'5 นวัตกรรมภูมิปัญญา' ฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ        

'5 นวัตกรรมภูมิปัญญา' ฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ        

ปี 68 สธ.ขับเคลื่อน “ดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจร” กำหนด 1 เขตสุขภาพ  1 จังหวัด ชู 5 นวัตกรรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ยกระดับนวัตกรรมภูมิปัญญาฟื้นฟูสภาพร่างกาย -คุณภาพชีวิตที่ดี เป้าผู้สูงอายุเข้าถึง 60 %

เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2567 ที่ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น พลัส แวนดาแกรนด์ นายเดชอิศม์ ขาวทอง  รมช.สาธารณสุข  กล่าวในการเป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการพัฒนานวัตกรรมการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกว่า  สธ.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการแพทย์ปฐมภูมิ และส่งเสริมภาคีเครือข่ายในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพประชาชนโดยสนับสนุนการทำงานของ อสม. และผลิตผู้ดูแลให้พร้อมรองรับสังคมสูงอายุ ตลอดจนสนับสนุนการใช้ยาจากสมุนไพรไทยเสริมประสิทธิภาพการรักษาแผนปัจจุบัน

ล่าสุด มีรายการยาจากสมุนไพรที่สามารถใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันและเบิกจ่ายได้ตามรายการบริการ (Fee Schedule) 27 รายการ รวมทั้งมีการเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์นวัตกรรมพอกเข่ารองรับสังคมสูงอายุ
\'5 นวัตกรรมภูมิปัญญา\' ฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ        

 “ผู้สูงอายุ  60-69 ปี พบว่า 69.3% ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง และพบเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น กรมการแพทย์แผนไทยฯ จึงได้พัฒนารูปแบบและนวัตกรรมการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ โดยบูรณาการร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน และภาคเครือข่ายในระดับชุมชน ครอบคลุมทั้งกลุ่มติดบ้าน ติดเตียง และติดสังคม”นายเดชอิศม์กล่าว   

ในปี 2568 มุ่งขยายผลการดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจรในพื้นที่ที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดของแต่ละเขตสุขภาพ เขตละ 1 จังหวัด ด้วย 5 นวัตกรรมด้านการแพทย์แผนไทยฯ ได้แก่

  • ยางยืดพิชิตโรค ยืดเหยียดกล้ามเนื้อข้อต่อและเส้นเอ็น
  • แผงไข่มะกรูด ลดอาการชาเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน
  • ออกกำลังกายด้วยชักรอก
  • ผ้าขาวม้าคลายปวด
  • ตาราง 9 ช่อง เคลื่อนไหวร่างกายแบบ 3 มิติ  ซ้าย-ขวา, หน้า-หลัง และ บน-ล่าง   

“ผลที่จะเกิดขึ้นคือคนที่ติดสังคมจะช่วยตัวเองได้มากขึ้น  ตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 1.6 แสนคน ผู้ป่วยที่ติดเตียงและติดบ้าน ต้องได้รับการดูแลไม่น้อยกว่า 90,000 คน  สุดท้ายทั้งเป้าผู้สูงอายุทั้ง 3 กลุ่มต้องได้รับการดูแลจากนวัตกรรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ไม่น้อยกว่า 60 %”นายเดชอิศม์กล่าว
 

 

\'5 นวัตกรรมภูมิปัญญา\' ฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ