อาหารแบบไหน? ช่วยคลายเครียด ห่างซึมเศร้า
เมื่อร่างกายเกิดความเครียด ยิ่งเครียดสะสม เครียดนาน ต่อมหมวกไตก็ยิ่งใช้วิตามินในร่างกายมากขึ้นจนอาจเกิดภาวะพร่องวิตามิน ส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ท้องผูก และเป็นซึมเศร้าได้
KEY
POINTS
- อาหารมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงสารเคมีในสมอง มีผลต่อความรู้สึก และอารมณ์ของคนเราได้ อาหารหลาย ๆ ชนิดเกี่ยวข้องกับความเครียด อาการซึมเศร้า หดหู่ใจ
- อาหารที่ช่วยลดความเครียด และต้านอาการซึมเศร้าได้ รวมถึงการหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- นอกจากอาหารแล้ว 'ความเครียด' สามารถบำบัดได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การทำสมาธิ การบำบัดด้วยน้ำมันหอมระเหย รวมไปถึงการปรับทัศนคติความคิดเชิงบวก
เมื่อร่างกายเกิดความเครียด ยิ่งเครียดสะสม เครียดนาน ต่อมหมวกไตก็ยิ่งใช้วิตามินในร่างกายมากขึ้นจนอาจเกิดภาวะพร่องวิตามิน ส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ท้องผูก และเป็นซึมเศร้าได้
ความเครียด หมายถึง อาการที่สมองไม่ได้ผ่อนคลาย เพราะคร่ำเคร่งอยู่กับงานจนเกินไป (ราชบัณฑิตยสถาน, 2542) นอกจากนี้กรมสุขภาพจิต (2552) กล่าวว่า…
“ความเครียดเป็นเรื่องของร่างกาย และจิตใจ ที่เกิดการตื่นตัวเตรียมรับกับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งเราคิดว่าไม่น่าพอใจ เป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสเกินกำลังทรัพยากรที่เรามีอยู่ หรือเกินความสามารถของเราที่จะแก้ไขได้ ทำให้รู้สึกหนักใจเป็นทุกข์ และพลอยทำให้เกิดอาการผิดปกติทางร่างกาย และพฤติกรรมตามไปด้วย”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
อาหารสัมพันธ์กับความเครียด
อาหารมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงสารเคมีในสมอง มีผลต่อความรู้สึก และอารมณ์ของคนเราได้ อาหารหลาย ๆ ชนิดเกี่ยวข้องกับความเครียด อาการซึมเศร้า หดหู่ใจ อีกทั้งความเครียด และอาหารที่เป็นโทษทั้งหลาย ยังทำให้ระดับสารสื่อสมองลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว เช่น อาหารแปรรูป และ junk food (อาหารขยะ)
นอกจากนี้ผู้ที่เครียด มักจะมีนิสัยการบริโภคที่แย่ลง ติดกาแฟ และน้ำหวาน ขนมหวานต่าง ๆ มีส่วนทำให้น้ำหนักขึ้นได้ง่าย ๆ และเป็นโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น เบาหวาน ไขมันพอกตับ ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคหัวใจ เป็นต้น
โลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน เป็นเรื่องปกติที่ผู้คนจะประสบกับความเครียดและความรู้สึกเศร้าหรือวิตกกังวลเป็นครั้งคราว แม้ว่าการขอความช่วยเหลือจากผู้ชำนาญเฉพาะทางเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า
แต่การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อาจจะช่วยส่งเสริมอารมณ์และสุขภาพจิตโดยรวมให้ดีขึ้นได้
เช็กลิสต์ อาหารต้านความเครียด-ซึมเศร้า
นพ.กฤตธี ภูมาศวิน จิตแพทย์ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพจิต (Mental Health Center) โรงพยาบาลนวเวช ได้ยกตัวอย่างอาหารที่มีส่วนช่วยต้านอาการซึมเศร้า 10 ชนิด เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกรับประทานอาหารให้กับผู้ที่มีอาการโรคซึมเศร้า หรือสามารถนำไปใช้ดูแลคนรอบข้างที่มีอาการซึมเศร้าได้
อาหารที่เหมาะสำหรับช่วยต้านอาการซึมเศร้า มีดังนี้
1. ผลเบอร์รี่ เช่น บลูเบอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ และราสเบอร์รี่ อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินซี สารอาหารเหล่านี้ช่วยลดการอักเสบและความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้า เพลิดเพลินกับผลเบอร์รี่ 1 กำมือเป็นของว่างหรือเพิ่มลงในข้าวโอ๊ตตอนเช้า เพื่อการเริ่มต้นวันใหม่ที่สดใสและช่วยกระตุ้นอารมณ์
2. ปลาที่มีไขมัน เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล และปลาซาร์ดีนมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งจำเป็นต่อสุขภาพสมอง โอเมก้า 3 ช่วยควบคุมสารสื่อประสาท เช่น โดปามีน และ ซีโรโทนิน ช่วยลดการอักเสบ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้ อย่างน้อยคุณควรจะมีมื้ออาหารที่มีปลาที่มีไขมันอย่างน้อยสัปดาห์ละสองครั้งเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด
3. ดาร์กช็อกโกแลต โดยเฉพาะที่มีปริมาณโกโก้สูง (ตั้งแต่ 70% ขึ้นไป) มีสารต้านอนุมูลอิสระและสารประกอบที่สามารถกระตุ้นการผลิตสารเอ็นดอร์ฟินซึ่งเป็นสารเพิ่มอารมณ์ตามธรรมชาติ เพลิดเพลินกับดาร์กช็อกโกแลตสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ เป็นของว่างเป็นครั้งคราวเพื่อกระตุ้นอารมณ์ให้แจ่มใส
4. ผักใบเขียว เช่น ผักโขม คะน้า และผักกาดแก้ว ผักเหล่านี้อุดมไปด้วยโฟเลต ซึ่งเป็นวิตามินบีที่ช่วยสร้างสารสื่อประสาท เช่น ซีโรโทนิน และโดปามีน ซึ่งส่งผลต่อความรู้สึกมีความสุขและความเป็นอยู่ที่ดี
5. ถั่วและเมล็ดพืช เช่น อัลมอนด์ วอลนัท เมล็ดแฟลกซ์ และเมล็ดเชีย เป็นแหล่งที่ดีของไขมันดี โปรตีน และไฟเบอร์ ซึ่งไฟเบอร์ ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ยังมีแมกนีเซียมซึ่งเป็นแร่ธาตุที่มีบทบาทสำคัญในการทำงานของสมองและการควบคุมอารมณ์ ทานถั่วสักกำมือหรือโรยเมล็ดพืชในมื้ออาหารเพื่อให้อารมณ์ดีขึ้น
6. ขมิ้น เป็นเครื่องเทศสีเหลืองสด มักใช้ในอาหารประเภทแกง มันมีสารประกอบที่เรียกว่าเคอร์คูมินซึ่งเชื่อมโยงกับสุขภาพสมองที่ดีขึ้นและลดอาการซึมเศร้า
7. อะโวคาโด ไม่เพียงแต่อร่อยเท่านั้น แต่ยังอุดมไปด้วยไขมันดี ไฟเบอร์ ตลอดจนวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ พวกมันเป็นแหล่งวิตามินอีที่ดี ซึ่งทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระและอาจช่วยปกป้องเซลล์สมองจากความเครียด
8. ธัญพืชไม่ขัดสี คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่พบในธัญพืชไม่ขัดสี เช่น คีนัว ข้าวกล้อง และข้าวโอ๊ต สามารถช่วยเพิ่มระดับเซโรโทนินในสมอง ส่งเสริมความรู้สึกเป็นอยู่ที่ดีและมีความสุข เลือกตัวเลือกธัญพืชไม่ขัดสีแทนธัญพืชขัดสี เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่และช่วยให้อารมณ์ดีตลอดทั้งวัน
9. อาหารที่มีโพรไบโอติก เช่น โยเกิร์ต คีเฟอร์ กะหล่ำปลีดอง และกิมจิ อุดมไปด้วยโพรไบโอติก นอกจากจะช่วยให้สุขภาพลำไส้ดีขึ้น ยังสามารถควบคุมสารสื่อประสาท เช่น ซีโรโทนิน ซึ่งมีผลเชื่อมโยงต่อความรู้สึกนึกคิดและการควบคุมอารมณ์
10. ชาเขียว มีกรดอะมิโนที่เรียกว่า L-theanine ซึ่งพบว่าช่วยให้ผ่อนคลายและลดความวิตกกังวล เปลี่ยนกาแฟธรรมดาหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นชาเขียวสักแก้ว เพื่อความรู้สึกสงบผ่อนคลายและคุณประโยชน์ที่ช่วยกระตุ้นอารมณ์ที่ดีให้เกิดขึ้นได้
อาหารแก้เครียดที่ดีต่อสุขภาพ
1. กล้วย
ด้วยโพแทสเซียมและเกลือแร่ที่อุดมอยู่ในกล้วยจะช่วยลดควาดเครียดให้น้อยลง แถมในกล้วยยังมีทริปโตเฟนและกรดอะมิโนที่ช่วยหลั่งสารแห่งความสุขอีกด้วย ใครเครียด..ใครนอนไม่หลับ กินกล้วยช่วยได้นะ!
2. ผักขมและบลอกโคลี
ผักสีเขียวมักอุดมไปด้วยโฟเลท วิตามินบี แมกนีเซียม และเกลือแร่ต่างๆ โดยกรดโฟลิกจะมีส่วนช่วยเรื่องการทำงานของเส้นประสาท ทำให้ระดับความเครียดลดลง จิตใจสงบมากขึ้น
3. นมและโยเกิร์ต
ไม่เพียงแค่สารอาหารที่จำเป็นต่อระบบประสาท แต่ยังอุดมไปด้วยทริปโตเฟนที่ช่วยให้จิตใจสงบลง นี่คือเหตุผลว่าทำไมแพทย์แนะนำให้ดื่มนมอย่างน้อยวันละ 1 แก้ว
4. ปลาทูน่า แซลมอน และปลาน้ำจืดต่างๆ
เนื้อสัตว์ตระกูลปลาไม่เพียงแค่ให้สารอาหารดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ “โอเมก้า 3” ยังกระตุ้นการหลั่งสารอะดรีนาลีน ป้องกันโรคหัวใจที่เกี่ยวเนื่องมาจากความเครียด พร้อมทั้งวิตามินบี6 และบี12 ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นการหลั่งสารแห่งความสุข
5. ถั่วต่างๆ
หากรู้สึกเครียดๆ ในระหว่างกำลังทำงานหรืออ่านหนังสือ ลองหยิบถั่วมาเคี้ยวเพลินๆ แล้วให้วิตามินบี อี แมกนีเซียม และสังกะสีในถั่ว จะช่วยลดความเครียด อ๊ะ! แต่อย่าเผลอทานเยอะเกินไปนะ เพราะถั่วก็มีแคลอรีสูงอยู่เหมือนกัน
6. เนื้อไก่
คุณรู้หรือไม่ว่า นอกจากนมอุ่นๆ ที่ช่วยให้นอนหลับสบายแล้ว การเลือกเมนูมื้อเย็นเป็นเนื้อไก่ก็ช่วยให้หลับสบายมากขึ้นได้เหมือนกันนะ
7. ส้มและผลไม้รสเปรี้ยว
นอกเหนือจากผลไม้ตระกูลเบอร์รี ยังมีส้มและผลไม้รสเปรี้ยวอีกหลายชนิดที่ช่วยลดความเครียดได้ และร่างกายไม่สามารถสร้างวิตามินได้เอง เราจึงต้องเลือกรับวิตามินจากอาหารที่ทาน เพื่อให้ร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันมากพอ
8. แอพริคอทแห้ง
ด้วยแมกนีเซียมที่อุดมอยู่ในแอพริคอท ช่วยให้กล้ามเนื้อรู้สึกผ่อนคลาย..และยังเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อระบบประสาท
“ความเครียด” บำบัดได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การทำสมาธิ การบำบัดด้วยน้ำมันหอมระเหย รวมไปถึงการปรับทัศนคติความคิดให้เป็นไปในเชิงบวก ตลอดจนหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะสิ่งนี้ไม่ได้ช่วยคลายเครียดอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ
อ้างอิง : โรงพยาบาลนวเวช ,โรงพยาบาลพญาไท 2 ,gedgoodlife