‘ภาวะตาแห้ง’ โรคกวนใจทุกวัย อันตรายจากการจ้องจอ รู้ก่อน ป้องกันได้
‘มือถือ แท็บเล็ต’ กลายเป็นอวัยวะที่ 33 ของทุกเพศทุกวัย เพราะหลายๆ กิจกรรม ไม่ว่าจะเรียน ทำงาน การสื่อสาร การซื้อของ หรือทุกๆ พฤติกรรมการใช้ชีวิตล้วนต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเหล่านั้นทั้งสิ้น แต่เมื่อมีข้อดี ย่อมมีข้อเสียควบคู่ร่วมด้วย
KEY
POINTS
- โรคตาแห้งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัย โดยเฉพาะวัยทำงาน เนื่องจากมีการใช้สายตาระยะใกล้ อย่าง การจ้องจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานหรือการอ่านหนังสือต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมง
- โดยทั่วไปตาแห้งมักไม่รุนแรงมาก แต่ในบางกลุ่ม บางคนเกิดจากผิวตาแห้งและกระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองจนอักเสบ น้ำตาไหลมากเพราะเคืองตา ถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน ๆอาจเกิดแผลที่กระจกตา และตาบอดได้
- สิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลป้องกันตาแห้งคือ การปรับพฤติกรรมการใช้สายตาให้ถูกต้อง
‘มือถือ แท็บเล็ต’ กลายเป็นอวัยวะที่ 33 ของทุกเพศทุกวัย เพราะหลายๆ กิจกรรม ไม่ว่าจะเรียน ทำงาน การสื่อสาร การซื้อของ หรือทุกๆ พฤติกรรมการใช้ชีวิตล้วนต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเหล่านั้นทั้งสิ้น แต่เมื่อมีข้อดี ย่อมมีข้อเสียควบคู่ร่วมด้วย
‘โรคตาแห้ง’อีกหนึ่งภาวะที่คนปัจจุบันประสบเป็นจำนวนมาก มีสาเหตุหลักมาจากการใช้มือถือ แท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ ซึ่งส่งผลให้เกิดการระคายเคืองดวงตารวมไปถึงการเกิดโรคตาแห้งที่อาจส่งผลเสียได้มากกว่าที่คิด
โดยมักจะแสดงอาการระคายเคืองตาเหมือนมีเศษผงอยู่ในดวงตา รู้สึกแสบตาง่ายโดยเฉพาะเมื่อมีลมพัดเข้าสู่ดวงตา หรือเมื่ออยู่ในห้องแอร์จะรู้สึกได้ว่าดวงตาแห้งและรู้สึกดีเมื่อกระพริบตา หรือการอ่านหนังสือ การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ในระยะใกล้แล้วผ่านไปสักระยะจะรู้สึกว่าตาเบลอ ๆ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นอาการที่บ่งบอกถึงโรคตาแห้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
จ้องหน้าจอจน “ตาแห้ง” ชาวออฟฟิศต้องรู้! วิธีเลือก “ยาหยอดตา” ให้ปลอดภัย
ทำไม? ถึงตาแห้งได้
พญ.ภัศรา จงขจรพงษ์ สาขาวิชากระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่าสาเหตุของโรคตาแห้ง ในปัจจุบันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัย โดยเฉพาะวัยทำงาน เนื่องจากมีการใช้สายตาระยะใกล้ อย่างการจ้องจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานหรือการอ่านหนังสือต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมง
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายในตัวบุคคล เช่น เพศ โดยพบว่าเพศหญิงเป็นมากกว่าเพศชาย, อายุ ที่พบว่าเมื่อเข้าสู่อายุ 65 ปีขึ้นไป มีอัตราการเกิดโรคตาแห้งสูงกว่าวัยอื่น, การมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคความดันโลหิตสูง ที่ต้องมีการทานยาขับปัสสาวะและส่งผลข้างเคียงทำให้เกิดตาแห้ง หรือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ต้องทานยาบางตัวที่ส่งผลข้างเคียงเช่นกัน
ในทางพฤติกรรมของการใช้สายตาระยะใกล้ มักทำให้มีการกระพริบตาน้อยลงถึง 3 เท่ากว่าภาวะปกติ ซึ่งโดยปกติคนเราจะกระพริบตา 8-12 ครั้งต่อนาที สำหรับการใช้สายตาระยะใกล้ซึ่งเป็นการตั้งใจมากเกินไปและเกิดการเพ่งมอง จะส่งผลให้น้ำตาระเหยออกโดยไม่ได้รับการทดแทน ส่งผลให้ดวงตาขาดความชุ่มชื้นและเกิดปัญหาตาแห้งตามมา นอกจากนี้ในบางรายอาจเกิดจากการศัลยกรรมบริเวณหนังตาหรือเปลือกตา รวมถึงการใช้ขนตาปลอม ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดตาแห้งได้เช่นกัน
รู้จักชั้นต่าง ๆ ของน้ำตา
โดยปกติคนทั่วไปจะมีต่อมน้ำตาที่บริเวณด้านบนของคิ้ว ทำหน้าที่ผลิตส่วนประกอบของน้ำตาที่เป็นส่วนของน้ำเพื่อมาหล่อเลี้ยงดวงตาให้เกิดความชุ่มชื้น นอกจากนี้ยังมีต่อมไขมันบริเวณเปลือกตาที่ผลิตไขมันออกมาซึ่งเป็นส่วนประกอบของน้ำตาเช่นกัน โดยไขมันจะทำหน้าที่ป้องกันการระเหยของน้ำตา ทำให้น้ำตาหล่อเลี้ยงดวงตาได้ยาวนานขึ้น โดยทั้งส่วนของน้ำและไขมันคือองค์ประกอบที่ทำให้น้ำตามีคุณภาพดี ช่วยป้องกันโรคตาแห้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พญ. ธารินี เสงี่ยมพรพาณิชย์ จักษุวิทยา โรงพยาบาลกรุงเทพ อธิบายว่าตาแห้งเป็นโรคที่พบได้บ่อย เป็นภาวะที่ปริมาณน้ำตาไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวตา สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย แม้อาการตาแห้งส่วนใหญ่จะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ก่อปัญหากวนใจในการใช้ชีวิตได้ไม่น้อย และถ้าปล่อยให้ลุกลามก็อาจถึงขั้นอักเสบเรื้อรังรุนแรงจนเสี่ยงต่อการตาบอดได้
ฟิล์มน้ำตาที่ผิว เนื้อเยื่อส่วนหน้าของลูกตามีด้วยกัน 3 ชั้น จากชั้นนอกสุดไปถึงชั้นในสุด ได้แก่
- ชั้นไขมัน (Lipid Layer) สร้างจากต่อมไขมันที่เรียกว่า Meibomian Gland ที่อยู่ภายในเปลือกตา / หนังตา มีส่วนช่วยให้น้ำตาไม่ระเหยไปอย่างรวดเร็ว
- ชั้นที่เป็นน้ำ (Aqueous Layer) สร้างจากต่อมน้ำตาที่เรียกว่า Lacrimal Gland ชั้นนี้เป็นส่วนประกอบส่วนกลางและส่วนหลักของน้ำตา
- ชั้นเมือก (Mucin Layer) สร้างจากเซลล์ที่เรียกว่า Goblet Cell ในเยื่อบุตาและในกระจกตา เคลือบอยู่ด้านในสุดของผิวตา
การที่มีความผิดปกติของน้ำตาในแต่ละชั้นก่อให้เกิดกลุ่มอาการตาแห้งได้ในรูปแบบต่าง ๆ กัน
ส่วนในคนที่ทำศัลยกรรมบริเวณหนังตา เช่น ผ่าตัดทำตาสองชั้น มักเกิดปัญหาตาแห้งตามมา เนื่องจากได้มีการทำลายต่อมไขมันที่เปลือกตา ทำให้น้ำตาระเหยได้ง่ายขึ้นเพราะไม่มีไขมันที่ทำหน้าที่ป้องกันการระเหย บางครั้งยังเกิดการหลับตาที่ไม่สนิท เพราะแผลผ่าตัดยังมีอาการบวม จึงทำให้ 6 เดือนแรกหลังผ่าตัดทำตามักมีอาการตาแห้ง นอกจากนี้การติดขนตาปลอมก็มีความเสี่ยงเช่นกัน สืบเนื่องมาจากการใช้น้ำยาล้างทำความสะอาดกาวติดขนตา ที่มีส่วนทำให้ตาแห้ง และทำให้ไขมันอุดตันได้ง่าย
สัญญาณเตือนตาแห้ง
- ระคายเคืองตา ไม่สบายตา
- แสบตา ตาล้าง่าย
- ตาแดง มีขี้ตาเมือก ๆ ได้
- ตาสู้แสงไม่ได้ น้ำตาอาจไหลมาก เพราะเคืองตา
- ตามัว มองไม่ชัด ชัดบ้างไม่ชัดบ้าง
- รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในดวงตา
- ลืมตายาก รู้สึกฝืด ๆ ในตา (ในตอนเช้า)
หากมีอาการเหล่านี้ควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย หาสาเหตุ และให้การรักษาโดยเร็ว เพราะอาการเหล่านี้นอกจากบ่งบอกว่าเป็นโรคตาแห้งแล้ว หลายคนอาจไม่รู้ว่า โรคตาแห้งอาจเป็นภาวะที่เกิดร่วมกับโรคอื่น ๆ หรืออาจเกิดจากพฤติกรรมที่ละเลยไม่ดูแลสุขภาพตาก็ได้เช่นกัน
น้ำตาระเหยเร็วผิดปกติ (Evaporative Dry Eyes)
- กลุ่มต่อมไขมันที่เปลือกตาทำงานผิดปกติหรืออุดตัน (Meibomian Gland Dysfunction) เปลือกตาอักเสบ เมื่อชั้นไขมันเกิดความผิดปกติ จะทำให้น้ำตาระเหยเร็ว
- กลุ่มที่มีความผิดปกติของเปลือกตา เช่น การปิดตาไม่สนิท การกะพริบตาน้อยผิดปกติ ฯลฯ
- ภาวะหลังจากโดนสารเคมีหรือแพ้ยารุนแรง จะทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุตาจนอาจเกิดแผลเป็น ทำให้การสร้างน้ำตาชั้นเมือกที่ติดกับกระจกตามีปัญหา
- การใช้สายตามากเกินไป พบมากในวัยทำงาน จากการใช้งานคอมพิวเตอร์และสวมคอนแทคเลนส์ ซึ่งเป็นตัวการดูดน้ำออกจากลูกตา ทำให้ตาแห้ง เมื่อรวมกับพฤติกรรมชอบจ้องจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ โดยไม่ค่อยกะพริบตา ทำให้กระตุ้นน้ำตาออกมาน้อยและระเหยเร็ว
อาการจากการใช้งานคอมพิวเตอร์ DES
เนื่องจากการทำงานผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ เป็นการใช้สายตาระยะใกล้ถึงระยะกลาง ซึ่งมักใช้สมาธิและความตั้งใจสูง ส่งผลให้เกิดการเพ่งมอง พฤติกรรมนี้มักทำให้เกิดปัญหาการกระพริบตาน้อยลงตามมา บวกกับการทำงานในห้องแอร์ ซึ่งมีสภาพอากาศที่แห้ง ประกอบกับแสงจ้าจากคอมพิวเตอร์ คือสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลให้ตาแห้งได้ง่าย
โดยเฉพาะการทำงานติดต่อกัน 2 ชั่วโมงเป็นต้นไปโดยไม่พักเลย จะ ส่งผลให้เกิดตาแห้งได้ง่ายมาก หากปล่อยไว้ไม่ดูแล จะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุตา มีอาการตาแดงแสดงออกมา และถ้าหากตาแห้งมาก ๆ กระจกตาสามารถถลอกได้หรือเป็นแผล ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
เลือกน้ำตาเทียมอย่างไร? เมื่อตาแห้ง
การปรับพฤติกรรมการใช้สายตาให้เหมาะสมร่วมกันการใช้น้ำตาเทียมหยอดตา ซึ่งมีส่วนประกอบของน้ำและไขมัน อาจใช้แว่นกอกเกิลส์เพื่อป้องกันการระเหยของน้ำตาร่วมด้วยโดยเฉพาะในผู้ที่อยู่กับลมแรง เช่นคนที่ทำงานขับขี่มอเตอร์ไซค์ส่งของทั้งวัน เป็นต้น
การใช้น้ำตาเทียมเพื่อหยอดตาสามารถใช้งานได้ในทุก 1-2 ชั่วโมง เมื่อเกิดอาการตาแห้งระหว่างทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรืออ่านหนังสือเป็นเวลานานและกิจกรรมอื่นๆ หากในเวลาปกติที่ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรในการใช้สายตาระยะใกล้สามารถหยอดได้ทุก 4-6 ชั่วโมง หรือหยอดตามอาการเมื่อรู้สึกว่าตาแห้ง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำตาเทียมด้วย
น้ำตาเทียมแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
น้ำตาเทียม แพทย์อาจแนะนำให้ใช้น้ำตาเทียมเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับดวงตา ซึ่งมี 2 ประเภทหลักคือ
- กลุ่มที่มีสารกันเสีย ควรใช้ไม่เกินวันละ 4 ครั้ง อาจแบ่งเป็นเช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน เหมาะกับอาการตาแห้งไม่รุนแรง สารกันเสียที่ใช้มีหลายประเภท บางประเภทสลายไปเมื่อโดนตาหรือโดนแสง แพทย์อาจแนะนำให้ใช้บ่อย ๆ กว่า 4 ครั้งต่อวันได้เป็นบางช่วง แต่ถ้าตาแห้งมากต้องใช้บ่อย ๆ ตลอดทุกวัน แพทย์มักแนะนำใช้กลุ่มไม่มีสารกันเสีย
- กลุ่มที่ไม่มีสารกันเสีย มักเป็นหลอดเล็ก ๆ เปิดแล้วมีอายุ 24 ชั่วโมง หรือเป็นขวดที่เป็นลักษณะมีระบบวาล์วพิเศษที่ใช้ได้นาน 6 เดือน กลุ่มนี้ใช้บ่อยได้ตามต้องการ เช่น ทุก 1 – 2 ชั่วโมง เหมาะกับผู้ที่ตาแห้งรุนแรงมาก แต่คนตาแห้งทั่วไปก็ใช้ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม น้ำตาเทียมมีหลายรูปแบบทั้งแบบน้ำใสไม่ทำให้ตามัวนักใช้หยอดกลางวันซึ่งความเข้มข้นมีหลากหลายให้เลือกตามความรุนแรงและแบบเจลที่ใช้ป้ายก่อนนอนหรือกลุ่มขี้ผึ้งที่มีความเหนียวกรณีต้องการคงความชุ่มชื้นนานในตอนกลางคืน
- ยากระตุ้นทำให้เกิดน้ำตา (Secretogogue) เช่น Diquafosol เพิ่มการสร้างน้ำตาชั้นเมือกและชั้นน้ำ
- ยาลดการอักเสบของเปลือกตา เช่น ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ฯลฯ
- ยาลดการอักเสบของตากลุ่ม Steroids ช่วยลดการอักเสบของผิวตา กรณีมีการอักเสบจากตาแห้ง
- ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ชนิดหยอด เช่น ยา Cyclosporine ชนิดหยอด เพื่อลดการอักเสบและเพิ่มปริมาณน้ำตา ลดอาการตาแห้ง
- การดูแลทำความสะอาดเปลือกตาและประคบอุ่น (Warm Compression and Lid Hygiene) อาจใช้แชมพูเด็กผสมเจือจาง หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตา ลดอาการต่อมไขมันเปลือกตาอุดตัน ทำให้ชั้นไขมันของน้ำตาดีขึ้น
- Autologus Serum ช่วยรักษาอาการตาแห้งชนิดรุนแรง ลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ เพราะมีสารช่วยเรื่องการฟื้นตัวกลับคืนสู่ปกติของเนื้อเยื่อได้ดีขึ้น โดยเจาะเลือดของผู้ป่วยไปปั่นและแยกเตรียมเป็น Serum แล้วนำมาหยอดร่วมกับการใช้น้ำตาเทียม
- การอุดท่อระบายน้ำตา (Punctual Plug) เป็นการอุดบริเวณช่องทางที่ไหลออกของน้ำตา (Punctum) ลงสู่โพรงจมูก ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราวและชนิดอุดถาวร โดยใส่ Silicone Plug หรือ Punctal Cautery โดยการจี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาระบายออกจากตา ซึ่งเป็นการอุดบริเวณไหลออกของน้ำตาแบบถาวรในกลุ่มที่เป็นรุนแรงมาก
วิธีป้องกันโรคตาแห้งของวัยทำงานหน้าจอ
- จัดตารางเวลาเพื่อพักสายตาทุก 1-2 ชั่วโมง โดยในแต่ละครั้งให้พักประมาณ 5 นาที โดยการหลับตาหรือมองไปที่ไกลๆ เพราะการมองระยะใกล้จะทำให้เกิดการเกร็งของสายตา แต่การมองระยะไกลจะเป็นการผ่อนคลาย
- ระยะที่เหมาะสมสำหรับการทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์คือควรเว้นระยะห่างระหว่างดวงตากับหน้าจอประมาณ 20-24 นิ้ว
- ควรใช้งานคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดหน้าจอไม่เล็กจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดการเพ่ง หน้าจอที่เหมาะสมคือ 19 นิ้วขึ้นไป
- เพิ่มเติมด้วยการติดแผ่นกรองแสงที่หน้าจอ หรือสวมแว่นตาที่ช่วยลดการกระเจิงแสงหรือลดแสงสีฟ้า ช่วยถนอมสายตาได้ในระดับหนึ่ง
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เป่าผมไม่ให้ใกล้ตา หลีกเลี่ยงการใช้พัดลม หรืออยู่ในห้องแอร์นาน ๆ หากจำเป็นต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์
ปล่อยตาแห้งเสี่ยงตาบอด
โดยทั่วไปตาแห้งมักไม่รุนแรงมาก แต่ในบางกลุ่ม เช่น คนไข้โรคข้อ โรคแพ้ภูมิตนเองชนิดรุนแรง หรือผู้ที่มีอาการแพ้ยา โดนไฟคลอก หรือโดนสารเคมีต่าง ๆ อาจส่งผลให้เซลล์ที่ทำหน้าที่ผลิตน้ำตาทำงานผิดปกติ ตาจึงแห้งมาก คนไข้ตาแห้งบางราย มีอาการน้ำตาไหลเยอะ เพราะเกิดจากผิวตาแห้งและกระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองจนอักเสบ น้ำตาจึงไหลมากเพราะเคืองตา ถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ ก็อาจเกิดแผลที่กระจกตา ถ้าเป็นแผลเรื้อรังอาจทำให้กระจกตาทะลุได้ ถ้ารุนแรงก็อาจถึงขั้นตาบอด เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรละเลยอาการตาแห้งโดยเด็ดขาด
ดูแลป้องกันตาแห้งเบื้องต้น
สิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลป้องกันตาแห้งคือ การปรับพฤติกรรมการใช้สายตาให้ถูกต้อง
- หยุดพักใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือทุก ๆ 20 นาที โดยอาจหลับตาสัก 20 วินาที หรือมองไกล ๆ สัก 20 ฟุตจะทำให้สบายตามากขึ้น
- งดการใช้คอนแทคเลนส์ต่อเนื่อง ควรมีการหยุดพักโดยใส่แว่นสลับ
- ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือมือถือในที่ ๆ มีแสงสว่างเพียงพอ
- เตือนตัวเองให้กะพริบตาให้บ่อย น้ำตาจะได้เคลือบตาอยู่เป็นระยะ ๆ
- หากอยู่ในที่ที่มีอากาศแห้ง ร้อน ลมแรง แนะนำให้สวมแว่นเพื่อกันแดดกันลม
- กินอาหารให้ครบทุกหมู่และอาหารที่มีโอเมกา 3 (Omega 3 Fatty Acid) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ อาจช่วยลดการอักเสบบรรเทาอาการตาแห้งได้
เพราะตาแห้งเมื่อเป็นแล้วอาจเรื้อรังได้ หากมีอาการรุนแรงลองปรับการใช้งานสายตาแล้วไม่ดีขึ้น ควรพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยบรรเทาอาการและลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้
อ้างอิง : ramachannel ,โรงพยาบาลกรุงเทพ