‘ฟิลิปส์’ เติบโตเกิน 10% เผยผลสำรวจระบุชัด AI ขับเคลื่อนธุรกิจ Healthcare
“เทรนด์ธุรกิจเครื่องมือแพทย์”ต่างให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI อย่างมาก ซึ่งในอีก 3 ปีข้างหน้า AI จะเป็นตัวสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ Healthcare
KEY
POINTS
- ฟิลิปส์ ประเทศไทย มีอัตราการเติบโตระดับDouble- Digit และติดอันดับ 1 ใน 3 ของตลาดเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย ครึ่งปี 2024 โตเกิน 10%
- 36% ผู้นำในวงการHealthcare กำลังสนใจลงทุนด้านเทคโนโลยี AI และ 62% มีแผนที่จะลงทุนด้านเทคโนโลยี AI เพิ่มภายใน 3 ปีข้างหน้า
- ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ข้อจำกัดด้านการเงิน ส่งผลกระทบในการดูแลผู้ป่วย และความสามารถของรพ.ในการบริการสาธารณสุขทั้งในด้านเวลาและคุณภาพ
“เทรนด์ธุรกิจเครื่องมือแพทย์”ต่างให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI อย่างมาก ซึ่งในอีก 3 ปีข้างหน้า AI จะเป็นตัวสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ Healthcare
ข้อมูลจาก The Insight Partners เปิดเผยว่า มูลค่าตลาดเครื่องมือแพทย์ ตลาดเครื่องมือแพทย์ของโลกเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.1% คาดว่า ในปี2027 จะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 7.44 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ตลาดเครื่องมือแพทย์ของไทย คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 3.38 พันล้านเหรียญ หรือกว่าแสนล้านบาท ในปี2027 มีอัตราเติบโตเฉลี่ย (ปี 2019-2027) 8.1% ต่อปี
ขณะที่ Medical Devices Intelligence Unit (MEDIU) ระบุว่า 2564 ไทยมีมูลค่าส่งออกเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นอันดับที่ 19 ของโลกซึ่งสินค้าส่งออกของไทยจะเป็นกลุ่มวัสดุทางการแพทย์ หรือวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ที่ใช้กระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อน และเป็นสินค้าที่มูลค่าเพิ่มไม่สูงมากนัก โดยส่งออกเป็นอันดับที่ 15 ของโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ยกระดับ 'การแพทย์-สุขภาพ' ดึง Medical Tourism ดัน Medical Hub
ปี 2024 โอกาสทอง 'ธุรกิจการแพทย์' ป้องกัน ฟื้นฟู รักษา รับเทรนด์สุขภาพ
โต Double- Digit ครึ่งปี 2024 เกิน 10%
“บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย)” มีการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ด้วยการนำเทคโนโลยี AI มามีส่วนสำคัญในนวัตกรรม โดยการนำ AI มาใช้ในเครื่องมือแพทย์นี้ ไม่ได้นำมาแทนแพทย์ แต่นำมาช่วยให้ชีวิตการทำงานของแพทย์สะดวกสบายมากขึ้น สามารถรับคนไข้ได้มากขึ้น อีกทั้ง ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Healthcare Informatics) และAI จะช่วยสนับสนุนให้แพทย์เข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ทุกที่ ทุกเวลาเช่นกัน
“วิโรจน์ วิทยาเวโรจน์” ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่าปี 2023 เป็นปีที่ฟิลิปส์ ประเทศไทย มีอัตราการเติบโตระดับDouble- Digit และติดอันดับ 1 ใน 3 ของตลาดเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เติบโตมากสุดที่ เป็น กลุ่ม Cardiovascular Care หรือเครื่องมือแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจและรักษาโรคหัวใจ และเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือด อาทิ กลุ่มผลิตภัณฑ์ Image Guided Therapy (IGT) ที่เติบโตกว่า 40% ในปี 2023 เมื่อเทียบกับปี 2022 และกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ (Informatics) ก็เติบโตกว่า 40% ในปี 2023 เช่นกัน
ขณะที่ ปี2024 ครึ่งปีแรกมีอัตราการเติบโตเกิน 10% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกปี 2023 โดยกลุ่ม Image Guided Therapy (IGT) ที่เป็นเครื่องตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจเติบโตมากที่สุด ซึ่งเติบโตกว่า 20% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2024 เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2023 เนื่องจากปีนี้ เรามีเปิดตัวนวัตกรรมใหม่อย่าง Zenition ทั้งPortfolio พร้อมอัปเดทเทคโนโลยีใหม่ๆ ในเครื่อง Azurion อีกมากมาย
ปัจจัยเครื่องมือแพทย์เติบโตต่อเนื่อง
เนื่องจากมีผู้ป่วยโรค NCDs จำนวนมาก ขณะเดียวกันมีแพทย์เกี่ยวกับโรคหัวใจมากขึ้น ทำให้โรงพยาบาลทั้งโรงพยาบาลรัฐ อย่าง กลุ่มโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลเอกชนให้ความสนใจซื้อเครื่องดังกล่าวมากขึ้น โดยหลังจากนี้จะขับเคลื่อนธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและเครื่องมือแพทย์ให้เติบโตมากขึ้น
“ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ขณะเดียวกันจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งในช่วงโควิด-19 ธุรกิจ Healthcare เป็นหนึ่งธุรกิจที่ยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่สูงเท่ากับก่อนเกิดโควิด แต่ถือว่าได้รับผลกระทบเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่ในส่วนของเครื่องมือทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องเอกซเรย์ เครื่องตรวจวัดสัญญาณชีพ เครื่องอัลตราซาวด์ กลับได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ธุรกิจ Healthcare เติบโตต่อเนื่อง เพราะ Healthcare เป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ ดังนั้น ไม่ว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร Healthcare ยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง” วิโรจน์ กล่าว
ขาดแคลนแพทย์ส่งผลต่อผู้ป่วย
จากการสำรวจ Philips Future Health Index 2024 ในกลุ่มแพทย์ และโรงพยาบาล พบว่า ข้อจำกัดของ Healthcare นั้นมาจากการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบในการดูแลผู้ป่วย
- 77% มองว่าการให้บริการสาธารณสุขล่าช้ากำลังเป็นปัญหาหลัก
- 53% รายงานว่าความสามารถในการดูแลรักษาผู้ป่วยในถิ่นทุรกันดาร หรือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทำได้น้อยลง
- 50% เห็นว่าผู้ป่วยต้องเดินทางไกล เพื่อเข้าถึงการดูแลรักษาที่เหมาะสม
นอกจากนั้น ข้อจำกัดด้านการเงินเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่า
- 71% ผู้นำในวงการ Healthcare กล่าวว่าความล่าช้าในการให้บริการสาธารณสุขมาจากการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์
- 92% ข้อจำกัดด้านการเงินส่งผลต่อความสามารถขององค์กรในการบริการสาธารณสุขทั้งในด้านเวลาและคุณภาพ
- 59% การปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เป็นกลยุทธ์สำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถด้านการเงิน
AI ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ Healthcare
ขณะที่การสำรวจบริษัทที่ทำธุรกิจ Healthcare พบว่า 36% ผู้นำในวงการHealthcare กำลังสนใจลงทุนด้าน เทคโนโลยี AI และ 62% มีแผนที่จะลงทุนด้านเทคโนโลยี AI เพิ่มภายใน 3 ปีข้างหน้า ดังนั้น AI จะเป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญและขับเคลื่อนธุรกิจ Healthcare การบริการทางการแพทย์
“วิโรจน์” กล่าวต่อว่าทิศทางตลาดเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตค่อนข้างมาก เนื่องจากอัตราของประชากรสูงวัยในประเทศไทย ซึ่งผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่มักจะแก่ก่อนจะรวย อุบัติการณ์ของโรคNCDs ที่ปัจจุบันมีผู้ป่วยกลุ่มโรคดังกล่าวจำนวนมาก ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทยเพิ่มขึ้น และมูลค่าการจำหน่ายและส่งออกเครื่องมือแพทย์ของไทย ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ตลาดเครื่องมือทางการแพทย์ของไทยเติบโตมากสุดในอาเซียนอย่างที่เป็นอยู่
9-10% ของรายได้ นำไปใช้วิจัยพัฒนานวัตกรรม
“ฟิลิปส์” เป็นบริษัทที่ดำเนินการเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ ซึ่งในประเทศไทย เราก่อตั้งมา 70 กว่าปี โดยมุ่งเน้นพัฒนาและผลิตเครื่องมือนวัตกรรมทางการแพทย์ด้วยการนำเทคโนโลยี AI มาดำเนินการ
“วิโรจน์” กล่าวด้วยว่ารายได้ของฟิลิปส์ในแต่ละปี ประมาณ 9-10% จะใช้ในเรื่องของงานวิจัย โดยเฉพาะเรื่องของซอฟต์แวร์ AI ดังนั้น ในอนาคตผลิตภัณฑ์ฟิลิปส์ จะเป็นเรื่องของ AI ซอฟต์แวร์
"กลยุทธ์ทางธุรกิจของฟิลิปส์ ประเทศไทย ปีนี้ให้ความสำคัญกับการนำเสนอโซลูชั่นส์ที่ครอบคลุมทั้งด้านเครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ไปพร้อมๆ กับการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับบริการหลังการขาย ซึ่งเป็นจุดที่สร้างความแตกต่างให้กับเรา เมื่อเทียบกับคู่แข่ง ซึ่งสัดส่วนPortfolioเครื่องมือแพทย์ของฟิลิปส์ในปัจจุบัน Portfolio ที่ใหญ่สุดจะเป็นกลุ่มเครื่องมือที่เกี่ยวกับโรคหัวใจ Cardiovascular Care ประมาณ 50%"
กลุ่มลูกค้าของฟิลิปส์ เป็นกลุ่มโรงพยาบาล โดยส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลรัฐ โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ ประมาณ 70% และโรงพยาบาลเอกชน ประมาณ 30% ซึ่งประเทศไทย ถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบในกลุ่มอาเซียน หรือประมาณอันดับ 3-4 ในกลุ่มเอเชียแปซิฟิก (APAC)
พัฒนาโซลูชัน ช่วยแพทย์รักษาผู้ป่วย
"ฟิลิปส์" ถือเป็นอันดับ 2 ของโลกในยุโรป ที่สามารถจดทะเบียนลิขสิทธิ์เครื่องมือทางการแพทย์ได้จำนวนมาก รวมถึงมีการพัฒนาและผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ใหม่ๆ นอกจากนั้นมีการนำระบบ AI เข้ามาใช้ ทำให้ช่วยแพทย์วินิจฉัย รักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น
“ฟิลิปส์ ไม่ได้นำเสนอนวัตกรรม โซลูชันที่ครอบคลุมทั้งเครื่องมือแพทย์และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อธุรกิจเท่านั้น แต่ยังส่งมอบโซลูชันเพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วย ภายใต้ความร่วมมือกับบุคลากรทางการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลชั้นนำในประเทศไทย ผ่านการจัดงานประชุมวิชาการด้านHealthcare เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และนำเทคโนโลยีทางการแพทย์ไปใช้ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ สอดคล้องกับเป้าหมายในการดูแลสุขภาพให้แก่ทุกคน” วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย