Just One Thing คำแนะนำเรื่องสุขภาพของ "ไมเคิล มอสลีย์"
เมื่อปีที่แล้วผมเคยถูกถามว่า หากให้เลือกจะเลือกอ่านหนังสืออะไร ผมตอบว่าหนังสือ Just One Thing ซึ่งให้คำแนะนำเรื่องสุขภาพของ ดร.ไมเคิล มอสลีย์ (Dr.Michael Mosley)
จึงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างยิ่งเมื่อ ดร.มอสลีย์เสียชีวิตไปแล้วในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ระหว่างการพักร้อนที่เกาะ Symi ประเทศกรีก จากโลกเพลียแดด (heat exhaustion) ตอนประมาณ 4 โมงเย็น ซึ่งในช่วงนั้น อุณหภูมิน่าจะ 35-36 องศาเซลเซียส ดร.มอสลีย์อายุ 67 ปีเกิดปีเดียวกับผม แต่ช้าหลังผมเพียง 2 เดือน
ดร.มอสลีย์เรียนจบแพทย์แต่ไปทำงานเป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ของ BBC ตั้งแต่ปี 2528 โดยเป็นผู้กำกับและผลิตรายการ แต่ต่อมาดำเนินรายการเองตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งเป็นคนที่ผมชอบและติดตามผลงานมาโดยตลอด
และผลงานที่โดดเด่นเรื่องหนึ่งคือ รายการ Horizon เมื่อปี 2555 ซึ่งได้เอาตัวเองเป็น “หนูทดลอง” โดยกินอาหารแบบ IF Intermittent Fasting คือ งดการกินอาหาร 2 วันต่อ 1 สัปดาห์
และพบว่า การอดอาหารดังกล่าวทำให้สุขภาพดีขึ้น (น้ำหนักตัวลดลง ไขมันดีเพิ่มขึ้น ไขมันไม่ดีลดลง ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ฯลฯ) จึงเป็นที่มาของการทำให้การกินอาหารแบบ “IF” เป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างมากเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว
ต่อมา ดร.มอสลีย์ เขียนหนังสือ The Fast 800 ซึ่งเป็นตำราแนะนำการจำกัดการกินอาหาร ทำให้สามารถลดน้ำหนักตัวลงประมาณ 6 กิโลกรัมภายใน 21 วัน โดยเริ่มจากการจำกัดการกินอาหารเพียง 800 แคลอรี่ต่อวัน
และในขั้นสุดท้ายคือ การกินอาหารประเภทเมดิเตอร์เรเนียน แต่นักวิชาการบางคนตำหนิว่า การจำกัดการกินดังกล่าวว่า เป็นการกินแบบคีโต (ละเว้นการกินแป้งและน้ำตาล) ผสมผสานกับอดอาหารแบบ IF ซึ่งอาจไม่เหมาะสมกับคนทั่วไป และปฏิบัติอย่างต่อเนื่องได้ยากเกินไป
ดร.มอสลี่ย์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า ในชีวิตประจำวันนั้นจะตื่นนอนตอน 7.00 น. แล้วออกกำลังกาย 1 ชั่วโมง ก่อนการกินอาหารเช้าตอน 8.00 น. โดยจะเป็นการกินไข่และผักดอง เช่น กิมจิและปลากระป๋อง ตามด้วยการดื่มน้ำและชา อาหารกลางวันจะเป็นถั่วเลนทัล (lentil) ต้องเป็นซุปผสมขมิ้นและอาหารประเภทถั่ว เป็นต้น
มื้อเย็นก็จะเป็นปลาทอดด้วยหม้อทอดไร้น้ำมันกับข้าวกล้อง ผักและผลไม้ โดยจะไม่กินอาหารหลัง 20.00 น. แปลว่าในช่วง 24 ชั่วโมงจะอดอาหาร 12 ชั่วโมง
รายการล่าสุดที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องคือ podcast ตอนละ 15 นาทีที่ชื่อว่า “Just One Thing” มีทั้งหมดประมาณ 110 ตอน (หาก ดร.มอสลีย์ ไม่ได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน ก็คงจะมีตอนต่อไปอีกเป็นจำนวนมาก) โดยแต่ละตอนจะให้แนวคิดและแนวปฏิบัติด้านสุขภาพที่น่าสนใจ เช่น
- ควรกินอาหารอย่างช้าๆ ซึ่งจะทำให้การย่อยอาหารดีขึ้น และลดการกระชากของระดับน้ำตาลในเลือด
- ควรทำอาหารเองเป็นครั้งคราว จะได้อาหารที่มีคุณภาพ ทำให้อารมณ์ดีด้วยและน้ำหนักตัวลดลง
- การเดินแบบ Nordic walking คือการเดินไปพร้อมกับการถือไม้เท้าทั้งสองมือ จะทำให้เผาผลาญพลังงานมากกว่าและทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้น
- การออกกำลังกายแบบเกร็งกล้ามเนื้อ (isometric exercise) เช่น การทำแพลงกิ้ง (planking) ปรากฏว่ามีการทำการวิจัยเปรียบเทียบการออกกำลังกาย
โดยแยกกลุ่มประเภทเทียบกับคนที่ไม่ได้ออกกำลังกายพบว่า การออกกำลังกายแบบเกร็งกล้ามเนื้อช่วยลดความดันโลหิตได้มากถึง 12 mmHg มากกว่าการออกกำลังกายแบบแอโรบิค หรือการทำให้หัวใจเต้นเร็วคือการวิ่ง
ถามว่าการที่ความดันโลหิตลดลง 12 mmHg นั้น มีประโยชน์มากน้อยเพียงใด ก็ต้องตอบว่าจะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดตีบตัน ที่ทำให้หัวใจวายหรือเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอมากถึง 40%
- การฝึกเล่นเครื่องดนตรีหรือการร้องเพลง จะช่วยให้ความจำดีขึ้น จิตใจเบิกบานและทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้น
ดร.มอสลีย์ เสียชีวิตลงด้วยอายุเพียง 67 ปี ซึ่งหลายคนคงคิดว่าการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ และการดำเนินชีวิตที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงนั้น ไม่น่าจะทำให้อายุสั้น
และอาจทำให้บางคนคิดว่าการใช้ชีวิตโดยการดูแลสุขภาพอย่างมีวินัย ก็ไม่ได้เห็นจะทำให้อายุยืนมากกว่าคนที่ใช้ชีวิตแบบตามใจตามปากตัวเอง คือถ้าดวงดี ยีนดีก็จะอายุยืน แต่หากไม่ใช่ ก็ไม่ควรคิดว่าจะ “ฝืนธรรมชาติ” ได้
แต่จากการอ่านงานวิจัยเป็นจำนวนมากและจากประสบการณ์ของผมนั้น ผมก็ยังจะยืนยันว่า การดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบนั้น ให้ผลตอบแทนที่ล้ำค่ามากกว่าการ “ลงทุน” ในด้านอื่นๆ
ในกรณี ดร.มอสลีย์ นั้นก็สามารถทำกิจกรรมที่ตัวเองอยากทำได้จนกระทั่งชั่วโมงสุดท้ายของชีวิต ไม่ได้ป่วยติดเตียง นอกจากนั้น ท่านผู้อ่านก็คงจะได้พบเห็นเพื่อนร่วมรุ่น ที่รู้จักมานานหลายสิบปี ซึ่งบางคนยังดูหนุ่ม-แน่น แข็งแรง แต่บางคนดูอ่อนแอและแก่ลงอย่างเทียบกันไม่ได้
หากต้องการให้แก่ตัวโดยที่ร่างกายยังแข็งแรง และสามารถทำกิจกรรมทุกอย่างตามใจชอบได้จนวันสุดท้าย ก็จะต้องออกกำลังกายเป็นประจำ โดยยึดหลักการ use it or lose it ครับ.