รับมือ! 'Passive Death Wish'ภาวะเฉยชากับชีวิต อยู่ก็ได้ ตายก็ดี

รับมือ! 'Passive Death Wish'ภาวะเฉยชากับชีวิต อยู่ก็ได้ ตายก็ดี

คุณมีความสุขไหมวันนี้? ...ดูจะเป็นคำถามที่ใช้ถามตัวเองและคนรอบข้างได้ง่ายๆ แต่คนส่วนใหญ่มักจะไม่ได้มานั่งถามตัวเอง หากวันหนึ่ง ตื่นมาแล้วคุณรู้สึกเฉยชา เบื่อหน่ายกับชีวิต ไม่มีเป้าหมาย ไม่มี Passsion กับอะไรสักอย่าง อยู่ก็ได้ ตายก็ดี

KEY

POINTS

  • Passive Death Wish  ภาวะเฉยชากับชีวิต หรือการคิดฆ่าตัวตายแบบพาสซีพ อยู่ก็ได้ ตายก็ดี เป็น อาการหมกมุ่นที่จะอยากจบชีวิตตนเองแบบไม่มีการคาดการณ์ หรือวางแผนไว้ล่วงหน้า เป็นการฆ่าตัวตายทางความคิดจินตนาการร่วมด้วย
  • ขณะที่ "ภาวะสิ้นยินดี" เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ ที่ทำให้เจ้าต้วไม่รู้สึกรู้สากับอารมณ์ความรู้สึกเชิงบวก ซึ่งจะมี 2 ลักษณะ ภาวะสิ้นยินดีทางสังคมและทางกายภาพ
  • การได้คุยกับใครสักคนช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้  ลดปัญหาทางสุขภาพจิต ศูนย์สุขภาวะทางจิต (Psy Wellness) เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่มีนักจิตวิทยาการปรึกษา ช่วยให้คุณได้เข้าใจตัวเอง คนอื่น และสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ 

คุณมีความสุขไหมวันนี้? ...ดูจะเป็นคำถามที่ใช้ถามตัวเองและคนรอบข้างได้ง่ายๆ แต่คนส่วนใหญ่มักจะไม่ได้มานั่งถามตัวเอง

หากวันหนึ่ง ตื่นมาแล้วคุณรู้สึกเฉยชา เบื่อหน่ายกับชีวิต ไม่มีเป้าหมาย ไม่มี Passsion กับอะไรสักอย่าง อยู่ก็ได้ ตายก็ดี ความรู้สึกเหล่านี้อย่าปล่อยผ่าน เพราะอาจนำมาซึ่งอันตรายต่อชีวิต และอาจเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้า

จากรายงานสถิติการฆ่าตัวตายของประเทศไทย ปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566) พบว่า มีผู้พยายามฆ่าตัวตาย 31,402 คน หรือเท่ากับ 48.19 ต่อแสนประชากร

ซึ่งคนไทยมีแนวโน้มป่วยสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีผู้ป่วยรับการรักษา 2 ล้านคน แต่ผู้มีปัญหามากถึง 10 ล้านคน หรือกว่า 10% ของประชากร ทำให้มีผู้ไม่ได้รับการรักษาจำนวนมาก เผยผลสำรวจคนกรุง 7 ใน 10 หมดไฟทำงาน และสายด่วนกรมสุขภาพจิตกว่าครึ่งปรึกษาเรื่องความเครียด

ข้อมูลจากการประเมินสุขภาพจิตตนเอง (Mental Health Check In) ของกรมสุขภาพจิต ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผู้เข้ารับการประเมินกว่า 8.5 แสนคน พบว่า สัดส่วนผู้มีความเครียดสูงอยู่ที่ร้อยละ 4.5 เสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 5.8 เสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 3.2

สถานการณ์ดังกล่าวแย่ลงในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่มีผู้เข้ารับการประเมิน 7.5 แสนคน และพบผู้มีความเครียดสูงถึงร้อยละ 15.5 เสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 17.2 และเสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 10.6

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

คนไทยเจ็บป่วย มีปัญหาสุขภาพจิต 10 ล้านคน ทุกวัยเครียด ซึมเศร้าพุ่ง

เมื่อ 'ที่ทำงาน' อาจไม่ดีต่อใจ คนทำงาน 'เหนื่อย ล้า' มองหาพื้นที่ปลอดภัย

รู้จัก Passive Death Wish อยู่ก็ได้ ตายก็ดี

ภาวะเฉยชากับชีวิต หรือการคิดฆ่าตัวตายแบบพาสซีพ คือ อาการหมกมุ่นที่จะอยากจบชีวิตตนเองแบบไม่มีการคาดการณ์ หรือวางแผนไว้ล่วงหน้า เป็นการฆ่าตัวตายทางความคิดจินตนาการร่วมด้วย เช่น หากนอนหลับไปแล้ว ถ้าไม่ตื่นขึ้นมาก็คงจะดี หรือโลกจะน่าอยู่กว่านี้ถ้าไม่มีเรา ถึงแม้จะเป็นเพียงแค่ความคิดแต่ไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์ร้ายแรงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ อย่าประมาทภาวะน่ากลัวนี้เพราะคุณคาดเดาไม่ได้เลยว่าผู้ป่วยจะลงมือทำร้าย หรือจบชีวิตของพวกเขาตอนไหน

สาเหตุหลักๆ ของภาวะเฉยชากับชีวิต มีหลายปัจจัยด้วยกัน คือ

  • การใช้สารเสพติด
  • ความกดดันจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตจนทำให้สะสม
  • ปัญหาตามสภาพแวดล้อมในสังคม  เช่น ปัญหาทางการเงิน ปัญหาด้านความสัมพันธ์หรือสภาพแวดล้อมตามถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นเชิงลบ
  • มีความผิดปกติด้านจิตใจ (ภาวะซึมเศร้า  หรือโรคซึมเศร้า)
  • ความเครียด  วิตกกังวล

รับมือ! \'Passive Death Wish\'ภาวะเฉยชากับชีวิต อยู่ก็ได้ ตายก็ดี

เช็กอาการว่าตัวเองเป็นPassive Death Wish

  • รู้สึกสิ้นหวัง กับบางอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเขา
  • พูดถึงความตาย หรือคิดที่จะฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้ง
  • การพึ่งสารเสพติดในปริมาณที่มากขึ้น
  • อารมณ์แปรปรวนง่าย
  • มีวิธีการคิดฆ่าตัวตายอย่างรุนแรง เช่น การใช้อาวุธปืน และของมีคม เป็นต้น
  • คำพูดสื่อความหมายในเชิงบอกลาผู้คนที่พวกเขารัก
  • ชอบแยกตนเองออกมาจากสังคม หรือผู้อื่น

คุณสามารถสังเกตอาการข้างต้นที่กล่าวมาได้ หรือหากมีอาการอื่นๆ ที่ใกล้เคียง หรือรุนแรงกว่านั้น ให้คุณรีบพาผู้ป่วยไปขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ และนักบำบัดโดยเร็วที่สุด

ภาวะสิ้นยินดี Anhedonia ผิดปกติทางอารมณ์

นอกจากภาวะเฉยชากับชีวิตแล้ว หลายคนอาจจะเกิด "ภาวะสิ้นยินดี" ซึ่งเป็นอาการร่วมที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า  "ผศ.ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ" รองคณบดี และอาจารย์ประจำแขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนทำความรู้จักและสังเกตอาการที่สะท้อนความเสี่ยงเป็น “ภาวะสิ้นยินดี” (Anhedonia) เพื่อรับการปรึกษาจากนักจิตวิทยา ก่อนที่ความสามารถในการมี “ความสุข” จะหายไป

“เป็นธรรมชาติของคนเราที่ต้องมีอารมณ์ความรู้สึก โดยเฉพาะการรับรู้หรือได้รับความรู้สึกเชิงบวก เช่น สบายใจ แช่มชื่นใจ ทั้งที่มาจากตัวเองหรือมาจากการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น แต่เมื่อไรที่เรามี “ภาวะสิ้นยินดี” เราจะรู้สึกเหนื่อย เนือย ไม่มีความรู้สึกเชิงบวกใด ๆ ไม่ว่ากับอะไรหรือกับความสัมพันธ์ใด”

ภาวะสิ้นยินดีเกิดขึ้นได้อย่างไร

ผศ.ดร.กุลยา อธิบายว่า ภาวะสิ้นยินดี เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ ที่ทำให้เจ้าต้วไม่รู้สึกรู้สากับอารมณ์ความรู้สึกเชิงบวก ทั้งนี้ ภาวะดังกล่าวเกิดได้จากหลายปัจจัย กล่าวคือ  

  • ปัจจัยทางกายภาพ ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับการเกิดโรคภัยไข้เจ็บ หรือสารเคมีในสมอง เช่น โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดในสมอง โรคซึมเศร้า เป็นต้น
  • ปัจจัยทางพันธุกรรม อาจมีส่วนทำให้บางคนมีธรรมชาติและบุคลิกภาพค่อนข้างหม่นหมอง เศร้าง่าย
  • ปัจจัยทางสภาวะแวดล้อม เช่น ภาวะความเครียด เหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนใจ ภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) หรือผู้ที่อยู่ในภูมิประเทศที่มีฤดูหนาวเป็นระยะเวลานาน เหล่านี้ทำให้เกิดความรู้สึกหม่นหมองต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลให้คนนั้น ๆ มีแนวโน้มขรึม เก็บตัว ไม่สดใส

“ปัจจัยต่าง ๆ ทั้งกายภาพ สภาพแวดล้อม จิตใจ ล้วนเชื่อมโยงกัน การที่คนเรารู้สึกหม่นหมอง เนือย เหนื่อย เป็นเวลานาน ๆ และต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลให้สารเคมีในสมองเกิดการเปลี่ยนแปลง ลดทอนความสามารถในการรู้สึกอารมณ์เชิงบวกได้เหมือนกัน”

รับมือ! \'Passive Death Wish\'ภาวะเฉยชากับชีวิต อยู่ก็ได้ ตายก็ดี

 2 ลักษณะของภาวะสิ้นยินดี

ผศ.ดร.กุลยา อธิบายต่อว่าผู้ที่เป็นภาวะสิ้นยินดีมักจะมีปัญหาในการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ชิดหรือคนอื่น ๆ ในสังคม โดยพวกเขาจะไม่สามารถตอบรับความรู้สึกด้านบวกได้ ไม่ว่าความสุข ความสนุกสนานเพลิดเพลิน ทำให้ผู้ที่มีภาวะสิ้นยินดีไม่สามารถมีประสบการณ์เชิงบวกร่วมกับผู้อื่นได้ ยกตัวอย่าง เพื่อน ๆ หัวเราะกันสนุกสนาน แต่คนที่มีภาวะสิ้นยินดี จะไม่สามารถรู้สึกสนุกหรือหัวเราะกับคนอื่น ๆ ได้ ซึ่งจะกระทบกับการเข้ากลุ่มและความสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ นานวันเข้า ก็อาจส่งผลต่อบุคลิกภาพและความสัมพันธ์กับคนอื่น

ภาวะสิ้นยินดีแสดงออกได้ 2 ลักษณะหลัก ๆ คือ  

  • ภาวะสิ้นยินดีทางสังคม (Social anhedonia) คนกลุ่มนี้จะไม่รู้สึกอยากใช้เวลาร่วมกับครอบครัว คนใกล้ชิด เพื่อนฝูง คนรอบข้าง และผู้คนอื่น ๆ ในสังคม
  • ภาวะสิ้นยินดีทางกายภาพ (Physical anhedonia) ผู้ที่มีภาวะนี้จะมีการรับรู้ความรู้สึกทางกายเปลี่ยนไป หากเป็นเรื่องเพศสัมพันธ์ ก็จะเหมือนหมดความรู้สึกจนคล้ายคนหมดสมรรถภาพทางเพศได้ นอกจากนี้ อาจจะไม่สนุกกับกิจกรรมที่เคยทำเหมือนก่อน อาหารที่เคยชอบก็ไม่ชื่นชอบอีกต่อไป ไม่รู้สึกสนุกสนานร่าเริงและมีแนวโน้มที่จะมีอารมณ์ทางลบมากขึ้นได้

ผศ.ดร.กุลยา อธิบายว่าผู้ที่มีภาวะสิ้นยินดีทั้ง 2 แบบ จะไม่มีแรงจูงใจในการเชื่อมความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ไม่อยากใช้เวลาหรือมีส่วนร่วมกับผู้อื่น หรืออาจจะมีอาการของโรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder) รู้สึกว่าตัวเองไม่เข้าพวกกับคนอื่น หวาดกลัว วิตกกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องพบเจอรู้จักคนใหม่และสถานที่ใหม่

“คนกลุ่มนี้จะเริ่มหายหน้าหายตา ปฎิเสธคำชวนไปร่วมกิจกรรมทางสังคม เริ่มมีชั่วโมงในการอยากอยู่คนเดียวนานขึ้นและถี่ขึ้นเรื่อย ๆ”

รับมือ! \'Passive Death Wish\'ภาวะเฉยชากับชีวิต อยู่ก็ได้ ตายก็ดี

ภาวะสิ้นยินดี กับ ภาวะความด้านชาทางความรู้สึก

มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าภาวะความด้านชาทางความรู้สึก (Emotional numbness) และภาวะสิ้นยินดี เป็นภาวะเดียวกัน แต่ ผศ.ดร.กุลยา อธิบายว่าภาวะทั้งสองไม่เหมือนกันสักทีเดียว

“ภาวะความด้านชาทางความรู้สึก จะคล้ายกับการฉีดยาชา ไม่มีความรู้สึกใด ๆ ไม่ว่าอารมณ์ทางบวกหรือทางลบ เฉย เนือย ไร้อารมณ์กับทุกสิ่ง เหมือนไม่สุขไม่ทุกข์ ภาวะนี้มักมาจากการที่คน ๆ นั้นมีประสบการณ์ทางลบด้านความรู้สึก จึงพยายามหลีกเลี่ยงอารมณ์ทางลบ กลายเป็นไม่รับรู้ความรู้สึกอะไรเลย เฉยชาด้านอารมณ์ทั้งหมด”

สังเกตสัญญาณ “ภาวะสิ้นยินดี”

ข้อสังเกตเบื้องต้น 3 เรื่อง ที่จะช่วยให้เราจับสัญญาณภาวะสิ้นยินดี ดังนี้

  • สังเกตความรู้สึก – “เวลาที่ทำกิจกรรมที่ชอบ ยังรู้สึกชอบ สนุกหรือมีความสุขอยู่ไหม”

ถ้าเราอ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือสิ่งที่เราเคยชอบทำ แล้วไม่รู้สึกสนุกหรือชอบเหมือนเดิม ก็อาจเป็นสัญญาณของภาวะสิ้นยินดีได้ แต่ก็ไม่เสมอไป เราอาจจะต้องสังเกตต่อไปว่าอารมณ์ความรู้สึกทางบวกในเรื่องอื่น ๆ หรือช่วงอื่น ๆ มีน้อยลงด้วยหรือไม่

  • สังเกตความคิด – “ความคิดของเราเป็นเชิงลบ หม่นหมองหรือไม่ เราได้พยายามปรับมุมมองให้เป็นบวกมากขึ้นแล้วหรือยัง ปรับมุมมองให้บวกได้สำเร็จหรือไม่”

ถ้าเรามีความรู้สึกเชิงบวก เราจะมองคนในเชิงบวก อยากสร้างสัมพันธ์กับผู้คน แต่ถ้าเราตกอยู่ในภาวะสิ้นยินดีเราจะรู้สึกว่าโลกไม่น่าอยู่ ไม่อยากสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ หรือไม่รู้สึกกระตือรือร้นที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่มีอยู่แล้ว

  • สังเกตร่างกาย – “รู้สึกเหนื่อยจากการทำงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ มากกว่าปกติหรือไม่ ตื่นมาแล้วรู้สึกไม่แจ่มใส รู้สึกล้า หมดแรงหรือเปล่า”

สมรรถภาพทางกายและสมรรถภาพทางเพศเป็นเกณฑ์ประเมินภาวะสิ้นยินดีได้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่กับทุกกรณี สิ่งที่เราพอสังเกตได้คือร่างกายของเรายังแข็งแรงเป็นปกติดีไหม ออกกำลังกายได้เท่าเดิมหรือเปล่า มีความเปลี่ยนแปลงด้านสมรรถภาพทางเพศหรือไม่ ที่สำคัญ เวลาที่รู้สึกอ่อนล้า เหนื่อย ถ้าได้พักผ่อน นอนแล้ว ร่างกายกลับมากระชุ่มกระชวย อารมณ์ดีสดใสขึ้น แต่ถ้านอนพักแล้ว ยังรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อย ล้า หมดแรงที่จะทำอะไร ก็อาจเป็นสัญญาณภาวะสิ้นยินดีได้

รับมือ! \'Passive Death Wish\'ภาวะเฉยชากับชีวิต อยู่ก็ได้ ตายก็ดี

บำบัด Passive Death Wish  และภาวะสิ้นยินดีอย่างถูกวิธี 

ลดความเสี่ยงในผู้ป่วยที่มีความคิดอยากตาย ด้วย เทคนิคทางการแพทย์ ดังนี้

  • จิตบำบัด หรือพฤติกรรมบำบัด เป็นการพูดคุยถึงอาการ รวมถึงเรื่องราวต่างๆ ที่คุณกำลังประสบปัญหาอยู่ให้นักบำบัดได้รับฟังพร้อมรักษาในขั้นตอนถัดไปได้อย่างถูกวิธี
  • ยารักษาอาการซึมเศร้า ซึ่งเป็นยาที่จะช่วยคลายความกังวล เป็นยารักษาโรคทางจิตอย่างหนึ่ง ทางแพทย์อาจให้ยากล่อมประสาทร่วมด้วยในระหว่างการรักษา
  • การจัดการกับความเครียด เป็นการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิต ปรับปรุงเรื่องการนอนหลับ การรับประทานอาหาร รวมถึงการออกกำลังกาย เพื่อจัดการกับความเครียด และเบี่ยงเบนความสนใจ

หากอาการอยู่ในขั้นที่ไม่รุนแรงมากนัก คุณควรรับมือกับพวกเขาตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนจะพัฒนาจนไปถึงการฆ่าตัวตายได้ โดยการสร้างพลังบวก  หรือพาผู้ป่วยไปอยู่ในที่ผ่อนคลาย อาจใช้การนั่งสมาธิเข้าช่วยเพื่อให้จิตใจสงบขึ้น

ส่วนภาวะสิ้นยินดีเป็นภาวะที่ไม่มีความรู้สึกทางบวก แต่ยังคงรับรู้และแสดงความรู้สึกเชิงลบได้อยู่

“ผู้ที้มีภาวะสิ้นยินดีจะไม่รู้สึกถึงอารมณ์ในเชิงบวกเลย ไม่มีความรู้สึกอิ่มเอิบใจ ปลื้มใจ ไม่หัวเราะ อาจดูเหมือนรู้สึกเฉย ๆ เหมือนภาวะด้านชา แต่ยังสามารถรับรู้และแสดงความรู้สึกเชิงลบได้ เช่น ความไม่สบายใจ ความกังวล กลัว เบื่อ ซึ่งอาการเหล่านี้ดูคล้ายและเกือบเป็นภาวะซึมเศร้าเลยทีเดียว”

สิ้นยินดีนาน ๆ อาจทำซึมเศร้าหนักขึ้น

ภาวะสิ้นยินดีเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้า ผศ.ดร.กุลยา เผยว่าร้อยละ 60 ของผู้ที่มีภาวะสิ้นยินดี มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้มากขึ้น เพราะทั้งสองภาวะมีมีความเหมือนกันอยู่ 2 เรื่อง คือ อารมณ์ความรู้สึกทางลบ และสิ่งที่เคยทำให้รู้สึกชื่นชอบสบายใจ ไม่ได้ทำให้มีความสุขอีกต่อไป

“เวลาเป็นซึมเศร้า ใจจะดิ่ง อารมณ์ลบจะเยอะ พยายามทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อดึงความรู้สึกให้ดีขึ้น ไม่ว่าดูหนัง ฟังเพลง เล่นกับน้องแมวที่บ้าน ก็อาจจะยังไม่ดีขึ้น ซึ่งถ้าเรามีภาวะซึมเศร้าต่อเนื่องนาน ๆ ก็จะเกิดภาวะสิ้นยินดีได้” ผศ.ดร.กุลยา อธิบาย

รับมือ! \'Passive Death Wish\'ภาวะเฉยชากับชีวิต อยู่ก็ได้ ตายก็ดี

วิธีรับมือ “ภาวะสิ้นยินดี”

หากเราสังเกตเห็นอาการเบื้องต้นของภาวะสิ้นยินดีแล้ว เราต้องรีบปรับอารมณ์เสียตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้พลังบวกกลับมาในชีวิตให้เร็วที่สุด ผศ.ดร.กุลยา แนะวิธีการรับมือกับภาวะสิ้นยินดี ดังนี้    

  • เติมพลังบวก ซึ่งทำได้หลายรูปแบบ โดยอาจเริ่มจากลงมือทำในสิ่งที่เคยชอบ ฝึกเติมพลังบวกเรื่อย ๆ ทีละเล็กทีละน้อย เพิ่มอารมณ์บวกบ่อย ๆ เพื่อกันอารมณ์ลบให้ไปห่าง ๆ
  • หมั่นสังเกตและรับรู้อารมณ์ตามที่เป็น ไม่ว่าจะอารมณ์ด้านลบหรือบวก
  • โอบกอดตัวเองและหมั่นเติมความรักให้ตัวเอง
  • ฝึกใจ ปรับโฟกัส ให้ชื่นชมกับการกระทำและความสำเร็จเล็ก ๆ ในชีวิต ยังไม่ต้องทำกิจกรรมที่ต้องลงแรงมาก ให้เริ่มจากทำสิ่งเล็ก ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป และปล่อยให้ตัวเองมีความสุขระหว่างทำกิจกรรม
  • ปรึกษานักจิตวิทยาและจิตแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและการรักษา

ผศ.ดร.กุลยา กล่าวให้คำแนะนำทิ้งท้ายว่า เวลาที่เป็นภาวะสิ้นยินดี เรามักจะเก็บตัวอยู่ในห้อง อยากอยู่คนเดียว ดังนั้น เราควรจะออกไปข้างนอกบ้าง ให้ร่างกายได้เจอแสงแดด ได้รับแสงสว่างบ้าง ลองทำอะไรเล็ก ๆ น้อยๆ แล้วสังเกตว่าอะไรที่ช่วยดึงใจเราให้ดีขึ้นได้บ้าง สิ่งที่ช่วยให้เรารู้สึกดีกับตัวเอง เท่านี้ก็ดีพอแล้ว

สามารถเข้ารับคำปรึกษาได้ที่ศูนย์สุขภาวะทางจิต (The Center for Psychological Wellness) คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยณ ชั้น 5 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ สามารถสอบถามผ่านทางช่องทางออนไลน์ได้ที่ โทรศัพท์ 06-1736-2859  หรือ  Facebook: ศูนย์สุขภาวะทางจิต (Center for Psychological Wellness) 

อ้างอิง: hellokhunmor ,ศูนย์สุขภาวะทางจิต (The Center for Psychological Wellness)