หักล้างความรู้เดิม วิจัยใหม่ชี้ชัด คุยมือถือนานๆ ไม่ทำให้ป่วย ‘มะเร็งสมอง’

หักล้างความรู้เดิม วิจัยใหม่ชี้ชัด คุยมือถือนานๆ ไม่ทำให้ป่วย ‘มะเร็งสมอง’

หักล้างข้อมูลความรู้เดิม เมื่อวิจัยใหม่ล่าสุด เผย การใช้โทรศัพท์มือถือนานๆ ไม่เกี่ยวกับสาเหตุการเกิด ‘มะเร็งสมอง’ หรือมะเร็งอื่นๆ ในส่วนศีรษะ แม้ว่าจะใช้งานมือถือมานาน 10 ปีขึ้นไป หรือใช้งานบ่อยๆ ต่อวันก็ตาม

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่มักได้ยินคำเตือนประมาณว่า “อย่าคุยมือถือนานๆ หรือ ตอนนอนอย่าวางมือถือไว้ใกล้หัว เดี๋ยวจะเป็นมะเร็งสมอง ซึ่งผู้คนจะกังวลเรื่องนี้ก็ไม่แปลกหรอก เพราะสมัยนั้นมีการเผยแพร่การศึกษาชิ้นหนึ่งที่อ้างว่า สัญญาณจากโทรศัพท์มือถืออาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งสมองหรือบริเวณศีรษะ แต่ข้อมูลอัปเดตใหม่ล่าสุดปี 2024 กลับพบว่าเรื่องนี้ ไม่จริง!

ก่อนจะไปดูผลวิจัยชิ้นใหม่ ขอพาย้อนกลับไปในปี 2011 นักวิทยาศาสตร์ยุคนั้นเริ่มศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการใช้งานโทรศัพท์มือถือกับโรคมะเร็ง (เป็นการศึกษาในระยะเริ่มแรก) โดยศึกษาถึงความแตกต่างระหว่างกลุ่มคนที่มีเนื้องอกในสมองซึ่งอาจพัฒนาไปเป็นมะเร็ง และกลุ่มคนที่ไม่มีเนื้องอกสมอง ซึ่งใช้วิธีซักประวัติกลุ่มตัวอย่างเรื่องการสัมผัสโทรศัพท์มือถือของแต่ละคน

แต่การใช้วิธีวิจัยลักษณะนั้น ทำให้ผลการศึกษาเกิดความลำเอียง เพราะกลุ่มที่ไม่มีเนื้องอกให้ข้อมูลที่ดี แต่ในกลุ่มที่มีเนื้องอกมักจะรายงานข้อมูล “เกินจริง” 

ผลการศึกษาในระยะเริ่มต้นดังกล่าวจึงแสดงออกมาให้เห็นว่า การใช้โทรศัพท์มือถือแนบศีรษะเป็นเวลาหลายชั่วโมง อาจมีความเชื่อมโยงกับโรคมะเร็งสมอง ด้าน “สำนักงานวิจัยมะเร็งนานาชาติของ WHO หรือ IARC” ก็ออกประกาศกำหนดให้สนามความถี่วิทยุเช่นเดียวกับจากโทรศัพท์มือถือ อาจจะเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้ เทียบเท่ากับสารก่อมะเร็งชนิดอื่นๆ อีกหลายร้อยชนิดซึ่งยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าก่อให้เกิดอันตรายได้จริงหรือไม่ เช่น ว่านหางจระเข้, ผักดอง และการทำงานในร้านซักแห้ง

IARC ได้จำแนกประเภทสารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งไว้หลายประเภท โดยสารก่อมะเร็งต่างๆ ถูกนำมาจำแนกกว้างๆ ออกเป็นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มสารที่ชี้ชัดว่าเป็นสารก่อมะเร็งที่ “แน่นอน” (เช่น การสูบบุหรี่) ขณะที่อีกกลุ่มถูกนิยามว่า “อาจจะเป็นไปได้” หรือ “น่าจะเสี่ยง” เป็นสารก่อมะเร็ง นั่นทำให้การจำแนกแบบนี้ไม่มีความชัดเจน 

มีงานวิจัยว่า การใช้มือถือนานๆ เสี่ยงเป็นมะเร็ง ออกมาจำนวนมาก แต่กลับไม่มีหลักฐานชัดเจน

ช่วงเวลาหลังจากนั้น มีรายงานเกี่ยวกับการใช้มือถือที่เชื่อมโยงกับการเกิดโรคมะเร็งเผยแพร่ออกมาอีกจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่กลับไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ได้แน่ชัด ต่อมาในปี 2019 องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้มอบหมายให้มีการทบทวนงานวิจัยเหล่านั้นใหม่อย่างเป็นระบบอีกครั้ง เพื่อตรวจสอบว่าการใช้โทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์ไร้สายอื่นๆ ที่ปล่อยคลื่นวิทยุออกมา จะมีผลกระทบต่อสุขภาพจริงหรือไม่?

หักล้างความรู้เดิม วิจัยใหม่ชี้ชัด คุยมือถือนานๆ ไม่ทำให้ป่วย ‘มะเร็งสมอง’

มาจนถึงวันนี้ในปี 2024 ข้อมูลชุดเดิมข้างต้นถูกหักล้างไปจนสิ้นซาก เมื่อทีมนักวิจัยชาวออสเตรเลีย นำโดย สำนักงานป้องกันรังสีและความปลอดภัยนิวเคลียร์แห่งออสเตรเลีย (Arpansa) ที่ได้รับมอบหมายจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ทำการรื้องานวิจัยเก่าๆ จำนวนมากกว่า 5,000 รายการ เอามาทบทวนใหม่อย่างเป็นระบบ และต้องผ่านการตรวจสอบหลักฐานการวิจัยคุณภาพสูงสุด 

จากนั้นจะคัดเอาเฉพาะการศึกษาวิจัยที่มีความเข้มงวดทางวิทยาศาสตร์สูงสุด และจะแยกการศึกษาที่อ่อนแอออกไป ในที่สุดก็สามารถสรุปผลการศึกษาวิจัยครั้งใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน พบว่า “โทรศัพท์มือถือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมะเร็งสมอง

ข้อมูลใหม่ล่าสุด นักวิจัยชี้ชัดแล้วว่า ไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ ระหว่างโทรศัพท์มือถือกับมะเร็งสมอง

รองศาสตราจารย์ เคน คาริพิดิส (Ken Karipidis) ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของ Arpansa เปิดเผยว่า ในการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสุดท้าย รวมถึงการศึกษาวิจัยเชิงสังเกตในมนุษย์ 63 รายการ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ระหว่างปี 1994 - 2022 ซึ่งถือเป็นการตรวจสอบที่ครอบคลุมที่สุดจนถึงปัจจุบัน ทีมวิจัยสรุปได้ว่า ไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างโทรศัพท์มือถือกับมะเร็งสมองหรือมะเร็งศีรษะและคออื่นๆ (มะเร็งของระบบประสาทส่วนกลาง มะเร็งสมอง เยื่อหุ้มสมอง ต่อมใต้สมองและหู เนื้องอกของต่อมน้ำลาย และเนื้องอกในสมอง) 

อีกทั้ง ระยะเวลาการใช้โทรศัพท์มือถือก็ไม่เชื่อมโยงกับโรคมะเร็ง ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้งานเป็นเวลานาน (เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือ 10 ปีขึ้นไป) และไม่มีความเกี่ยวข้องกับปริมาณการใช้โทรศัพท์มือถือ (จำนวนการโทรออกหรือเวลาที่ใช้โทรศัพท์) และไม่ใช่แค่โทรศัพท์มือถือ แต่ผลวิจัยนี้ก็ครอบคลุมไปถึง “อุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้เทคโนโลยีไร้สาย” ไม่ว่าจะเป็นแล็ปท็อป เครื่องส่งสัญญาณวิทยุและโทรทัศน์ เสาโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ 

“ผมค่อนข้างมั่นใจในข้อสรุปของเรา และข้อบ่งชี้สำคัญที่ทำให้เราค่อนข้างมั่นใจก็คือ แม้ว่าการใช้โทรศัพท์มือถือจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่จำนวนผู้ป่วยเนื้องอกในสมองยังคงเท่าเดิม เนื่องจากคลื่นสัญญาณมือถือ เป็นเพียงคลื่นวิทยุระดับต่ำ ซึ่งทุกวันนี้คนเราต้องเผชิญกับคลื่นวิทยุระดับต่ำในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ” คาริพิดิส ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันรังสีที่ไม่ก่อให้เกิดไอออน กล่าวย้ำ 

หักล้างความรู้เดิม วิจัยใหม่ชี้ชัด คุยมือถือนานๆ ไม่ทำให้ป่วย ‘มะเร็งสมอง’

ผลการวิจัยอีกชิ้น เผย การใช้มือถือนานๆ ไม่ได้ทำให้จำนวนอสุจิลดลง 

นอกจากนี้ WHO ยังมอบหมายให้ทีมวิจัยจาก Arpansa ทำการตรวจสอบอย่างเป็นระบบทอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งเป็นการตรวจสอบว่าการใช้มือถือนานๆ มีผลต่อการเจริญพันธุ์ของผู้ชายหรือไม่? ผลการศึกษาพบว่า ไม่มีหลักฐานของความเชื่อมโยงระหว่างโทรศัพท์และจำนวนอสุจิที่ลดลง 

ขณะที่ในการตรวจสอบอีกหนึ่งกรณีซึ่งดูว่าการใช้มือถือนานๆ มีผลต่อความสามารถในการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงหรือไม่? ผลการศึกษาพบว่า มีความเกี่ยวข้องกันในบางสถานการณ์ เช่น การส่งผลกระทบต่อน้ำหนักของเด็กแรกเกิด แต่อย่างไรก็ตาม ความเกี่ยวข้องดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อมารดาได้รับคลื่นวิทยุเกินกว่าขีดจำกัดความปลอดภัยอย่างมาก ซึ่งในชีวิตประจำวันคนเราไม่ได้สัมผัสคลื่นวิทยุที่เข้มข้นขนาดนั้น

ด้าน ทิม ดริสโคลล์ (Tim Driscoll) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยซิดนีย์และประธานคณะกรรมการด้านมะเร็งในอาชีพและสิ่งแวดล้อม ของสภามะเร็งแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า แม้ระเบียบวิธีของการทบทวนกลุ่มงานวิจัยต่างๆ ข้างต้น จะถูกนำมาตรวจสอบใหม่อย่างระบบและมีคุณภาพสูง แต่ตนมองว่าการศึกษานี้ก็ยังไม่ได้สมบูรณ์แบบนัก อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่มีน้ำหนักอย่างแน่นอนก็คือ โทรศัพท์มือถือควรได้รับการพิจารณาว่าปลอดภัยในการใช้งาน และไม่เกี่ยวกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคมะเร็ง

อย่างไรก็ตาม การทำงานของทีมวิจัยชุดนี้ ยังไม่จบลงเพียงแค่นี้ เพราะยังต้องทำการทบทวนและคัดกรองงานวิจัยเก่าๆ อีกจำนวนมาก  ซึ่ง เคน คาริพิดิส และทีมวิจัยกำลังทำงานในส่วนที่สองของการศึกษาต่อไป นั่นคือ การตรวจสอบความเชื่อมโยงของโทรศัพท์มือถือกับโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด non-Hodgkin เขาย้ำว่า เนื่องจากเทคโนโลยีด้านการสื่อสารยังพัฒนาก้าวหน้าต่อไปไม่หยุด การศึกษาเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทีมวิจัยต้องทำต่อไป