"หลวงปู่แสง" เป็น "อัลไซเมอร์" จริงไหม? อาการโรคความจำเสื่อมเป็นแบบไหน?
ดราม่า "หลวงปู่แสง" พระเกจิชื่อดัง จ.ยโสธร กับกรณีลวนลามโยมผู้หญิงขณะเข้าไปกราบไหว้ แต่ทางลูกศิษย์อ้างว่าหลวงปู่อาพาธ โรค "อัลไซเมอร์" จนทำให้สังคมสับสนว่าหลวงปู่อาพาธจริงหรือไม่ แล้วโรคนี้มีอาการแบบไหนกันแน่?
จากกรณี "หลวงปู่แสง" หรือ "หลวงปู่แสงญาณวโร" พระเกจิชื่อดัง จ.ยโสธร ที่มีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมลวนลามสีกาที่เข้าไปกราบไหว้ แต่ลูกศิษย์อ้างว่าหลวงปู่อาพาธเป็นโรค "อัลไซเมอร์" เลอะเลือนหลงลืมจนมีพฤติกรรมผิดปกติ
ประเด็นนี้ "หมอปลา" มือปราบสัมภเวสี หรือ นายจีระพันธ์ เพชรขาว ได้บุกไปตรวจสอบ ณ ที่พักสงฆ์ป่าดงสว่างธรรม พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดยโสธร และสื่อมวลชน
กรณีดังกล่าวหลายฝ่ายยังคงสับสนไม่น้อย และอยากรู้ว่าจริงๆ แล้ว ผู้ป่วยโรค "อัลไซเมอร์" มีอาการอย่างไร? สามารถพูดคุยกับผู้อื่นรู้เรื่องหรือไม่? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนไปเจาะลึกเกี่ยวกับอาการของโรคนี้ให้มากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- "หมอปลา" บุกแฉ "หลวงปู่" พระเกจิดัง พบพฤติกรรมลวนลามสีกา
- "หมอปลา" พูดแล้ว! หลังทัวร์ลงปมแฉ "หลวงปู่แสง"
- "อัลไซเมอร์" เกิดจากอะไร ทำไมคนแก่ถึงหลงลืม?
มีข้อมูลจาก ผศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล สาขาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทย์ฯ ศิริราช ม.มหิดล ระบุไว้ในบทความวิชาการว่า โรคอัลไซเมอร์ คือ ภาวะที่ความสามารถทางสติปัญญาลดลง คิดและจำไม่ได้ มักพบในผู้สูงอายุ ทำให้มีอาการหลงลืม การใช้ภาษาและพฤติกรรมผิดปกติ รวมถึงอารมณ์เปลี่ยนไป
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน แต่แพทย์พบว่าผู้ป่วยเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างขึ้นในสมอง จนทำให้สมองทำงานได้ลดลงและเหี่ยวไป ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ อายุที่มากขึ้น โดยจะพบมากเป็นสองเท่าทุกๆ 5 ปี
- อาการผู้ป่วย "อัลไซเมอร์" เป็นแบบไหน?
อาการเริ่มแรกของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ มักเป็นการลืมเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ๆ ไม่นาน ในขณะที่ความจำเรื่องเก่าๆ ในอดีตจะยังดีอยู่ ผู้ป่วยอาจถามซ้ำเรื่องที่เพิ่งบอกไปหรือพูดซ้ำเรื่องที่เพิ่งเล่าให้ฟัง
นอกจากนั้นยังอาจมีอาการอื่นๆ เช่น วางของแล้วลืม, ทำอะไรที่เคยทำประจำไม่ได้, สับสนเรื่องวัน เวลา สถานที่, นึกคำพูดไม่ค่อยออกหรือใช้คำผิดๆ, มีอารมณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม, การตัดสินใจแย่ลง, ไม่มีความคิดริเริ่มใหม่ๆ
อีกหนึ่งชุดข้อมูลจาก รศ.นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย (คลินิกตรวจคัดกรองสมองเสื่อม) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระบุว่า อาการของโรคนี้แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
- ก่อนเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อม : มีภาวะการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย มักหลงลืมหรือมีปัญหาเรื่องความจำที่เห็นชัดเจน แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวัน
- ระยะภาวะสมองเสื่อม : สมองเสื่อมถอยมากขึ้น อาจมีอาการทางจิต และปัญหาพฤติกรรมด้วย มีความบกพร่องในการทำกิจวัตรประจำวัน ต้องมีผู้ดูแล
- ระยะอาการรุนแรง : มีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น กลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้ มีปัญหาการก้าวเดิน การกลืน และนอนติดเตียง ต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด อาจเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน
- วิธีป้องกันและรักษา "อัลไซเมอร์" ทำยังไง?
ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาด แต่ยาบางตัวอาจช่วยลดอาการของผู้ป่วยได้ แพทย์จะใช้วิธีรักษาตามอาการ ได้แก่
- ถ้าเกิดจากเนื้องอกหรือโพรงน้ำในสมอง อาจต้องผ่าตัดสมองหรือถ้าเกิดจากขาดฮอร์โมน ก็ให้กินยาทดแทน
- ให้ยากลุ่ม cholinesterase inhibitors ช่วยชะลออาการโรคสมองเสื่อมบางชนิดได้ ซึ่งจะได้ผลดีเมื่อให้ในผู้ป่วยที่มีอาการระยะแรกๆ
- รักษาปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมจากโรค เช่น เอะอะวุ่นวาย เห็นภาพหลอน ผู้ป่วยไม่ยอมรับการดูแล โดยต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดูแล หรือใช้ยาเพื่อให้ผู้ป่วยสงบลง
ส่วนวิธีการป้องกันโรคความจำเสื่อม แพทย์ชี้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอสำหรับการป้องกันโรคนี้ จึงเน้นไปที่การลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรค ได้แก่
- หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้าจัด หรือการรับประทานยาโดยไม่จำเป็น
- หมั่นฝึกฝนสมองให้ได้คิดบ่อยๆ เช่น คิดเลข เล่นเกมตอบปัญหา ฝึกหัดการใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ เป็นต้น
- พูดคุย พบปะผู้อื่นบ่อยๆ เช่น ไปวัด ไปงานเลี้ยง เข้าชมรมผู้สูงอายุ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง และตรวจสุขภาพประจำปี
- มีสติในสิ่งต่างๆ ที่กำลังทำ และฝึกสมาธิอยู่ตลอดเวลา
- พยายามลดความเครียดในทุกๆ วัน เนื่องจากความเครียดและอาการซึมเศร้า เป็นสาเหตุให้ความจำไม่ดี
-------------------------------------
อ้างอิง : Mahidol, chulalongkornhospital, chulabhornhospital