สติ แอพ พื้นที่ปลอดภัย คนมีปัญหาสุขภาพจิต

สติ แอพ พื้นที่ปลอดภัย  คนมีปัญหาสุขภาพจิต

จากตัวเลขที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 พบว่ามีคนไทยมีปัญหาสุขภาพจิต10 ล้านคน

KEY

POINTS

  • ประเทศไทยมีคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตถึง 10 ล้านคน บริการสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต ก็มีเจ้าหน้าที่ไม่มาก ขณะที่คนกำลังประสบปัญหาต้องการคนที่รับฟังอย่างรวดเร็วที่สุด แต่เข้าไม่ถึงการรักษา
  •  แพลตฟอร์ม สติแอพ จึงเข้ามาทำหน้าที่เป็น “ผู้ที่รับฟัง” ทำหน้าที่เสมือนระบบคัดกรอง ก่อนจะเข้าไปสู่กระบวนการรักษาในระดับที่สูงขึ้นต่อไป
  • มาตรฐานสากล จิตแพทย์ 1 คนดูแลผู้ป่วย 10 คนเท่านั้น  แพลตฟอร์ม สติ แอพ จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสามารถเชื่อมต่อกับผู้ฟังอาสาที่ผ่านการอบรมการฟังด้วยใจ

จากตัวเลขที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 พบว่ามีคนไทยมีปัญหาสุขภาพจิต10 ล้านคน ทุกวัยประสบปัญหาเครียด ซึมเศร้า จากการเรียน ความคาดหวังในอนาคต และขาดกิจกรรมในสังคมบุคลากรด้านสุขภาพจิตไม่เพียงพอต่อให้บริการ

แสดงให้เห็นว่าปัญหาสุขภาพจิต ยังคงเป็นประเด็นท้าทายสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพจิตและจิตเวชของไทย พบว่าในปี 2565 ไทยมีจำนวนจิตแพทย์รวมทั้งหมด 845 คน คิดเป็นอัตราส่วนจิตแพทย์ 1.28 ต่อ ประชากรแสนคน และมีนักจิตวิทยา (คลินิก) 1,037 คน คิดเป็น 1.57 ต่อประชากรแสนคน และ พยาบาลจิตเวช 4,064 คน คิดเป็น 6.14 ต่อประชากรแสนคน เท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เช็กอิน!ท่องเที่ยวยั่งยืน ตามรอยม้งไซเบอร์ พร้อมเรียนรู้ผลิตไฟฟ้าเกาะจิก

ไอเดีย!เตรียมความพร้อม “วัยชะ-รา-ล่า กับคุณหมอหลานอาม่า”

ธุรกิจเพื่อสังคม 

แพลตฟอร์ม Sati App พื้นที่ปลอดภัยของผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ก่อตั้งโดย “อมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์”อดีตผู้ป่วยสุขภาพจิต และเปิดให้บริการเมื่อ 3 ปีก่อนในนาม บริษัท สติ แอพ จำกัด โดยจดทะเบียนเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (Nonprofit Organization) เเละ กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)เพื่อเป็นพื้นที่รองรับผู้มีภาวะเครียดแชร์ความรู้สึกอย่างปลอดภัย โดยมีอาสาสมัครที่ผ่านการอบรมด้านสุขภาพจิตมาคอยรับฟัง 

ปัจจุบัน “อมรเทพ” ไม่ได้เป็นผู้ป่วยแล้ว แต่ยังไปพบแพทย์ต่อเนื่องเป็นประจำทุกๆ 6 เดือน เขาบอกว่าทุกวันนี้มีความสุขที่ได้ทำงานเป็นสื่อกลางให้คนที่มีปัญหาได้มีช่องทางในการสื่อสาร  มีคนช่วยรับฟังพวกเขาเวลาที่มีปัญหา โดยสติแอพ ทำงานร่วมกับกรมสุขภาพจิต และจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลและส่งต่อผู้ที่มีปัญหาต้องได้รับการดูแลรักษาต่อไป 

"ประเทศไทยมีคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตถึง 10 ล้านคน บริการสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต ก็มีเจ้าหน้าที่ไม่มาก ขณะที่คนที่กำลังประสบปัญหาต้องการคนที่รับฟังอย่างรวดเร็วที่สุด  แต่เข้าไม่ถึงการรักษา แพลตฟอร์ม สติแอพ จึงเข้ามาทำหน้าที่เป็น “ผู้ที่รับฟัง” ทำหน้าที่เสมือนระบบคัดกรอง ก่อนจะเข้าไปสู่กระบวนการรักษาในระดับที่สูงขึ้นต่อไป"

สติ แอพ พื้นที่ปลอดภัย  คนมีปัญหาสุขภาพจิต

3 ปีผู้ใช้บริการ40,000 ราย

ในงาน Sustainability Expo 2024 (SX2024) งานเอ็กซ์โปเพื่อความยั่งยืนที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 จากการผนึกกำลังของ 5 องค์กรธุรกิจชั้นนำ ได้แก่ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้, ปตท., เอสซีจี, ไทยเบฟเวอเรจ และไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ จัดตั้งแต่ 27 ก.ย.-6 ต.ค.2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) “อมรเทพ” ตั้งใจไปเล่าให้ได้ผู้เข้าร่วมสัมมนาฟังว่าทุกภาคส่วนของสังคมไทยต้อง ร่วมมือกันสร้างสภาพแวดล้อม และระบบการทำงานที่เอื้อต่อการมีสุขภาพจิตที่ดี และลดความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต อาทิ การให้สถานประกอบการจัดบริการสุขภาพจิตประจำปีแก่พนักงาน การยืดหยุ่นตารางเวลาการทำงาน  การจัดบริการสุขภาพจิตทางไกล เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการบริการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ใช้ประโยชน์จากสมาร์ตโฟนได้ทุกที่ ทุกเวลา

ตั้งแต่เปิดบริการมา 3 ปี ผู้ใช้บริการสติ แอพ ประมาณ 40,000 ราย ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ลาว สหรัฐ ออสเตรเลีย ยุโรป และมาเลเซีย มีอาสาสมัคร 640 กว่าคนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กทม. อนาคตอยากให้มีอาสาสมัครกระจายไปทั่วประเทศมากขึ้น เพื่อช่วยให้คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงมากขึ้น 

สังคมแห่งการฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ

“อมรเทพ” กล่าวว่าจริงๆแล้วระดับความเครียดของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนอาจจะเครียดเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เครียดไม่กี่วันก็หาย หรือบางคนเครียดกินเวลาเป็นสัปดาห์ ยิ่งเครียดเป็นระยะเวลาที่นานขึ้น ก็จะยิ่งนำไปสู่ความเครียดแบบเรื้อรังได้ ดังนั้นการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ หรือ Empathic Listening ก็จะเป็นการดีรัฐบาลควรสนับสนุนการสร้างพื้นที่นี้ให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะการมีคนคอยรับฟัง เป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ก็จะสามารถช่วยทำให้ทุกคนมีสุขภาพจิตที่ดีได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัย 3 ล้านคน จริงๆอาจจะมีผู้ป่วยประมาณ 10 ล้านคน จิตแพทย์ 1-2 คนต้องดูแลผู้ป่วย 1 แสนคน ขณะที่มาตรฐานสากล จิตแพทย์ 1 คนดูแลผู้ป่วย 10 คนเท่านั้น  แพลตฟอรฺ์ม สติ แอพ จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสามารถเชื่อมต่อกับผู้ฟังอาสาที่ผ่านการอบรมการฟังด้วยใจ ข้อมูลจะถูกเก็บเป็นความลับและไม่จำเป็นต้องระบุตัวตน เชื่อมต่อกับผู้ฟังได้โดยเร็วที่สุดตลอด 24 ชั่วโมง ทุกครั้งที่รู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือต้องการคนรับฟัง 

สติ แอพ พื้นที่ปลอดภัย  คนมีปัญหาสุขภาพจิต

คนไทยมีปัญหาสุขภาพจิต10 ล้านคน  

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 ในประเทศไทย พบผู้ป่วยเข้ารับบริการด้านจิตเวชมากขึ้น จากจำนวน 1.3 ล้านคน ในปีงบประมาณ 2558 เป็น 2.8 ล้านคน ในปีงบประมาณ 2562 และ 2.9 ล้านคน ในปีงบประมาณ 2566  แต่ผู้มีปัญหาอาจมากถึง 10 ล้านคน ปี 2556 พบผู้มีปัญหา 7 ล้านคน ส่วนปี 2566 พบผู้มีปัญหา 10 ล้านคน

จากการประเมินสุขภาพจิตตนเอง กรมสุขภาพจิต ข้อมูล ณ วันที่ 1 ต.ค.2566- 22 เม.ย.2567 พบว่า ปีงบประมาณ 2567 มีผู้เข้ารับการประเมิน 8.5 แสนคน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 โดยผู้เข้ารับการประเมิน จะมีอัตราความเครียดสูง ร้อยละ 15.4 เสี่ยงซึมเศร้า ร้อยละ 17.2 เสี่ยงฆ่าตัวตาย ร้อยละ 10.6

ปัญหาสุขภาพจิตไม่เพียงกระทบต่อตนเอง แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดคิด พบว่า ภาวะซึมเศร้า บวกกับความวิตกกังวลของประชากรทั่วโลก ทำให้วัยทำงานหายไป ประมาณ 12 พันล้านวัน สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เกือบ 1 ใน 5 ของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตไม่สามารถดูแลตนเองได้ ทำให้ครัวเรือนต้องจัดหาผู้ดูแล และเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลเป็นจำนวนมาก ผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ไม่ถึง 1 ใน 4 ได้รับการติดตามดูแล และเฝ้าระวังแนวทางที่กำหนด โดยในปี งบฯ พ.ศ. 2566 มีเพียง ร้อยละ 23.34 จากทั้งหมด 27,737 คน

ในกลุ่มวัยเด็กและเยาวชน จะมีปัญหาสุขภาพจิตในหลายเรื่อง โดยเฉพาะความเครียด พบว่า ปี 2567 (ม.ค.-มี.ค.2567 ) พบผู้ป่วยมีความเครียดเพิ่มขึ้นจากปี 2566 โดยในปี 2567 พบวัยเด็กและเยาวชนมีภาวะหมดไฟเพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.7 และภาวะเครียดสูง ร้อยละ 18.3 ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดสูง

กลุ่มอายุ 15-18 ปี ร้อยละ 38.4 และอายุ 19-22 ปี ร้อยละ 60.9 เครียดด้านการเรียนและความคาดหวังถึงงาน ในอนาคตมากที่สุดกลุมอายุ 23-25 ปี ร้อยละ 67.1 เครียดด้านการเงินของครอบครัว และร้อยละ 66.1 เครียดการเรียนและการทำงาน นอกจากนั้นในกลุ่มนี้ ยังมีภาวะการกลั่นแกล้ง ที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า พบว่า เด็กและเยาวชนไทย ร้อยละ 44.3 เคยถูกกลั่นแกล้ง โดยเกิดขึ้นภายในโรงเรียนมากถึง ร้อยละ 86.9 ส่งผลกระทบให้เกิดความเครียด ความรู้สึกอับอาย มีความมั่นใจในตนเองต่ำลง จนกระทั่งซึมเศร้า

วัยทำงานมีสาเหตุของปัญหาสุขภาพจิตหลายปัจจัย ทั้งความเครียด จากการทำงาน การติดสุรา การใช้สารเสพติด และปัญหาจากการดำรงชีพ โดยปัจจัยสำคัญอาจทำให้เผชิญปัญหาสุขภาพจิต คือ การทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตไปกับการทำงานการใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของแต่ละวันไปกับการทำงาน

กรุงเทพฯจัดอยู่ในอันดับที่ 5 จาก 100 เมืองของประเทศทั่วโลก ที่มีผู้คนทำงานหนักเกินไปและมีพนักงานประจำกว่า ร้อยละ 15.10 ทำงานล่วงเวลามากกว่า 48 ชั่วโมง/สัปดาห์คนกรุงเทพฯ 7 ใน10 มีอาการหมดไฟในการทำงานการทำงานหนัก ส่งผลให้เกิดปัญหาความเครียด ซึมเศร้า และหมดไฟในการทำงานได้ง่ายในปี 2566 วัยแรงงานขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวลไม่มีความสุขในการทำงานจำนวนมากถึง 5,989 สาย จาก 8,009 สาย ซึ่งหากภาวะเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องต่อเนื่อง จะทำให้ปัญหาสุขภาพร่างกายรุนแรงมากขึ้น

การขาดกิจกรรมและการอยู่คนเดียว พบว่า ผู้สูงอายุ ร้อยละ 84.93 มีความสุขในระดับที่ดี แต่ความสุขจะลดน้อยลงตามวัน

ผู้สูงอายุที่ต้องอยู่คนเดียว มีสูงถึง ร้อยละ 28.1 ของผู้สูงอายุทั้งหมด ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดกิจกรรมและบทบาททางสังคม โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่ไม่ได้ทำกิจกรรมใดๆ เลย ถึงร้อยละ 49.0 ของผู้สูงอายุทั้งหมด

สติ แอพ พื้นที่ปลอดภัย  คนมีปัญหาสุขภาพจิต

อีกทั้ง มีผู้สูงอายุจำนวนมากมีภาวะความจำเสื่อม และมีปัญหาสุขภาพจิตด้านอื่นๆ ร่วมด้วย โดยผู้สูงอายุ 8 แสนคน คิดเป็นสัดส่วน 10.2 ต่อประชากรแสนคน ต้องใช้ชีวิตอยู่กับภาวะความจำเสื่อม ซึ่งในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 90.0 มีปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ร่วมด้วย

ทั้งนี้ แม้ผู้สูงอายุจะมีอัตราการพยายามฆ่าตัวตายเพียง 14.42 ต่อ ประชากรแสนคน แต่กลับพบอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าช่วงวัยอื่นอยู่ที่ 9.47 คนต่อประชากรแสนคน

โดยจังหวัดที่มีจิตแพทย์ สูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร (5.0 ต่อประชากรแสนคน) ขณะที่บางจังหวัดไม่มีจิตแพทย์เลย โดยภาพรวม อัตราส่วนจิตแพทย์ของไทยต่ำกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนด และต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์

10ต.ค.วันสุขภาพจิตโลก

สหพันธ์สุขภาพจิตโลก (The World Federation for Mental Health: WFMH) ได้กำหนดให้วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันสุขภาพจิตโลก หรือ World Mental Health Day นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เพื่อให้ประชากรทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิต สำหรับประเด็นหลักในวันสุขภาพจิตโลก ปี 2567 หรือ World Mental Health Day 2024 คือสุขภาพจิตในที่ทำงาน (Mental Health at Work)โดยองค์การอนามัยโลกได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อเน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างสุขภาพจิตและการทำงาน สภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ สามารถทำหน้าที่เป็นปัจจัยป้องกันสุขภาพจิตได้ 

ทั้งนี้ สภาพที่ไม่ดีต่อสุขภาพจิต เช่น การถูกทำให้อับอาย การเลือกปฏิบัติ และการเผชิญกับความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การถูกคุกคามและสภาพการทำงานที่ย่ำแย่อื่น ๆ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต คุณภาพชีวิตโดยรวม และส่งผลต่อการมีส่วนร่วมหรือประสิทธิภาพในการทำงาน เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่จะใช้เวลาถึง 60% ของแต่ละวันอยู่ในที่ทำงาน จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการเร่งด่วนเพื่อให้แน่ใจว่างานป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพจิต และปกป้องและสนับสนุนสุขภาพจิตในที่ทำงาน