของคนที่เป็นฝ้าและเปิดเป็นข้อมูลทั่วไปที่สามารถเข้าไปสืบค้นได้
จึงมีปัญหาเรื่องของData ค้นรูปเท่าที่หาได้ราว 250รูปภาพบวกกับการประสานขอความร่วมมือแพทย์ผิวหนังที่รู้จักให้ช่วยระบุความรุนแรงของความผิดปกติของเม็ดสีบนใบหน้า จนได้ระดับความรุนแรงเป็น 3 ระดับเป็นฐานข้อมูลของAI ทำให้ส่วนนี้ยังมีความแม่นยำน้อยจำเป็นต้องมีการพัฒนาต่อไป
แมชชิ่งปัญหาผิวหน้ากับผลิตภัณฑ์
เมื่อได้ระดับความรุนแรงของปัญหาผิวหน้าแล้ว ก็จะมีการให้กรอกประวัติลักษณะสภาพผิวหน้า เช่น แห้ง มัน หรือผิวผสม ก่อนที่จะมีการนำข้อมูลทั้งหมดมาแมชชิ่งกับผลิตภัณฑ์ดูแลรักษาผิวหน้าที่แนะนำให้ใช้ของแต่ละคน เช่น สิว ฝ้ามีความรุนแรงระดับนี้ สภาพผิวเป็นแบบนี้ ควรใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลรักษาผิวตัวไหน เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่แนะนำในขณะนี้ได้จากที่มีการรีวิวและแนะนำอยู่ทั่วๆไป
ปัจจุบันแอปพลิเคชัน SKINSENSE ยังอยู่ในขั้นของการศึกษาพัฒนาตัวแบบ ยังไม่สมบูรณ์ที่จะสามารถนำไปให้บริการประชาชนทั่วไปจริง แต่มีการนำไปให้กลุ่มทดลองใช้มีทั้งกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน ผลตอบรับเป็นไปในทางที่ดี ผู้ใช้งานมีความพึงพอใจอยู่ในระดับ 4-5
พัฒนาเพิ่มเติมให้ถูกต้อง-แม่นยำขึ้น
อย่างไรก็ตาม กว่าที่จะแอปฯนี้จะสามารถนำมาเปิดให้บริการได้จริงกับคนทั่วไป ศรัลวริลณ์และณัฐกานต์ บอกว่า ยังจำเป็นต้องมีการพัฒนาแอปพลิเคชันเพิ่มเติมอีกหลายส่วน อย่างเช่น การจะต้องประสานขอความร่วมมือกับแพทย์ผิวหนัง เพื่อให้ฐานข้อมูลที่นำมาอ้างอิงในการวิเคราะห์ประเมินผลมีความน่าเชื่อถือ และพัฒนาโมเดลAIวิเคราะห์ประเมินผลให้มีความแม่นยำ ถูกต้องมากขึ้น
นอกจากนี้ ส่วนของผลิตภัณฑ์ที่มีการแนะนำให้ใช้นั้น อาจจะต้องเพิ่มเติมรายละเอียดเรื่องของราคาและส่วนผสมของแต่ละผลิตภัณฑ์ด้วย เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายตามความเหมาะสมของแต่ละคนมากขึ้น
Project Day พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้
ขณะที่ศ.ดร.ชัย จาตุรพิทักษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. กล่าวว่า Project Day ของคณะ วิศวกรรมศาสตร์ คือพื้นที่สำหรับจัดแสดงโครงงานของนักศึกษาจากแต่ละในภาควิชา และผลงานจากการประกวดแข่งขันของนักศึกษาที่ได้รับรางวัลจากเวทีต่างๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา
โดยวัตถุประสงค์สำคัญของ Project Day คือ การสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ที่จะช่วยทำให้นักศึกษาเป็นผู้มีความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมหรือสามารถสร้างมูลค่าในเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต
กิจกรรม Project Day ตั้งแต่จัดครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2560 จนมาถึงปีนี้ มีเป้าหมายเดียวกัน คือ เราอยากให้วิศวกรของเรา นอกจากจะต้องมีความรู้และทักษะในวิชาชีพของตนเองแล้ว ควรจะมีทักษะในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ด้วย
"งาน Project Day ไม่ใช่เวทีจัดแสดงผลงานเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่ให้นักศึกษาที่กำลังจะจบได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้คนที่หลากหลาย ทั้งกับเพื่อนชั้นปีที่ 4 นักศึกษารุ่นน้อง อาจารย์ ผู้ประกอบการ นักเรียนมัธยมที่เข้ามาชมผลงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการต่อยอดความคิดของนักศึกษาในภายหน้า” ศ.ดร.ชัย กล่าว