เช็ก อาการ ‘วัยทอง’ ประตูสู่วัยชรา เตรียมพร้อม รับมืออย่างไร
เช็ก สัญญาณ เข้าสู่ "วัยทอง" หรือ วัยหมดประจำเดือน สภาวะเปลี่ยนแปลงของผู้หญิงทั้งร่างกายและจิตใจ จากรังไข่หยุดทำงาน ส่งผลต่อ ความจำ ผิว ผม หัวใจ กระดูก ข้อ ที่สำคัญ คือ ระบบสืบพันธุ์
KEY
POINTS
- วัยทอง สภาวะเปลี่ยนแปลงของผู้หญิงทั้งร่างกายและจิตใจ จากรังไข่หยุดผลิตไข่ ทำให้ขาดฮอร์โมนเพศหญิง สัญญาณเตือนล่วงหน้า เช่น ประจำเดือนมาคลาดเคลื่อน หรือ มากะปริบกะปรอย และประจำเดือนขาดไป 1 ปี และกลับมาเป็นอีกครั้ง หลังจะหมดไปอย่างถาวร
- ผู้หญิงบางคนอาจจะไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยและไม่นาน แต่บางคนอาจมีอาการรุนแรงมาก จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
- หลังจากวัยทอง กล้ามเนื้อจะสลายปีละ 1-2% กระดูกก็สลาย ปีละ 1-2% การรับมือ เพื่อให้ความเสื่อมเหล่านี้เกิดช้าที่สุด สิ่งสำคัญ คือ ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย ดูแลน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์กินดี นอนดี และไม่เครียด
วัยทอง หรือ วัยหมดประจำเดือน คือ สภาวะเปลี่ยนแปลงของผู้หญิงทั้งร่างกายและจิตใจ เกิดจากรังไข่หยุดผลิตไข่ ทำให้ขาดฮอร์โมนเพศหญิง ผู้ที่เข้าสู่วัยทองจะมีอายุเฉลี่ย 45 – 55 ปี ซึ่งก่อนจะเข้าสู่วัยทอง ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงเหมือนเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้า เช่น ประจำเดือนมาคลาดเคลื่อน หรือ มากะปริบกะปรอย และประจำเดือนขาดไป 1 ปี และกลับมาเป็นอีกครั้ง หลังจะหมดไปอย่างถาวร
ผู้หญิงบางคนอาจจะไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยและไม่นาน แต่บางคนอาจมีอาการรุนแรงมาก จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน กรณีนี้แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อพิจารณารับฮอร์โมนทดแทน ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม
ผศ.พญ.อรวิน วัลลิภากร สาขาวิชาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ให้ข้อมูล “การเตรียมตัวรับมือภาวะวัยทองอย่างเหมาะสม” ใน รายการลัดคิวหมอรามาฯ ผ่านช่องทาง “รามาแชนแนล Rama Channel” โดยอธิบายว่า วัยทอง เป็นภาวะคล้ายวัยรุ่น เมื่อเป็นวัยรุ่นก็จะมีฮอร์โมนพลุ่งพล่าน แต่วัยทองคือการเข้าสู่วัยชรา ประตูเปลี่ยนผ่านผู้ใหญ่สู่วัยชรา เราเรียกว่า ภาวะวัยทอง
สำหรับภาวะวัยทอง เกิดขึ้นได้ทั้งผู้ชาย และผู้หญิง แต่ผู้หญิงจะมีอาการที่เด่นกว่า เพราะประจำเดือนหายไปเลย เป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนบ่งบอก แต่ผู้ชายไม่มีสัญญาณเตือน
โดยคอนเซปต์ วัยทองของผู้หญิง คือ รังไข่หยุดทำงาน รังไข่มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนเพศหญิงออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย ทั้งความจำ ผิว ผม หัวใจ กระดูก ข้อ ที่สำคัญ คือ ระบบสืบพันธุ์ ทำให้มีประจำเดือน ช่องคลอดไม่แห้ง มีอารมณ์ทางเพศ พอฮอร์โมนหายไป อาการตั้งแต่หัวจรดเท้าจึงมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เคล็ด(ไม่)ลับ ฉบับ 'วัยทอง' ดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์แผนไทย
- ‘ตัวแม่’ ก็ต้องแคร์สุขภาพ เคล็ดลับดูแลกายใจ ตั้งแต่เด็ก-วัยทอง
- 10 วิธีป้องกัน "โรคกระดูกพรุน" ทำอย่างไร? ไม่ให้เป็นโรค
ประจำเดือน สัญญาณบ่งบอก วัยทอง
ประจำเดือน เหมือนเป็นหนึ่งในสัญญาณบ่งบอกว่า ร่างกายมีฮอร์โมนเพศหญิงปกติ ถ้าฮอร์โมนหมดไป สัญญาณแรก คือ ประจำเดือนหมดไป เช่น ผู้หญิงบางคน ยังไม่วัยทอง แต่ประจำเดือนหายไป ก็เป็นสัญญาณเตือนโรคบางอย่าง เช่น มดลูก และ รังไข่ เช่นกัน ในวัยทอง
อาการที่ประจำเดือนหายไป เป็นสัญญาณเตือนว่า เราขาดฮฮร์โมนแล้ว สัญญาณเตือนแรกๆ อาจจะมาไม่ปกติ มา 2 – 3 เดือนครั้ง หรือบางคนมา 2-3 ครั้งใน 1 เดือน แต่มาปริมาณน้อยๆ ที่เขาเรียกว่า “เลือดจะไป ลมจะมา” มาจากภาวะประจำเดือนผิดปกติของผู้หญิงก่อนที่จะเข้าสู่วัยทอง
สัญญาณเตือน เข้าสู่ "วัยทอง" หรือ วัยหมดประจำเดือน
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- ร้อนวูบวาบ
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- นอนไม่หลับ
- ช่องคลอดแห้ง
“ทั้ง 5 สัญญาณ ไม่จำเป็นต้องมาครบ แต่ประจำเดือนหายไปแน่นอน ทางการแพทย์จะวินิจฉัยว่าคนไข้เป็นวัยทอง ก็ต่อเมื่อประจำเดือนขาดหายไปแล้ว 1 ปี และอายุเข้าได้กับวัยทอง และหลังจากนั้น หากมีประจำเดือนกลับมาใหม่ ต้องสงสัยแล้วว่าเป็นประจำเดือนหรือเลือดออกผิดปกติ จะต้องแนะนำให้พบแพทย์”
ร้อนวูบวาบ อาการกวนใจ
ผศ.พญ.อรวิน อธิบายต่อไปว่า อาการข้างเคียงกวนใจที่จะมาเจอได้ในวัยเปลี่ยนผ่าน บางคนอาจมีอาการก่อนหมดประจำเดือน 2-3 ปี คือ อาการร้อนวูบวาบ อาจจะนั่งอยู่แล้วร้อนขึ้นมาคนเดียว วูบขึ้นหน้า ร้อนผ่าวแล้วหายไป บางคนเกิดขึ้นเป็น 10 ครั้งใน 1 วัน ครั้งละไม่ถึงนาที ร่างกายจะปรับตัว ระบายความร้อน ทำให้เหงื่อแตก ขนลุก ตามมา
ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้หญิงมาก เพราะผู้หญิงวัย 45-55 ปี ส่วนใหญ่เป็นเจ้าคนนายคน จะต้องบริหารจัดการหลายอย่าง ลูกอาจจะอยู่ในช่วงวัยรุ่น ซึ่งอาจจะมีเรื่องวุ่นวายในชีวิตอยู่แล้ว และยังมีอาการร้อนวูบวาบขึ้นมาอีก บางครั้งเกิดตอนที่หลับอยู่ ทำให้ตื่น ส่งผลต่อวงจรการนอน ทำให้นอนหลับไม่สบาย
“บางครั้งสามีภรรยา ไม่สามารถนอนห้องเดียวกันได้ เพราะภรรยาตื่นมา เพิ่มแอร์ ลดแอร์ ทำให้สามีนอนด้วยไม่ได้ และรบกวนการนอนผู้หญิง นอกจากนี้ ยังมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดข้อเล็กๆ เพราะการอักเสบเยอะขึ้น รวมถึง ช่องคลอดแห้ง เกิดขึ้นหลังจากขาดฮอร์โมนไปแล้ว 2-3 ปี หลักๆ คือ อารมณ์ทางเพศน้อยลง เวลามีเพศสัมพันธุ์จะเจ็บมากขึ้นเพราะสารหล่อลื่นลดลง”
อาการร้อนวูบวาบ หงุดหงิดง่าย จะเป็นแค่ชั่วคราว แต่หลังจากปรับตัวได้ คุ้นชินกับการขาดฮอร์โมน อาการเหล่านี้จะหายไป แต่ภาวะช่องคลอดแห้ง จะยังอยู่ และเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ หากเราไม่รักษา
เข้าสู่ “วัยทอง” เร็ว เสี่ยงเกิดโรค
สำหรับบางคนอาจจะไม่มีอาการอะไรเลย ยกเว้นประจำเดือนหมด ผู้หญิงบางคนมีวันแดงเดือด ทุกครั้งที่มีประจำเดือนจะมีผลกระทบต่อร่างกายเยอะ แต่บางคนก็ผ่านไปอย่างเฉยๆ หมดประจำเดือน สบายดี แต่บางคนก็มาทุกอาการ ขึ้นอยู่กับความไวของร่างกายแต่ละคนต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
ปัจจัยที่ทำให้มีอาการเยอะ คือ หมดก่อน 40 ปี อาการค่อนข้างรุนแรง เพราะหมดประจำเดือนเร็ว โดยเฉพาะคนไทยหมดประจำเดือนตอนอายุ 50 ปี หากหมดก่อน 40 ปี ถือว่าหมดเร็วเกินไป จนส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ กระดูกพรุน กลุ่มนี้แนะนำให้พบแพทย์เพื่อพิจารณารับฮอร์โมนทดแทน เพื่อยืด ลดควาเมสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ และกระดูกพรุนในอนาคตได้
อีกกลุ่ม คือ คนไข้ที่หมดประจำเดือนจากการผ่าตัดรังไข่ จะเหมือนลงลิฟต์ ฮอร์โมนลดลงเร็ว อาการค่อนข้างรุนแรง และคนไข้น้ำหนักตัวเยอะ สูบบุหรี่ จะมีแนวโน้ม มีอาการเหล่านี้เยอะขึ้น การเข้าสู่วัยชรา แปลว่า วัยเสื่อม เป็นบันไดขาลง เราคงไม่แข็งแรงตั้งแต่วันนี้หากไม่คุมอาหาร ออกกำลังกายอย่างดี
รับมือหลังวัยทอง
หลังจากวัยทอง กล้ามเนื้อจะสลายปีละ 1-2% กระดูกก็สลาย ปีละ 1-2% เช่นกัน ความยืดหยุ่นของหลอดเลือด การทำงานของหัวใจก็จะเสื่อมลงตามอายุ เพราะฉะนั้น เป็นนิยามของวัยชรา เราต้องรับมือ ทำอย่างไรให้ความเสื่อมเหล่านี้เกิดช้าที่สุด ซึ่งโชคดีที่ในผู้หญิง มีสัญญาณเตือน ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะเข้ามาพบแพทย์ เช็กเบาหวาน ไขมัน มะเร็งเต้านม มวลกระดูก เพราะยิ่งอายุเยอะขึ้น ความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งต่างๆ ก็จะเพิ่มขึ้น
“การมาพบแพทย์ จะต้องดูว่าหมดประจำเดือนแล้วจริงๆ และหากมีอาการก็รักษาตามอาการ แต่หากไม่มีอาการจะเข้าสู่กระบวนการส่งเสริมสุขภาพ ตรวจเลือด ความดัน เบาหวาน คอเลสเตอรอล และแนะนำให้คัดกรองมะเร็งเต้านม และ มะเร็งปากมดลูก หากยังมีเพศสัมพันธ์อยู่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ แต่หากไม่มีเพศสัมพันธ์ก็จะไม่เพิ่มความเสี่ยง เพราะมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อที่ปากมดลูก หากไม่มีการมีเพศสัมพันธ์ก็จะไม่มีโอกาสรับเชื้อใหม่ ความเสี่ยงก็จะหยุดหลังจากหยุดมีเพศสัมพันธ์”
ขณะที่ “มะเร็งเต้านม” เป็นความเสื่อมของร่างกาย พออายุเยอะขึ้น ต้องตรวจคัดกรองเยอะขึ้น ส่วน “กระดูกและกล้ามเนื้อ” แนะนำให้คนไข้ออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนัก เช่น เดิน วิ่ง แต่ไม่ใช่ว่ายน้ำ เพราะการว่ายน้ำไม่มีการลงน้ำหนัก การลงน้ำหนักทำให้มีแรงกดที่กระดูก ทำให้กระดูกกระตุ้นการสร้างใหม่ ดังนั้น กระดูกจะคงความแข็งแรงได้อยู่หลังจากหมดประจำเดือน ที่สำคัญ การออกกำลังกาย ดีต่อมวลกระดูก มวลกล้ามเนื้อ และหัวใจ
ถัดมา คือ การทานอาหาร พยายามอย่าให้อ้วน เพราะหลังจากหมดประจำเดือน ระบบเผาผลาญจะแย่ลง หากกินเท่าเดิมอ้วนขึ้นแน่นอน อาจจะต้องเลือกอาหารที่คงความแข็งแรงของมวลกระดูกและกล้ามเนื้อ ส่วนใหญ่คนจะลืม คือ ทานโปรตีนไม่พอ ต้องทาน 1 กรัม ต่อ 1 กิโลกรัม และอาหารที่ทีแคลเซียม วิตามินดีสูง กินผัก ผลไม้ เพื่อให้รับวิตามินครบ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง การอดนอน อาหารมัน แอลกอฮอล์ บุหรี่ ตอนวัยรุ่นเราอาจจะทนได้ แต่พออายุมากขึ้นจะเริ่มเสื่อม
เคล็ดลับ ความเยาว์วัย
- ผ่อนคลายความเครียด
- ออกกำลังกาย
- กินอาหารที่มีประโยชน์ ผักใบเขียว ผลไม้
- หลีกเลี่ยง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่
กินฮอร์โมน จำเป็นหรือไม่
ผศ.พญ.อรวิน กล่าวต่อไปว่า นิยาม “ความแก่” ของหมอ คือ ความเสื่อมสลายของร่างกาย แต่บางคนอาจจะมองว่า ความแก่ เป็นเรื่องสมรรถภาพทางเพศ ความสวยงามของหน้าตา ต้องดูว่า คุ้มหรือไม่กับการทานฮอร์โมนเพื่อจะคงตรงนี้ไว้ หรือฮอร์โมน มีประโยชน์จริงหรือไม่
แต่การใช้ฮอร์โมนทางการแพทย์ ไม่มีในการยืดความชรา ในปัจจุบันยังไม่มีคอนเซปต์นั้น เดิมเคยมีความเชื่อ แต่มีข้อพิสูจน์แล้วว่าทานไปอาจจะไม่มีประโยชน์ขนาดนั้น แต่มีข้อบ่งชี้ในกรณีบางอย่าง เช่น รักษาอาการวัยทอง กระดูกพรุน หรือในคนไข้ที่หมดประจำเดือนวัยมีข้อบ่งชี้ชัดเจน แต่หากทานเพื่อให้อยู่เป็นสาว 2000 ปี แนะนำว่าให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์
แต่ก็มีบางคนที่เป็นผู้บริหาร เมื่อเข้าสู่วัยทองแล้ว อาจมีภาวะขี้หลงขี้ลืม การตัดสินใจเปลี่ยนไป ความจำสั้นลง ในปัจจุบันจะดูคนไข้เป็นรายๆ หากมีผลกระทบต่อการทำงาน และอยู่ในตำแหน่งที่มีผลต่อการตัดสินใจ อาจจะมาพบแพทย์เพื่อรับฮอร์โมน การรับฮอร์โมนมีความสัมพันธ์กับความจำเสื่อม โดยเฉพาะคนที่หมดประจำเดือนก่อน 40 ปี การรับฮอร์โมนจะชะลอความจำเสื่อมได้ แต่ต้องรับฮอร์โมนอย่างถูกวิธี
หากรับแต่เอสโตรเจนอย่างเดียว จะทำให้มีเลือดออกผิดปกติ และเป็นมะเร็งเยื้อบุได้ หรือ รับในขนาดที่สูงเกินไป อาจจะกระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ เทรนด์ในปัจจุบัน การใช้ฮอร์โมนทดแทนขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของคนไข้เป็นหลัก หากคนไข้สุขภาพดีก็พิจารณาใช้ฮอร์โมนได้ โดยฮอร์โมนที่ใช้ในปัจจุบัน จะใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด เมื่อเทียบกับ 20 ปีที่แล้ว
วัยทอง กับความรู้สึกทางเพศ
สำหรับ “ความรู้สึกทางเพศ” บางคนอาจกังวล ค่อนข้างเซนซิทิฟในเมืองไทย ผู้หญิงบางคนที่เคยทำวิจัยมา ผู้หญิงวัยทอง มักเข้าใจว่า เมื่อหมดประจำเดือน หน้าที่ตรงนี้ คือ หมดแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์แล้ว แต่ในทางกลับกัน ผู้ชาย เมื่อเข้าสู่วัยทอง จะมีการลดลงของสมรรถภาพทางเพศ นกเขาไม่ขัน เพราะฉะนั้น ในคอนเซปต์ของวัยทอง ผู้ชายจะมีความภาคภูมิใจ เขาจะยังไม่เข้าวัยทอง สามารถทำกิจกรรมได้ หากคู่สมรสอายุเท่ากัน คนหนึ่งภูมิใจที่ยังมีได้ แต่อีกคนคิดว่าไม่จำเป็นต้องมี ทำให้ไม่ตรงกันทางความเชื่อ
“มีข้อมูลแล้วว่า ผู้หญิงวัยทอง ที่ยังมีเพศสัมพันธ์อยู่ แม้ว่าจะหมดประจำเดือนแล้ว จะดีต่อสุขภาพมากกว่าในระยะยาว มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า อาการช่องคลอดแห้ง ปัสสาวะบ่อย ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ จะลดลงหากคนไข้ยังมีเพศสัมพันธ์อยู่ ยิ่งงดนานๆ จะเริ่มมีเพศสัมพันธ์ใหม่ จะแห้งและเจ็บกว่าเดิม แต่หากมีไม่ได้ รู้สึกทรมาน อาจจะต้องมาพบแพทย์ เพื่อใช้ฮอร์โมนเฉพาะที่ เพื่อให้การเจ็บน้อยลง และรักษา”
ทำอย่างไร ให้เข้า "วัยทอง" ช้าลง
ผศ.พญ.อรวิน กล่าวต่อไปว่า โดยพื้นฐาน การเข้าวัยทอง เร็วหรือช้า ไม่ต่างกันมาก ขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองหลังจากวัยทองมากกว่า หากหมดประจำเดือนช้า ดีกว่าแน่นอน เพราะฮอร์โมนเพศช่วยทำให้เสื่อมช้าลง การอักเสบในร่างกายน้อยกว่าการหมดประจำเดือน
วิธีการดูแลตัวเองให้เข้าสู่วัยทองช้าลง หลักๆ คือ
- ดูแลสุขภาพ
- ออกกำลังกาย
- ดูแลน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์
- กินดี นอนดี
- ไม่เครียด
“ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทอง ควรพบแพทย์ ผู้หญิงทั่วไป จะพบแพทย์ อันดับ 1 คือ ตอนฝากครรภ์ อันดับ 2 คือ วัยทอง ดังนั้น คนที่เดินเข้ามาปรึกษาแพทย์เพื่อเตรียมเข้าสู่วัยทอง จะเพิ่มโอกาสในการดูแลตัวเองมากกว่าเราเข้าสู่สังคมสูงวัย ดังนั้น จะเป็นโอกาสที่จะลดผู้สูงอายุติดเตียง”
หากเข้าสู่วัยทองแล้วไม่อยากแก่ หลักๆ คือ การออกกำลังกาย โดยเฉพาะ “เวทเทรนนิ่ง” ต้องสร้างมวลกล้ามเนื้อ ยกน้ำหนักให้คงมวลกล้ามเนื้อ จะลดภาวะ การดื้ออินซูลิน และเพิ่มการเผาผลาญไขมัน ลดการอักเสบของร่างกาย และส่วนใหญ่ที่ผู้สูงอายุหลังงุ้ม เพราะส่วนหลังเป็นส่วนที่เวทเทรนนิ่งยาก ส่วนใหญ่คนจะยกขา ยกแขน แต่กล้ามเนื้อหลังค่อนข้างยาก ส่งผลต่อกับท่าทาง บุคลิก และสัมพันธ์กับกระดูกสันหลังทรุดตัวลงในผู้สูงอายุ