เช็กเลย!ความเชื่อเรื่องโรคทางสมองและการเคลื่อนไหว เรื่องไหนจริงบ้าง?

เช็กเลย!ความเชื่อเรื่องโรคทางสมองและการเคลื่อนไหว เรื่องไหนจริงบ้าง?

หลายครั้งที่ได้เห็นวิธีการเช็กโรคทางสมองและการเคลื่อนไหวมากมาย ทั้งจากเกม หรือแบบสอบถามต่างๆ รวมถึงความเชื่อที่มีให้อ่านมากมาย แต่จริงๆ แล้ว ความเชื่อ เกมเหล่านั้น เป็นเรื่องจริงหรือไม่ ?

KEY

POINTS

  • โรคระบบประสาทและสมอง สามารถเกิดขึ้นได้ ในกลุ่มผู้ที่มียีนผิดปกติ ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป และหากได้รับปัจจัยเพียงเล็กน้อย ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการผิดปกติได้
  • เช็กความเชื่อเกี่ยวกับสมองและการเคลื่อนไหว ที่สามารถพบได้บ่อยๆ ซึ่งความเชื่อบางเรื่องก็เป็นความจริง แต่ความเชื่อบางเรื่องก็ไม่ใช่เรื่องจริง
  • การฉีดโบท็อกซ์ไปยังกล้ามเนื้อตาที่เกร็งหรือกระตุก ก็เป็นอีกทางเลือกในการรักษาอาการผิดปกติดังกล่าวได้ แต่จะไม่ใช่สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกเมื่อพบอาการตากระตุก

หลายครั้งที่ได้เห็นวิธีการเช็กโรคทางสมองและการเคลื่อนไหวมากมาย ทั้งจากเกม หรือแบบสอบถามต่างๆ รวมถึงความเชื่อที่มีให้อ่านมากมาย แต่จริงๆ แล้ว ความเชื่อ เกมเหล่านั้น เป็นเรื่องจริงหรือไม่ ?

อาการผิดปกติทางสมองและระบบประสาท หลาย ๆ คนอาจคิดว่าโรคและอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องนั้น มักจะเกิดเฉพาะกับผู้สูงวัย ทั้งที่จริงๆแล้วนั้นสามารถพบได้กับคนทุกเพศทุกวัย

สมอง’ เป็นอวัยวะที่สำคัญ และสลับซับซ้อนที่สุด เพราะสมองทำหน้าที่ไม่ต่างจากศูนย์กลางในการควบคุมการทำงานของทุกส่วนในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะต่าง ๆ การเคลื่อนไหว ความคิด ความจำ ประสาทรับรู้ หรือพฤติกรรมการตอบสนองต่อสิ่งรอบตัว เพราะหากไม่ได้รับการรักษาก็อาจทำให้แขนขาอ่อนแรง อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือก่อให้เกิดความพิการแก่ร่างกายได้ และหากรุนแรงก็อาจถึงขั้นอันตรายถึงชีวิต

โดยโรคระบบประสาทและสมอง สามารถเกิดขึ้นได้ ในกลุ่มผู้ที่มียีนผิดปกติ ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป และหากได้รับปัจจัยเพียงเล็กน้อย ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการผิดปกติได้

รวมถึงผู้ที่ไม่มียีนผิดปกติ สามารถป้องกันตัวเองจากโรคของสมองและระบบประสาทได้ด้วยการรักษาสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงลักษณะการใช้ชีวิตที่ทำให้เกิดความเสี่ยง เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

วิจัยเผย ‘วาซาบิ’ อาจช่วย ‘ผู้สูงอายุ’ ให้ความจำดีขึ้นได้

อย่าขี้เกียจแปรงฟัน! วิจัยพบ 'โรคเหงือก' เชื่อมโยงต่อ 'ภาวะสมองเสื่อม'

โรคที่พบบ่อย ของระบบประสาทและสมอง

  • โรคหลอดเลือดสมองตีบ

มีอาการของแขน ขา หรือใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งชา อ่อนแรง เคลื่อนไหวลำบาก หรือเคลื่อนไหวไม่ได้ อย่างทันทีทันใด เกิดขึ้นเนื่องจากหลอดเลือดแดงไปเลี้ยงสมองตีบ ตัน หรือแตก ทำให้เนื้อสมองขาดอาหารและออกซิเจน เกิดภาวะเนื้อสมองเสียหาย

  • โรคอัลไซเมอร์

เกิดจากการที่เซลล์สมองถูกทำลายโดยไม่มีการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นทดแทน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความบกพร่องทางสมองในส่วนของสติปัญญา เช่น ความคิด ความจำ และการตัดสินใจ ในขณะที่สมองส่วนที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวยังใช้การได้ดี

  • โรคเนื้องอกสมอง

เกิดจากการที่มีเนื้อเยื่อเจริญเติบโตผิดปกติในเซลล์สมอง หรือบริเวณใกล้เคียงสมอง จนกระทบต่อระบบการทำงานของระบบสมอง และประสาท ทำให้เกิดอาการต่างๆ กับร่างกาย

  • โรคลมชัก

เกิดจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมอง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม สมองพิการแต่กำเนิด พยาธิในสมอง เส้นเลือดสมองผิดปกติ สมองได้รับความกระทบกระเทือน มีเนื้องอกสมอง

เช็กเลย!ความเชื่อเรื่องโรคทางสมองและการเคลื่อนไหว เรื่องไหนจริงบ้าง?

  • โรคพาร์กินสัน

เป็นผลมาจากการตายของเซลล์สมองซึ่งทำหน้าที่ผลิตสารเคมีที่เรียกว่า โดพามีน (Dopamine) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ เมื่อระดับของโดพามีนลดลง การควบคุมกล้ามเนื้อก็ยากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการสั่นบริเวณมือ แขน ขา ขากรรไกร เคลื่อนไหวช้า ขยับแขนขา แสดงท่าทางและเดินลำบาก

  • โรคกลุ่มการเคลื่อนไหวผิดปกติ หรือ กล้ามเนื้อบิดเกร็ง

ทำให้อวัยวะบางส่วนเกิดจากการกระตุก เคลื่อนตัวช้าแบบซ้ำ ๆ โดยจะเกิดอาการเมื่อเวลาเครียด หรือกังวล

  • ปวดศีรษะและไมเกรน

เป็นการปวดศีรษะที่รบกวนชีวิตประจำวัน โดยมีลักษณะการปวดแบบตุบๆ เป็นจังหวะ มักจะเกิดข้างเดียวของศีรษะ แต่ก็สามารถเป็นทั้งสองข้างได้ โดยอาการปวดในช่วงแรกมักมีความรุนแรงเพียงเล็กน้อย และค่อยๆ เพิ่มความรุนแรงขึ้น

ความเชื่อภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยๆ 

โดยความเชื่อเกี่ยวกับโรคทางสมองและการเคลื่อนไหวนั้น มีหลากหลายความเชื่อและคำถามเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมที่อาจทำให้วัยอิสระรู้สึกกลัวและคิดว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตามเพื่อช่วยสร้างอนาคตที่ทุกคนจะไม่กลัวตัวเลขอายุที่มากขึ้น

นักวิจัยของเบย์เครสต์ ผู้นำด้านการวิจัย และดูแลสุขภาพผู้สูงวัยระดับโลกจากประเทศแคนาดา ต้องการทำลายความเชื่อผิด ๆ เหล่านี้พร้อมนำเสนอความจริงเบื้องหลังเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมที่พบบ่อย 5 ข้อ  ดังนี้

ความเชื่อที่ 1: โรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของวัยอิสระ

ความจริง: ผลของการวิจัยแสดงให้เห็นว่า เมื่อคุณก้าวเข้าสู่วัยอิสระก็สามารถลดความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมได้ นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญของเบย์เครสต์กล่าว แม้ว่าจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ แต่ยิ่งวัยอิสระหรือผู้ดูแลเริ่มเข้าใจหลักการชะลอการลดลงของความสามารถในการรับรู้ และนำไปปฏิบัติเร็วเท่าใด ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงภาวะสมองเสื่อมได้ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้เริ่มต้นได้ไม่ยาก เช่น การสนับสนุนให้วัยอิสระร่วมงานสังคมบ่อย ๆ การออกกําลังกายเป็นประจํา และการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและบำรุงระบบประสาท

ความเชื่อที่ 2: โรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมเกิดขึ้นกับวัยอิสระเท่านั้น

ความจริง: จากข้อมูลของสมาคมโรคอัลไซเมอร์แห่งแคนาดา ภาวะสมองเสื่อมในวัยก่อน 65 ปี คิดเป็นประมาณร้อยละ 2 ถึง 8 ของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมทั้งหมดโดยการรักษาผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่อายุยังน้อยต้องใช้โปรแกรมเฉพาะ ซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในวิธีการแบบดั้งเดิมเสมอไป ตัวอย่างเช่น โปรแกรมรักษาด้วยเพลง ซึ่งโปรแกรมสำหรับวัยอิสระทั่วไปจะเล่นเพลงจากปี 1940 แต่คนกลุ่มนี้ต้องการเพลงยุค 70 และ 80 เป็นต้น โดยนักสังคมสงเคราะห์ของเบย์เครสต์อธิบายเหตุผลเบื้องหลังโครงการนำร่องล่าสุด ที่มุ่งเป้าไปยังกลุ่มผู้ป่วยที่ยังไม่เข้าสู่วัยอิสระ

เช็กเลย!ความเชื่อเรื่องโรคทางสมองและการเคลื่อนไหว เรื่องไหนจริงบ้าง?

ความเชื่อที่ 3: การหลงลืมเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น

ความจริง: ความท้าทายบางอย่างในด้านของความจำที่มาพร้อมกับอายุที่มากขึ้นเป็นเรื่องปกติและสามารถจัดการได้ แต่ก็ยังมีปัญหาอื่น ๆ ที่อาจเป็นสัญญาณของความเสื่อมถอยทางสติปัญญาและภาวะสมองเสื่อมด้วยเช่นกัน โดยโปรแกรม Memory and Aging ของเบย์เครสต์ ถูกสร้างขึ้นเพื่อช่วยให้วัยอิสระเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ปกติและสิ่งที่น่ากังวล หลังจากเรียนรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงใดเป็นเรื่องปกติ โปรแกรมนี้จะช่วยให้วัยอิสระเพิ่มประสิทธิภาพของความสามารถในการเรียนรู้และจดจำสิ่งที่สำคัญ และอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ สถาบันวิจัย Rotman ของเบย์เครสต์พบว่าผู้สูงวัยอาจจะไม่ได้ลืมข้อมูล เพียงแต่ว่าข้อมูลที่อยู่ในความทรงจำเหล่านั้นมีจำนวนมากเกินไป

ความเชื่อที่ 4: โรคอัลไซเมอร์เป็นเพียงการสูญเสียความทรงจำเท่านั้น

ความจริง: ข้อเท็จจริงคือโรคสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์มักส่งผลกระทบต่อสมองส่วนที่รับผิดชอบในการเรียนรู้ การคิด และการสื่อสารของผู้คน ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ พฤติกรรม และการตอบสนองทางอารมณ์ ความเสี่ยงของผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมจะมีอาการผิดปกติทางพฤติกรรมหรือจิตใจอยู่ระหว่างร้อยละ 50 ถึง 90 ซึ่งอาการเหล่านี้อาจรวมถึงการเดินเตร่ อาการซึมเศร้า และพฤติกรรมก้าวร้าว และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจทำให้ผู้ดูแลรู้สึกว่าผู้ป่วยเป็นคนที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างมาก

ความเชื่อที่ 5: สายเกินไปที่จะป้องกันภาวะสมองเสื่อม

ความจริง: ไม่มีคำว่าสายเกินไปที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์หรือภาวะสมองเสื่อม ในช่วงวัยกลางคน (ระหว่างอายุ 45-65 ปี) ปัจจัยเสี่ยงในการดำเนินชีวิตสำหรับภาวะสมองเสื่อมคือโรคหลอดเลือดหัวใจ และการได้ยิน โดยในช่วงวัยอิสระ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การไม่ออกกำลังกาย การไม่มีส่วนร่วมกับสังคม และภาวะซึมเศร้า

นักประสาทวิทยาของเบย์เครสต์ กล่าวว่า เร็ว ๆ นี้ ที่ศูนย์ดูแลมีเป้าหมายในการลดปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ โดยการมุ่งเน้นไปในเรื่องสุขภาพสมอง สมรรถภาพทางกาย โภชนาการ และการมีส่วนร่วมทางสังคมสำหรับวัยอิสระ ซึ่งรวมถึงโปรแกรมสุขภาพชุมชน คลินิกเฉพาะทาง และการวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อป้องกันและรักษาภาวะสมองเสื่อม ทั้งหมดนี้เพื่อผสมผสานการดูแลผู้ป่วยในศูนย์และการวิจัยเข้าด้วยกัน

เช็กเลย!ความเชื่อเรื่องโรคทางสมองและการเคลื่อนไหว เรื่องไหนจริงบ้าง?

ความเชื่อเรื่องสมองและการเคลื่อนไหว เรื่องไหนจริงบ้าง?

เมื่อพูดถึงอาการผิดปกติทางสมองและระบบประสาท หลาย ๆ คนอาจคิดว่าโรคและอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องนั้น มักจะเกิดเฉพาะกับผู้สูงวัย แต่หากเราดูชื่อของโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องออกไม่ว่าจะเป็น โรคลมชัก โรคลมบ้าหมู โรคพาร์กินสัน โรคติกส์ รวมถึงอาการกระตุก ชัก เกร็ง อาการตัวสั่น ก็จะพบได้ทันทีว่า โรคและอาการผิดปกติที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น สามารถพบได้กับคนทุกเพศทุกวัย และที่สำคัญ มีความเชื่อเกี่ยวกับวิธีรักษา หรืออาการที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ มากมายในโลกออนไลน์ แต่จะมีความเชื่อใดเป็นจริงบ้าง ในวันนี้เราจะมาคลายสงสัย ด้วยคำตอบจากแพทย์เฉพาะทางระบบประสาทและสมอง

1. รู้สึกตัวแต่ลุกไม่ขึ้น ขยับไม่ได้ คืออาการผีอำ จริงหรือไม่

 ไม่จริง เพราะอาการดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเหนือธรรมชาติอย่างการถูกผีอำแต่อย่างใด และสามารถอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ได้ โดยอาการนี้ เกิดจาก วงจรการหลับและการตื่นที่มาเกี่ยวข้องกันพอดี ทำให้เราเกิดรู้สึกตัวในขณะที่สมองยังหลับอยู่ โดยในขณะนั้นสมองจะยังสั่งการให้แขนขาไม่ขยับไปตามความฝัน หรือความคิด จึงเป็นที่มาของการที่เรายังรู้สึกตัว แต่ไม่สามารถขยับร่างกายได้นั่นเอง ภาษาทางการแพทย์เรียกอาการนี้ว่า Sleep Paralysis สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งตอนก่อนจะหลับและก่อนจะตื่น ส่วนมากจะมีอาการไม่เกิน 10 นาที

2. ฝันว่าตกจากที่สูง แปลว่ามีวิญญาณจ้องมองอยู่ จริงหรือไม่

ไม่จริง เช่นเดียวกับอาการรู้สึกตัวแต่ลุกไม่ขึ้น ขยับไม่ได้ การฝันว่าตกจากที่สูงแล้วตื่นมาผวา เป็นหนึ่งในภาวะนอนกระตุก ที่มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Hypnic Jerk จะมีอาการรู้สึกเหมือนถูกกระชาก หรือตกจากที่สูง อาการกล้ามเนื้อกระตุกในช่วงภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่นนี้ มีสาเหตุสำคัญส่วนใหญ่เกิดจากความเครียด การอดหลับอดนอน และความวิตกกังวล

3. ช่วยคนเป็นลมชักต้องงัดปาก ป้องกันไม่ให้กัดลิ้น จริงหรือไม่

ไม่จริง เพราะการเอาช้อนหรือของแข็งเข้าไปในปาก มีโอกาสเกิดอันตรายมากกว่าประโยชน์ การเอาช้อนเข้าไปในปากของผู้ป่วยลมชัก มีโอกาสที่ช้อนจะหลุดลงไปอยู่ในหลอดลม หรือถ้าหากนำนิ้วมือสอดเข้าไป ก็อาจเกิดอันตรายถูกกัดจนบาดเจ็บได้

4. ตากระตุกเป็นลางบอกเหตุ ขวาร้าย ซ้ายดี จริงหรือไม่

 ไม่จริง เพราะอาการตากระตุกนั้น เกิดจากกล้ามเนื้อรอบดวงตาหดเกร็งชั่วขณะ หรือศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า Eyelid Twitching ภาวะนี้เป็นคำเรียกโดยรวม โดยส่วนใหญ่จะมีปัจจัยกระตุ้นมาจากความเครียด การพักผ่อนน้อยไม่เพียงพอ ภาวะตาแห้ง การจ้องมองจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ รวมถึงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน โดยปกติแล้ว อาการผิดปกตินี้จะหายได้เอง ในเวลาไม่กี่สัปดาห์

5. การฉีดโบท็อกซ์ ช่วยแก้อาการตากระตุกได้ จริงหรือไม่

จริง การฉีดโบท็อกซ์ไปยังกล้ามเนื้อตาที่เกร็งหรือกระตุก ก็เป็นอีกทางเลือกในการรักษาอาการผิดปกติดังกล่าวได้ แต่จะไม่ใช่สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกเมื่อพบอาการตากระตุก แต่จะเป็นทางเลือกในการรักษาหลังจากหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดปัจจัยกระตุ้นอาการผิดปกติ รวมถึงทานยาแล้วยังไม่หาย

เช็กเลย!ความเชื่อเรื่องโรคทางสมองและการเคลื่อนไหว เรื่องไหนจริงบ้าง?

6. ถ้าตอนเด็กไม่เคยมีอาการชัก โตขึ้นมาก็จะไม่ชัก จริงหรือไม่

ไม่จริง เพราะโรคลมชักสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย บางคนเป็นตอนเด็ก หายตอนโต บางคนไม่เคยมีอาการอะไรเลยตอนเด็ก แต่เพิ่งมีอาการตอนโต ก็เป็นไปได้เช่นกัน แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว โรคลมชักในเด็กมักมีสาเหตุในการเกิดโรคที่ชัดเจน เช่น จากภาวะไข้สูง อุบัติเหตุ โรคทางพันธุกรรม จนไปถึงเนื้องอกในสมอง

7. หนังที่มีแสงแฟลชวูบวาบ ส่งผลกระทบกับคนที่เป็นลมชัก จริงหรือไม่

 จริง แสงแฟลช หรือแสงที่วูบวาบ เป็นปัจจัยกระตุ้นที่ส่งผลกับคนไข้โรคลมชักบางชนิด เช่น โรคลมชักที่มีจุดกำเนิดชักออกจากสมองทั้งสองข้างพร้อม ๆ กัน หรือโรคลมชักที่มีจุดกำเนิดชักจากสมองบริเวณด้านหลัง เป็นต้น

8. พูดไปกระตุกไป สบถคำหยาบ เป็นอาการผิดปกติทางสมอง จริงหรือไม่

 จริง อาการผิดปกติดังกล่าวมีชื่อเรียกว่าภาวะ Tics เป็นภาวะของการเคลื่อนไหวผิดปกติอย่างหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีอาการยักคิ้ว ขยิบตา ย่นจมูก ยักไหล่ บิดคอ สะบัดมือ และในบางรายจะทำเสียงในคอ หรือสบถออกมาเป็นคำพูด ซึ่งจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มอาการที่มีชื่อว่า Tourette Syndrome โดยสาเหตุของการเกิดอาการผิดปกติ อาจเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ที่เป็นปัจจัยกระทบจากพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อม การรักษากลุ่มอาการดังกล่าวจะมุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการใช้ยา เพื่อปรับสารสื่อประสาทในสมองให้มีความสมดุลอีกครั้ง

9. ผู้ป่วยโรคลมชัก ยิ่งชักยิ่งทำให้สมองเสื่อม จริงหรือไม่

จริง เพราะเวลาร่างกายเกิดอาการลมชัก เปรียบได้กับการเกิดไฟช็อตในสมอง 1 จุด แล้วสามารถลามไปช็อตจุดอื่น ๆ ได้ จุดอื่น ๆ ของสมองก็สามารถถูกกระทบกระเทือนด้วยได้ ยิ่งเกิดอาการชักบ่อย ๆ หรือมีอาการชักนาน ๆ ก็ยิ่งส่งผลต่อระดับสติปัญญาและความเฉลียวฉลาด

 10. อาการมือสั่นเป็นอาการของโรคพาร์กินสันเท่านั้น จริงหรือไม่

ไม่จริง แม้อาการมือสั่นเป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน แต่ก็ยังสามารถพบได้ในภาวะหรือโรคอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เช่น ภาวะตื่นเต้น ตกใจ หิวข้าว หรือภาวะมีไข้ ติดเชื้อ หรือป่วยเป็นโรคอื่น ๆ เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ และสามารถพบได้จากการรับยาหรือสารบางชนิดเข้าสู่ร่างกาย แม้กระทั่งภาวะบิดเกร็งของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ ตลอดจนอาการสั่นที่ไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น

เช็กเลย!ความเชื่อเรื่องโรคทางสมองและการเคลื่อนไหว เรื่องไหนจริงบ้าง?

11. ต้มตะไคร้กับใบสะระแหน่ ดื่มเช้าเย็น ช่วยแก้โรคลมบ้าหมู จริงหรือไม่

 ไม่จริง เพราะสมุนไพรดังกล่าวไม่ได้มีผลในการรักษาโรคลมบ้าหมู และวิธีการรักษาลมบ้าหมู หลัก ๆ ในทางการแพทย์คือการใช้ยา และปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยให้หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ เช่น การอดนอน การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แต่ถ้าหากคนไข้ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาแล้ว แพทย์ก็จะพิจารณาการผ่าตัดเพื่อนำจุดกำเนิดการชักออก

อย่างไรก็ตาม มีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับ สมองและการเคลื่อนไหวอยู่ค่อนข้างเยอะ ในวันนี้เมื่อได้รับความรู้ที่ถูกต้องจากแพทย์เฉพาะทางด้านสมองและระบบประสาทแล้ว อย่าลืมส่งต่อความรู้ที่ถูกต้องกันต่อไปในวงกว้าง และถ้าหากใครมีปัญหา ขอให้รีบไปพบแพทย์

อ้างอิง:โรงพยาบาลเมดพาร์ค ,โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย4