เรื่องวุ่นๆ ของวัยรุ่น 30+ ดูแลสุขภาพอย่างไรให้ไกลโรค

เรื่องวุ่นๆ ของวัยรุ่น 30+ ดูแลสุขภาพอย่างไรให้ไกลโรค

เมื่อเราเข้าวัยเลข 3 โรคภัยจะเริ่มถามหา ร่างกายจะเสื่อมถอยไปตามอายุ การดูแลตัวเองจึงไม่ใช่แค่การรอให้อยู่ในวัยสูงอายุเท่านั้น แต่ต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) จำเป็นต้องดูแลและตรวจเช็กสุขภาพให้ดีก่อนที่จะสาย

KEY

POINTS

เมื่อเราเข้าวัยเลข 3 โรคภัยจะเริ่มถามหา ร่างกายจะเสื่อมถอยไปตามอายุ โดยเฉพาะ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) จำเป็นต้องดูแลและตรวจเช็กสุขภาพให้ดีก่อนที่จะสาย

วัย 30+ ร่างกายเสื่อมจากการใช้ร่างกายหนัก ผิวหนังเริ่มมีความแห้งกร้าน ไม่สดใส เมื่อนอนน้อยใบหน้าเริ่มมีริ้วรอย รูขุมขนกว้าง ระบบเผาผลาญไม่ดี เหนื่อยง่าย ฮอร์โมนเปลี่ยน 

การตรวจคัดกรองแต่เนิ่น ๆ เมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป ถือเป็นการป้องกันก่อนเกิดโรค และช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเมื่ออายุมากขึ้น

เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะเสื่อมถอยไปตามอายุ การดูแลตัวเองจึงไม่ใช่แค่การรอให้อยู่ในวัยสูงอายุเท่านั้น แต่ต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อเราเข้าวัยเลข 3 โรคภัยจะเริ่มถามหา ที่น่าห่วง คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน ฯลฯ ดังนั้น จำเป็นต้องดูแลและตรวจเช็กสุขภาพให้ดีก่อนที่จะสาย

 

ข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบายว่า โดยปกติเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย มักเริ่มเสื่อมในช่วงอายุ 30 ปี เป็นต้นไป แต่อาการเสื่อมเริ่มสะสมได้ตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่นและวัยทำงาน จากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

 

วัย 30+ ร่างกายเสื่อมจากการใช้ร่างกายหนัก

การเสื่อมของร่างกายมักเกิดจากการใช้ร่างกายอย่างหนักหรือหักโหมจนเกินไป รวมถึงการสะสมความเครียดเอาไว้ ส่งผล ดังนี้

1.) ผิวหนังเริ่มมีความแห้งกร้าน ไม่สดใส เมื่อนอนน้อย

2.) ใบหน้าเริ่มมีริ้วรอย รูขุมขนกว้างและเริ่มหย่อนคล้อย เพราะการทำงานของอิลาสตินใต้ชั้นผิวเสื่อมสภาพ

3.) ระบบการเผาผลาญอาหารเริ่มทำงานได้ไม่ดี อ้วนง่าย ควบคุมน้ำหนักได้ยากขึ้น ควรเริ่มระวังอาหารประเภทที่มีแคลอรี่สูง ไขมันสูง และอาหารหวาน

4.) ระดับฮอร์โมนในร่างกายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง

5.) รู้สึกเหนื่อยง่าย เพลียง่ายหากใช้ร่างกายหนัก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

วัย 40+ มีโอกาสสะสมความเครียด

วัยกลางคนที่มีประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตมาพอสมควร ทั้งการทำงานหนัก การสร้างฐานะครอบครัว การเริ่มต้นเลี้ยงดูลูกหลาน จึงมีโอกาสสะสมความเครียดได้มาก หากไม่ดูแลชีวิตให้มีความสมดุล

1.) มีอาการตาแห้ง สายตายาว

2.) ผิวพรรณแห้งกร้าน

3.) ผู้หญิงช่วงปลายของวัยนี้เริ่มเข้าสู่ภาวะวัยทอง อาจมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ประจำเดือนเริ่มผิดปกติ ประจำเดือนมาน้อยลง อารมณ์แปรปรวนง่าย วิตกกังวลและซึมเศร้าง่าย

4.) ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานน้อยลง บางคนจึงน้ำหนักขึ้น อ้วนง่าย โดยเฉพาะหากไม่ออกกำลังกาย

5.) ผู้ชายช่วงปลายของวัยนี้บางคนเริ่มมีความสนใจทางเพศลดลง ความต้องการมีความถี่น้อยลง เพราะระดับฮอร์โมนในร่างกายลดลง

6.) นอนหลับไม่สนิท นอนหลับยาก กระสับกระส่ายเวลานอน หลับไม่สบาย

 

วัย 50+ วัยทองกำลังมา

เริ่มเข้าสู่ “วัยทอง” รวมทั้งร่างกายเริ่มขาดความกระฉับกระเฉงหรือเคลื่อนไหวได้ช้าลง

1.) สายตาเริ่มลดความคมชัดลง มีอาการพร่ามัว

2.) เริ่มนอนไม่หลับ หลับไม่สนิท

3.) สมรรถภาพทางเพศลดลง

4.) การทำงานของเหงือกและฟันเริ่มมีปัญหา มีปัญหาเรื่องการเสียวฟันและปัญหารากฟัน

5.) มีปัญหาเรื่องการกลืนหรือสำลัก ดื่มน้ำหรือของเหลวก็ทำได้ยากลำบากเพราะการเคลื่อนตัวของหลอดอาหารลดลง มีกรดไหลย้อนง่ายขึ้น กินรสจัดได้น้อยลง รู้สึกแสบท้องได้ง่าย

6.) ลิ้นรับรสแย่ลงหรือผิดเพี้ยนไป

7.) กระดูกสันหลังมีปัญหา เคลื่อนไหวได้ช้าลง

8.) มีปัญหาเรื่องการขับถ่าย มีอาการปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะลำบาก

9.) ผิวพรรณเริ่มมีริ้วรอยเหี่ยวย่นและหย่อนคล้อยแบบเห็นได้ชัด

10.) ตรวจสุขภาพเริ่มพบปัญหาไขมันหรือน้ำตาลในเลือดสูง เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ เบาหวาน ความจำเสื่อม ซึ่งภาวะเหล่านี้ป้องกันได้

11.) มีอาการข้อเข้าเสื่อมที่ชัดเจนขึ้น มีอาการเจ็บหรือปวดเมื่อต้องเดิน ยืน หรือนั่งเป็นเวลานานๆ

12.) เข้าสู่ภาวะวัยทอง มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจ

13.) เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินเพราะการทำงานของหูเริ่มเสื่อมสภาพ

14.) ผู้หญิงจะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านฮอร์โมนเร็วกว่าผู้ชาย โดยเริ่มมีประจำเดือนผิดปกติ ประจำเดือนขาด และเข้าสู่ช่วงหมดประจำเดือน (วัยทอง) บางคนมีอาการร้อนวูบวาย เหงื่อซึม อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้าหรือหดหู่ง่าย

15.) ผู้ชายมีปัญหาเรื่องต่อมลูกหมากโต มีอาการปัสสาวะติดขัด

 

วัย 60-70+ วัยทอง สมองเสื่อม หูตึง

เริ่มเข้าสู่วัยผู้สูงอายุหลังเกษียณ มีความเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายและใจที่ชัดเจน

1.) เริ่มมีความเสื่อมของสมอง ขี้ลืมมากขึ้น บางคนประสบภาวะอัลไซเมอร์

2.) มีอาการหูตึง มีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินเพราะการทำงานของหูเสื่อมสภาพ

3.) ปุ่มเล็กๆ ในลำไส้เล็กที่ทำหน้าที่ดูดซึมสารอาหาร จะทำงานได้น้อยลง

4.) ระบบขับถ่ายทำงานยากขึ้น อาจเกิดการท้องผูกได้ง่าย ดังนั้นควรกินอาหารอ่อน ย่อยง่ายและมีกากใยไฟเบอร์

5.) ระดับฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกายลดลง ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึก บางคนฉุนเฉียวโกรธง่าย บางคนอาจเกิดความน้อยใจง่าย

6.) ควบคุมการขับถ่ายลำบาก กลั้นปัสสาวะลำบาก เพราะการเสื่อมของกล้ามเนื้อหูรูด

7.) มีโรคประจำตัวทั้งจากทางพันธุกรรมและพฤติกรรมที่ทำสะสม เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคนิ่ว โรคต่อมลูกหมากอักเสบ ฯลฯ

8.) ระยะการนอนหลับสั้นลง ทำให้ตื่นเร็ว

9.) กระดูกมีการเสื่อม มีภาวะกระดูกพรุน ทำให้หกล้มง่าย

10.) กล้ามเนื้อเกิดการบาดเจ็บได้ง่ายขึ้น

 

5 โรคยอดฮิต ที่เข้าใจผิดในวัย 30+

รพ.รามาธิบดี เผยข้อมูล "อายุ 30 ปี ขึ้นไป เสี่ยงโรคจริงหรือ ?" รวม 5 ความเชื่อที่คนมักเข้าใจผิด ดังนี้ 

 

  • ความเชื่อที่ 1 อายุย่างเข้าเลข 3 เสี่ยงโรคเนื้องอกในรังไข่

ความเชื่อนี้ไม่จริง โรคเนื้องอกในรังไข่เป็นโรคที่มีความเสี่ยงตามอายุที่มากขึ้น แต่ไม่ใช่โรคที่จะเป็นเมื่ออายุ 30+ หากคนในครอบครัวมีประวัติโรคนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น ฉะนั้น ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปจึงควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคเนื้องอกในรังไข่ รวมถึงโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ

 

  • ความเชื่อที่ 2 อายุย่างเข้าเลข 3 เสี่ยงโรคไมเกรน

ความเชื่อนี้ไม่จริง โรคไมเกรนพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่ส่วนมากมักพบในคนวัยทำงานอายุ 30-39 ปี และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากวัยทำงานเป็นวัยที่เจอสิ่งกระตุ้นหลายอย่าง ทั้งความเครียด การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ นอนไม่หลับ หรืออากาศร้อน

 

  • ความเชื่อที่ 3 อายุย่างเข้าเลข 3 เสี่ยงโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

ความเชื่อนี้ไม่จริง โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีท่อปัสสาวะสั้นจึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่า แม้ว่าปัจจุบันจะมีจำนวนผู้ป่วยโรคนี้มากขึ้น แต่โรคนี้สามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย ยิ่งหากมีพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างการดื่มน้ำน้อย หรือกลั้นปัสสาวะด้วยแล้ว โอกาสในการเป็นโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะยิ่งมีมากขึ้น

 

  • ความเชื่อที่ 4 อายุย่างเข้าเลข 3 เสี่ยงโรคกรดไหลย้อน

ความเชื่อนี้ไม่จริง โรคกรดไหลย้อนเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา รับประทานอาหารรสจัด รับประทานอาหารแล้วเข้านอนเลย หรือมีความเครียด ไม่ได้เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่ออายุ 30+

 

  • ความเชื่อที่ 5 อายุย่างเข้าเลข 3 เสี่ยงโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

ความเชื่อนี้ไม่จริง โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนเกิดจากการยกของหนักผิดท่า ทำให้เกิดเกิดแรงกระทําต่อกระดูกสันหลัง หากกระดูกสันหลังมีความเสื่อมอยู่แล้วจะส่งผลให้หมอนรองกระดูกปลิ้นแตก แล้วกดทับเส้นประสาทได้

 

ชะลอความเสี่ยงโรค

การตรวจคัดกรองแต่เนิ่น ๆ เมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป ถือเป็นการป้องกันก่อนเกิดโรค และช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเมื่ออายุมากขึ้น เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต หลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคไตเรื้อรัง

 

ปัจจุบัน พบว่า คนไทยจำนวนมากป่วยเป็นโรคเรื้อรัง โดยใน 100 คน จะพบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 25 คน โรคเบาหวาน 9 คน นอกจากนี้ยังมีคนจำนวนมากเป็นโรคไขมันในเลือดสูงที่นํามาสู่โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไตเรื้อรัง ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญของระบบสาธารณสุขในบ้านเรา

 

ป้องกันโรคอย่างไร ในวัย 30+

แม้ว่าเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคได้มากขึ้น แต่การใส่ใจดูแลสุขภาพด้วยหลักการพื้นฐานทั่วไปจะช่วยให้เรามีร่างกายแข็งแรง และห่างไกลโรคได้ ดังนี้

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • เลือกรับประทานทานอาหารที่มีประโยชน์
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

 

อ้างอิง : สสส.  , RAMA Channel