รู้จัก'โรคโมยาโมยา' พูดไม่รู้เรื่อง กล้ามเนื้ออ่อนแรง

รู้จัก'โรคโมยาโมยา' พูดไม่รู้เรื่อง กล้ามเนื้ออ่อนแรง

"โรคโมยาโมยา (Moya-Moya disease)" คือ หนึ่งในโรคหลอดเลือด สมอง เกิดจากการตีบของหลอดเลือดแดง Carotid ทั้งสองข้าง ทำให้เลือดไปเลี้ยง สมองได้ไม่เพียงพอ

KEY

POINTS

  • "โรคโมยาโมยา" เป็นโรคทางระบบประสาทที่หลายคนไม่รู้จัก ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงที่ผิดปกติไปจากเดิม คือพูดไม่รู้เรื่อง แขนขาอ่อนแรง
  • สามารถพบได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ โดยในเด็กพบมากที่สุดในช่วงประถมต้น ส่วนผู้ใหญ่มักมีอาการในช่วงอายุ 40 ถึง 50 ปี และพบมากใน ประชากรทวีปเอเชียมากกว่าฝั่งตะวันตก 
  • การรักษาที่มีประสิทธิภาพ คือ การผ่าตัดเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น  เราไม่สามารถแก้ไขบริเวณที่เส้นเลือดสมองใหญ่ตีบตันได้ แต่ผ่าตัดทำทางให้มีเส้นเลือดไปเลี้ยงสมองได้เพิ่มมากขึ้น

"โรคโมยาโมยา (Moya-Moya disease)" คือ หนึ่งในโรคของหลอดเลือด สมอง เกิดจากการตีบของหลอดเลือดแดง Carotid ทั้งสองข้าง ทำให้เลือดไปเลี้ยง สมองได้ไม่เพียงพอ สมองจึงเกิดการปรับตัวและสร้างหลอดเลือดแดงขึ้นมาใหม่ เพื่อช่วยเลี้ยงสมอง เนื่องจากหลอดเลือดที่สร้างใหม่มีขนาดเล็กเป็น ฝอย และเปราะบางคล้ายกับกลุ่มควัน จึงเป็นที่มาของชื่อโรค โมยาโมยา (ภาษาญี่ปุ่น แปลว่า กลุ่มควัน)

โรคดังกล่าว สามารถพบได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ ในเด็กพบมากที่สุดในช่วง ประถมต้น ส่วนผู้ใหญ่มักมีอาการในช่วงอายุ 40 ถึง 50 ปี โรคโมยาโมยาพบมากใน ประชากรทวีปเอเชียมากกว่าฝั่งตะวันตก และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึง 2 เท่า ในประเทศญี่ปุ่นพบได้ 1 ใน 200,000 ราย

โรคโมยาโมยา อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ และสัมพันธ์กับบางโรค เช่น โรคทางพันธุกรรม กลุ่มอาการดาวน์ โรคไทรอยด์ การฉายแสงบริเวณศีรษะ และโรคท้าวแสนปม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ทำความรู้จักกับโรคโมยาโมยา

ผศ. พญ.ลัลลิยา ธรรมประทานกุล สาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าโรคโมยาโมยา เป็นโรคทางระบบประสาทที่หลายคนไม่รู้จัก ทั้งยังมีการเข้าใจผิดในคนบางกลุ่ม คิดว่าเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงที่ผิดปกติไปจากเดิม คือพูดไม่รู้เรื่อง แขนขาอ่อนแรง แต่โรคดังกล่าวสามารถอธิบายทางการแพทย์ได้ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติในเส้นเลือดสมอง ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ จึงแสดงอาการผิดปกติให้เห็น

โรคโมยาโมยา เป็นโรคที่พบไม่บ่อย เกิดจากเส้นเลือดใหญ่ที่เลี้ยงสมองส่วนด้านหน้าและด้านข้างทั้งสองข้างเกิดการตีบตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ไม่เพียงพอ ร่างกายมีการปรับตัวสร้างเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ ไปเลี้ยงสมองแทน เส้นเลือดฝอยดังกล่าวดูเหมือนกลุ่มควันจากการเอ็กซเรย์หลอดเลือดสมอง และเป็นโรคที่รายงานครั้งแรกรวมถึงพบบ่อยในชาวญี่ปุ่น  จึงเรียกโรคนี้ว่าโมยาโมยา ซึ่งแปลว่า”กลุ่มควัน”ในภาษาญี่ปุ่นนั่นเอง

รู้จัก\'โรคโมยาโมยา\' พูดไม่รู้เรื่อง กล้ามเนื้ออ่อนแรง

เช็กอาการของโรคโมยาโมยา

อาการโรคโมยาโมยา ส่วนใหญ่เป็นอาการของสมองขาดเลือด สมองทั้งส่วนด้านหน้าและด้านข้างเกี่ยวข้องกับการทำงานหลายอย่าง  ผู้ป่วยจึงมีอาการได้หลายหลาย  และอาการอาจจะเกิดเป็นพักๆ โดยเฉพาะเวลาที่มีการหายใจแรงๆ  เช่น หอบเหนื่อยจากการออกกำลัง เป็นต้น  อาการที่พบได้แก่

  • สมองขาดเลือดชั่วคราว ยังไม่ถึงกับสมองตาย ทำให้มีอาการต่าง ๆ อยู่ชั่วขณะ เช่น ชา แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด มึนงง เป็นต้น สามารถกลับคืนเป็นปกติได้ในเวลาไม่เกินหนึ่งวัน
  • สมองขาดเลือดรุนแรงจนเกิดภาวะสมองตาย เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ อาจมีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ได้  บางรายหากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอนาน ๆ อาจมีอาการปวดหัว การเรียนและความจำแย่ลง พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง เป็นต้น
  • ปวดหัวรุนแรงจากมีเลือดออกในสมอง
  • อาการชัก

รู้จัก\'โรคโมยาโมยา\' พูดไม่รู้เรื่อง กล้ามเนื้ออ่อนแรง

วิธีสังเกตโรคโมยาโมยา

โรคโมยาโมยามีอาการแสดงหลายอย่าง บางอาการอาจคล้ายคลึงกับโรคอื่น เช่น แขนขาอ่อนแรงที่คล้ายกับโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต วิธีการสังเกตว่าเป็นโรคโมยาโมยาหรือไม่ ต้องดูจุดเด่นของโรคคืออาการอาจเกิดขึ้นกับสมองทั้งสองข้าง  โดยอาจแสดงอาการไม่พร้อมกัน  เช่น  แขนขาซีกซ้ายอ่อนแรงบ้าง แข่นขาซึกขวาอ่อนแรงบ้างสลับกันไปมา อย่างไรก็ตามต้องยืนยันด้วยการตรวจเอกซเรย์ดูเส้นเลือดสมอง

  • สาเหตุของโรคโมยาโมยา

โรคโมยาโมยาพบบ่อยในชาวญี่ปุ่น เกาหลี  ในประเทศไทยพบได้ไม่บ่อย  ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุ  ผู้ป่วยบางกลุ่มจะมีความเสี่ยงของโรคโมยาโมยาสูงกว่าคนทั่วไป ได้แก่ คนที่มีโรคทางความผิดปกติของพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม ท้าวแสนปม ธาลัสซีเมีย หรือในคนที่เคยรับการฉายแสงที่สมอง เป็นต้น

แนวทางการรักษาโรคโมยาโมยา

การรักษาโรค “โมยา โมยา” การรักษาโรคโมยาโมยา ได้แก่ การรักษาตามอาการ การควบคุมอาการชัก และการเพิ่มเลือดเพื่อไปเลี้ยงสมอง ซึ่งประกอบด้วย การรักษาด้วยยา และการผ่าตัดต่อหลอดเลือดสมอง การเลือกวิธีการรักษา แพทย์ผู้ดูแลจะประเมินอาการของผู้ป่วย และพิจารณาข้อดีข้อเสีย ของแต่ละวิธีให้ผู้ป่วยแต่ละรายอย่างเหมาะสม

การรักษาที่มีประสิทธิภาพ คือ การผ่าตัดเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น  เราไม่สามารถแก้ไขบริเวณที่เส้นเลือดสมองใหญ่ตีบตันได้ แต่เราสามารถผ่าตัดทำทางให้มีเส้นเลือดไปเลี้ยงสมองได้เพิ่มมากขึ้น  และเพียงพอกับที่สมองต้องการ จึงช่วยป้องกันการเกิดอาการต่างๆที่สำคัญได้แก่ อ่อนแรงเป็นๆหายๆ  ปวดศีรษะ เป็นต้น  ร่วมกับการรับประทานยากลุ่มแอสไพริน  การรักษาดังกล่าวจะช่วยลดการเกิดภาวะสมองขาดเลือด และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

รู้จัก\'โรคโมยาโมยา\' พูดไม่รู้เรื่อง กล้ามเนื้ออ่อนแรง

อ้างอิง: RAMA CHANNEL , หมอชวนรู้