“ธุรกิจผู้สูงอายุ”โตปีละ 7.5 % IneterCare Asia 2024 งานสุขภาพรับ Blue Ocean
ปี 2567 เป็นปีที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ โดยกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผย ว่าผู้สูงอายุคนไทย เพิ่มขึ้นปีละ 5 แสนคน และคาดว่าในปี 2568 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ 1 คน ต่อประชากร 5 คน
KEY
POINTS
- ธุรกิจสุขภาพของประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจสุขภาพของกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มที่ใส่ใจสุขภาพ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 2.99 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 7.5% ต่อปี
- InterCare Asia 2024 ไม่ใช่เป็นการแสดงสินค้าและนวัตกรรมเท่านั้น แต่เป็นการให้ความรู้การวางแผนการเกษียณโดยไม่พึ่งพาลูกหลาน พร้อมอัปเดตเทรนด์สุขภาพของโลก
- โอกาสของผู้ประกอบการเชื่อมโยงตลาดทั้งในและต่างประเทศ พัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
ปี 2567 เป็นปีที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ โดยกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผย ว่าผู้สูงอายุคนไทย เพิ่มขึ้นปีละ 5 แสนคน และคาดว่าในปี 2568 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ 1 คน ต่อประชากร 5 คน
ข้อมูลจากผลสำรวจของคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในเรื่อง Aging Society ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มประชากรอายุ 48-57 ปี ในปัจจุบันซึ่งกำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า พบว่า 30% มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 60,000 ถึง 100,000 บาท และมีอัตราการออมและการลงทุนสูงถึง 25% ของรายได้ซึ่งถือว่ามีรายได้และพลังซื้อไม่น้อย
ส่งผลให้กลุ่มผู้สูงอายุกลายเป็นกลุ่มที่น่าจับตา ด้วยสถานะทางสังคม ความพร้อมในการจับจ่าย และอิสระในการใช้ชีวิต จึงกลายเป็น Blue Ocean ที่ภาคธุรกิจต้องพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
‘นักกายภาพบำบัด’ อาชีพที่โลกสูงวัยต้องการ
อยู่แบบวัยเก๋า แบบ well-being 'กรดอะมิโน' สิ่งสำคัญในผู้สูงวัย
ธุรกิจสุขภาพสูงวัยมูลค่า 2.99 ล้านบาท
“InterCare Asia 2024” ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 2 หนึ่งในงานนวัตกรรมสุขภาพอาเซียน ที่จัดโดยบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด จับมือพันธมิตร รัฐและเอกชน ระหว่างวันที่ 1-3 สิงหาคม 2567 โดยจัดควบคู่กับงาน Medical & Wellness Travel Fair 2024 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจด้านสุขภาพของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ดึงนวัตกรรมสุขภาพทั่วโลกจัดแสดง พร้อมผลักดันสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจ และนวัตกรรมสุขภาพของอาเซียน ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศในระยะยาว
“ศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล” กรรมการบริหาร บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางและโอกาสของธุรกิจสุขภาพในประเทศไทยปี 2567 ว่าธุรกิจสุขภาพของประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจสุขภาพของกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มที่ใส่ใจสุขภาพ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 2.99 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 7.5% ต่อปี
“ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจสุขภาพผู้สูงอายุเติบโตมากขึ้น เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างประชากรและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น รวมถึงการเติบโตเทคโนโลยีทางการแพทย์และนวัตกรรมต่างๆ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนธุรกิจสุขภาพให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และด้วยศักยภาพของประเทศไทยในด้านการแพทย์และการบริการสุขภาพที่มีคุณภาพในระดับสากล ประกอบกับความพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ ทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในฐานะหนึ่งในศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ในภูมิภาคเอเชีย”ศักดิ์ชัย กล่าว
วางแผนชีวิตวัยเกษียณเริ่ม50+
“ศักดิ์ชัย” กล่าวต่อว่า การจัดงาน InterCare Asia 2024 งานแสดงสินค้าและนวัตกรรมเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตสำหรับทุกวัย ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 2 นั้น จะเป็นเวทีสำคัญในการนำเสนอสินค้าและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้สูงอายุ และเชื่อมโยงผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ในธุรกิจสุขภาพ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ บริการ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านสุขภาพ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างผู้เชี่ยวชาญ
“การมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีโรคภัยไข้เจ็บน้อยลง ไม่ป่วย ไม่จน เป็นสิ่งที่ทุกๆ คนต้องการ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้น ต้องการให้สังคมไทยมีผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคม มากกว่ากลุ่มติดบ้าน หรือติดเตียง ดังนั้น การจัดงาน InterCare Asia 2024 ไม่ใช่เป็นการแสดงสินค้าและนวัตกรรมเท่านั้น แต่จะเป็นการให้ความรู้ในเรื่องของการวางแผนการเกษียณโดยไม่พึ่งพาลูกหลาน ช่วยให้ทุกคน ทั้งวัยอายุ50+ ไปจนถึงวัยอายุ70+ ซึ่งแต่ละช่วงวัยต้องวางแผนชีวิตแตกต่างกันออกไป รวมถึงการวางแผนทางการเงิน และการประกันชีวิตไม่ให้สูญเปล่า” ศักดิ์ชัย กล่าว
ประเทศไทยมีจุดแข็งเรื่อง Healthcare และการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ Medical Tourism& Wellness ซึ่งที่ผ่านมามูลค่าในการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เติบโตอย่างก้าวกระโดด ฉะนั้น อยากให้ทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุติดสังคม ครอบครัว และผู้ประกอบการเข้ามาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนเทรนด์และนวัตกรรมสุขภาพใหม่ๆ รวมถึงการวางแผนคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ไม่เป็นภาระแก่ลูกหลาน
ศูนย์กลางธุรกิจสุขภาพของโลก
ปีนี้ทางเอ็น.ซี.ซี. ได้ร่วมกับสมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพไทยจัดงาน “Medical & Wellness Travel Fair 2024” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยจะจัดพร้อมกับงาน InterCare Asia 2024 เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพของไทย
“พญ.ประภา วงศ์แพทย์” นายกสมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพไทย กล่าวว่าภาพรวมตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพของไทยในปี 2567 ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้ความสนใจมาใช้บริการด้านการแพทย์และสุขภาพในประเทศไทย เนื่องจากมีคุณภาพและมาตรฐานสูง รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม
อีกทั้งรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็น ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) พ.ศ.2568 - 2577 ซึ่งมีเป้าหมายให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการบริการสุขภาพใน 4 หมุดหมาย คือ
- ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub)
- ศูนย์กลางการรักษาพยาบาล (Service Hub)
- ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub)
- ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub)
เพื่อให้ประเทศไทย เป็นจุดหมายปลายทางสุขภาพโลก และเป็นศูนย์กลางสุขภาพ พร้อมเป็นอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรของโลก
“ต่อจากนี้จะเป็นพุ่งเป้าที่คุณภาพชีวิตของคนไทย โดยจะเป็นการพูดถึง Wellness & Medical tourism ซึ่งจะมีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นแม่งานในการขับเคลื่อนประเทศไทยกำหนด 6 เสาหลัก ได้แก่ 1.ThaiWellness & นวดไทย 2. Medical tourism for all (ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ได้) 3. Herbal Products Wellness (เน้นเรื่องผลิตภัณฑ์สมุนไพร แพทย์แผนไทย) 4. Health Exhibition Center(ศูนย์กลางนิทรรศการสุขภาพ)5. Senior Living Destination (ส่งเสริมให้เป็นผู้สูงอายุติดสังคม) และ6. Medical& Wellness relay (การถ่ายทอด)”พญ.ประภา กล่าว
เพิ่มความเข้มแข็งผู้ประกอบการ wellness
ทั้งนี้ ข้อมูลในปี 2566 พบว่า การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ สร้างเม็ดเงินได้กว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ไม่สามารถดำเนินการได้เฉพาะในส่วนของภาครัฐ แต่ภาคเอกชน ผู้ประกอบการต้องเข้ามามีส่วนร่วม
“ไทยมีผู้ประกอบการด้าน Medical หรือผู้ประกอบการในกลุ่มโรงพยาบาลมีความเข้มแข็งอย่างมาก ซึ่งไทยมีโรงพยาบาล ประมาณ 420 แห่ง และมีโรงพยาบาล 92 แห่งที่ให้บริการการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ อีกทั้งได้มักโปรโมททั้งด้านซัพพลายและดีมานอย่างมาก แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวล คือ ความเข้มแข็งของผู้ประกอบการรายย่อย wellness และคลินิก เพราะต่อให้มีการใช้บริการจำนวนมากและคาดว่าจะมีมูลค่ามากแต่ไม่สามารถเก็บข้อมูลได้ และส่วนหนึ่งจะยังไม่มีความเข้มแข็ง” พญ.ประภา กล่าว
“Medical & Wellness Travel Fair 2024” จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการรายย่อย และนำเสนอการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการดูแลสุขภาพ การให้บริการด้านสุขภาพแบบองค์รวม การใช้สมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ รวมถึงการให้บริการด้านสุขภาพที่ตอบโจทย์เฉพาะบุคคล
ธุรกิจสุขภาพผู้สูงอายุ 1 ในเมกะเทรนด์
ไทยถือเป็นประเทศสังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ ที่สามารถแบ่งผู้สูงอายุออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่
1.ผู้สูงอายุติดสังคม มีเพื่อน ซึ่งอยากให้มีกลุ่มนี้จำนวนมากๆ เพราะบ่งบอกถึงคุณภาพชีวิต และคุณภาพของประเทศ
2.กลุ่มติดบ้าน กลุ่มนี้จะออกไปเที่ยวกับเพื่อนๆ ไม่ไหวแต่ยังสามารถทำอะไรเองได้ ดูแลตัวเองได้
3. กลุ่มติดเตียง กลุ่มนี้ไม่ใช่เป็นเพียงภาระของครอบครัวเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น
“ปรัชญา เพิ่มทองคำ” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโอกาสทางธุรกิจ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) กล่าวว่า ISMED ได้มีการศึกษาเรื่องของสังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ 10 ปี จนถึงปัจจุบัน พบว่า ธุรกิจสุขภาพผู้สูงอายุ เป็น 1 ในเมกะเทรนด์ที่ต้องศึกษา เนื่องจากสังคมไทยเปลี่ยนเป็นสังคมผู้สูงอายุ จึงต้องมีการเตรียมกิจกรรม หรือการดำเนินการต่างๆ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเรื่องของธุรกิจ การพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความพร้อม หรือมองหาโอกาสทางธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยที่ผ่านมาได้ร่วมกับหลายๆ หน่วยงานในการพัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการมองหาโอกาสทางธุรกิจ การอบรม การให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องธุรกิจของผู้สูงอายุ และการพาไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศ
“ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เป็นคำที่ค่อนข้างกว้างเพราะเป็นการดูแล รักษา และฟื้นฟูผู้สูงอายุ ดังนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุจะมีตั้งแต่ธุรกิจ Nursing Home ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุครบวงจร, ธุรกิจ Nursing Care รวมถึงการดูแลสุขภาพแบบบูรณาการ (Integrated Healthcare) ซึ่งปัจจุบันพบว่า โรงพยาบาลขนาดใหญ่ต่างจับมือกับพันธมิตร ในการให้บริการส่งต่อผู้สูงอายุ เข้ารับการดูแลแบบครบวงจรไม่ใช่เพียงการรักษาตามอาการโรค แต่เป็นการดูแล พร้อมทำกิจกรรมร่วมกันด้วย” ปรัชญา กล่าว
ปรับแผนธุรกิจสอดคล้องสูงวัย
แม้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุจะมีจำนวนมาก แต่หากมองในเรื่องของศูนย์หรือการให้บริการผู้สูงอายุโดยตรงนั้นมีค่อนข้างน้อย เนื่องรูปแบบการผู้สูงอายุในปัจจุบันครอบครัวจะเป็นผู้ดูแล และเน้นการดูแลในบ้านมากกว่า อีกทั้งการขาดแคลนกำลังคนในการดูแลสูงวัย แต่สิ่งเหล่านี้อาจเป็นโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการไทยในการดูแลและจะให้ดูแลที่บ้าน
"ปรัชญา" กล่าวต่อไปว่าการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุล้วนมีความเกี่ยวข้องกับการใช้สินและบริการ ขณะเดียวกันสิ่งที่คนไทย หรือชาวต่างชาติมองหาเป็นเรื่องของสินค้าและบริการใหม่ๆ เกี่ยวกับผู้สูงอายุ ฉะนั้น หากผู้ประกอบการมองเห็นโอกาส และปรับปรุง หรือเริ่มธุรกิจโดยจับกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ต้องกำหนดแผนธุรกิจใหม่ ให้ตอบโจทย์ผู้สูงอายุมากขึ้น ผู้ประกอบการต้องรู้ Pain Point ของผู้สูงอายุ ทำคามเข้าใจลูกค้า และปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุก็จะทำให้ธุรกิจเติบโตและยั่งยืนได้
“ปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่ทาง ISMED ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs เข้าร่วมแสดงสินค้าและบริการในงาน InterCare Asia 2024 โดย ISMED มีโปรแกรมสนับสนุนและบริการต่างๆ ที่จะช่วยให้ SMEs สามารถพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ อาทิ การให้คำปรึกษาทางธุรกิจ การสนับสนุนด้านการตลาดและการเงิน รวมถึงการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ”ปรัชญา กล่าว
รวมทั้ง รัฐบาลได้ผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME อย่างเร่งด่วน เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ได้สนับสนุนงบประมาณผ่าน โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือที่รู้จักในชื่อ “SME ปัง ตังค์ได้คืน” ซึ่งเป็นการสนับสนุนเงิน 50–80% ผ่านการอบรม การโค้ชชิ่ง (Coaching) การให้คำปรึกษาแนะนำ (Consult) รวมทั้งการขยายช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมอบให้ ISMED เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างรายได้ รวมถึงการต่อยอดธุรกิจจากการเข้าร่วมกิจกรรมเจรจาธุรกิจกับผู้ซื้อกลุ่มเป้าหมายโดยตรง
สำหรับ กิจกรรมในงานปีนี้ ได้รับความร่วมมือจากหลากหลายพันธมิตร อาทิ O-lunla, Go Mamma และหน่วยงานอื่น ๆ ร่วมจัดกิจกรรมน่าสนใจมากมายทั้งด้านการพัฒนาสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีแบบองค์รวม อาทิ เสวนาพิเศษ "วิธีฮีลใจ ในวันที่อะไร ๆ ก็ไม่เป็นใจ" จากคุณหมอเจี๊ยบ ลลนา, ฟังเพลงไพเราะพร้อมเสวนาพิเศษ "สูงวัยสุขใจ ใช้ชีวิตแบบชื่นบาน" โดยแม่เม้า สุดา ชื่นบาน, เสวนา “มิตรจริงหรือมิจจี้ - เทคนิคสแกนคนร้ายในวันที่มิจฉาชีพเต็มเมือง" โดยเพจมนุษย์ต่างวัย, กิจกรรมออกกำลังกายไกลโรคกิจกรรมทำลูกบีบกุ๊กไก่บริหารมือ, บริการตรวจสุขภาพฟรีโดยโรงพยาบาลชั้นนำ ฯลฯ
อีกทั้ง มีกิจกรรมเชิงธุรกิจ ประกอบด้วย Business Matching ที่นำผู้ซื้อคุณภาพมาพบกับผู้ขาย เพื่อร่วมเจรจาต่อยอดธุรกิจ และมีกิจกรรม Networking ที่นำคณะผู้บริหารสถานประกอบการ Senior Care ต่าง ๆ ที่ได้รับรางวัลจากทั่วประเทศ มาพบกับผู้ขายภายในงาน เพื่อหารือโอกาสการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานประมาณ 20,000 ราย และสามารถสร้างเงินสะพัดภายในงานและต่อเนื่องในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้กว่า 300 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีสัมมนาหัวข้อ "FROM LEGEND TALK TO THE MARS" ที่จัดขึ้นพร้อมกัน ในวันที่ 3 สิงหาคมนี้ เพื่อให้ผู้ที่สนใจด้านการเงิน การลงทุน และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความงาม รวมไปถึงกลุ่มนักธุรกิจผู้ที่สนใจทำการค้ากับจีน ได้มาร่วมอัปเดตเทรนด์โลกล่าสุดกับทิศทางเศรษฐกิจ การเงินและการแพทย์ย้อนวัย กับคณะวิทยากรชื่อดัง ได้แก่ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญอิสระ, ดร.พนา สถิตศาสตร์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านจีน, พ.ท.นพ.ธรณัส กระต่ายทอง Founder & CME of V Precision
ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงาน InterCare Asia 2024 และ Medical & Wellness Travel Fair 2024 ได้ในระหว่างวันที่ 1 - 3 สิงหาคม 2567 เวลา 10.00-19.00 น. ณ ฮอลล์ 5 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ www.intercare-asia.com หรือติดตามข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ ได้ทาง www.facebook.com/intercareexpo