สุขภาพจิตในที่ทำงาน ความท้าทาย-โอกาสองค์กรยุคใหม่

สุขภาพจิตในที่ทำงาน  ความท้าทาย-โอกาสองค์กรยุคใหม่

วันที่ 10 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา เป็นวันสุขภาพจิตโลก ซึ่งปีนี้มีธีมที่น่าสนใจคือ “ถึงเวลาให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตในที่ทำงาน” (It's Time to Prioritize Mental Health in the Workplace)

KEY

POINTS

  • ปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงานไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ตัวบุคคลเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรโดยรวมด้วย 
  • การใส่ใจสุขภาพจิตในที่ทำงานไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นความจำเป็นที่ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญ ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะร่วมกันผลักดันให้สุขภาพจิตเป็นวาระสำคัญขององค์กรและสังคม
  • แก้ปัญหาสุขภาพจิตแต่ละองค์กรต้องอาศัยความยืดหยุ่นและการปรับให้เข้ากับบริบทเฉพาะของแต่ละองค์กร ที่สำคัญผู้บริหารและฝ่ายบริหารบุคคลต้องรับฟังเสียงของพนักงาน

วันที่ 10 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา เป็นวันสุขภาพจิตโลก ซึ่งปีนี้มีธีมที่น่าสนใจคือ “ถึงเวลาให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตในที่ทำงาน” (It's Time to Prioritize Mental Health in the Workplace) สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพจิตในบริบทของการทำงาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่

องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า ทุกปีมีวันทำงานสูญเสียไปถึง 12 พันล้านวันเนื่องจากปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกสูญเสียมูลค่าถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี นอกจากนี้ จากการศึกษาของ Deloitte ในปี 2022 พบว่า 1 ใน 3 ของพนักงานทั่วโลกรายงานว่าพวกเขารู้สึกเหนื่อยล้าหรือมีความเครียดสูง

ทั้งนี้ การศึกษาล่าสุดจาก World Economic Forum ยังชี้ให้เห็นว่า องค์กรที่ลงทุนในสุขภาพจิตของพนักงานมีแนวโน้มที่จะเห็นผลตอบแทนการลงทุน (ROI) สูงถึง 4 เท่าจากการเพิ่มผลิตภาพและการลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ นี่เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าการให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตในที่ทำงานไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่ถูกต้องทางจริยธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ชาญฉลาดอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

"วัยทำงาน"ป่วยจิต ระดับความเครียดพุ่ง!!

เมื่อ 'ที่ทำงาน' อาจไม่ดีต่อใจ คนทำงาน 'เหนื่อย ล้า' มองหาพื้นที่ปลอดภัย

ปัญหาสุขภาพจิตส่งผลทั้งตัวบุคคลและการทำงาน

“พญ.ปวีณา ศรีมโนทิพย์”  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงพยาบาล BMHH (Bangkok Mental Health Hospital) ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงสถานการณ์และแนวทางการรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงานว่า ปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงานไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ตัวบุคคลเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรโดยรวมด้วย 

ดังนั้น ผู้บริหารจึงควรให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพจิตที่ดีของพนักงาน ซึ่งการลงทุนในสุขภาพจิตของพนักงานไม่เพียงแต่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการขาดงานและการสูญเสีย Productivity เท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัทได้อีกด้วย

สุขภาพจิตในที่ทำงาน  ความท้าทาย-โอกาสองค์กรยุคใหม่

“สุขภาพจิตในที่ทำงาน”วัฒนธรรมองค์กรที่ยั่งยืน

การให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตในที่ทำงานควรเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กรที่ยั่งยืน  หัวหน้างาน จึงมีบทบาทที่สำคัญในการเฝ้าระวังและสังเกตุผู้ใต้บังคับบัญชาว่ามีโอกาสที่จะมีความสุ่มเสี่ยงที่จะมีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตหรือไม่ ก่อนที่จะส่งต่อข้อมูลไปที่ฝ่ายบุคคล เพื่อทำทางแก้ปัญหา ที่สำคัญผู้บริหารสูงสุดขององค์กรต้องให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการมีสุขภาพจิตที่ดีในการทำงานด้วย 

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาสุขภาพจิตแต่ละองค์กรต้องอาศัยความยืดหยุ่นและการปรับให้เข้ากับบริบทเฉพาะของแต่ละองค์กร ที่สำคัญผู้บริหารและฝ่ายบริหารบุคคลต้องรับฟังเสียงของพนักงานและการพร้อมปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์เป็นหัวใจที่ทำให้การแก้ปัญหาสำเร็จ เมื่อทำได้จะไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร แต่ยังยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงานและส่งผลดีต่อสังคมในวงกว้างได้อีกด้วย

 "การใส่ใจสุขภาพจิตในที่ทำงานไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นความจำเป็นที่ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญ ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะร่วมกันผลักดันให้สุขภาพจิตเป็นวาระสำคัญขององค์กรและสังคม เพื่อสร้างสังคมที่ให้คุณค่ากับสุขภาพกายและใจอย่างสมดุลส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป การดูแลสุขภาพจิตคือความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคน ไม่ได้เพียงสร้างองค์กรที่แข็งแกร่งขึ้น แต่กำลังสร้างโลกที่น่าอยู่ขึ้นสำหรับทุกคน"

พญ.ปวีณา กล่าวว่าสุขภาพจิตในที่ทำงานเป็นประเด็นที่เราต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ทั้งนี้จากข้อมูลของ BMHH พบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่มารับบริการสูงที่สุดของโรงพยาบาลคือวัยทำงานอายุ 25-40 ปี โดย 5 โรคที่พบมากที่สุดในวัยนี้ ได้แก่ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ภาวะเครียดสะสม โรคแพนิค และโรคไบโพลาร์ 

สุขภาพจิตในที่ทำงาน  ความท้าทาย-โอกาสองค์กรยุคใหม่

5แนวปฏิบัติส่งเสริมสุขภาพจิตพนักงาน

สำหรับแนวทางที่องค์กรสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตของพนักงาน สามารถดำเนินการได้ดังนี้ 

1. สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้างและให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต ผู้นำองค์กรต้องเป็นแบบอย่างและสนับสนุนการสื่อสารเรื่องสุขภาพจิตอย่างเปิดเผย นอกเหนือจากนี้ผู้นำองค์กรและ HR ควรต้องระมัดระวังไม่ให้เกิด Toxic culture workplace หรือวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพิษ เช่น การเลือกปฏิบัติ การจับกลุ่มซุบซิบนินทา กลั่นแกล้งในที่ทำงาน ความกลัวหัวหน้า หรือการปล่อยให้มีพนักงานที่ทำผิดจริยธรรมอยู่ในองค์กร

2. จัดให้มีทรัพยากรด้านสุขภาพจิตที่พนักงานสามารถเข้าถึงได้ง่าย เช่น มีช่องทางในการสื่อสารปัญหาที่พนักงานต้องการความช่วยเหลือ สถานที่ที่ดูผ่อนคลาย หรือจัดให้มีโปรแกรมช่วยเหลือพนักงาน (Employee Assistance Programs - EAPs) EAPs คือ โปรแกรมช่วยเหลือพนักงานโดยการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาความเครียดในด้านต่าง ๆ ปัญหาด้านสุขภาพจิต โดยนักจิตวิทยาที่ได้รับการอบรมเฉพาะด้าน เป็นต้น

3. สนับสนุนเรื่อง Work-Life Integration คือการผสมผสานงานกับการใช้ชีวิตเข้าด้วยกัน เน้นไปในเรื่องความยืดหยุ่นของการทำงานและเรื่องส่วนตัว การใช้ concept work life balance ที่มักพูดกัน คือการแยกงานกับเรื่องส่วนตัวออกจากกัน ในความเป็นจริงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะองค์กรอยากได้ productivity ที่สูง พนักงานต้องการแยกชีวิตออกจากการทำงาน เหมือนปักหมุดกันคนละด้าน เพราะฉะนั้น Work life integration อาจจะเป็นเรื่องที่ยืดหยุ่นและเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า

สุขภาพจิตในที่ทำงาน  ความท้าทาย-โอกาสองค์กรยุคใหม่

4. จัดการฝึกอบรมและให้ความรู้เรื่องสุขภาพจิตแก่พนักงานทุกระดับ เพื่อลดการตีตราและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง อย่างน้อยพนักงานเองจะรู้วิธีจัดการกับตัวเองในเบื้องต้น หรือทราบว่าเมื่อใดต้องการความช่วยเหลือ และเป็นการส่งสัญญาณในพนักงานทราบว่าองค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพจิต

5. ดำเนินการติดตามและประเมินสุขภาพจิตของพนักงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อปรับปรุงโปรแกรมสนับสนุนให้ตรงกับความต้องการ ซึ่งอาจจะสอดแทรกไปในการประเมินความพึงพอใจประจำปีของพนักงาน

สุขภาพจิตในที่ทำงาน  ความท้าทาย-โอกาสองค์กรยุคใหม่

สุขภาพจิตในที่ทำงาน  ความท้าทาย-โอกาสองค์กรยุคใหม่

สุขภาพจิตในที่ทำงาน  ความท้าทาย-โอกาสองค์กรยุคใหม่