"ปากนกกระจอก" โรคที่ไม่ใช่เพียงขาดวิตามิน

"ปากนกกระจอก" โรคที่ไม่ใช่เพียงขาดวิตามิน

“แผลที่มุมปาก หรือ โรคปากนกกระจอก” ซึ่งมักจะมีอาการเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ ตามตำรามักระบุถึงสาเหตุว่าเกิดจากขาดวิตามินบี 2 (riboflavin) แต่จริงๆ แล้ว “โรคปากนกกระจอก” ไม่ได้เกิดจากการขาดวิตามินเพียงอย่างเดียว อาจะเกิดจากการติดเชื้ออื่นๆ ร่วมด้วย

KEY

POINTS

  • โรคปากนกกระจอก หรือ Angular Cheilitis เป็นภาวะที่มีการอักเสบของริมฝีปาก มักเกิดบริเวณมุมปากและขอบริมฝีปาก 
  • สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็กและผู้สูงวัย ในเด็กอาจเกิดจากการดูดนิ้ว จุกนมหลอก ในผู้สูงวัยอาจมีสาเหตุมาจากการใส่ฟันปลอมหรือมุมปากตก
  • วิธีง่ายๆ ป้องกันโรคปากนกกระจอก ได้แก่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคือง รับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่และดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว ดูแลให้ริมฝีปากชุ่มชื้นอยู่เสมอไม่สูบบุหรี่ และไม่ใช้เครื่องสำอางที่หมดอายุ

แผลที่มุมปาก หรือ โรคปากนกกระจอก” ซึ่งมักจะมีอาการเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ ตามตำรามักระบุถึงสาเหตุว่าเกิดจากขาดวิตามินบี 2 (riboflavin) แต่จริงๆ แล้ว “โรคปากนกกระจอก” ไม่ได้เกิดจากการขาดวิตามินเพียงอย่างเดียว อาจะเกิดจากการติดเชื้ออื่นๆ ร่วมด้วย

เช่น เริม หรือภาวะอักเสบที่เกิดขึ้นบริเวณมุมปาก โดยจะเกิดอาการเจ็บปาก ปากแห้งและแตก เป็นแผล อาจมีรอยแดง บวม และตึงที่มุมปากข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ผู้ป่วยอาจจะเกิดอาการของโรคนี้เพียง 2-3 วัน หรือนานกว่านั้น ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ไลฟ์สไตล์แบบไหน? "สุขภาพหัวใจ" แข็งแรง

Check List! นิสัย-พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง ทำแล้วจิตป่วย

อาการแบบไหน? เรียกปากนกกระจอก

พญ.อาสาฬห์ ประภาธรรม แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน จากแอปฯ หมอดี  กล่าวว่าโรคปากนกกระจอก หรือ Angular Cheilitis เป็นภาวะที่มีการอักเสบของริมฝีปาก มักเกิดบริเวณมุมปากและขอบริมฝีปาก 

อาการของโรคปากนกกระจอก 

  • เจ็บ คัน มีแผลเปื่อยที่มุมปาก อาจเป็นข้างเดียว หรือทั้งสองข้างก็ได้
  • มุมปากมีรอยแดง บวม ตึง
  • มุมปากมีตุ่มพอง สะเก็ดแผล หรือมีเลือดออก
  • ปากแห้ง ลอก ตึงมาก

สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เป็นโรคปากนกกระจอก

1. ติดเชื้อที่ปาก : บริเวณปาก หรือช่องปากติดเชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรียแล้วลุกลามไปที่มุมปาก ทำให้เกิดแผลอักเสบของโรคปากนกกระจอกขึ้นมาได้ 

2. การระคายเคืองจากน้ำลาย : พบได้บ่อยในคนที่ปากแห้งและชอบเลียริมฝีปาก น้ำลายทำให้เกิดการระคายเคือง เกิดการอักเสบและอาจติดเชื้อตามมาได้ 

3. การแพ้ : เมื่อริมฝีปากสัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น ลิปสติก ยาสีฟัน ก็ทำให้ริมฝีปากระคายเคืองและอักเสบได้ หรือบางรายอาจเกิดจากโรคภูมิแพ้ผิวหนัง

4. ขาดสารอาหาร : โดยเฉพาะวิตามิน B2 และธาตุเหล็ก

5. จัดฟัน หรือใส่ฟันปลอมที่ไม่พอดี ปัญหาฟันไม่สบกัน : ทำให้น้ำลายล้นออกมาที่มุมปากบ่อย ๆ หรือมีการเสียดสีกับอุปกรณ์ จนเสี่ยงเกิดโรคปากนกกระจอกได้เช่นกัน

6. ปัญหาสุขภาพ โรคประจำตัว  : โรคบางอย่าง อาจทำให้เป็นโรคปากนกกระจอกได้ง่ายขึ้น เช่น โรคโลหิตจาง มะเร็งบางชนิด โรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น 

7. ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด : เช่น การกินยารักษาสิวกลุ่มกรดวิตามินเอ 

\"ปากนกกระจอก\" โรคที่ไม่ใช่เพียงขาดวิตามิน

ใครมักที่จะเป็นโรคปากนกกระจอก

พญ. ประภาพร พิมพ์พิไล อายุรแพทย์  โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่าโรคปากนกกระจอกเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็กและผู้สูงวัย ในเด็กอาจเกิดจากการดูดนิ้ว จุกนมหลอก ในผู้สูงวัยอาจมีสาเหตุมาจากการใส่ฟันปลอมหรือมุมปากตก

พฤติกรรมการใช้ชีวิต ส่งผลให้เกิดโรคปากนกกระจอกได้เช่นเดียวกัน อาทิ

  • นอนน้ำลายไหล
  • การดูดนิ้วหรือดูดจุกนมหลอก
  • การสวมหน้ากากอนามัย
  • การสูบบุหรี่
  • ความเครียด

ปัจจัยเสี่ยงของโรคปากนกกระจอกมีอะไรบ้าง

  • โรคเรื้อรัง เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคเบาหวาน
  • ดาวน์ซินโดรม ซึ่งทำให้ผิวแห้ง
  • โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น HIV
  • การขาดวิตามินบี ธาตุเหล็ก หรือโปรตีน
  • น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว
  • ผิวหน้าหย่อนคล้อยเนื่องจากอายุที่มากขึ้น

โรคปากนกกระจอกมีวิธีการตรวจวินิจฉัยอย่างไร

อายุรแพทย์หรือแพทย์ผิวหนังจะซักประวัติ สอบถามอาการ และตรวจร่างกาย จากนั้นแพทย์อาจเก็บตัวอย่างแผลที่มุมปากไปตรวจดูว่ามีสาเหตุมาจากโรคเริมหรือเชื้อราหรือไม่ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อดูว่าโรคปากนกกระจอกมีสาเหตุมาจากการขาดสารอาหารหรือโรคอื่น ๆ หรือไม่

รักษาโรคปากนกกระจอกได้อย่างไร?

  • ยาปฏิชีวนะ เช่น ยารับประทานหรือยาทาเฉพาะที่สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • การแก้ไขทันตอุปกรณ์ เช่น ฟันปลอมและอุปกรณ์จัดฟัน เพื่อให้สบฟันได้ดีขึ้น ลดการหมักหมมของน้ำลายบริเวณมุมปาก 
  • การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน ธาตุเหล็ก และวิตามินบี
  • การทาครีมต้านเชื้อราหรือยาสเตียรอยด์ชนิดใช้ภายนอกเพื่อบรรเทาอาการปวดบวมที่มุมปาก และทาลิปมันหรือปิโตรเลียมเจลลี่เพื่อให้ริมฝีปากชุ่มชื้น

ทั้งนี้ระหว่างการรักษา ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการได้โดยประคบอุ่นหรือเย็นที่มุมปาก ไม่ใช้น้ำยาบ้วนหรือรับประทานอาหารรสเผ็ดที่อาจทำให้มุมปากระคายเคืองมากยิ่งขึ้น หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจ้าหรือที่ที่มีอากาศหนาวจัดที่อาจส่งผลให้ผิวแห้งแตกมากยิ่งขึ้น

วิธีง่ายๆ ป้องกันโรคปากนกกระจอก

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคือง
  • รับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่และดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว
  • ดูแลให้ริมฝีปากชุ่มชื้นอยู่เสมอ
  • ไม่สูบบุหรี่
  • ไม่เลียริมฝีปาก
  • ไม่ใช้เครื่องสำอางที่หมดอายุ
  • เช็ดน้ำลายที่มุมปากให้แห้งอยู่เสมอ
  • ดูแลช่องปากและฟันทดแทนให้สะอาด
  • กินอาหารที่อุดมด้วยวิตามินบี 2 เช่น ปลา ตับ ถั่ว ผักใบเขียว ฯลฯ และธาตุเหล็ก เช่น ตับ เนื้อแดง ใบกระเพรา ธัญพืช ถั่วต่าง ๆ ฯลฯ

ทำไมผู้ป่วยเบาหวานถึงเป็นโรคปากนกกระจอกบ่อย ๆ

ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อราแคนดิดาในช่องปาก เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลในเลือดซึ่งเป็นแหล่งอาหารของเชื้อราแคนดิดาในระดับที่สูง อีกทั้งภูมิคุ้มกันโรคของผู้ป่วยมักอ่อนแอ ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น การรับประทานอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน การออกกำลังกาย และการได้รับอินซูลินอย่างเหมาะสม จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและป้องกันโรคปากนกกระจอกได้

นอกจากโรคปากนกกระจอกแล้ว โรคอะไรที่อาจเป็นสาเหตุของอาการมุมปากแห้ง

  • ผื่นแอกทินิกเคอราโทซิส หรือผื่นผิวหนังเป็นสะเก็ด ซึ่งเป็นโรคก่อนมะเร็ง
  • เชื้อไวรัส Herpes simplex virus type 1 (HSV-1) สาเหตุของเริมที่ปาก
  • รอยโรคสีขาว (Leukoplakia) ในปาก ซึ่งอาจกลายเป็นมะเร็ง
  • มะเร็งช่องปาก
  • ภาวะไลเคนอยด์ในช่องปาก เป็นกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง
  • โรคซิฟิลิส

กรณีมีอาการผิดปกติ รู้สึกไม่สบาย หรือเจ็บปวดมาก ๆ แนะนำให้พบหมอฟันนะครับ 

อ้างอิง: โรงพยาบาลเมดพาร์ค ,กรมอนามัย ,mordeeapp