เทคโนโลยีใหม่ วัคซีน ความหวังผู้ป่วยมะเร็งลำไส้-ทวารหนัก-เต้านม
เข้าสู่วันที่ 2 ของการจัดงานประชุมวิชาการประจำปี 2567 “BDMS ACADEMIC ANNUAL MEETING 2024” จัดโดย “บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS”
KEY
POINTS
- “การผ่าตัด” ยังคงเป็นวิธีการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ที่ช่วยให้รักษาหาย โดยเฉพาะระยะเริ่มต้น ซึ่งสามารถให้ผลการรอดชีวิตได้สูงถึง 95% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
- การรักษาด้วยเคมีบำบัดแบบรวมก่อนการผ่าตัด (Total Neoadjuvant Therapy - TNT) ต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักระยะลุกลาม วิธีการรักษาใหม่ที่เหมาะกับผู้ป่วยที่ต้องเลี่ยงการผ่าตัดและอยู่ภายใต้การเฝ้าระวังได้
- ปัจจุบันกำลังมีการพัฒนา วัคซีน HER2-Targeted เพื่อใช้ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นและระยะลุกลาม ซึ่งกระบวนการการรักษามะเร็งเต้านม ต้องใช้ทั้งเคมีบำบัด ผ่าตัด และรังสีบำบัด ถึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดี
การจัดงานประชุมวิชาการประจำปี 2567 “BDMS ACADEMIC ANNUAL MEETING 2024” จัดโดย “บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS” ที่จัดขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยปีนี้ได้กำหนดการจัดงานภายใต้แนวคิด “A ROAD TO LIFELONG WELL-BEING : EP.2 UNLOCK THE HEALTHY LONGEVITY” ขึ้นระหว่างวันที่ 19-22 พ.ย.2567 ณ BDMS Connect Center เพื่อพัฒนาแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ทางวิชาการ โดยหนึ่งในหัวข้อการประชุมที่น่าสนใจได้แก่ เรื่องเทคโนโลยีใหม่ วัคซีน ความหวังผู้ป่วยมะเร็งลำไส้-ทวารหนัก-เต้านม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ไทยสุดปัง! Medical tourists โตโดดเด่น BDMS เล็งเปิด รพ.ใหม่ คาดกำไรพุ่ง 1.63 หมื่นล้าน
ผ่าตัดมะเร็ง อัตรารอดชีวิตสูงถึง 95%
วันที่ 20 พ.ย.2567 นี้ ได้มีการประชุมในหัวข้อ “Current Treatment in Colorectal Cencer” โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรม “ศ.วาสิลิกี เลียนาซิคิติส มหาวิทยาลัยการแพทย์และวิทยาศาสตร์แห่งรัฐโอเรกอน” กล่าวถึง “การรักษา ความก้าวหน้า และอัปเดตล่าสุดในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก" ว่า การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก นั้น การผ่าตัด ยังคงเป็นวิธีการรักษาที่มีเป้าหมายเพื่อการรักษาหาย โดยเฉพาะในระยะเริ่มต้น ซึ่งสามารถให้ผลการรอดชีวิตได้สูงถึง 95% ในช่วง 5 ปี และในกรณีระยะลุกลามจะใช้การบำบัดร่วม เช่น เคมีบำบัดและรังสีรักษา
“การผ่าตัดจะทำให้เกิดความแม่นยำ และผลลัพธ์ในด้านมะเร็งวิทยาที่ดีที่สุด อีกทั้งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัย เช่น การทำ MRI ที่สามารถระบุขอบเขตของเนื้องอกและต่อมน้ำเหลือง การผ่าตัดผ่านกล้อง หรือการใช้หุ่นยนต์มาช่วยเพิ่มความแม่นยำ โดยเฉพาะในพื้นที่แคบ เช่น อุ้งเชิงกราน หรือการผ่าตัดแบบ Total Mesorectal Excision (TME) ซึ่งจะช่วยให้สามารถผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ” ศ.วาสิลิกี กล่าว
ใช้เทคโนโลยีควบคู่การรักษาผสมผสาน
“ศ.วาสิลิกี” กล่าวต่อว่า ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และแนวทางการรักษาแบบผสมผสาน รวมถึงนวัตกรรมในการรักษามะเร็งระยะเริ่มต้น จะช่วยให้การรักษาแบบคงอวัยวะ และเทคนิคในการผ่าตัดทั้งแบบการผ่าตัดผ่านกล้อง และการผ่าตัดเปิดช่องท้อง อีกทั้งการนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เข้ามาใช้นั้นจะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัด ตอบโจทย์การผ่าตัดเฉพาะรายบุคคล ที่สำคัญทำให้อัตราการรอดชีวิตมีมากขึ้น และลดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ
ปัจจุบันการรักษามะเร็งสำไส้ใหญ่และทวารหนัก นั้น ได้มีการนำเทคนิคการผ่าตัด และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยเสริมการทำงานของทีมแพทย์ ซึ่งสามารถเพิ่มผลลัพธ์ในการรักษาผู้ป่วย ลดภาระแพทย์ในการผ่าตัด และป้องกันความเสียหายต่อระบบประสาท ฉะนั้นการใช้เทคโนโลยีควบคู่กับการรักษาแบบผสมผสาน จึงทำให้การรักษาเกิดขึ้นแบบครบวงจร เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีที่สุด
รักษามาตรฐานมะเร็งลำไส้ตรวจระยะลุกลาม
ขณะที่ “รศ.พญ.กฤติยา กอไพศาล คณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล” กล่าวถึง “ความก้าวหน้าในการรักษามะเร็งลำไส้และทวารหนักระยะลุกลาม” ว่าวิธีการรักษามาตรฐานสำหรับมะเร็งลำไส้และทวารหนักระยะลุกลาม ก่อนอื่นต้องเข้าใจนิยามของผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่งหมายถึงผู้ป่วยที่มีระยะทางคลินิก T3/T4, N0/N+ และไม่มีการแพร่กระจาย (M0) ของโรค โดยการรักษาตามมาตรฐาน ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ยา 5-FU ในการรักษาก่อนผ่าตัด การใช้ยา Oxaliplatin ซึ่งจากการศึกษาในงานวิจัย อาทิ AIO และ ADORE ไม่พบว่ามีผลต่อการรอดชีวิตที่มีนัยสำคัญ
ส่วนการให้เคมีบำบัดหลังการผ่าตัด จะเป็นการแนะนำให้รักษาตามผลทางพยาธิวิทยา (Pathological staging) โดยใช้สูตรยา เช่น FOLFOX ซึ่งจะปรับตามปัจจัยของผู้ป่วย เช่น อายุ โรคร่วม และอายุขัย โดยผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงผ่าตัดสูงหรือมีอายุขัยน้อยกว่า 5 ปี อาจพิจารณาไม่ให้เคมีบำบัด
“การรักษามะเร็งลำไส้และทวารหนักระยะลุกลามในกลุ่มผู้ป่วยนั้น ปัญหาที่มักพบบ่อย คือ การรักษาไม่ครบตามแผน เนื่องจากผู้ป่วยบางรายไม่สามารถรับการรักษาเคมีบำบัดหลังผ่าตัดได้ต่อเนื่อง เพราะมีภาวะแทรกซ้อนหรือมีความทนทานต่อการรักษาต่ำ ฉะนั้น การรักษาแบบ CRT ร่วมกับการผ่าตัดจึงยังไม่แสดงผลต่อการรอดชีวิตที่ชัดเจนในงานวิจัย ทำให้เกิดการศึกษาวิธีการรักษาแนวทางใหม่อย่าง การบำบัดด้วยการผ่าตัดแบบ Total Neoadjuvant Therapy (TNT) ใช้การบำบัดมะเร็งทุกรูปแบบที่มีประสิทธิผลก่อนที่จะทำการผ่าตัดใหญ่มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักระยะลุกลาม” รศ.พญ.กฤติยา กล่าว
“TNT” รักษาด้วยเคมีบำบัดแบบรวมก่อนการผ่าตัด
“รศ.พญ.กฤติยา” อธิบายว่า TNT การรักษาด้วยเคมีบำบัดแบบรวมก่อนการผ่าตัด เป็นการใช้เคมีบำบัด หรือการฉายรังสีไปอยู่ในช่วงก่อนการผ่าตัด โดยเลื่อนการผ่าตัดออกไป ซึ่งเหมาะกับผู้ป่วยที่มีการตอบสนองทางคลินิกสมบูรณ์ (CCR) เพื่อเลี่ยงการผ่าตัดและอยู่ภายใต้การเฝ้าระวังได้ โดยแนวทางการรักษาใช้ TNT นั้น จะเริ่มด้วยการใช้เคมีบำบัดตามด้วยการฉายรังสี (CRT) และการผ่าตัด หรือเริ่มด้วยการใช้ฉายรังสี (CRT) ตามด้วยเคมีบำบัดและการผ่าตัด ซึ่งจะแบ่งเคมีบำบัดบางส่วนก่อนการผ่าตัด และส่วนที่เหลือหลังการผ่าตัดการใช้ TNT
“ข้อดีของTNT จะช่วยเพิ่มอัตราการตอบสนองทางพยาธิวิทยาสมบูรณ์ (pCR) ถึง 28% เทียบกับ 12-14% ในการรักษาแบบมาตรฐาน เพิ่มระยะเวลาระหว่างการฉายรังสีกับการผ่าตัด ช่วยปรับปรุงผลลัพธ์การรักษา และสามารถกำจัดเซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายได้ตั้งแต่ระยะแรก แต่ทั้งนี้ แม้ว่า TNT จะช่วยปรับปรุงการรอดชีวิตโดยปราศจากโรค แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าช่วยเพิ่มการรอดชีวิตโดยรวม ดังนั้น ต้องเลือกผู้ป่วยอย่างระมัดระวัง ซึ่งการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดและ TNT ต้องเป็นแบบเฉพาะบุคคล จึงอาจเป็นแนวทางในอนาคต โดยมุ่งเน้นที่การปรับการรักษาให้เหมาะสมกับชีวภาพของเนื้องอกและลักษณะเฉพาะของผู้ป่วย”รศ.พญ.กฤติยา กล่าว
เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ลดผลข้างเคียง
ต่อมาในช่วงสายได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “การรักษามะเร็งเต้านม อัปเดตล่าสุดและการแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติ” โดยได้รับเกียรติจาก “ศ.สรัญญา ชุมศรี จาก Mayo Clinic USA” เป็นผู้บรรยาย ว่าการพัฒนาการรักษามะเร็งเต้านม HER2-Positive ในปัจจุบันมีการรักษาที่แตกต่างไปจากเดิม โดยขณะนี้จะใช้การรักษาแบบ neoadjuvant (ก่อนการผ่าตัด) เพื่อประเมินผลลัพธ์ได้ดีขึ้นและเพิ่มอัตราการตอบสนองทางพยาธิวิทยา (pathological complete response หรือ pCR)
รวมถึงมีแนวทางในการรักษาใหม่ ๆ อย่าง -DM1 (Kadcyla) ที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการกลับมาเป็นซ้ำในผู้ป่วยที่มีโรคหลงเหลือหลังการผ่าตัด (ผลจากการทดลอง KATHERINE) แต่ยังผลข้างเคียง อาทิ เอนไซม์ตับสูงและปอดอักเสบ โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับรังสีรักษา และมีการนำสูตรยาใหม่ ๆ เช่น การยาฉีดใต้ผิวหนังที่ช่วยลดระยะเวลาในการรักษา และเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วยเมื่อเทียบกับการให้ยาทางหลอดเลือดดำ
“ศ.สรัญญา” กล่าวต่อว่า ตนได้มีการศึกษาทดลองทางคลินิกในเรื่องดังกล่าว โดยมีการทดสอบ ADC รุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นแต่มีผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น ทั้งการลดระดับการรักษา ซึ่งเป็นการ ศึกษาการลดการใช้ยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยความเสี่ยงต่ำเพื่อลดผลข้างเคียง (เช่น การทดลอง COMPASS และ ADAPT) และการเพิ่มระดับการรักษา (Escalation Studies) ทดสอบการรักษาแบบเข้มข้นสำหรับผู้ป่วยความเสี่ยงสูง รวมถึงการผสมผสาน ADC กับการรักษาแบบใหม่ พบว่า การใช้ T-DM1 หลังการผ่าตัดช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยที่ยังมีโรคหลงเหลือ แสดงประสิทธิภาพของการใช้ยาสองตัว (pertuzumab และ trastuzumab) ร่วมกับเคมีบำบัด และการทดสอบ trastuzumab deruxtecan (T-DXd) ซึ่งแสดงผลการรอดชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
พัฒนาวัคซีน รักษาเฉพาะบุคคล
“ขณะนี้กำลังพัฒนา วัคซีน HER2-Targeted เพื่อใช้ในผู้ป่วยระยะเริ่มต้นและระยะลุกลาม และค้นหาชีวเครื่องหมาย (biomarker) ที่ช่วยเลือกวิธีการรักษาและพยากรณ์ผลตอบสนองของผู้ป่วย เพราะการรักษาเฉพาะบุคคลนั้น ต้องมุ่งเน้นการออกแบบการรักษาที่เหมาะสมกับชีววิทยาของเนื้องอกและความเสี่ยงของผู้ป่วย เพิ่มอัตรา pCR และวางแผนการผ่าตัดที่เหมาะสม ที่สำคัญต้องลดการใช้เคมีบำบัดในผู้ป่วยความเสี่ยงต่ำ ขณะที่เพิ่มการรักษาในผู้ป่วยความเสี่ยงสูง” ศ.สรัญญา กล่าว
อย่างไรก็ตาม การรักษามะเร็งเต้านมชนิด HER2-positive กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำเสนอวิธีการรักษาแบบใหม่และแนวทางเฉพาะบุคคล ความก้าวหน้าดังกล่าว จะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย พร้อมลดภาระการรักษา การวิจัยและการทดลองทางคลินิกที่กำลังดำเนินอยู่จะช่วยปรับปรุงกลยุทธ์เหล่านี้ต่อไป เพื่อผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้นด้วยผลข้างเคียงที่น้อยลง รวมถึงความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนความรู้เป็นสิ่งสำคัญในการนำความก้าวหน้าเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติจริงในอนาคต
3 กระบวนการรักษาสู้มะเร็งเต้านม
ปิดท้ายด้วย “นพ. ฉัตรชัย คูวัธนไพศาล โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ” ได้นำเสนอ “แลกเปลี่ยนกรณีศึกษาและอภิปราย เกี่ยวกับการรักษามะเร็งเต้านม” ว่าการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ จะเน้นไปที่ประวัติครอบครัวของผู้ป่วย กระบวนการรักษา และการจัดการหลังการรักษา ซึ่งประวัติครอบครัวของผู้ป่วยมีความสำคัญอย่างมาก เพราะมะเร็งเต้านม เกิดจากกรรมพันธุ์ การทบทวนประวัติครอบครัวผู้ป่วยอย่างละเอียดจะนำไปสู่การตรวจวินิจฉัย จนพบก้อนเนื้องอกที่มีลักษณะเป็นเนื้องอก hypoechoic และเริ่มกระบวนการรักษาได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ สำหรับกระบวนการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านม จะได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดจำนวน 6 รอบ โดยมีการติดตามผลผ่านการตรวจภาพทางการแพทย์ เช่น การทำ CT scan หลังการรักษา พบว่าผลการตรวจก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กลงอย่างเห็นได้ชัด แสดงให้เห็นว่ามีการตอบสนองที่ดีต่อการรักษา รวมทั้งการลดลงของการทำงานเมตาบอลิซึมของก้อนมะเร็งยังบ่งชี้ถึงการตอบสนองที่ดี
“นพ. ฉัตรชัย” กล่าวทิ้งท้ายว่าหลังจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัด และผลจากการผ่าตัดพบว่าก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กมาก และพบว่ามีการรอดของเนื้องอกที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อย ซึ่งจัดอยู่ในประเภทมะเร็งที่มีความรุนแรงน้อย จากผลดังกล่าวแพทย์แนะนำให้ทำการรักษาด้วยรังสีบำบัดเพื่อป้องกันการกลับมาเกิดมะเร็งอีกครั้ง ดังนั้น จะเห็นได้ว่า กระบวนการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านม การติดตามผลการรักษาผ่านการตรวจภาพทางการแพทย์ และการใช้เคมีบำบัด ตามด้วยการผ่าตัดและรังสีบำบัด จะช่วยทำให้ผลการรักษาผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น