ดราม่ากาแฟแพง! เหตุเกิดที่ “อิตาลี” ขาย “เอสเพรสโซ” 2 ยูโร เรื่องถึงตำรวจ
ล่าสุดเกิดดราม่าอีกครั้งในดินแดนต้นกำเนิดวัฒนธรรมกาแฟยุคใหม่อย่าง "อิตาลี" ระหว่างฝ่ายที่ต้องการควบคุมราคา "กาแฟเอสเพรสโซ" ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ กับฝ่ายที่อยากเห็นกาแฟหลุดพ้นจากบัญชีสินค้าควบคุมราคา เพราะอาจขัดหลักกลไกตลาด และกีดกันกาแฟคุณภาพ
เรื่องราวในวงการตลาด กาแฟอิตาลี ที่มากลายเป็นประเด็นร้อนๆ จนได้รับความสนใจนำเสนอเป็นข่าวฮ็อตบนหน้าเว็บไซต์ข่าวของยุโรป, ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศ เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนเมษายน แต่มาเป็นข่าวแรงๆ เอาก็ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง หลังจากลูกค้าร้านกาแฟในเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี แจ้งตำรวจท้องถิ่นว่า ร้านนี้ขายกาแฟ เอสเพรสโซ ในราคาที่สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้
เท่าที่ติดตามอ่านรายละอียดจากหลายเว็บไซต์ ต่างนำเสนอข่าวไปในทำนองเดียวกันว่า ลูกค้าเป็นชายรายนี้ซึ่งน่าจะเป็นคนอิตาลีนั่นแหละ เดินเข้าไปในร้านกาแฟชื่อว่า "คาเฟ่ ดิตต้า อาร์ติเจียนาเล" (Café Ditta Artigianale) ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองฟลอเรนซ์ แล้วสั่ง "เอสเพรสโซ ดีแคฟ" มาดื่ม และทันทีที่โดนชาร์จราคากาแฟที่ 2 ยูโร (ราว 73 บาท) จึงโกรธขึ้นมา แล้วเกิดมีปากเสียงกับบาริสต้าประจำร้าน เนื่องจากเห็นว่าราคาเอสเพรสโซแก้วนี้สูงเกินราคาตามกฎหมาย จากนั้นก็รีบโทรศัพท์ไปแจ้งให้ตำรวจรับทราบ พอตำรวจไปถึงจุดเกิดเหตุ ก็สั่งปรับร้านกาแฟเป็นจำนวนเงิน 1,000 ยูโร (36,700 บาท)
คัฟเฟ่ ดิตต้า อาร์ติเจียนาเล หนึ่งในเอสเพรสโซบาร์แห่งแรกๆ ของอิตาลีที่ขายกาแฟคุณภาพ / ภาพ : facebook.com/dittaartigianale
ในอิตาลี มีกฎหมายควบคุมราคา "เอสเพรสโซ" ไว้ที่ 1 ยูโร อันเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป แต่หลายๆ ร้านกาแฟแนว "เอสเพรสโซบาร์" ได้ปรับราคาเพิ่มเป็นแก้วละ 1.10-1.30 ยูโร มาตั้งแต่ปีที่แล้ว จากหลายๆ สาเหตุด้วยกัน ตั้งแต่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้ต้นทุนชิปปิ้งเมล็ดกาแฟและสินค้าอื่นๆ สูงขึ้น ไปจนถึงเหตุการณ์ภัยธรรมชาติในบราซิลที่ทำให้ราคาเมล็ดกาแฟปรับตัวขึ้นสูงในรอบหลายสิบปี และก็ล่าสุดผลพวงจากสงครามในยูเครน แน่นอนว่า ราว 76 เปอร์เซ็นต์ ของคาเฟ่จำนวน 160,000 แห่ง ในอิตาลี ขึ้นราคากาแฟไปเรียบร้อยแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น มีการคาดการณ์กันล่วงหน้าแล้วว่าราคา "เอสเพรสโซ" ตามบาร์กาแฟอิตาลี มีแนวโน้มพุ่งขึ้นเป็น 1.50 ยูโรในปีนี้ หรือเพิ่มขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว
อิตาลีมีกฎหมายกำหนดราคากาแฟเอสเพรสโซไว้ที่ 1 ยูโรต่อแก้ว / ภาพ : Nathan Dumlao on Unsplash
ตามข่าวระบุว่า ตำรวจสั่งปรับทางร้าน ไม่ใช่เรื่องขายกาแฟแพงเกินกว่าราคาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่เป็นในกรณีไม่ได้ "ติดป้าย" แสดงราคาไว้บริเวณหน้าหรือหลังเคาน์เตอร์ โดยใช้กฎหมายข้อที่ว่าเอสเพรสโซบาร์และร้านกาแฟทุกแห่งต้องแสดงราคาสินค้าและเครื่องดื่มไว้ในร้านด้วย แม้เจ้าของร้านจะให้การแย้งว่า แจ้งราคากาแฟไว้แล้วในระบบเมนูดิจิตัล เพียงแค่ลูกค้าหยิบเอาโทรศัพท์มือถือมาสแกน QR Code ก็จะเห็นราคากาแฟทุกเมนู แต่ตำรวจไม่รับฟัง
เรื่องนี้โดยส่วนตัวผู้เขียน "เข้าใจ" และ "เห็นใจ" ทั้ง 2 ฝ่าย อย่างฝ่ายลูกค้าคงไม่เจอมาก่อนกับราคา "เอสเพรสโซ" ที่ 2 ยูโร พอมาโดนเข้าก็ตกใจ ขณะที่ฝ่ายร้านกาแฟเอง จะขายเอสเพรสโซราคาต่ำก็ไม่ไหว ต้นทุนค้ำคออยู่ เห็นในข่าวบอกว่า กาแฟที่ใช้ทำเอสเพรสโซ ดีแคฟ นำเข้ามาจากไร่กาแฟขนาดเล็กแห่งหนึ่งของย่าน "เชียปาส" ในเม็กซิโก
ร้านกาแฟ "คัฟเฟ่ ดิตต้า อาร์ติเจียนาเล" จัดว่าเป็นร้านกาแฟที่มีชื่อเสียงในเมืองฟลอเรนซ์ วางสถานะตัวเองเป็นเอสเพรสโซบาร์ที่นำเสนอกาแฟแบบพิเศษ (specialty coffee) ในระดับ Artisan หมายความว่ามีบาริสต้าที่ชำนาญการประหนึ่ง "ช่างฝีมือ" ในเชิงกาแฟ เช่น ออกแบบเมนูกาแฟ, คัดเลือกเมล็ดกาแฟ และปรุงกาแฟแต่ละแก้ว เป็นศาสตร์แห่งงานคราฟท์ ไม่ใช่ธุรกิจคอมเมอร์เชียล ซึ่งเมื่อประเมินจากคุณลักษณะของทางร้านที่เสนอบริการกาแฟพิเศษแล้ว ทั้งชื่อร้านเองก็บ่งบอกอย่างชัดเจน ราคาขายเอสเพรสโซของร้านนี้ย่อมสูงกว่าของเอสเพรสโซบาร์โดยทั่วไป เพราะใช้เมล็ดกาแฟต่างชนิดกัน เรียกว่าคนละเกรดก็ได้
ส่วน "เอสเพรสโซ ดีแคฟ" เป็นกาแฟเอสเพรสโซที่ชงจากเมล็ดกาแฟที่ผ่านกระบวนการสกัดเอาคาเฟอีนออกจนเหลือปริมาณเพียงเล็กน้อย มีขั้นตอนที่ซับซ้อนไม่เบา ดังนั้น ต้นทุนของเมล็ดกาแฟดีแคฟจึงสูงกว่าเมล็ดกาแฟคั่วบดทั่วไปในกรณีที่ใช้เมล็ดกาแฟตัวเดียวกัน เมื่อนำมาชงเป็นเอสเพรสโซ ดีแคฟ ราคาต่อแก้วจึงสูงขึ้น ยิ่งหากเป็นกาแฟที่ผ่านกระบวนการแปรรูปมาแบบพิเศษด้วยแล้ว ต้นทุนก็จะถีบตัวขึ้นไปอีก
เจ้าของร้านกาแฟพิเศษแห่งนี้ ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาคือ "ฟรานเซสโก้ ซานาโป" ดีกรีเป็นถึงแชมป์บาริสต้าอิตาลีหลายสมัย แถมด้วยแชมป์เทสเตอร์กาแฟอีกหนึ่งสมัย ปัจจุบันนอกจากบริหารร้านกาแฟและเปิดโรงเรียนสอนศาสตร์กาแฟแล้ว ยังรับจ๊อบพิเศษทำงานเป็นผู้ดำเนินรายการ "The Coffee Hunter" ให้กับทีวีช่องหนึ่งของอิตาลีที่เน้นนำเสนอเรื่องอาหารและเครื่องดื่ม
อย่างไรก็ตาม เมื่อข่าวนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ทางผู้บริหารหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของอิตาลี ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า การเพิ่มขึ้นของราคากาแฟ ทำให้เครื่องดื่มใน "ชีวิตประจำวัน" เริ่มมีความ "หรูหรา" เหมือนเป็นเครื่องดื่มคนรวยเข้าไปทุกทีแล้ว ว่ากันตามจริง หน่วยงานนี้ก็ได้รับเรื่องร้องเรียนอยู่เป็นประจำจากผู้บริโภคว่า ราคาเอสเพรสโซในประเทศนั้นสูงมากเกินไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับจากปีนี้เป็นต้นมา
แต่ก็มีผู้ใช้ทวิตเตอร์บางคน แสดงความคิดเห็น “โต้กลับ” ไปทำนองว่า เลิกได้แล้วเรื่องควบคุมราคากาแฟเอสเพรสโซ ควรจะปล่อยเสรี กาแฟไม่เกี่ยวกับความหรูหรา มันเป็นสิทธิของผู้บริโภคต่างหาก
ฟรานเซสโก้ ซานาโป เจ้าร้าน คัฟเฟ่ ดิตต้า อาร์ติเจียนาเล ในเมืองฟลอเรนซ์ / ภาพ : facebook.com/dittaartigianale
ประเทศอื่นๆ อาจจะมีสินค้าจำพวกหมูเห็ดเป็ดไก่หรือก๊าซหุงต้ม อยู่ในบัญชีรายชื่อ "สินค้าควบคุมราคา" แต่ในอิตาลีนับรวม "กาแฟเอสเพรสโซ" เข้าไปด้วย เท่าที่ทราบก็มีเฉพาะเอสเพรสโซเท่านั้น กาแฟเมนูอื่นๆ ไม่อยู่ในข่ายควบคุมด้วย แล้วก็มีการกำหนดราคาไว้ที่ 1 ยูโรต่อแก้ว ออกเป็นกฎหมายควบคุมมาหลายปีดีดักแล้ว เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าการดื่มเอสเพรสโซเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของชาวอิตาลี
ในระยะหลังๆ ร้านกาแฟจำนวนมากจึงหาทางลดต้นทุนลง เช่น เปิดพื้นที่ร้านสำหรับการยืนดื่มเอสเพรสโซแทนการนั่ง หากต้องการที่นั่ง จะต้องถูกบวกเพิ่มเข้าไปในราคากาแฟ นี่เป็นจุดกำเนิดของ "เอสเพรสโซบาร์" ที่ยืนยงมาจนถึงทุกวันนี้
เหตุที่เอสเพรสโซเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน หรือจะเรียกว่าวัฒนธรรมก็ได้ครับ คนอิตาลีในวัยทำงานนิยมเข้าร้านกาแฟแต่เช้า สั่งเอสเพรสโซมายืนดื่มอย่างเร็วๆในร้าน ก่อนรีบออกไปทำงาน แล้วในประเทศนี้ ก็มีประชากรที่บริโภคกาแฟถึง 97 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนประชากรเกือบๆ 60 ล้านคนในปัจจุบัน จำนวนนี้มีประมาณ 5.5 ล้านคนที่ยังคงมาดื่มเอสเพรสโซที่ร้านพร้อมกินคอร์เนโต้ (ครัวซองต์แบบอิตาเลี่ยน) เป็นอาหารมื้อเช้า
ความที่เอสเพรสโซเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมการดื่มกาแฟนี่แหละ ทำให้มีความพยายามของรัฐบาลในการนำเสนอให้ศิลปะแห่งเอสเพรสโซเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม แต่ล่าสุด เกิดอกหักเป็น "คำรบ 2" เมื่อคณะกรรมการแห่งชาติอิตาลีว่าด้วยเรื่องยูเนสโก้ปฏิเสธอีกครั้ง พร้อมนำเสนอศิลปะการร้องโอเปรา เข้าสู่การประชุมชุดใหญ่คณะกรรมการยูเนสโก้ระดับโลกแทน
คนอิตาลีเป็นนักบริโภคกาแฟตัวยง จำนวนนี้ 5.5 ล้านคน ดื่มเอสเพรสโซพร้อมขนมปังเป็นมื้อเช้า / ภาพ : Max Nayman on Unsplash
หลายคนสงสัยเหมือนกันว่า ทำไมต้องคุมราคาเอสเพรสโซกันด้วย อย่าง "เซเรน่า โนบิลี" แห่งดินี่ คัฟเฟ่ (Dini Caffè) โรงคั่วและร้านกาแฟในเมืองฟลอเรนซ์เช่นกัน ตั้งคำถามค่อนข้างชัดเจนผ่านทางเว็บไซต์ข่าวแห่งหนึ่งว่า เอสเพรสในประเทศนี้ เป็นราคา "ทางการเมือง" ด้วยหรือเปล่า ทำไมคนขายไวน์หรือเบียร์จึงมีเสรีภาพในการตั้งราคาขายได้เอง
แต่ก็มีเสียงแย้งมาจากอีกฝั่งหนึ่งว่า ก็รัฐบาลเขากำหนดให้เอสเพรสโซเป็นส่วนหนึ่งของอาหารมื้อเช้านี่ เลยต้องอยู่ในข่ายคุมราคาเอาไว้
ตัวของฟรานเซสโก้ ซานาโป เจ้าของร้านกาแฟที่ถูกตำรวจปรับเงินนั้น ออกมาโพสต์ทางเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับร้านกาแฟของเรานั้น มาจากความ "ไร้สาระ" ของกฎหมายซึ่งควรจะเปลี่ยนแปลงได้แล้ว หาไม่แล้ว 99.9 เปอร์เซ็นต์ ของร้านกาแฟ, เอสเพรสโซบาร์ และร้านอาหารในอิตาลี ล้วนแต่ทำผิดกฎหมายด้วยทั้งสิ้น
ซานาโป ได้ให้สัมภาษณ์ทางเว็บไซต์ฟิเรนเซ่ ทูเดย์ ของอิตาลีว่า ร้านคัฟเฟ่ ดิตต้า อาร์ติเจียนาเล เป็นเอสเพรสโซบาร์แห่งแรกในอิตาลีที่เน้นขายกาแฟคุณภาพ และก็เป็นหนึ่งในร้านแรกๆ ที่จำหน่ายเอสเพรสโซแก้วละ 1.50 ยูโร ตั้งแต่เปิดร้านครั้งแรกเมื่อเกือบ 10 ปีก่อนแล้ว เป็นอะไรที่คล้ายๆ กับการ "ปฏิวัติเอสเพรสโซ" อย่างนั้นเลย จากบัดนั้นมาก็ถูกวิจารณ์มาโดยตลอด
เจ้าของเอสเพรสโซบาร์นี้ พูดเสริมว่า ถ้าคุณต้องการกาแฟคุณภาพ ก็ต้องพร้อมยอมสู้ราคา
ราคาเอสเพรสโซ่ ตามบาร์กาแฟอิตาลี มีแนวโน้มพุ่งขึ้นเป็นแก้วละ 1.50 ยูโร ในปีนี้ / ภาพ : Frank Leuderalbert on Unsplash
ในอนาคต อาจจะมี "พื้นที่ตรงกลาง" ที่ผู้ขายตั้งราคาเอสเพรสโซได้อย่างยุติธรรมต่อต้นทุน พร้อมๆ กับที่คนวัยทำงานยังคงมายืนดื่มเอสเพรสโซพร้อมกินขนมปังเป็นอาหารเช้าโดยไม่ต้องจ่ายราคาบวกค่าความหรูหราในอัตราเกินความจำเป็น
มาถึงบรรทัดสุดท้ายตรงนี้ ผู้เขียนนึกโชคดีที่ราคาขายกาแฟในบ้านเรา ส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปตามกลไกตลาด, การแข่งขัน และต้นทุนธุรกิจ แล้วร้านกาแฟก็มีให้เลือกมากมายหลากหลายระดับ ตั้งแต่เกรดคอมเมอร์เชียลไปจนถึงซูเปอร์สเปเชียลตี้ ราคาโดยทั่วไปก็เริ่มจากหลักสิบไปจนถึงหลักร้อย เฉียดๆ หลักพันก็มี ร้านไหนเรามองว่าขายแพง ก็ไม่ต้องเข้า เราชอบแบบไหน ก็เลือกดื่มแบบนั้น ตามรสนิยมและกำลังทุนทรัพย์
นี่ก็ยังไม่เห็นว่ามีข่าวร้านไหนถูกตำรวจจับปรับเงิน เพราะขายกาแฟแพงหรือไม่แสดงราคา เหมือนที่ปรากฎเป็นข่าวในอิตาลีเลย