“ครูสลา, นพพล, ปิยะพร, ประชาคม” ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2564

“ครูสลา, นพพล, ปิยะพร, ประชาคม” ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2564

ประกาศผลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติประจำปี 2564 จาก 3 สาขา จำนวน 12 คน ที่จะได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ

วันที่ 27 เมษายน 2565 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้จัดประชุม ครั้งที่ 4 / 2565 โดยมี วิษณุ  เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นประธานฯ ผ่านระบบซูม

อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รองประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้แถลงผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2564

 

ผ่าน Facebook Live Fan Page กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ซึ่งมีบุคคลที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จำนวน 12 คน ดังนี้

1.สาขาทัศนศิลป์ จำนวน 4 คน ได้แก่

1.1 นางวรรณี  ชัชวาลทิพากร (ภาพถ่าย)

1.2 ศาสตราจารย์ถาวร  โกอุดมวิทย์ (ภาพพิมพ์)

1.3 ศาสตราจารย์เกียรติคุณอรศิริ  ปาณินท์ (สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น)

1.4 นายมีชัย  แต้สุจริยา (ทอผ้า)

2.สาขาวรรณศิลป์ จำนวน 2 คน ได้แก่

2.1 นางนันทพร  ศานติเกษม (นามปากกา ปิยะพร ศักดิ์เกษม

2.2 นายวิชชา  ลุนาชัย (นามปากกา ประชาคม ลุนาชัย)

3.สาขาศิลปะการแสดง จำนวน 6 คน ได้แก่

3.1 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์  นิคมรัตน์ (โนรา)

3.2 นายกำปั่น  นิธิวรไพบูลย์ (เพลงโคราช)

3.3 นายไพฑูรย์  เข้มแข็ง (นาฏศิลป์ไทย - โขน ละคร)

3.4 ศาสตราจารย์ณรงค์ฤทธิ์  ธรรมบุตร (ดนตรีสากล - ประพันธ์เพลงคลาสสิก)        

3.5 นายสลา  คุณวุฒิ (ดนตรีไทยสากล - ประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่ง)

3.6 นายนพพล  โกมารชุน (ภาพยนตร์และละคร) 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวว่า ผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ จะได้รับสวัสดิการประกอบด้วย ค่าตอบแทนรายเดือนๆ ละ 25,000 บาท (สองหมื่นห้าพันบาทถ้วน) ตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่

ค่ารักษาพยาบาลตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลโดยอนุโลม เว้นแต่มีสิทธิเบิกจากหน่วยงานอื่น ให้เบิกจากหน่วยงานนั้นก่อน

ถ้าเบิกจากหน่วยงานนั้นได้ต่ำกว่าสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ให้มีสิทธิเบิกในส่วนที่ยังขาดอยู่ได้อีกภายในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท ต่อปีงบประมาณ 

เงินช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัย รายละไม่เกิน 50,000 บาท ต่อครั้ง ค่าของเยี่ยมในยามเจ็บป่วยหรือในโอกาสสำคัญเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 3,000 บาท ต่อครั้ง

กรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือบำเพ็ญกุศลศพ รายละ 20,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 150,000 บาท  เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทาน พระบรมราชวโรกาสนำศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2564 ทั้ง 12 คน เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติ ในวัน เวลา ตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

“ครูสลา, นพพล, ปิยะพร, ประชาคม” ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2564

สลา คุณวุฒิ เป็นทั้งนักแต่งเพลง นักร้อง นักดนตรี โปรดิวเซอร์ นักประพันธ์เพลงแนวลูกทุ่งอีสานและหมอลำ เป็นศิลปินสังกัด แกรมมี่โกลด์ ในอดีตรับราชการครู

นพพล โกมารชุน เป็นบุตรชายของนักแสดงอาวุโส เสนอ โกมารชุน (พี่ชายของ เสน่ห์ โกมารชุน) และ จุรี โอศิริ มีพี่ชายหนึ่งคนคือ นายจามร โกมารชุน (ถึงแก่กรรม) แสดงภาพยนตร์หลายเรื่อง ปัจจุบัน เป็นผู้จัดและผู้กำกับการแสดง เจ้าของบริษัทเป่าจินจง

ปิยะพร ศักดิ์เกษม

เป็นนักเขียน ที่มีผลงานทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี บทความ มากมาย มีผลงานนวนิยายหลายเล่มได้รับพระราชทานรางวัล ทั้งรางวัลชมเชยและรางวัลดีเด่นจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ รางวัลเซเว่นบุ๊กอวอร์ด และยังมีผลงานได้รับการคัดเลือกเข้ารอบ ๖ เล่มสุดท้าย SEA Write Award

ประชาคม ลุนาลัย

เป็นชาวจังหวัดยโสธรเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 17 ปี ด้วยความมุ่งหวังว่าจะมาเรียนหนังสือเพื่อจะได้เป็นนักเขียนในอนาคต แต่ด้วยโชคชะตาทำให้ต้องไปทำงานหาเลี้ยงชีพแทน แต่ในที่สุดเขาก็ได้เป็นนักเขียนสมใจ มีผลงานเข้ารอบประกวดในหลายเวที และกวาดรางวัลมาแล้วมากมาย

  • เกณฑ์การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ประกอบด้วย 3 หลักเกณฑ์ คือ

1)คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ  ได้แก่ เป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันประกาศยกย่อง  เป็นผู้มีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะในสาขานั้น เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะในสาขาที่ได้รับการประกาศยกย่อง  เป็นผู้ผดุง ถ่ายทอด เผยแพร่ หรือเป็นต้นแบบศิลปะในสาขาที่ได้รับการประกาศยกย่อง  เป็นผู้ทุ่มเทอุทิศตนเพื่องานศิลปะ และมีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม  ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสีย และไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือ ความผิดลหุโทษ

2)คุณค่ามาตรฐานผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติ  ผลงานต้องสื่อให้เห็นถึงคุณค่าในความดี ความจริง ความงาม อารมณ์ และคุณค่าทางจิตวิญญาณ แสดงออกถึงแนวคิด สร้างพลังความรู้และพัฒนาสติปัญญาแก่มนุษยชาติ ก่อให้เกิดความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ และส่งเสริมจินตนาการ และเป็นผลงานสร้างสรรค์มีเอกลักษณ์ มีทักษะสูงส่ง มีกลวิธีเชิงสร้างสรรค์ ไม่แสดงเจตนาหรือจงใจคัดลอกหรือเลียนแบบผลงานของผู้อื่นทั้งเปิดเผยและแอบแฝง

3)การเผยแพร่และการยอมรับคุณค่าผลงานของศิลปินแห่งชาติ ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นศิลปินแห่งชาติ จะต้องมีการเผยแพร่ผลงานและได้รับการยอมรับ คุณค่าในผลงาน ดังนี้ เป็นผลงานที่ได้รับการจัดแสดง ถ่ายทอดหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง มีหลักฐาน อ้างอิง โดยเป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิด พัฒนาการทางงานศิลปะอย่างเด่นชัด และเป็นผลงานได้รับรางวัล หรือเกียรติคุณระดับภูมิภาค ระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ ซึ่งมีกระบวนการพิจารณาที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ
  
อนึ่ง การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ จะทำการคัดเลือกใน 3 สาขา ได้แก่
1. สาขาทัศนศิลป์ หมายถึง ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา แบ่งเป็น วิจิตรศิลป์ ประยุกต์ศิลป์ การออกแบบและประณีตศิลป์ วิจิตรศิลป์ ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สื่อผสม ภาพถ่าย ประยุกต์ศิลป์ ได้แก่ สถาปัตยกรรมไทย - ร่วมสมัย ภูมิสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมผังเมือง มัณฑนศิลป์ ส่วนศิลปะการออกแบบและประณีตศิลป์ ได้แก่ ออกแบบแฟชั่น ออกแบบอุตสาหกรรม หัตถศิลป์ ช่างสิบหมู่ หัตถกรรมพื้นบ้าน เป็นต้น

2. สาขาวรรณศิลป์ หมายถึง บทประพันธ์ที่แต่งอย่างมีศิลปะทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ ความรู้สึกสะเทือนใจ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการและกลวิธีเสนออย่างมีชั้นเชิง

3. สาขาศิลปะการแสดง หมายถึง ศิลปะที่สื่อสารผ่านการแสดงเพื่อสร้างความบันเทิงและจรรโลงใจให้ผู้คนและสังคม ทั่งแบบไทยประเพณี ประยุกต์ สากล และแบบพื้นบ้าน ประกอบด้วย 1.ดนตรีไทย นาฏศิลป์ไทยและศิลปะการแสดงพื้นบ้าน 2.ดนตรีสากลและนาฏศิลป์สากล 3.ภาพยนตร์และละคร

    นับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.2527 มีศิลปินแห่งชาติ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2528 - 2563 แล้วจำนวน 331 คน และในปี พ.ศ. 2564 จำนวน 12 คน รวมทั้งสิ้น 343 คน เสียชีวิตไปแล้ว 169 คน โดยยังมีชีวิตอยู่ 174 คน
   
    ผู้สนใจศึกษารายละเอียดประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติได้ที่ www.culture.go.th หรือ www.facebook.com/DCP.culture และ line@วัฒนธรรม