ข้ออ้างสร้าง “ความเจ็บปวด” | วรากรณ์ สามโกเศศ
ถ้าท่านเคยเจ็บปวด เพราะถูกกระทำไม่ว่าด้วยคำพูดห รือการกระทำจากคนอื่น และหวังว่าวันหนึ่งเขาจะสำนึกผิดเเละเเก้ไขนั้น นักจิตวิทยาบอกว่าจงทำใจเสีย เพราะมันเกิดขึ้นได้ยากเพราะผู้กระทำมักอยู่ในห้วงความคิดที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้
การเข้าใจสิ่งเหล่านี้จะทำให้เรามีความสุขมากขึ้นจากการเข้าใจชีวิต อีกทั้งอาจรู้สึกต้องการเเก้ไขตนเองด้วยหากเราเป็นผู้กระทำเสียเอง
ข้อหนึ่ง โลกมันเป็นอย่างนี้แหละ วิธีคิดแบบนี้คือที่ฝรั่งเรียกว่าโลก dog-eat-dog (โลกแห่งการต่อสู้ฆ่าฟันกัน) “ฉันต้องทำร้ายเธอเพราะโลกมันบังคับให้ทำเพื่อความอยู่รอด” การโทษคนอื่นว่าใคร ๆ เขาก็ทำกันเช่นนี้เป็นข้ออ้างกับตนเองที่ง่ายที่สุด
ข้อสอง ขนาดคน ๆ นี้เขายังทำเลย คิดโดยอ้างคนสำคัญว่าขนาดนั้นเขายังทำสิ่งเลวร้ายนี้เลยดังนั้นตัวฉันเองจึงทำได้ ขนาดองคุลิมาลผู้เป็นอรหันต์ยังเคยฆ่าคนเป็นร้อย ๆ มาแล้ว นักการเมืองยอดนิยม (ของคนบางกลุ่ม) ก็เป็นจอมคอร์รัปชัน ดังนั้น ฉันก็ทำได้ การอ้างในใจเพื่อสร้างความชอบธรรมเป็นวิธีคิดที่มนุษย์ชอบมาก
ข้อสาม เป้าหมายสำคัญกว่าวิธีการ นี่เป็นคำชอบอ้างของคนที่คิดว่าตนเองเหนือกว่า คนอื่น รู้ดีกว่าคนอื่น และอาจมีคนเหนือโลกช่วยเหลืออยู่ให้ทำความชั่วร้ายต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อกำจัดสิ่งเลวร้ายเพื่อบรรลุสิ่งที่ดีกว่า ฮิตเลอร์ก็คิดอย่างนี้ เช่นเดียวกับการถูกไล่ออกจากบริษัทอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อรักษาบริษัทไว้ตามคำอ้าง
ข้อสี่ สิ่งแวดล้อมมันเลวร้าย ที่ทำงานเต็มไปด้วยวัฒนธรรม “แทงกันข้างหลัง” และเคร่งเครียด ฉันจึงต้องทำร้ายเธอ สิ่งแวดล้อมที่ชั่วร้ายเช่นนี้เป็นใคร ๆ ก็ต้องทำทั้งนั้น อย่าโกรธฉันเลยที่ฉันโกงและฉ้อฉลก็เพราะสิ่งแวดล้อมมันบังคับให้เป็นเช่นนั้น
ข้อห้า สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต การเติบโตตอนเด็กที่ไม่สมบูณ์ ประสบการณ์เลวร้ายที่ประสบมาหรือความสัมพันธ์ในอดีตอันเลวร้ายที่พบมา ทั้งหมดสร้างความชอกช้ำ ทำให้ผมทำร้ายคุณ มันช่วยไม่ได้จริง ๆ เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนเป็นทาสของอดีตทั้งนั้น ข้ออ้างเช่นนี้ลืมนึกไปว่าคนอื่น ๆ ที่มีประสบการณ์ที่เลวร้ายเหมือนกัน เขาก็ไม่ได้ทำร้ายคนอื่นเยี่ยงคุณ
ข้อหก ตั้งใจดีแต่เป็นผลร้าย การอ้างว่าตั้งใจดีแต่แรก มิได้มุ่งทำร้ายเพียงแต่เหตุการณ์มันเป็นไปจึงช่วยไม่ได้ การคิดเช่นนี้เน้นแต่ตอนแรกโดยไม่มองผลตอนจบ
ตัวอย่างเช่นพกอาวุธไปในงานเลี้ยง เมื่อเมาแล้วทำร้ายผู้อื่น เมื่อถูกจับก็มองแต่ตอนพกอาวุธเพื่อป้องกันตนเองและเพื่อนโดยไม่ได้ดูผลที่ตามมา
ข้อเจ็ด อ่อนไหวเกินไปไหม ฉันอาจพูดอะไรที่ไม่ถูกใจคุณ แต่ก็ไม่ควรโกรธแค้นมากมายเพราะคุณอ่อนไหวเกินไป สำหรับคนพวกนี้ความผิดทั้งหมดตกอยู่ที่คนอื่นมิใช่ตนเองเสมอ ยิงปืนขึ้นฟ้าและกระสุนตกลงมาทะลุศีรษะคนอื่นก็เป็นความโชคร้ายของคนตาย หากคนตายมิได้ยืนอยู่ตรงนั้นหรืออยู่ในบ้านมีหลังคาก็ไม่ตาย
ข้อแปด คุณบังคับให้ผมทำ ข้ออ้างนี้อยู่ในวิธีคิดที่ว่า “หากมีอะไรเกิดขึ้นก็จงโทษคนอื่นไว้ก่อน” อย่างน่าเกลียด เขาโน้มน้าวใจตนเองให้เชื่อว่าคุณเป็นคนเลวร้ายจนต้องทดแทนด้วยความเลวร้ายเช่นกัน
อีกกรณีหนึ่งก็คือการคิดหรือพูดอย่างเกินความจริงให้คนอื่นฟังว่า คุณเป็นคนไม่ดีอย่างไร เพื่อลดความรู้สึกผิดหรือเพื่อทำให้เขาดูต้องรับความรับผิดชอบน้อยลง
ข้อเก้า เราเข้ากันไม่ได้เลย การโทษการกระทำที่ไม่ดีของตนเองว่าเป็นผลจากการเข้ากันไม่ได้กับคนอื่นโดยเฉพาะคู่รักนั้น คล้ายกับการไปทำงานอย่างล่อนจ้อนโดยอ้างว่าเพราะเสื้อผ้ามันคับ
มันเป็นไปได้ที่เข้ากันไม่ได้แต่ก็ไม่จำเป็นต้องทำร้ายกันด้วยคำพูดที่เจ็บปวดหรือการทุบตี มนุษย์มีทางเลือกเสมอ การเลิกกัน หรือหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงเป็นวิธีหนึ่งที่คนมีวัฒนธรรมเขาทำกัน
ข้อสิบ มันมิได้เกิดขึ้น บางคนอ้างว่าจำอะไรไม่ได้เลยกับสิ่งเลวร้ายที่กระทำไปเพราะจำไม่ได้มันเบลอ เราเถียงกันอย่างหนักมีทุบตีกันจริงแต่จำอะไรไม่ได้ รู้ตัวอีกทีก็ตอนตำรวจมาที่บ้าน
ข้ออ้างเช่นนี้เป็นไปได้ทางจิตวิทยา และถูกอ้างอยู่บ่อย ๆ ของผู้กระทำผิดเเต่ก็ไม่ทำให้ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจริงนั้นหายไป
ทั้ง 10 ข้ออ้างในใจร่วมกันชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ผู้กระทำผิดพยายามทำให้ตัวเองรู้สึกผิดน้อยลงโดยการใช้เหตุใช้ผลอย่างเข้าข้างตนเองเสมอ
ดังนั้น การคาดหวังว่าวันหนึ่งเขาจะสำนึกในความผิดจากการใช้คำพูดด่าว่าหยาบคาย พูดใส่ร้ายลับหลัง คดโกง หักหลัง กระทำอย่างไม่เป็นธรรม ทุบตี ละเมิดทางเพศ ฯลฯ และแก้ไขนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก
การได้รับคำขอโทษจากใจจริงนั้นยิ่งเป็นสิ่งที่ยากจนไม่สมควรแก่การรอคอย
หากคนเหล่านี้จะกระทำสิ่งที่ยากนี้ได้ก็ต้องเป็นคนมีวุฒิภาวะ มีความมั่นใจในตนเอง เป็นคนเห็นความสำคัญของตนเอง และตระหนักได้ด้วยตนเองจนถึงกับยอมรับว่าสิ่งที่ทำไปนั้นมันผิด สมควรแก่การขอโทษและแก้ไข
แต่หากเป็นคนที่ไม่มั่นใจในคุณค่าของตนเองแล้ว การยอมรับว่ากระทำผิดทำให้เขาสูญเสียภาพลักษณ์ของตนเองและความเป็นตัวตนของเขาลงดังนั้น การสำนึกผิดจึงยากที่จะเกิดขึ้น
เมื่อไม่สามารถคาดหวังกับการสำนึกผิดจากเขาได้เเล้ว สิ่งที่จะทำให้เราสบายใจและมีความสุข และก้าวเดินต่อไปก็คือการยกโทษ (forgiveness) ให้เขา การยกโทษมิได้หมายความถึงการกลับไปมีความสัมพันธ์กันเช่นเดิม (reconciliation)
การยกโทษหมายถึงการปลดปล่อยความคับแค้นไม่พอใจ (resentment) ซึ่งจะทำให้จิตใจของเราสบายขึ้น ในสถานการณ์ที่ยากจะเห็นคนทำผิดยอมรับความผิดเช่นนี้ การกระทำของตนเองซึ่งไม่ต้องขึ้นอยู่กับการกระทำของคนอื่น น่าจะฉลาดกว่า
การยกโทษให้เป็นสิ่งที่อยู่ในใจโดยไม่ต้องแสดงออกด้วยการบอกกล่าวใครแม้แต่ผู้กระทำผิด มันเป็นเรื่องภายในจิตใจของเราเองที่การปลดปล่อยทำให้ความรู้สึกที่กดดันอยู่นั้นหายไป
การเข้าใจ 10 ข้ออ้างนี้อาจทำให้ตัวเราเองซึ่งได้ทำร้ายผู้อื่นอย่างตั้งใจและไม่ตั้งใจด้วยคำพูดและการกระทำเกิดความตระหนักและสำนึกผิดก็เป็นได้ และถ้าทุกคนอยู่ในกรอบของความคิดนี้ สังคมของเราคงจะมีความสุขขึ้นอีกมาก
10 วิธีคิดหรือข้ออ้างเหล่านี้สามารถช่วยสร้างสังคมสันติสุขได้ มันมิได้มาจากพล็อตละครโทรทัศน์ หากอยู่ในข้อเขียนของ Dr.Bruce Y. Lee ชื่อ “10 Ways People Justify Doing Bad Things” ในวารสาร Psychology Today, June 21, 2024.