มหกรรมสมุนไพรไทย 5วัน ต่อยอดเชิงพาณิชย์เงินสะพัด100ล้าน

มหกรรมสมุนไพรไทย 5วัน ต่อยอดเชิงพาณิชย์เงินสะพัด100ล้าน

ปิดฉากมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 21 Thailand Herbal Expo 2024 ภายใต้รูปแบบการจัดงาน “นวดไทย สปาไทย สมุนไพรไทยสู่เวทีโลก” ระหว่างวันที่ 3-7 ก.ค.2567 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีคนเข้าร่วมงาน 270,000 คน เงินสะพัดในงานกว่า 100 ล้านบาท 

KEY

POINTS

  • อภ.มีPlant based ตัวแรกกำลังจะส่งออกไปต่างประเทศ คือ NMN จะเป็นสารตั้งต้นที่จะทำให้เป็น NAD+ ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของวิตามินบี 3 สามารถผลิต Plant based ที่เป็นสารสกัดจากอโวคาโดขนาด 250 มิลลิกรัมเพื่อส่งออกไปให้กับลูกค้าต่างประเทศที่อนุญาตให้ได้ถึง 250 มิลลิกรัม
  • การต่อยอดตำรับสมุนไพรไทย “เบญจเกสร” ดอกไม้ 5 ชนิด ตามตำรับแพทย์แผนไทยให้เป็นเชิงพาณิชย์ ให้เป็น “ชาเบญจเกสร” ใช้ดอกไม้เป็นตัวชูโรงและมีขิง หญ้าหวานเสริมรสชาติดื่มง่ายขึ้น และยาดมสมุนไพร 
  • การนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ เป็นการนวดเพื่อมุ่งเน้นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อสามารถกระตุ้นระบบต่างๆของร่างกาย ให้กระปรี้กระเปร่า นอนหลับสบาย นอกจากนี้ การนวดไทยยังถูกนำไปใช้ร่วมกับการดูแลนักกีฬา

ปิดฉากมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 21 Thailand Herbal Expo 2024 ภายใต้รูปแบบการจัดงาน “นวดไทย สปาไทย สมุนไพรไทยสู่เวทีโลก” ระหว่างวันที่ 3-7 ก.ค.2567 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีคนเข้าร่วมงาน 270,000 คน เงินสะพัดในงานกว่า 100 ล้านบาท 

ปลุกกระแสคนไทยตื่นตัว เห็นคุณค่าความสำคัญของภูมิปัญญาและการแพทย์แผนไทย ใช้สมุนไพรไทยเป็นทางหนึ่งในการบำบัดรักษาและการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ตอบโจทย์กระแสเทรนด์รักสุขภาพ ทั่วโลกต้องการ เน้นผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากธรรมชาติและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยครั้งที่ 22 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 ก.ค.2568 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ไทยเบอร์ 1 อาเซียน ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีมูลค่าสูง แจกฟรี! ต้นพันธุ์สมุนไพร

ทำไม“ยาดมโป๊ยเซียน”ถึงครองใจผู้ใข้ได้ถึง 88 ปี

“ตลาดไท”ตลาดกลางสมุนไพร

ทั้งนี้ ภายในงานมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ตลาดกลางสมุนไพรไทย” ระหว่าง กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กับ บริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด (ตลาดไท) ขยายพื้นที่ค้าขายเป็น 7,000 ตารางเมตร เพิ่มกลุ่มผู้ขายรายใหม่ เพิ่มความหลากหลายของสินค้า ขยายตลาดกลุ่มผู้ซื้อ คาดว่าจะเพิ่มปริมาณสินค้าได้มากกว่า 96,000 ตันต่อปี ผลักดันให้มีมูลค่าสมุนไพรในตลาดกลาง มากกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี  เป็นการสนับสนุนส่งเสริม และต่อยอดสินค้าสมุนไพรไปสู่ทั่วโลกได้ คาดว่าตลาดสมุนไพรไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านบาท

“มะระขี้นก”โกอินเตอร์ 

เป็น 1 ในสมุนไพร Herbal Champions  รายการ ตามแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (2566-2570) มีตลาดทั่วโลกมูลค่ารวมกว่า 28,000 ล้านบาท กำลังมีแนวโน้มของตลาดกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลเชิงลึกที่สำรวจประเทศเม็กซิโกเป็นประเทศที่มีการส่งออกมะระสูงสุดในโลกมีมูลค่า 17,000 ล้านบาท ขณะที่ประเทศไทยส่งออกมะระขี้นกเพียง 18 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสของมะระขี้นกในตลาดโลกสามารถจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต

การศึกษาวิจัยหลายฉบับบ่งชี้ว่ามะระขี้นกมีสารสำคัญที่ชื่อว่า ชาแรนติน (Charantin) ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เทรนด์การรักสุขภาพของผู้บริโภคทั่วโลกที่หันมาสนใจผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและสมุนไพรมากขึ้น จึงทำให้มะระขี้นก เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้รักสุขภาพในหลายประเทศทั่วโลก 

ประเทศไทยจึงมีการพัฒนาสายพันธุ์สาเกต 101 ของมะระขี้นกขึ้นใหม่ เพื่อให้ได้สารสำคัญในปริมาณที่มากขึ้น เพียงพอต่อการแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งมีการนำร่องให้เกษตรกรจังหวัดมหาสารคามนำไปขยายพันธุ์ปลูกและเกิดการซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจำนวนมูลค่า 250 ล้านบาท เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

มหกรรมสมุนไพรไทย 5วัน ต่อยอดเชิงพาณิชย์เงินสะพัด100ล้าน

พัฒนาสายพันธุ์มะระขี้นก

"ดร.ภญ.มณฑกา ธีรชัยสกุล" ผู้อํานวยการกองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ กล่าวว่าปัจจุบันมีการทำโมเดล การเกษตรต้นน้ำมูลค่าสูงของมะระขี้นก เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน โดยเป็น การพัฒนาสายพันธุ์มะระขี้นก เพื่อให้ได้สารสำคัญคือ Charantin ในปริมาณที่สูงขึ้น

ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าสายพันธุ์ใหม่ ที่พัฒนาทำให้มะระขี้นกใหญ่ขึ้น และสามารถให้สาร Charantin มากกว่าเดิมประมาณ 2 เท่า ซึ่งส่งผลให้ราคามะระขี้นก เพิ่มสูงขึ้น จากเดิมกิโลกรัมละ 30 บาท เป็นกิโลกรัมละ 50 บาท เป็นการยกระดับรายได้ของคนในจังหวัด สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก 

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการแปรรูปมะระขี้นกด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ให้เป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ ที่มีมูลค่า ทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อาทิ มะระขี้นกแบบน้ำสกัดเข้มข้น ซุปมะระขี้นกแบบผง มะระขี้นกดองกิมจิ 3 รส เป็นต้น เป็นการผลักดันให้เกิดเกษตรมูลค่าสูง ส่งออกผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ ที่มีมูลค่าสูงต่อยอดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของสมุนไพรไทย

มหกรรมสมุนไพรไทย 5วัน ต่อยอดเชิงพาณิชย์เงินสะพัด100ล้าน

ต่อยอดเชิงพาณิชย์“เบญจเกสร”

การต่อยอดตำรับสมุนไพรไทย “เบญจเกสร” ดอกไม้ 5 ชนิด ตามตำรับแพทย์แผนไทยให้เป็นเชิงพาณิชย์ ให้เป็น “ชาเบญจเกสร” ใช้ดอกไม้เป็นตัวชูโรงและมีขิง หญ้าหวานเสริมรสชาติดื่มง่ายขึ้น และยาดมสมุนไพร เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถสร้ารายได้ให้กับชุมชนได้เช่นกัน เพราะ ดอกไม้รสเย็น ทางการแพทย์แผนไทย จะใช้บำรุงหัวใจ และช่วยผ่อนคลาย ประกอบไปด้วย ดอกบัวหลวง ดอกสารภี ดอกพิกุล ดอกบุนนาค และดอกมะลิ ดอกไม้และเกสรดอกไม้ 5 ชนิดนี้เป็นกลุ่มที่เรียกว่ารสเย็น จึงนำใช้แปรรูปเป็นชาดอกไม้ เรียกว่า “ชาเบญจเกสร” ใช้ดอกไม้เป็นตัวชูโรงและมีขิง หญ้าหวานเสริมรสชาติดื่มง่ายขึ้น 

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากดอกไม้ไทย เป็นแนวคิดให้ผู้ประกอบการนำไปต่อยอดในผลิตภัณฑ์สุขภาพในอนาคต โดยผลิตจากสารสกัดจากดอกไม้นานาชนิด และผลิตภัณฑ์ทั้งหมดคิดค้นมาเพื่อให้ตอบโจทย์การดูแลสุขภาพแบบ wellness

นอกเหนือจากเครื่องดื่มเบญจเกสรสามารถต่อยอดเป็นยาดมสมุนไพรซึ่งใช้ตัวดอกไม้ผสมกับการบูร พิมเสน เมนทอล สารสกัดดอกไม้นานาพันธุ์มาผสมผสานให้เป็นยาดมสูตรพิเศษ “ยาดมเบญจชื่นจิต” เน้นดอกไม้เป็นตัวหลักและสมุนไพรอื่นๆ มาประกอบ เช่น เปลือกส้มโอ น้ำมันหอมระเหยจากดอกไม้ ทำให้ผ่อนคลายลดอาการวิงเวียน

มหกรรมสมุนไพรไทย 5วัน ต่อยอดเชิงพาณิชย์เงินสะพัด100ล้าน

สมุนไพรจังหวัดสร้างเศรษฐกิจชุมชน

การพิจารณาเลือกสมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัด คัดเลือกสมุนไพร GI สมุนไพรที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ สมุนไพรที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ สมุนไพรสร้างเศรษฐกิจ เป็นที่รู้จัก กันดีของตลาด ทางคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเชี่ยวชาญด้านสมุนไพร ก็ร่วมพิจารณาคัดเลือกแล้วจัดทำเป็นข้อมูลทางวิชาการ ด้านสารสำคัญ และ งานวิจัยเสริมเข้าไป

เมื่อได้สมุนไพรอัตลักษณ์จังหวัดครบแล้ว จะมีการส่งเสริมการผลิตสมุนไพรชนิดนั้นๆ ให้ได้ตามมาตรฐานของการปลูกและการเก็บเกี่ยวที่ดีให้ได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพ เนื่องจากพืชบางชนิดหายากและมีเฉพาะในธรรมชาติเท่านั้น อาทิ โลดทะนงแดง การใช้จากป่าเป็นสมุนไพรอยู่เฉพาะธรรมชาติแถบป่าติดกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เท่านั้น มีการปลูกที่ยากมาก จึงให้โลดทะนงแดง เป็นสมุนไพรอัตลักษณ์ของ จ.สุรินทร์ มีแผนว่าจะทำอย่างไรให้ลดการเก็บจากธรรมชาติแล้วหันมาส่งเสริมการปลูกทดแทนธรรมชาติ

มหกรรมสมุนไพรไทย 5วัน ต่อยอดเชิงพาณิชย์เงินสะพัด100ล้าน

อภ.ส่งออกสารสกัด“อโวคาโด” ประเดิมปีแรกเป้า200ล้าน

ยุทธศาสตร์องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ปี 2567 “PLANTXGPO” ภายใต้แนวคิด GPO PLANT BASED MEDICINE ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐ เอกชน และภาคการศึกษาเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ ส่งเสริมให้มีงานนวัตกรรมด้านสมุนไพร 

โดยตัวแรกกำลังจะส่งออกไปต่างประเทศ คือ NMN จะเป็นสารตั้งต้นที่จะทำให้เป็น NAD+ ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของวิตามินบี 3 สามารถผลิต Plant based ที่เป็นสารสกัดจากอโวคาโดขนาด 250 มิลลิกรัมเพื่อส่งออกไปให้กับลูกค้าต่างประเทศที่อนุญาตให้ได้ถึง 250 มิลลิกรัม

ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)เป็นแบบ Export Only เพราะอภ.จะผลิตขนาด 250 มิลลิกรัม ซึ่งยังไม่อนุญาตในประเทศ แต่สามารถส่งออกไปในประเทศที่อนุญาตให้ใช้ในปริมาณดังกล่าวได้ และคาดว่ามูลค่าตลาด Plant based ของอภ.ในปี 2567 จะอยู่ที่ราว 200 ล้านบาท

ปัจจุบันอภ.มี Plant based คือขมิ้นชันในรูปแบบแคปซูลให้ผลการรักษาโรคกระเพาะอาหารไม่แตกต่างจากการใช้ยาลดกรดแผนปัจจุบันชื่อโอเมพราโซล (omeprazole) จากนั้นได้พัฒนาการวิจัยวัตถุดิบขมิ้นชัน โดยนำมาสกัดและสังเคราะห์ด้วยนาโนเทคโนโลยี จนได้สาร tetrahydrocurcuminoids หรือ THC จากเดิมที่สารสกัดมีสีเหลืองส้ม ได้เป็นสารสกัดที่มีสีขาวมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระสูงและต้านการอักเสบ นำมาใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เคอร์มินบำรุงผิว

  • แอนติออกซ์ สารสกัดขมิ้นชันบรรจุแคปซูลมีประสิทธิผลลดอาการปวดข้อจากโรคข้อเข่าเสื่อมไม่แตกต่างจากการใช้ยาต้านการอักเสบ ไอ บูโปรเฟน (ibuprofen)ลดภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) ภาวะเหล็กเกิน และยังช่วยยืดอายุเม็ดเลือดแดง ในผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียได้อีกด้วย
  • ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสารสกัดพรมมิ ชนิดเม็ดช่วยชะลอความเสื่อมของสมอง สารสกัดเถาวัลย์เปรียงบรรเทาอาการปวดเข่าจากข้อเข่าเสื่อมมีประสิทธิผลเทียบเท่ายาแผนปัจจุบัน naproxen และพบอาการข้างเคียงน้อยกว่า
  • ผลิตภัณฑ์ไฟโทเพล็กซ์ ได้พัฒนาจากตำรับยาพื้นบ้านจากภูมิปัญญานำมาต่อยอดความรู้ทางการวิจัย สู่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ ซึ่งรวมสมุนไพรพื้นบ้าน 8 ชนิด ประกอบด้วย พุทธรักษาดอกแดง มะไฟเดือนห้า ปีกไก่ดำ พญายอ เหงือกปลาหมอ แทงทวย ข้าวเย็นเหนือ และข้าวเย็นใต้ ที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่และการกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

ซึ่งฤทธิ์ทั้งสองนี้เป็นกลไกสำคัญของการพัฒนายาต้านมะเร็งสมัยใหม่ โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนโบราณ มีสรรพคุณแก้น้ำเหลืองเสียและผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาชนิดหยดใต้ลิ้น 4 สูตรและถูกนำมาใช้ตามแนวทางการรักษาของกรมการแพทย์ และได้ใช้ในคลินิกกัญชาทางการแพทย์ทั่วประเทศจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ภายในงานอภ.เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้แบรนด์ GPO SIBANNAC 2 รายการ ได้แก่ GPO SIBANNAC CBD SLEEPING MASK และ GPO SIBANNAC CBD ACNE CARE

มหกรรมสมุนไพรไทย 5วัน ต่อยอดเชิงพาณิชย์เงินสะพัด100ล้าน

 “นวดไทย”ประยุกต์ดูแลสุขภาพนักกีฬา

การนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ เป็นการนวดเพื่อมุ่งเน้นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อสามารถกระตุ้นระบบต่างๆของร่างกาย ให้กระปรี้กระเปร่า นอนหลับสบายนอกจากนี้ การนวดไทยยังถูกนำไปใช้ร่วมกับการดูแลนักกีฬาเป็นการประยุกต์วิธีการนวดไทยมาใช้ในการตรวจ การวินิจฉัย การบำบัดรักษา การส่งเสริมและการฟื้นฟูสุขภาพสำหรับนักกีฬา

นวดไทยส่วนมากใช้หลักการกด คือ การใช้นิ้วมือ สันมือ หรือข้อศอก กดลงที่ส่วนของร่างกาย ส่วนใหญ่มักใช้นิ้วหัวแม่มือกด เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว ทำให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น การคลึง คือ การใช้นิ้วหัวแม่มือ นิ้วมือ หรือสันมือ ออกแรงกดให้ลึกถึงกล้ามเนื้อให้เคลื่อนไปมา หรือคลึงเป็นวงกลม การบีบ เป็นการจับกล้ามเนื้อให้เต็มฝ่ามือแล้วออกแรงบีบที่กล้ามเนื้อ เป็นการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดมายังกล้ามเนื้อ ดังนั้นผู้นวดจะต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อนการนวดทั้งทางด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านความรู้ และ ทักษะ

 ภาคเหนือ : นวดตอกเส้นเป็นภูมิปัญญาในการดูแลรักษาสุขภาพของชุมชนในแถบภาคเหนือที่สืบทอดมาหลายชั่วอายุคน เป็นอีกองค์ความรู้หนึ่งที่เป็นอัตลักษณ์ที่มุ่งเน้นการกระตุ้นจุดหรือเส้นที่สำคัญในร่างกายของคน โดยการใช้อุปกรณ์ลิ่มและค้อน นำมาตอกตามกล้ามเนื้อเพื่อรักษาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย

ภาคกลาง : นวดเหยียบเหล็กแดงวิถีชีวิตการทำไร่ ทำนา โดยมี ผาญ เป็นอุปกรณ์ทำงานเกษตรมาเผาให้เกิดความร้อน ใช้เท้าจุ่มน้ำมันงาหรือน้ำมันมะพร้าวและเหยียบบนแผนเหล็ก จากนั้นเหยียบนวดบริเวณร่างกายตามจุดที่ปวดเมื่อยเพื่อให้กล้ามเนื้อที่ตึงผ่อนคลาย

ภาคอีสาน: การนวดขิดเส้นด้วยวิถีชีวิตชาวนา ชาวไร่ การขิดเส้นประยุกต์มาจากการขิดผ้า โดยการใช้นิ้วหัวแม่มือกดบนเส้นด้านหนึ่ง เขี่ยตวัดนิ้วหัวแม่มือขึ้นไปคนละด้านตามแนวเส้น ทำให้เส้นคลายอ่อนตัว รู้สึกสบาย และหายปวด

ภาคใต้ : นวดน้ำมันลังกาสุกะองค์ความรู้เฉพาะจากแถบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการนวด คลึง รีด และ ดึง ร่วมกับการใช้น้ำมันนวดสูตรลังกาสุกะ โดยมีจุดเริ่มต้นที่หน้าท้องจบที่ศีรษะ

มหกรรมสมุนไพรไทย 5วัน ต่อยอดเชิงพาณิชย์เงินสะพัด100ล้าน

ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสร้างรายได้ชุมชน

การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นความเชื่อมโยงของการพัฒนาสมุนไพร ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำปัจจุบันมีแหล่งท่องเที่ยว ที่ได้รับมาตรฐานชุมชนโฮมสเตย์ ต่อยอดผ่านการประเมินทั้งสิ้น 149 แห่งทั่วประเทศ สร้างรายได้ให้ชุมชน กว่า 50 ล้านบาท

เช่น หมู่บ้านอาลึ จังหวัดสุรินทร์ ชูจุดเด่นวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชนพื้นบ้าน นำสมุนไพรท้องถิ่น “ว่านเปราะหอม” มาแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์ แหล่งท่องเที่ยวที่มีอาหารถิ่นสุขภาพ เช่น สำรับจันท์ ของจันทบุรี ที่ได้มีการต่อยอดสมุนไพรท้องถิ่น มาจัดทำเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น ตุ๋นแกงชะมวงมะปี๊ด ห่อหมกปลาใบพริกไทยอ่อน หรือ ข้าวผัดพริกเกลือกระวาน

บริการนวดเปลือกหอย ภูมิปัญญาพื้นบ้านจังหวัดกระบี่ สำหรับ การดูแลสุขภาพรวมถึงการนำสมุนไพรท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับให้นักท่องเที่ยวได้ใช้ ในแหล่งท่องเที่ยว และได้ซื้อกลับเป็นของฝาก เช่น ครีมขัดผิว ยาสระผมจากส้มซ่าซึ่งเป็นสินค้า OTOP ของชุมชน บ้านวังส้มซ่า ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วย ของ Banana Land จังหวัดเลย

การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สนับสนุนชุมชน ดึงดูดนักท่องเที่ยว ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น สร้างรายได้ให้ชุมชน ส่งเสริมให้คนไทยหันมาใช้สมุนไพรไทยมากขึ้น

มหกรรมสมุนไพรไทย 5วัน ต่อยอดเชิงพาณิชย์เงินสะพัด100ล้าน

มหกรรมสมุนไพรไทย 5วัน ต่อยอดเชิงพาณิชย์เงินสะพัด100ล้าน

มหกรรมสมุนไพรไทย 5วัน ต่อยอดเชิงพาณิชย์เงินสะพัด100ล้าน