ทำไม?.... คนอื่นมีความสุขมากกว่าเราเสมอ
คุณเคยเป็นหรือไม่?.... เวลาเข้าโซเซียลมีเดีย แล้วเห็นเพื่อนๆ ที่ติดตามเรา หรือเราติดตาม ดูแล้วทำไมชีวิตของพวกเขามีแต่ความสุขมากกว่าตัวเราเอง
KEY
POINTS
- ไม่มีใครบนโลกมีความสุข หรือไม่มีความสุขไปได้ตลอดหรอก เราเองก็เช่นกัน เลิกคิดว่าคนอื่นดีกว่าเรายังไง เพราะเขาก็คงเจอเรื่องที่ไม่ดีเช่นเดียวกัน
- ไม่ควรนิยามความสุขของเราโดยการเปรียบเทียบกับชีวิตของคนอื่น เพราะโลกนี้ไม่มีใครสมบูรณ์แบบดีทั้ง 100%
- หาความสมดุลระหว่างการเปรียบเทียบ แล้วเก็บมาทบทวนตัวเองเพื่อเป็นแรงผลักดัน พัฒนาตัวเองให้เป็นคุณในเวอร์ชั่นที่ดีกว่า
คุณเคยเป็นหรือไม่?.... เวลาเข้าโซเซียลมีเดีย แล้วเห็นเพื่อนๆ ที่ติดตามเรา หรือเราติดตาม ดูแล้วทำไมชีวิตของพวกเขามีแต่ความสุขมากกว่าตัวเราเอง ทั้งได้ไปท่องเที่ยวต่างประเทศ รับประทานอาหารอร่อยๆ อยู่ในความสัมพันธ์ที่ดี ใครๆ ก็รัก สนุกกับการใช้ชีวิตในแต่ละวัน จนหลายคนรู้สึกอยากมีความสุขแบบนั้นบ้าง
ทว่าในชีวิตจริงๆ ของคนนั้นมีความสุขอย่างที่แสดงออกหรือเปล่า? เราก็ไม่สามารถรู้ได้ รู้เพียงชีวิตของตัวเราเอง ที่มองว่าน่าเบื่อ เฉาๆ อยู่คนเดียว หรือไม่มีความสุขอยู่คนเดียว ทั้งที่คนเหล่านั้นอาจจะมีความรู้สึกแบบเราก็ได้ (เพียงแต่เราไม่รู้)
คนเรามักจะเปรียบเทียบชีวิตของตัวเองกับผู้อื่นเสมอ หลายครั้งที่เราเห็นคนอื่น แล้วมักถามตัวเองว่าทำไม เราไม่มีชีวิตดีๆ หรือได้รับอะไรแบบนั้นบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่คนเราจะเทียบตัวเองกับผู้อื่น เพราะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะบอกว่า ชีวิตเราเป็นอย่างไร แต่เราต่างรู้ดีว่า มันไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ ท้ายที่สุด จะลงเอยที่ว่าเราไม่มีความสุข และเราด้อยกว่าเสมอ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
รู้ทัน 5 'ต้นไม้ฟอกอากาศ' ยอดฮิต ซ่อนพิษร้าย อันตรายต่อเด็กและสัตว์เลี้ยง
'Gen Z-Millennial' เครียดน้อยลง แต่กังวลเรื่องค่าครองชีพ-สิ่งแวดล้อม
เปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น ไม่ได้ช่วยให้มีความสุข
เรามักเอาด้านที่แย่ที่สุดของเราเทียบกับด้านที่ดีที่สุดของคนอื่นที่เขาเลือกที่จะโพส ไม่มีใครอยากจะป่าวประกาศความแย่ของชีวิตตัวเองให้คนอื่นได้รู้ เนื่องจากการเทียบแบบนี้ มันไม่ได้ทำให้ใครได้อะไรขึ้นมาก หรือต่อให้เอาเรื่องที่แย่ที่สุดของเราและของเขามาเปรียบเทียบกัน ก็ไม่มีได้อะไรกับการเปรียบเทียบเลยสักนิด ไม่มีใครบนโลกมีความสุข หรือไม่มีความสุขไปได้ตลอดหรอก เราเองก็เช่นกัน เลิกคิดว่าคนอื่นดีกว่าเรายังไง เพราะเขาก็คงเจอเรื่องที่ไม่ดีเช่นเดียวกัน
ที่สำคัญเราไม่ควรนิยามความสุขของเราโดยการเปรียบเทียบกับชีวิตของคนอื่น เพราะโลกนี้ไม่มีใครสมบูรณ์แบบดีทั้ง 100% มีดีมีเลว มีสุขมีทุกข์ มีแพ้มีชนะ ปะปนกันไปเป็นสัจธรรมที่ทุกคนต้องเป็นไปตามธรรมชาติ
ถ้ายอมรับในความจริงนี้ได้ ชีวิตก็จะเบาสบายมีความสุขได้โดยง่าย แต่บางคนก็มีด้านมืดบอกใครไม่ได้ จึงพยายามสร้างจุดเด่นเพื่อกลบปมด้อย และเจ็บปวดทุกครั้งที่เห็นใครมีในสิ่งที่ตัวเองขาด หลายคนมักถามตัวเองซ้ำๆ ว่าทำไม? คนอื่นดูมีความสุขมากกว่าตัวเราเองเสมอ ชอบเปรียบเทียบและเสพติดการแข่งขัน
เลิกเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น
คนที่อิจฉาคนอื่น คนขี้แพ้มักมีนิสัยขี้อิจฉา เพื่อนรวยกว่า สวยกว่า หล่อกว่า จะรู้สึกไม่สบายใจ เกิดการเปรียบเทียบ นักจิตวิทยากล่าวว่า ความรู้สึกของการอิจฉา คือ การไม่สามารถรู้สึกถึงเนื้อหาในชีวิตของตัวเอง เป็นเพราะคนที่อิจฉามักต้องการมีสิ่งที่พวกเขาอิจฉา พวกเขาโกรธมากที่คนอื่นสามารถบรรลุสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตและได้รับสิ่งที่พวกเขาต้องการ
สรุปว่าคนขี้อิจฉา บางทีก็น่าสงสาร การปฏิเสธความคิดเห็นของคนอื่น ผู้แพ้มักจะคิดว่าตัวเองรู้หมดทุกเรื่อง แต่เขาจะตอบคำถามได้แบบเผิน ๆ โดยไม่รู้รายละเอียดจริง ๆ ผลทางด้านจิตวิทยาบอกไว้ว่า มีคนที่ไม่สามารถประเมินความรู้ความเข้าใจของตนเองได้ เขาจึงแสดงออกมาในลักษณะของการรู้รอบด้าน เพียงเพราะกลัวด้อยกว่าคนอื่น
ไม่รู้วิธีการสื่อสารกับคนอื่น มักจะไม่รู้วิธีสร้างสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัว บางคนอาจจะมีพฤติกรรมที่หยิ่งกับบุคคลในระดับสังคมที่ต่ำกว่า สิ่งที่ควรทำคือเรียนรู้ที่จะเข้ากับผู้อื่นให้มากขึ้น เพื่อขยายสังคมของเราให้กว้างขึ้น ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นหนึ่งในลักษณะนิสัยของคนขี้อิจฉาอย่างจริง เมื่อยังดูถูกตัวเอง ไม่คิดว่าตัวเองจะพัฒนาหรือไปได้ไกลกว่าเดิม ชีวิตของเราก็จะไม่มีวันไปถึงไหน สิ่งที่สำคัญคือ ไม่ว่าใครจะดูถูกเรา ยังไม่เท่าดูถูกตัวเอง
การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นไม่ได้ทำให้ตัวเราดีขึ้น หากได้เปรียบเทียบกับคนที่ประสบความสำเร็จแล้วก็จะรู้สึกสงสารตัวเอง นี่คืออารมณ์ที่อันตรายที่สุดของมนุษย์ที่จะชะลอการเจริญเติบโตลง ตำหนิคนอื่นเมื่อตัวเองทำผิดพลาด การที่ไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ นั่นไม่ได้แปลว่าเราไม่มีเส้นสายหรือไม่มีเงิน แต่เป็นเพราะตัวเองที่ไม่มีความพยายามมากพอในการสอบ คนที่ประสบความสำเร็จจะไม่มองหาใครสักคนเพื่อตำหนิ แต่จะพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก
ไม่มีใครมีความสุข หรือความทุกข์ตลอดเวลา
นิสัยของคนเราจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นจากการปลูกฝัง เหตุการณ์ที่เคยเจอ หรือแม้แต่สภาพแวดล้อม ซึ่งส่งผลให้คนเรามีนิสัยที่แตกต่างกัน แต่ตัวเราเองจะเป็นคนกำหนดว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความคิดและการกระทำของเราด้วย หากเล่นเกมแล้วแพ้สามารถย้อนกลับไปเริ่มต้นใหม่ได้ แต่ในชีวิตจริงไม่ได้เป็นอย่างในเกม ไม่สามารถกลับไปแก้ตัวได้อีก
นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ทุกคนเคยมีประสบการณ์สังคมร่วมกัน ที่เคยพบเจอคนที่ไม่ยอมรับความจริง ไม่ยอมรับความผิด แพ้ไม่เป็น ตัวเองถูกต้องเสมอในทุกเรื่อง ใคร ๆ ก็แตะต้องไม่ได้ ตอนนี้มาสำรวจกันว่า เราเข้าข่ายแพ้ไม่เป็นหรือไม่ เวลามีคนว่ากล่าวตักเตือนแล้วเราโกรธเขาหรือไม่ ถ้าเป็นเพียงความไม่สบายใจ รู้สึกผิดบ้างเป็นครั้งคราวนั้นถือว่าปกติ แต่ถ้ารู้สึกโกรธทุกครั้ง หงุดหงิดทุกครั้งเมื่อมีคนท้วงติง
“ต้องสังเกตตัวเองว่า เราโมโหทุกครั้งหรือเปล่า กับทุกคนไหม แต่ถ้าเป็นกับคนคนเดียวนั้นถือว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลไม่ชอบหน้ากันเป็นพิเศษกับคนคนนั้นก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นกับทุก ๆ คน ใครเตือนอะไรไม่ได้ โกรธ โมโห ขัดเคืองใจ มีความคิดในแง่ลบเสมอ ถ้าคุณเป็นอย่างนั้นก็ถือว่าเข้าข่ายที่เป็นคนแพ้ไม่ได้ ยอมรับความจริงไม่เป็น”
การยอมแพ้บ้างนั้นมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย เพราะทำให้เราได้ทบทวนปรับปรุงตัวเอง ได้เห็นข้อผิดพลาดและแก้ไขให้ดีขึ้น ชีวิตมีการพัฒนาในทางที่ดี เป็นการเปิดใจรับฟัง ไม่เป็นคนปิดกั้น และก็จะเป็นคนน่ารักน่าคบหาในสายตาคนอื่นอีกด้วย การรู้จักความพ่ายแพ้คือการอยู่กับความเป็นจริงของชีวิตว่าไม่มีใครได้เป็นที่หนึ่งตลอดเวลา ถ้าใช้ชีวิตอยู่กับความจริงก็จะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น
5 วิธีเปลี่ยนการเปรียบเทียบมาเป็นการพัฒนาตัวเอง !
1.สังเกตว่าเราอิจฉา “อะไร” เพื่อรู้ว่าเราให้ค่ากับอะไร
คนเราได้เจอผู้คนมากมายในชีวิตที่เก่งกว่าเรา ประสบความสำเร็จมากกว่าเรา ที่บางทีก็ทำให้เรารู้สึกเปรียบเทียบกับตัวเองและอิจฉาในความสำเร็จของคนอื่น แต่หากมองอีกด้านการเปรียบเทียบก็มีข้อดีเช่นกัน เพราะมันทำให้คุณรู้ว่าชีวิตคุณให้คุณค่ากับอะไรมากที่สุด คุณสามารถสังเกตความรู้สึกตัวเองได้ว่าถูกกระตุ้นจากคนอื่นตอนไหน หรืออะไรที่ทำให้คุณรู้สึกอิจฉาในความสำเร็จของคนอื่น โดยลองถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้ดู
- พวกเขามีอะไรที่ทำให้เรารู้สึกแย่?
- อะไรที่จะทำให้เรารู้สึกเติมเต็มขึ้นมาบ้าง?
- เราต้องการสิ่งที่พวกเขามีอยู่จริงหรือเปล่า?
- ถ้าใช่, สิ่งนั้นมีมูลค่าเท่าไหร่และมันคุ้มค่าไหมที่เราจะพยายามได้มันมา?
ยิ่งคุณตอบคำถามเหล่านี้กับตัวเองได้ชัดเจนเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งรู้จักตัวเองและเปลี่ยนความอิจฉาให้กลายเป็นนิสัยเชิงบวกได้ดีขึ้นมากเท่านั้น
2.อย่าให้ความอิจฉากลายเป็นความรู้สึกด้านลบ
ข้อแตกต่างระหว่างความอิจฉากับริษยาคือ ความอิจฉาทำให้เรารู้สึกไม่พอใจกับตัวเองที่คนอื่นดีกว่าเรา แต่ความริษยาคือการที่เราไม่อยากให้คนอื่นได้ดีไปกว่าเรา ซึ่งเป็นสองสิ่งที่ต่างกันมาก ยกตัวอย่าง หากเพื่อนเรามีบ้านหลังใหญ่ แล้วเรารู้สึกแย่ที่เพื่อนมีบ้านหลังใหญ่ที่เราไม่มี สิ่งนี้คือความริษยาที่จะทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเองและไม่มีความสุขกับความสำเร็จของคนอื่น
แต่ถ้าเรายอมรับได้แล้วยังยินดีในความสำเร็จของเพื่อน และหวังว่าวันหนึ่งเราก็คงจะมีบ้านหลังใหญ่เหมือนเพื่อน เราอาจรู้สึกอิจฉาเพื่อนแต่ไม่ได้ต้องการให้เพื่อนไม่มีความสุข สิ่งนี้จะกลายเป็นแรงผลักดันให้เรา เพราะฉะนั้นหากรู้สึกเกิดความอิจฉาขึ้นเมื่อไหร่ ให้ลองบอกตัวเองตามนี้ดู
- เราจะเรียนรู้จากความสำเร็จของเพื่อนและขอคำแนะนำจากเพื่อนให้มากขึ้น
- เรายังไม่ได้ลองทำในสิ่งที่พวกเขาทำ
- ทุกคนต่างมีหนทางสู่ความสำเร็จไม่เหมือนกัน เราเองก็เช่นกัน
- ถ้าคนที่เราชอบหยุดทำในสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ เราคงจะไม่ได้เห็นและชื่นชมความสำเร็จอันน่าทึ่งของพวกเขา
3.ลองเปรียบเทียบกับกลุ่มคนใหญ่ขึ้น เพื่อรู้สึกแย่น้อยลง
ในงานวิจัยหนึ่งที่ให้ผู้ทดลองทดสอบสมรรถภาพในการวิ่งของตัวเอง พบว่าคนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเปรียบเทียบตัวเองกับนักวิ่งที่ดีที่สุดที่นึกออก และจะคิดว่าตัวเองยังไม่เก่งพอ แต่เมื่อนักวิจัยให้ผู้ทดลองระบุรายชื่อนักวิ่งมา 10 อันดับที่พวกเขานึกออก ผลลัพธ์คือผู้ทดลองส่วนใหญ่รู้สึกดีมากขึ้นเมื่อพวกเขานึกถึงรายชื่อนักวิ่งอันดับ 7 หรือ 8 เพราะเมื่อได้เปรียบเทียบกับนักวิ่งในอันดับนี้ทำให้พวกเขารู้สึกใกล้ชิดและดูมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ได้อย่างนักวิ่งเหล่านี้
การเปรียบเทียบตัวเองกับกลุ่มที่กว้างขึ้นทำให้ช่องว่างของความเป็นไปได้ระหว่างพวกเขากับสิ่งที่คิดว่า “ดี” ลดน้อยลงไป เพราะฉะนั้นหากคุณเกิดความรู้สึกเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้วรู้สึกแย่เมื่อไหร่ ลองเปลี่ยนคำถามจาก “ทำไมเราถึงทำไม่ได้แบบเขา” เป็น “เราทำเต็มที่พอหรือยัง” และหากเรายังทำไม่ได้ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณค่าของเราจะลดลง เราแค่ต้องพยายามให้มากขึ้น อย่างน้อยก็ให้ใกล้เคียงกับกลุ่มคนที่เราคิดว่าดีในระยะที่เอื้อมถึงได้ก่อนก็เพียงพอแล้ว
4.เปรียบเทียบในสิ่งที่สำคัญ
หากคุณพบว่าเพื่อนของคุณได้เลื่อนขั้น แถมยังจะได้เป็นหัวหน้าคุมทีมกว่า 200 คนในองค์กรใหญ่ ความคิดแรกของคุณอาจคิดว่าเพื่อนประสบความสำเร็จมากกว่าคุณ และคุณอาจรู้สึกอิจฉาที่ตัวเองยังไม่สามารถทำได้เหมือนเพื่อน แต่ให้ลองถามตัวเองดูก่อนว่า “ความรู้สึกอิจฉาในตอนนี้หมายถึงการที่เราต้องเปลี่ยนอาชีพและแผนชีวิตของเราหรือเปล่า?” และ “เป้าหมายและความต้องการที่แท้จริงของเรายังคงเป็นสิ่งเดิมอยู่ไหม?”
เพราะความสำเร็จของคุณไม่จำเป็นต้องเหมือนของใคร ครั้งหน้าให้ลองถามตัวเองว่าคุณต้องการประสบความสำเร็จในแบบของตัวเองหรือแบบของคนอื่นด้วยคำถามเหล่านี้ดู
- เราอยากใช้ชีวิตแบบไหน?
- มีความต้องการที่เฉพาะอะไรบ้างที่เราต้องพิชิตให้ได้?
- อะไรบ้างที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้นในชีวิต?
- ประสบการณ์อะไรที่น่าจะทำให้คนอื่นหรือเพื่อนเราประสบความสำเร็จ?
- ความรู้สึกเปรียบเทียบนี้มาจากอะไร? จินตนาการของเรา หรือความคาดหวังของคนอื่นที่อยากให้เราเป็นในเวอร์ชั่นที่ดีกว่า?
- เราต้องการละทิ้งสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้เพื่อเป็นให้ได้อย่างคนอื่นๆ หรือเปล่า?
5.เปรียบเทียบตัวเองในอดีตกับปัจจุบัน
คำแนะนำที่ดีที่สุดในการเปรียบเทียบคือ การเปรียบเทียบตัวเองในอดีตกับปัจจุบัน เพราะมันเป็นการเปรียบเทียบที่ปราศจากความอิจฉาใดๆ แต่เป็นการเปรียบเทียบตัวเองเพื่อทบทวนความสำเร็จของเราเอง และเพื่อพัฒนาทักษะให้เก่งมากขึ้นกว่าเดิม หากเราทำได้ดีขึ้นเก่งขึ้น เราจะยิ่งภูิมใจในตัวเองมากขึ้น ลองถามตัวเองเพื่อทบทวนความสำเร็จของตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้ดู
- เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากความสำเร็จในครั้งนั้น?
- อะไรที่ยากและท้าทายที่สุดฦ และเราผ่านสิ่งนั้นมาได้อย่างไร?
- เราพัฒนาและเก่งขึ้นกว่าเดิมมากแค่ไหน?
การเปรียบเทียบกับคนอื่นดูเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเทคนิคเหล่านี้ก็อาจจะช่วยคุณได้แค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ใต้ภูเขาน้ำแข็งนี้ลงไปยังมีอีกหลายสถานการณ์ที่คุณต้องเผชิญกับการเปรียบเทียบ
สิ่งที่คุณทำได้คือการหาสมดุลระหว่างการเปรียบเทียบนั้น อาจเป็นคนที่เก่งกว่าคุณและคนที่เก่งน้อยกว่าคุณ เก็บมันมาทบทวนตัวเองเพื่อเป็นแรงผลักดัน พัฒนาตัวเองให้เป็นคุณในเวอร์ชั่นที่ดีกว่า
อ้างอิง:tuxsablog ,LearnOLife ,กรมสุขภาพจิต