ก่อนอายุ 40 ก็เป็นวัยทองได้ เรื่องที่เกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน
ผู้หญิงทุกคนต้องเผชิญ “วัยทอง” ไม่มีใครหลีกหนีภาวะนี้ได้ และไม่ใช่ผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายก็เป็นวัยทองได้ ซึ่ง "วัยทอง" นี่ คงไม่มีใครอยากก้าวเข้าสู่ภาวะนี้เร็ว ๆ
KEY
POINTS
- สัญญาณเตือนวัยทองก่อนอายุ 40 ปี จะมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย สะบัดร้อน สะบัดหนาว ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดเมื่อยตามร่างกายและข้อ หลงลืมง่าย และปัญหาช่องคลอดแห้ง
- วัยทองดูแลรักษาได้ เพียงเริ่มต้นที่ใจ และเมื่อใดที่มีสัญญาณเตือนอาการวัยทองถามหา ให้นับว่าเป็นช่วงเวลาเหมาะสมแก่การเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยสูตินรีแพทย์
- วิธีรับมือและดูแลอาการวัยทองด้วยแผนการดำเนินชีวิต สามารถเริ่มได้จากการรับประทานอาหารดี เน้นที่คุณประโยชน์ ออกกำลังกาย ฝึกควบคุมจิตใจ และตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ
ผู้หญิงทุกคนต้องเผชิญ “วัยทอง” ไม่มีใครหลีกหนีภาวะนี้ได้ และไม่ใช่ผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายก็เป็นวัยทองได้ ซึ่ง "วัยทอง" นี่ คงไม่มีใครอยากก้าวเข้าสู่ภาวะนี้เร็ว ๆ เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายขาดความสมดุล ทั้งฮอร์โมน และระบบในร่างกาย รวมถึงสภาพจิตใจที่ถูกกระตุ้นจากสิ่งรอบข้างได้ง่าย
ปัจจุบันคนอายุน้อยก็สามารถเข้าสู่ภาวะ "วัยทองก่อนวัยอันควร" ได้เหมือนกัน ดังนั้น มาทำความรู้จักกับอาการวัยทองกันให้มากขึ้น เพื่อป้องกันและทราบถึงสาเหตุของการเกิดความผิดปกตินี้
หลายคนอาจจะมองว่า วัยทอง เกิดเมื่อพ้นวัยหนุ่มสาวไปจนถึงอายุ 40+ โดยเริ่มมีอารมณ์ขึ้นลง ขี้หงุดหงิด โมโหง่าย เจ้าอารมณ์แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว พาลให้ผู้คนที่อยู่รอบข้างถอยห่างความสัมพันธ์ไปเสียหมด อารมณ์แปรปรวนเดี๋ยวเหวี่ยงเดี๋ยววีนนั้น อาจเป็นสัญญาณเตือนที่บอกให้คุณรู้ตัวว่าถึงเวลาเปลี่ยนผ่านสู่ช่วงเวลาวัยทองแล้ว หันมาตั้งรับอย่างเข้าใจ เสริมสร้างสุขภาพกายและจิตใจให้แข็งแกร่งก่อนจะประสบภาวะวัยทองขั้นรุนแรง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สาวๆบอกลา “น้องสาวแห้ง” ทานวิตามิน-อาหารอย่างไร?เพิ่มความชุมชื่น
เช็ก อาการ ‘วัยทอง’ ประตูสู่วัยชรา เตรียมพร้อม รับมืออย่างไร
'ฮอร์โมน' สาเหตุวัยทอง วัยหมดประจำเดือนของผู้หญิง
วัยทองของผู้หญิง คือ ช่วงอายุที่ย่างเข้า 40 - 55 ปี โดยจะเป็นช่วงที่ภาวะรังไข่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ลดลงจนหยุดการทำงาน และเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก่อนกำหนด (ก่อนอายุ 40 ปี) ร่วมกับความร่วงโรยทางด้านร่างกายอื่นๆ ตามมาในเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งในช่วงอายุดังกล่าวที่ฮอร์โมนลดน้อยลงนั้น ทำให้ร่างกายมีโอกาสเกิดปัญหาด้านสุขภาพตามมาได้ง่าย อาทิ โรคกระดูกพรุน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
รังไข่มีหน้าที่สำคัญในการสร้างฮอร์โมนเพศ ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาของระบบสืบพันธุ์ และความแข็งแรงของกระดูก
แต่ภาวะวัยทอง อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าวัยอันควร กล่าวคือเกิดขึ้นตั้งแต่อายุน้อยกว่า 40 ปี เนื่องจากการทำงานผิดปกติของรังไข่ทำให้การสร้างฮอร์โมนผิดปกติ อาการวัยหมดประจำเดือนก็สามารถแสดงออกมาได้ก่อนวัยอันควร
ถึงแม้ทุกคนจะหลีกหนีวัยทองไปไม่พ้น แต่อาการวัยทองของผู้หญิงจะแสดงให้เห็นเพียงระยะเวลาประมาณ 3 - 5 ปี ก่อนจะค่อยๆ หายไปหากเข้าใจและดูแลเอาใจใส่อย่างถูกวิธี
วิธีการสังเกตตัวเองกับโรควัยทองก่อนกำหนดมีดังนี้
- ประจำเดือนผิดปกติ ประจำเดือนมาน้อย รอบเดือนห่างมากกว่า 35 วัน หรือประจำเดือนขาดมากกว่า 3 เดือน
- โดยผู้ที่มีภาวะวัยทองก่อนกำหนด อาจมีอาการแสดงออกมาจะเหมือนวัยทอง เช่น ร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้ง นอนไม่หลับ อ่อนเพลียง่าย หลงๆ ลืมๆ หงุดหงิดง่าย และอารมณ์แปรปรวน เป็นต้น
- หากมีอาการผิดปกติ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ รักษา และป้องกันการเกิดโรคที่อาจตามมากับภาวะวัยทองก่อนกำหนดได้ เช่น ภาวะกระดูกพรุน ภาวะไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจขาดเลือดอีกด้วย
เช็ก 6 สัญญาณเตือนอาการแบบไหนวัยทอง
1. อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางสรีระร่างกายที่เคยผ่านวันแรกแย้มกำลังก้าวไปสู่อีกช่วงวัยของชีวิต ส่งผลให้เกิดปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจตามมา ความรุนแรงของอาการที่มีให้เห็นได้มากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ต้องเผชิญ
อาการวัยทองผู้หญิงที่สามารถรับรู้ได้เบื้องต้นคือ ความรู้สึกวิตกกังวล กระวนกระวาย หงุดหงิดได้ง่าย ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า ซึมเศร้า ขาดสมาธิในการทำงาน ควบคุมตัวเองไม่ได้ และจิตใจแปรปรวนไปตลอดทั้งวัน ซึ่งภาวะเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างได้
2. สะบัดร้อน สะบัดหนาว
อาการร้อนวูบวาบตามร่างกายเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งวัน แต่จะทวีความรุนแรงได้มากขึ้นในเวลากลางคืน พาลให้นอนหลับได้ไม่สนิท กระสับกระส่าย มักเกิดขึ้นช่วงใบหน้า คอ และทรวงอก อาการในแต่ละครั้งอาจเกิดขึ้นเพียงไม่นานราว 1-5 นาที ร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น เหงื่อออกมาก หนาวฉับพลับ หัวใจเต้นเร็ว ในบางรายอาจมีอาการใจสั่นร่วมด้วย โดยมักจะพบในระยะ 1-2 ปีแรกหลังหมดประจำเดือน แม้อาการเหล่านี้สามารถหายไปได้เอง แต่ความอ่อนเพลียจากการพักผ่อนไม่เพียงพออาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและสุขภาพโดยรวม จนเป็นเหตุให้โรคอื่นถามหาได้เช่นกัน
3. ประจำเดือนมาไม่ปกติ
การมีระดับฮอร์โมนลดลงอย่างฉับพลัน ส่งผลให้การมาของประจำเดือนเปลี่ยนแปลงและแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล ในรูปแบบปกติประจำเดือนจะค่อยๆ ลดความถี่ของรอบเดือนลงและหมดไปอย่างถาวร ในขณะที่บางคนอาจหยุดมีประจำเดือนไปเลย หรือที่หลายคนเข้าใจว่าเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนนั่นเอง
แต่เมื่อใดก็ตามที่มีสัญญาณไม่เป็นปกติ เช่น มีเลือดออกทีละเล็กน้อยแบบผิดปกติ ปวดบริเวณท้องน้อย หรือมีเลือดออกมากขึ้น และนานขึ้น (เกิน 7 วัน) จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อตรวจหาที่มาของความไม่ปกตินั้น ซึ่งอาจมาจากการก่อโรคอื่นๆ ในร่างกายได้
4. ปวดเมื่อยตามร่างกาย และข้อ
หลังหมดประจำเดือนในระยะเวลา 5 ปีแรกนั้น ร่างกายจะมีการสูญเสียมวลกระดูกไปอย่างรวดเร็วสูงถึง 20% จากมวลกระดูกทั้งหมดของร่างกาย จึงเป็นสาเหตุหลักของโรคกระดูกพรุนในสาวสูงวัย ร่างกายจะไม่แสดงอาการภาวะกระดูกพรุนให้เห็นได้จากภายนอก แต่มีความเสี่ยงสูงที่อุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยจะส่งผลให้กระดูกสันหลัง ข้อมือ และสะโพก แตกหักง่ายจากความเปราะบาง อาการปวดเมื่อยตามกระดูกและข้อจึงกลายเป็นสัญญาณเตือนก่อนอันตราย จึงควรหันมาใส่ใจโครงสร้างร่างกายก่อนทรุดโทรม
5. หลงลืมง่าย
อาการหลงลืมง่ายและจดจำเรื่องราวรอบตัวได้น้อยลง อย่างการลืมตำแหน่งที่วางกุญแจรถ หรือจำชื่อคนที่อยากพูดถึงออกมาไม่ได้ เห็นได้ชัดเจนในช่วงปีแรกหลังหมดประจำเดือน ความเสื่อมของเซลล์สมองที่เป็นไปตามอายุอาจดึงให้เข้าใกล้โรคอัลไซเมอร์ได้แบบไม่รู้ตัว แต่อาการดังกล่าวจะค่อยๆ ดีขึ้น หากพัฒนาฝึกสมองไม่ให้หยุดคิดและได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ
6. ปัญหาช่องคลอดแห้ง
เนื่องจากระดับฮอร์โมนที่ลดลงทำให้สมดุลของช่องคลอดเกิดความเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดอาการคัน ระคายเคือง มีการอักเสบของช่องคลอด ความต้องการทางเพศลดลง และมีปัญหาในการร่วมเพศจากการที่ช่องคลอดแห้งและเกิดการเสียดสี ลามไปถึงเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อบริเวณรอบท่อปัสสาวะมีการฝ่อลีบและหย่อนตัว จนเกิดเป็นอาการปวดแสบปวดร้อนขณะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ บางครั้งมีปัสสาวะเล็ดขณะไอ จาม รวมทั้งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะได้ง่าย
ระบบฮอร์โมนภายในร่างกายไม่สมดุล
ในผู้หญิงจะเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน 2 ชนิด ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ส่วนในผู้ชายจะเกี่ยวข้องกับ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศทั้งหมด ดังนั้นความไม่สมดุลของการหลั่งฮอร์โมนเหล่านี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอาการอื่นๆ ตามมา และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เข้าสู่วัยทองก่อนวัยอันควร
- กรรมพันธุ์
เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมที่ถูกถ่ายทอดต่อกันมาเรื่อยๆ ทำให้ประจำเดือนหมดเร็ว ก็อาจเป็นสาเหตุของการเข้าสู่วัยทองก่อนกำหนดได้
- เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคต่างๆ
ตัวอย่างเช่น โรคอ้วน โรคมะเร็งหรือผู้ป่วยที่มีประวัติเคยได้รับการบำบัดด้วยรังสี ที่อาจไปทำลายรังไข่ เช่น ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก การติดเชื้อ CMV (Cytomegalovirus) ส่งผลให้เกิดการอักเสบที่รังไข่และมดลูก การเป็นโรคแพ้ภูมิตนเอง เป็นต้น
- การผ่าตัดรังไข่หรือมดลูก
เนื่องจากการเข้าสู่สภาวะวัยทอง เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศที่ผลิตจากมดลูก ดังนั้นเป็นไปได้ว่าหากได้รับการผ่าตัดในจุดสำคัญ จะทำให้การผลิตหรือหลั่งสารไม่ปกติ ระดับฮอร์โมนเพศจึงต่ำลงนั่นเอง
- พฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย
เช่น การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ การทานอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ การสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ รวมถึงสารเสพติดต่างๆ และความเครียด พฤติกรรมเหล่านี้เป็นปัจจัยภายนอก เมื่อเกิดการสะสมมาเรื่อยๆ ก็นำไปสู่ภาวะวัยทองก่อนกำหนดได้เช่นกัน
รับมือและดูแลอาการวัยทองด้วยแผนการดำเนินชีวิต
- รับประทานอาหารดี เน้นที่คุณประโยชน์
การรับประทานอาหารครบทุกหมู่เป็นพื้นฐานการมีสุขภาพที่ดี โดยเน้นอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูงและไขมันต่ำ เพื่อช่วยให้ร่างกายป้องกันภาวะกระดูกพรุน คงสภาพของกระดูกไว้ให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโปรตีนสูงเกินไป เพราะส่งผลให้ร่างการสูญเสียแคลเซียมได้มากขึ้น และเพิ่มภาระให้ไตทำงานหนักเกินรับไหว เพิ่มอาหารที่มีกากใยอย่างผักและผลไม้ให้สมดุลกันในทุกๆ มื้อ ในรายที่เริ่มมีภาวะแคลเซียมไม่เพียงพอควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสริมแคลเซียมและวิตามินดีสู่ร่างกาย
- ออกกำลังกาย
ให้อะดรีนาลีนในร่างกายได้หลั่งออกมาพร้อมเม็ดเหงื่อ ออกกำลังกายให้ได้เป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที เพื่อช่วยเพิ่มมวลกระดูกและเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ด้วยการเล่นแอโรบิค เช่น เล่นเทนนิส เต้นแอโรบิค เดินเร็ว วิ่ง และว่ายน้ำ เป็นต้น นอกจากจะช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจให้ร่างกายได้แล้ว อะดรีนาลีนที่ได้จากการออกกำลังกายยังช่วยให้จิตใจเบิกบานและผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี
- ฝึกควบคุมจิตใจ
ตั้งรับความเปลี่ยนแปลงอย่างเข้าใจ ไม่ปล่อยให้อารมณ์และจิตใจขุ่นมัว ภาวะอาการวัยทองที่เกิดขึ้นกับร่างกายเป็นไปตามธรรมชาติด้วยอายุที่เพิ่มขึ้น ไม่มีใครหลีกหนีพ้น แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะปรับตัวได้ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง การมองโลกในแง่บวกจึงเป็นยาบรรเทาความเครียด คลายความเศร้า และอารมณ์ที่ปรวนแปรได้ดีในวันที่รู้สึกว่าหลายเรื่องบนโลกนี้ไม่ค่อยเป็นใจ ลองหากิจกรรมที่มีประโยชน์มาลดช่องว่างของเวลาในแต่ละวัน อย่างการเลี้ยงต้นไม้ วาดรูป พูดคุยกับคนใกล้ตัว พบปะผู้คน หรือออกเดินทางท่องเที่ยวเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่และเพิ่มความสุขให้ชีวิต
- ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
ถึงที่ผ่านมาจะเข้ารับการตรวจสุขภาพแบบองค์รวมเป็นประจำทุกปี แต่เมื่อถึงวัยทองแล้วเป้าหมายในการตรวจสุขภาพประจำปีจำเป็นต้องเปลี่ยนไปสู่การตรวจที่เหมาะสมกับช่วงอายุ 40-50 ปีขึ้นไป เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบเมื่อเปลี่ยนผ่านสู่อีกช่วงเวลาของชีวิต อย่างการตรวจระดับฮอร์โมน ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ตรวจหาความผิดปกติของมดลูกและรังไข่ ตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกบริเวณกระดูกสะโพก และกระดูกสันหลังส่วนล่าง เพื่อหาข้อบ่งชี้และความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคตามวัยได้
เตรียมพร้อมรับมือกับการตรวจภาวะหมดประจำเดือน
วัยทองดูแลรักษาได้ เพียงเริ่มต้นที่ใจ และเมื่อใดที่มีสัญญาณเตือนอาการวัยทองถามหา ให้นับว่าเป็นช่วงเวลาเหมาะสมแก่การเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยสูตินรีแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนของอาการ เตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ในรายที่มีอาการวัยทองรุนแรง
แพทย์อาจแนะนำให้รับฮอร์โมนทดแทนตามความเหมาะสม เพื่อลดการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ป้องกันภาวะกระดูกบางและกระดูกพรุน รักษาอาการช่องคลอดแห้ง และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ด้วย เลือกวางแผนการดูแลสุขภาพให้เหมาะสมกับตัวเอง ถึงคราววัยทองมาเยือนเมื่อไหร่ ความรุนแรงของอาการจะได้ลดลง
รู้แบบนี้แล้วอย่าปล่อยให้วัยทองเป็นเรื่องแสลงใจ บั่นทอนความสุขเมื่ออายุใกล้หลัก 4 ดูแลตัวเองให้ดีตั้งแต่วัยสาว เพื่อก้าวสู่วัยทองอย่างมีความสุข อย่าลังเลที่จะพบแพทย์เพื่อพูดคุยและขอคำปรึกษาถึงแนวโน้มด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่อเตรียมพร้อมเป็นอย่างดีแล้วก็ออกไปสนุกสนานกับทุกเรื่องราวรอบตัวอย่างคุ้มค่า ให้สมกับที่ว่าวัยทองเป็นช่วงเวลาแห่งโบนัสของชีวิต
อ่านต่อ: ศูนย์สูตินรีเวช ชั้น 3 โรงพยาบาลวิมุต , allwellhealthcare