ถอดบทเรียน ‘โรคโกเชร์’สู่การดูแลผู้ป่วยโรคหายากอย่างยั่งยืน

ถอดบทเรียน ‘โรคโกเชร์’สู่การดูแลผู้ป่วยโรคหายากอย่างยั่งยืน

เนื่องในวันโรคโกเชร์สากล (International Gaucher Day) ซึ่งตรงกับทุกวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี “ศ.พญ. ดวงฤดี วัฒนศิริชัยกุล” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชพันธุศาสตร์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

KEY

POINTS

  • โรคโกเชร์ (Gaucher Disease)เป็นหนึ่งในตัวอย่างของโรคหายากที่มีกว่า 5,000 – 6,000 โรค และเป็นหนึ่งในตัวอย่างโรคหายากในกลุ่มแอลเอสดีซึ่งมีมากว่า 50 โรค
  • ตรวจยืนยันว่าเป็นโรคโกเชร์ ได้ถึง 3 วิธีคือ 1) นำเลือดมาตรวจเอนไซม์เม็ดเลือดขาว 2) ตรวจสารในเลือด หรือตรวจ Lyso-Gb1 เและ3) ตรวจความผิดปกติของยีน

  • ปีแรกสามารถรักษาผู้ป่วยโกเชร์ได้ถึง 12 คน และปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาทั้งสิ้น 23 คน และเคยมีผู้ป่วยโรคโกเชร์ที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกและหายขาดแล้ว 6 คน

เนื่องในวันโรคโกเชร์สากล (International Gaucher Day) ซึ่งตรงกับทุกวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี “ศ.พญ. ดวงฤดี วัฒนศิริชัยกุล” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชพันธุศาสตร์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโรคโกเชร์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ เกี่ยวกับโรคโกเชร์ รวมถึงโรคหายากอื่นๆ ในวงกว้าง เพื่อร่วมกันสร้างสังคมคุณภาพโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

โรคโกเชร์ (Gaucher Disease)เป็นหนึ่งในตัวอย่างของโรคหายากที่มีกว่า 5,000 – 6,000 โรค และเป็นหนึ่งในตัวอย่างโรคหายากในกลุ่มแอลเอสดีซึ่งมีมากว่า 50 โรค เป็นเพียงโรคในกลุ่มแอลเอสดีโรคเดียวที่ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาในประเทศไทย เนื่องจากยาได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2556 ถือเป็นโมเดลแห่งความหวังของผู้ป่วยโรคหายากอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับสิทธิและยังคงรอโอกาสเข้าถึงการรักษา

เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม โดยส่วนใหญ่มักแสดงอาการตั้งแต่เด็ก หรือในบางคนอาจแสดงอาการตอนเป็นผู้ใหญ่ โรคโกเชร์ แบ่งออกเป็น 3 ชนิด อาการแสดงของโรคโกเชร์รวมถึง ตับม้ามโต อาการทางกระดูก และระบบประสาท ส่วนใหญ่คนไทยมักจะเป็นโกเชร์ชนิดที่ 1 และชนิดที่ 3 โดยแรกคลอดจะดูปกติ แต่พออายุ 1-2 ขวบ อาจสังเกตได้ว่าท้องจะมีขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากตับและม้ามโต พบภาวะซีด เกล็ดเลือดต่ำ โดยทั่วไปแพทย์อาจจะนึกถึงโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคที่มีอาการใกล้เคียงกันและคนไทยเป็นมากกว่าทำให้ไม่ได้นึกถึงโรคโกเชร์ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เทรนด์สุขภาพ 2024 ดูแลสุขภาพแบบรายบุคคล

ปี2573ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโต2เท่า โอกาสทางธุรกิจของ“ประชาชนไทย”

3 วิธีตรวจยืนยันโรคโกเชร์

สำหรับที่แสดงอาการในเด็ก ส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ 3 มีอาการรุนแรงกว่าโรคโกเชร์ที่แสดงอาการในผู้ใหญ่  หากแพทย์ทั่วไปตรวจแล้วพบอาการโรคที่ไม่ตรงไปตรงมา ให้สงสัยได้ว่าคนไข้อาจเป็นโรคหายากโรคใดโรคหนึ่ง หรือโรคโกเชร์ ควรส่งต่อให้แพทย์ด้านพันธุกรรมหรือแพทย์โรคเลือด เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยและรักษาต่อไป

ปัจจุบันสามารถตรวจยืนยันว่าเป็นโรคโกเชร์ ได้ถึง 3 วิธีคือ

1) นำเลือดมาตรวจเอนไซม์เม็ดเลือดขาว โดยโรงพยาบาลรามาธิบดี สามารถตรวจได้ภายใน 2-3 วันก็ทราบผล

2) ตรวจสารในเลือด หรือตรวจ Lyso-Gb1 เป็นสารที่บ่งชี้ว่าเป็นโรคโกเชร์ ซึ่งผู้ป่วยโกเชร์จะมีสารชนิดนี้สะสมอยู่ในเลือด 

3) ตรวจความผิดปกติของยีนเพื่อยืนยันโรคโกเชร์ 

หากตรวจพบ 1 ใน 3 หรือ 2 ใน 3 วิธีนี้ก็สามารถยืนยันได้ว่าเป็นโรคโกเชร์ ปัจจุบันแพทย์จะแนะนำให้ครอบครัวที่มีประวัติหรือมีญาติที่ป่วยเป็นโกเชร์ เข้ารับการตรวจเพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากโรคโกเชร์เกิดจากพันธุกรรมจากความผิดปกติของยีนซึ่งมักพบยีนแฝง (หรือพาหะ) ในทั้งพ่อและแม่ จากงานวิจัยในคนไทยตรวจพบคนเป็นพาหะโรคโกเชร์ 1 คน จาก 200 คน หรือคิดเป็น 0.5%

 "บุญ พุฒิพงศ์ธนโชติ" ประธานมูลนิธิโรคพันธุกรรมแอลเอสดี  ในฐานะผู้ปกครองผู้ป่วยโรคโกเชร์เล่าว่าย้อนไปเมื่อ 17-18 ปีที่แล้ว ตอนนั้นลูกอายุ 2 ขวบกว่ามีไข้ขึ้นสูงจึงพาไปโรงพยาบาล โชคดีที่หมอตรวจร่างกายละเอียดและคลำเจอตับ ม้ามโต ผิดปกติ จึงเกิดความสงสัยว่าจะเป็นโรคทางพันธุกรรม ซึ่งก็ใช้เวลาตรวจนานถึง 2 เดือน จนทราบว่าลูกป่วยเป็นโรคโกเชร์ค่ายารักษาโรคนี้สูงถึง 2 ล้านบาทต่อปี และต้องรักษาไปตลอดชีวิตนอกจากโรคโกเชร์แล้ว ยังมีอีกหลายโรคจึงเป็นที่มาของการก่อตั้งมูลนิธิโรคพันธุกรรมแอลเอสดี มีการจัดตั้งคณะทำงานประกอบด้วยแพทย์ด้านพันธุกรรมและกลุ่มผู้ปกครอง

ถอดบทเรียน ‘โรคโกเชร์’สู่การดูแลผู้ป่วยโรคหายากอย่างยั่งยืน

รักษาผู้ป่วยโกเชร์ได้12 คน

คณะทำงานได้รวบรวมสถิติข้อมูลต่างๆ และได้นำเสนอเรื่องไปยังบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อให้พิจารณาบรรจุยารักษาโรคโกเชร์ เนื่องด้วยโรคโกเชร์สามารถรักษาหายขาดได้และไม่เป็นภาระงบประมาณโดยในปี 2556 ยาได้ถูกบรรจุเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ สามารถเข้าถึงการรักษาและเบิกยาได้

โดยในปีแรกสามารถรักษาผู้ป่วยโกเชร์ได้ถึง 12 คน และปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาทั้งสิ้น 23 คน และเคยมีผู้ป่วยโรคโกเชร์ที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกและหายขาดแล้ว 6 คน อย่างไรก็ดี ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการหาไขกระดูกที่เข้ากันได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหากเข้ากันไม่ได้ร่างกายจะสร้างปฎิกิริยาต่อต้านและอาจเป็นอันตรายอย่างรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้

‘ยีนบำบัด’ทางเลือกในอนาคต

ศ.พญ. ดวงฤดี กล่าวเสริมว่า โรคหายากในแต่ละโรค จะมียารักษาที่ราคาแตกต่างกันไป บางโรคค่ายารักษา 2-3 แสนต่อปี บางโรคหลักล้านต่อปี ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีและวิธีการรักษาใหม่ๆ เช่นยีนบำบัด (Gene Therapy)โดยจะมีการปรับแต่งยีนที่ผิดปกติใส่เข้าไปในคนไข้เพื่อให้หายจากโรค รักษาเพียงครั้งเดียวแต่หายตลอดชีวิต ค่ารักษาประมาณ 50–60 ล้านบาท แต่หากเทียบกับค่ารักษาปีละ 2 ล้านบาทต่อคน หากรักษายาวนาน 50 ปี ก็เท่ากับ 100 ล้านบาท

เพราะโรคหายากจะต้องรักษาไปตลอดชีวิต ทำให้ต้องใช้งบประมาณมากกว่าหลายเท่า จึงทำให้มีการคิดวิธีรักษาแบบใหม่ คือ ‘ยีนบำบัด’ ฉีดครั้งเดียวแต่หายขาด คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้นมาก ครอบครัวและผู้ป่วยไม่ต้องทนทุกข์ทรมาน กลับมาใช้ชีวิตปกติ

 แม้ว่าปัจจุบันโรคโกเชร์ยังไม่มีการรักษาด้วยยีนบำบัด แต่โรคหายากบางโรคมีการรักษาด้วยวิธีนี้แล้ว การสร้างการรับรู้ให้กับสังคมเพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนไปสู่ภาครัฐจึงเป็นสิ่งจำเป็น  ฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันพิจารณาหารือถึงกระบวนการ และแนวทางใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับการเข้าถึงรักษาโรคหายาก

รวมทั้งส่งเสริมให้มีผลิตแพทย์ด้านพันธุกรรมเพิ่มเติม เพื่อบรรจุและส่งไปประจำยังเขตสุขภาพ 13 เขตทั่วประเทศ เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปอย่างถูกต้องและรวดเร็ว เพราะยิ่งตรวจพบเร็วเท่าไร คนไข้ก็สามารถเข้าถึงการรักษาเร็วเท่านั้น และยังเป็นประโยชน์ป้องกันโรคเกิดซ้ำอีก เนื่องจากทั้งประเทศไทยมีเพียง 28 คน อยู่ภาคเหนือ 1 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 คน และนอกนั้นอยู่ในกรุงเทพฯ รวมทั้งปรับนโยบายเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณายา และงบประมาณ ให้เข้ากับบริบทของสังคมและสอดคล้องกับนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อเร่งผลักดันการเข้าถึงการรักษาโรคหายากที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภั ยและยั่งยืน

วิธีการรักษาโรคโกเชร์

1.ยาเอ็นไซม์ทดแทน โดยการให้ ยาเข้าทางหลอดเลือดดำทุก 2 สัปดาห์ เพราะยานี้จะทำงานได้ดีประมาณ 2 สัปดาห์ จากผู้ป่วยที่ท้องป่องเหมือนลูกโป่ง พอรักษาไปสักพัก ท้องยุบกลับมาเป็นปกติ ตับม้ามยุบหาย หายจากอาการซีดและเกล็ดเลือดกลับมาเป็นปกติ เด็กโตขึ้นและมีพัฒนาการเช่นเด็กปกติ วิธีนี้จำเป็นต้องได้รับยารักษาอย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต

2.ยากิน อาจจะยังไม่เหมาะกับผู้ป่วยคนไทยและคนเอเชียเนื่องจากส่วนใหญ่จะเป็นโกเชร์ชนิดที่มีอาการค่อนข้างรุนแรง การรักษาแบบยากินอาจเหมาะกับชาติตะวันตกที่มีอาการไม่รุนแรงมากเท่าผู้ป่วยไทย

3.การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เม็ดเลือด เป็นวิธีที่หายขาดจากโรคได้ แต่ก็มีความเสี่ยง แพทย์จำเป็นต้องพูดคุยกับครอบครัว กรณีที่ปลูกถ่ายไขกระดูกแล้ว เม็ดเลือดสเต็มเซลล์ติด ก็จะต้องให้ยากดภูมิในช่วง 2 ปีแรก หลังจากนั้นคือหายขาด แต่กระบวนการที่จะหาไขกระดูกที่เข้ากันก็ไม่ง่าย ส่วนกระบวนการปลูกถ่ายไขกระดูก ก็มีความเสี่ยง โดยอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 8%

โดยส่วนใหญ่ในประเทศไทย แพทย์จะแนะนำการรักษาแบบผสมผสาน โดยในช่วงแรกที่ร่างกายยังอ่อนแอ แนะนำให้ยาเอ็นไซม์ทดแทนไปก่อนประมาณ 2-3 ปี จนสภาพร่างกายดีขึ้นกลับมาเป็นปกติ ระหว่างนี้ก็หาสเต็มเซลล์ที่เข้ากันได้ไปก่อนแล้วค่อยปลูกถ่ายไขกระดูกในภายหลัง