'ศิริราช'ชูสุขภาพหนุนเศรษฐกิจ สามัญประจำย่าน 'บางกอกน้อย'
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เตรียมจัดงาน “ศิริราช @บางกอกน้อยเฟสติวัล ครั้งที่ 6” (จัดจ้านในย่านนี้) ภายใต้แนวคิด “สามัญประจำย่าน” กระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว
KEY
POINTS
- ศิริราช @บางกอกน้อยเฟสติวัล จัดมาแล้ว 5 ครั้ง เน้นดูแลสุขภาพกายและใจ เป็น ความห่วงใย หรือ CARE ที่มีให้กัน อยากให้ทุกคนมีความสุข สุขภาพดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
- รู้จัก "ขันลงหินบ้านบุ" เครื่องทองลงหินหรือสำริดเป็นโลหะผสมระหว่างทองแดงกับดีบุก ในอัตราส่วน 8 ต่อ 2 การทำเครื่องทองลงหินของชาวบ้านบุ เป็นงานที่ทำด้วยมือ (Handmade)
- การจัดงาน ศิริราช@บางกอกน้อยเฟสติวัล ครั้งที่ 6 มีกิจกรรม 4 ย่านด้วยกัน ได้แก่ ย่าน..แห่งความสุข/ ย่าน..สนุก ศิลปะ วัฒนธรรม/ย่าน..อร่อย /ย่าน..นี้ดี
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เตรียมจัดงาน “ศิริราช @บางกอกน้อยเฟสติวัล ครั้งที่ 6” (จัดจ้านในย่านนี้) ภายใต้แนวคิด “สามัญประจำย่าน” กระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว คาด 5 วันจะมีนักท่องเที่ยวกว่า 3 หมื่นคนสร้างรายได้นับล้านบาทให้กับชุมชน
การจัดงานครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด สามัญประจำย่าน มาจากยาสามัญประจำบ้านที่ประชาชนควรซื้อไว้ดูแลตัวเอง ซึ่งรพ.ศิริราชได้ดูแลย่านบางกอกน้อย มายาวนานกว่า 136 ปี ปัจจุบันมีชุมชนที่ดูแลใกล้ชิดอยู่ 3-4 ชุมชน ประชากรประมาณ 98,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ
ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่าหน้าที่ของรพ.ศิริราชที่นอกจากดูแล ส่งเสริมสุขภาพแล้ว ยังเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย การจัดงานครั้งนี้จึงเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชนบางกอกน้อยและภาคีเครือข่าย สืบสานวัฒนธรรมอันดีงาม กระตุ้นเศรษฐกิจส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างความมีส่วนร่วมในด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลิตภัณฑ์ของดีบางกอกน้อยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
ศิริราช @บางกอกน้อยเฟสติวัล จัดมาแล้ว 5 ครั้ง โดยครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปี 2554 เน้นดูแลสุขภาพกายและใจ เป็น ความห่วงใย หรือ CARE ที่มีให้กัน อยากให้ทุกคนมีความสุข สุขภาพดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน และตอบโจทย์ในเรื่องของ Sustainability และ Edutainment ใช้ความบันเทิงเป็นเครื่องมือในการสร้างความรู้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่อุทยานสถานพิมุข คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ประมาณ 30,000คนระหว่างวันที่ 25-29 พ.ย. สร้างรายได้ให้กับชุมชนหลักล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ห้ามพลาด!! 'Hackathon' เฟ้นหานวัตกรรมเพื่อสุขภาพ 80% สูงวัยอยู่ในอาเซียน
ส่งเสริมสุขภาพลดป่วย NCDs
ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รพ.ศิริราชได้เข้าไปให้ความรู้ด้านสุขภาพ ส่งเสริม ป้องกัน และควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable disease : NCDs) ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่สามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสม
โดยจากงานวิจัยของกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ WHO ในปี 2562 ระบุว่า คนไทยเสียชีวิตด้วย NCDs ปีละกว่า 400,000 ราย และสูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจกว่า 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี หรือร้อยละ 9.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ โดยเป็นค่ารักษาพยาบาลทางตรง 1.39 แสนล้านบาท และความสูญเสียทางอ้อมอีก 1.5 ล้านล้านบาท
ดังนั้น การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุในชุมชนมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี จะทำให้สามารถลดปัญหาและค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพลดลงไปด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่เชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างการรับรู้ทำให้ผลิตภัณฑ์ของดีบางกอกน้อยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เช่น ขันลงหินบ้านบุ สแตนเลสบ้านบุคอลเลคชั่น มะตูมเชื่อม ข้าวเม่าหมี่ ศักดิ์ปรีชาเซรามิค หัตถกรรมเบญจรงค์ไทย ผ้าเขียนลาย (ผ้าใยกัญชง) น้ำมันสมุนไพรไทย สินค้า OTOP จากเขตบางกอกน้อย และร้านค้าจากชุมชนเขตบางกอกน้อย
“การจัดงานครั้งนี้ จะเน้นในเรื่องของ Sustainability ส่งเสริมกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคม โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เช่น การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ (Reduce, Reuse, Recycle, Responsibility) เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนซึ่งจะช่วยให้ผู้ร่วมงานสามารถคัดแยกขยะได้อย่างถูกต้อง ร้านค้าภายในงานกำจัด ของเสียอย่างถูกวิธี ซึ่งนำไปสู่นโยบายสาธารณะ ตามหลักธรรมาภิบาลและ ความยั่งยืน"
ขันลงหินบ้านบุ ของดีบางกอกน้อย
หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว “พญ.จริยา แสงสัจจา” ได้เข้ามาดูแลสานต่อสืบทอดการทำ “ขันลงหินบ้านบุ” ของครอบครัว มาแล้ว 7 ปี เล่าว่า เครื่องทองลงหิน หรือสำริด (Bronze) เป็นหัตถกรรมไทยโบราณที่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่ามีมาตั้งแต่สมัยใด เชื่อว่าเริ่มทำในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชุมชนบ้านบุ เขตบางกอกน้อย ทำเครื่องทองลงหินมานานกว่า 200 ปีตั้งแต่ยุคธนบุรี แต่หลักฐานที่ปรากฏในบทกวีพบในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น อาทิ ในนิราศสุพรรณ สุนทรภู่ และนิราศพระแท่นดงรัง หมื่นพรหมสมพัตสร (นายมี)
เครื่องทองลงหินหรือสำริดเป็นโลหะผสมระหว่างทองแดงกับดีบุก ในอัตราส่วน 8 ต่อ 2 การทำเครื่องทองลงหินของชาวบ้านบุ เป็นงานที่ทำด้วยมือ (Handmade) ตั้งแต่การหลอมโลหะทั้งสองชนิดเข้าด้วยกัน จากนั้นช่างตีจะนำก้อนทองสำริดไปเผาไฟและตี(บุ)ด้วยค้อนขึ้นรูปเป็นชิ้นงานตามต้องการ
“พญ.จริยา” เล่าต่อว่า ช่างลายจะใช้ค้อนเล็กตีย้ำเนื้อโลหะให้แน่นและแต่งรูปทรง จากนั้นช่างกลึงจะกลึงผิวโลหะด้านนอกที่เป็นสีดำ(จากเขม่าจับ)ให้เป็นสีทอง ซึ่งเป็นสีที่แท้จริงของโลหะนี้ การขัดผิวโลหะให้มันวาวขึ้นสมัยโบราณจะใช้หินทุบละเอียดผสมกับน้ำมัน จึงเป็นที่มาของคำว่า “ลงหิน” ปัจจุบันใช้ลูกผ้าหมุนด้วยมอเตอร์เป็นตัวขัดจากนั้นช่างกรอจะกรอปากขันให้เรียบ ขั้นตอนสุดท้ายคือการแกะสลักด้วยลายมือ ซึ่งช่างจะทำโดยไม่ต้องวาดลวดลายก่อน
ขันลงหินบ้านบุ นอกจากเป็น Brand Bangkok แล้ว ยังถูกใช้เป็นของที่ระลึกให้กับแขกบ้านแขกเมืองอยู่เนืองๆ อาทิ ประชุมรัฐสภานานาชาติ และเป็นของที่ระลึกรัฐสภาไทย รวมทั้งกระทรวงต่างประเทศ
“ปัจจุบันมีช่างอยู่ 10 คนทุกคนล้วนแต่สูงอายุ เราพยายามที่จะถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ โดยเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเรียนรู้ เพื่อสืนสานหัตถกรรมให้อยู่คู่สังคมไทยไม่ให้สูญหาย โดยค่าตอบแทนจะคิดตามชิ้นงานตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไปจนถึง 2,000-3,000 บาท”
4 ย่านแห่งความสุข สนุก อร่อยและดี
การจัดงาน ศิริราช@บางกอกน้อยเฟสติวัล ครั้งที่ 6 มีกิจกรรม 4 ย่านด้วยกัน ได้แก่ ย่าน..แห่งความสุข/ ย่าน..สนุก ศิลปะ วัฒนธรรม “บางกอกน้อยของฉัน My Kind of Bangkok Noi” ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่มีความงดงามและหลากหลาย สะท้อนปัจจุบันที่ท้าทาย หรือการวาดอนาคตที่รุ่งเรืองในแบบที่สมดุลกับธรรมชาติ วัฒนธรรม และความเป็นชุมชน
รวมทั้ง ย่าน..อร่อย /ย่าน..นี้ดี ภายในงานมีการบริหารจัดการคัดแยกขยะ เตรียมถังขยะรองรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมตื่นตัวเรื่องการจัดการขยะและการบำบัดน้ำเสียอย่างถูกวิธี มีเจ้าหน้าที่ให้ความรู้และความเข้าใจความเข้าใจเกี่ยวกับขยะประเภทต่างๆ และการทิ้ง/คัดแยกให้ถูกวิธี ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตบางกอกน้อย บุคลากรและนักศึกษาของคณะฯรวมถึงประชาชนในพื้นที่บริเวณใกล้เคียง และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ