'ความดันต่ำ' อันตรายใช่ย่อย สังเกตอาการ ป้องกันภาวะช็อก

'ความดันต่ำ' อันตรายใช่ย่อย สังเกตอาการ ป้องกันภาวะช็อก

ความดันต่ำ เป็นภาวะที่ค่าความดันโลหิตต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท โดยทั่วไปภาวะความดันโลหิตต่ำ ที่ไม่มีอาการ มักไม่อันตราย และไม่ได้นำไปสู่โรคเรื้อรัง สามารถตรวจพบ ความดันโลหิตต่ำ ได้โดยบังเอิญในบุคคลทุกเพศ ทุกวัย

KEY

POINTS

  • ความดันโลหิตต่ำ เป็นภาวะที่ค่าความดันโลหิตต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท โดยทั่วไปภาวะความดันโลหิตต่ำ ที่ไม่มีอาการ มักไม่อันตราย และไม่ได้นำไปสู่โรคเรื้อรัง
  • ความดันต่ำ เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนท่าทางของร่างกายอย่างรวดเร็ว เช่น ลุกหรือนั่งแบบกะทันหัน ความเครียด ปัจจัยด้านพันธุกรรม ผู้ที่มีโรคประจำตัว การสูญเสียสารน้ำในร่างกาย หรือยาบางชนิด
  • อย่างไรก็ตาม หากมีอาการแสดงบางอย่าง เช่น หน้ามืด วิงเวียน วูบ ใจสั่น หรือกรณีตรวจพบความดันโลหิตต่ำร่วมกับมีไข้ มีประวัติเสียเลือดหรือสารน้ำในร่างกายอย่างฉับพลัน ควรเข้าพบแพทย์อย่างเร่งด่วน  เพราะอาจเกิดภาวะช็อกได้

ที่ผ่านมา เราอาจได้ยินบ่อยๆ เกี่ยวกับ “โรคความดันโลหิตสูง” แต่ความจริงแล้ว ความดันโลหิตต่ำ ก็ถือเป็นโรคที่ไม่ควรมองข้าม ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่า ความดันโลหิตต่ำ เป็นภาวะที่ค่าความดันโลหิตต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท

 

โดยทั่วไปภาวะความดันโลหิตต่ำ ที่ไม่มีอาการ มักไม่อันตราย และไม่ได้นำไปสู่โรคเรื้อรัง สามารถตรวจพบ ความดันโลหิตต่ำ ได้โดยบังเอิญในบุคคลทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีรูปร่างผอม พักผ่อนน้อย แต่ในบางกรณี เช่น ผู้สูงอายุที่อาจพบมีความดันโลหิตต่ำได้ในช่วงเปลี่ยนอริยาบถ ก็นำไปสู่การหกล้มซึ่งเกิดอันตรายได้

 

หรือในบุคคลทั่วไปที่มี ความดันโลหิต ต่ำร่วมกับมีภาวะความเจ็บป่วยบางอย่าง หรือเป็นความดันโลหิตต่ำที่มีอาการแสดง เช่น วิงเวียน หน้ามืด ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะที่อาจคุกคามต่อชีวิต ซึ่งควรรีบมาพบแพทย์เพื่อให้การประเมินและรักษาตามสาเหตุต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

 

ความดันโลหิตต่ำ สาเหตุมาจากอะไร

  • ความดันโลหิตต่ำเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
  • การเปลี่ยนท่าทางของร่างกายอย่างรวดเร็ว เช่น ลุกหรือนั่งแบบกะทันหัน
  • ความเครียด การพักผ่อนน้อย
  • การมีรูปร่างผอมบางเกินไป
  • ปัจจัยด้านพันธุกรรม
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเลือดจาง โรคหัวใจ โรคต่อมไร้ท่อ
  • การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันเลือด ยาขับปัสสาวะ
  • การสูญเสียสารน้ำในร่างกาย เช่น การเสียเหงื่อ อุจจาระร่วง
  • การสูญเสียเลือด เช่น การเสียเลือดจากอุบัติเหตุ

 

อาการความดันโลหิตต่ำ

  • วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด วูบ
  • เห็นภาพเบลอ หรือเห็นภาพซ้อน
  • ใจสั่น
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • ร่างกายขาดน้ำ
  • คลื่นไส้
  • ซึม สับสน กระสับกระส่าย ขาดสมาธิ

 

อันตรายของ ความดันโลหิตต่ำ

ภาวะความดันโลหิตต่ำที่ไม่มีอาการ อาจตรวจพบได้โดยบังเอิญ มักไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม หากมีอาการแสดงบางอย่าง เช่น หน้ามืด วิงเวียน วูบ ใจสั่น ร่วมกับมีภาวะความดันโลหิตต่ำ หรือกรณีตรวจพบความดันโลหิตต่ำร่วมกับมีไข้ มีประวัติเสียเลือดหรือสารน้ำในร่างกายอย่างฉับพลัน ควรเข้าพบแพทย์อย่างเร่งด่วน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อชีวิตได้ เช่น ภาวะช็อก

 

ภาวะแทรกซ้อน เมื่อมีความดันโลหิตต่ำ

เนื่องจาก ความดันโลหิต คือค่าความดันที่นำเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะสำคัญ เมื่อผู้ป่วยมีอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ อาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น การหกล้ม ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากในผู้สูงอายุ นอกจากนี้การมีความดันโลหิตต่ำที่มีอาการร่วมกับการมีภาวะความเจ็บป่วยบางอย่างอาจเป็นสัญญาณเตือนที่จะเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น ภาวะช็อก

 

เมื่อไหร่จึงควรพบแพทย์

โรงพยาบาลเมดพาร์ค แนะนำว่า ควรขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉินทันทีหากเกิดภาวะช็อก ทั้งนี้ ควรพบแพทย์หากมีสัญญาณหรืออาการของความดันโลหิตต่ำ เนื่องจากอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาทางการแพทย์ที่ร้ายแรงอื่นๆ โดยอาจทำการจดบันทึกอาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เกิดขึ้นและสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ในขณะนั้น

 

ยาอะไรบ้างที่มีส่งผลต่อความดันต่ำ

  • ยาขับปัสสาวะ
  • Alpha blockers
  • Beta blockers
  • ยาสำหรับโรคพาร์กินสัน
  • ยาต้านซึมเศร้าบางประเภท
  • ยาสำหรับอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

 

ภาวะความดันโลหิตต่ำจากระบบประสาทอัตโนมัติ

ความดันโลหิตต่ำชนิดนี้เกิดขึ้นหลังจากการยืนเป็นเวลานาน ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งกับผู้ใหญ่และเด็ก การสื่อสารที่ไม่ถูกต้องระหว่างหัวใจและสมองถือเป็นสาเหตุของภาวะนี้

  • ภาวะความดันโลหิตต่ำจากความผิดปกติจากหลายระบบ ความเสียหายต่อระบบประสาททำให้ความดันโลหิตลดลง ความดันเลือดต่ำชนิดนี้เรียกอีกอย่างว่า Shy-Drager syndrome อาการของความดันโลหิตต่ำที่หายากนี้มีลักษณะอาการที่คล้ายกับโรคพาร์กินสัน (Parkinson Disease) ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบประสาทอัตโนมัติ ระบบที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงาน เช่น ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ การหายใจ และการย่อยอาหาร ผู้ที่มีความดันเลือดต่ำประเภทนี้อาจมีความดันโลหิตสูงขณะนอนราบร่วมด้วย

 

การวินิจฉัยภาวะความดันโลหิตต่ำ

แพทย์อาจตรวจสอบปัญหาทางการแพทย์ของคุณก่อนทำการตรวจร่างกายและวัดความดันโลหิต โดยอาจต้องทำการทดสอบบางอย่างร่วมด้วย เช่น

  • การตรวจเลือด เพื่อตรวจสอบสภาพของร่างกายทั้งหมดและหาสาเหตุของภาวะความดันโลหิตต่ำ เช่น น้ำตาลในเลือดสูง เบาหวาน หรือโลหิตจาง
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) เพื่อค้นหาปัญหาเกี่ยวกับหัวใจที่อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ
  • การตรวจหัวใจด้วยเตียงปรับระดับ เพื่อประเมินปฏิกิริยาของร่างกายต่อการเปลี่ยนแปลงท่าทางและตำแหน่ง

 

การรักษาภาวะความดันโลหิตต่ำ

การรักษาภาวะความดันโลหิตต่ำขึ้นอยู่กับสาเหตุ ประเภท และความรุนแรงของภาวะ ผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษา ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความดันโลหิตและเพื่อลดสัญญาณและอาการของภาวะความดันเลือดต่ำที่รุนแรง อาจต้องได้รับการรักษาบางอย่าง เช่น

  • การบริโภคเกลือมากขึ้น
  • การดื่มน้ำมากขึ้น
  • การสวมถุงน่องชนิดแกรดูเอ็ดคอมเพรสชั่น (compression stockings) หรือถุงน่องป้องกันลิ่มเลือด
  • การใช้ยา

 

ความดันโลหิตต่ำ ควรดูแลตัวเองอย่างไร ?

สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะ ความดันโลหิตต่ำ มักจะเกิดอาการหน้ามืดบ่อยๆ ระหว่างทำกิจกรรมบางอย่าง เนื่องจาก ความดันต่ำ ลง คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมเพื่อให้สอดคล้องกับโรคและสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ รวมถึงคนทั่วไปที่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ร่วมกันเพื่อดูแลคนใกล้ชิดที่ประสบปัญหาได้อย่างถูกวิธี

 

กรณีที่ตรวจพบความดันโลหิตต่ำโดยที่ไม่มีอาการ หรือไม่มีภาวะความเจ็บป่วยอื่น ๆ ร่วม สามารถให้การดูแลตนเองได้เบื้องต้น ดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงความเครียด
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนท่านั่งหรือยืนอย่างรวดเร็ว