"ดร.ยุ้ย - เกษรา" บนเส้นทาง "งาน งาน งาน" ที่ครอบครัวไม่อยากให้ยุ่งการเมือง
ครอบครัวไม่อยากให้ยุ่งกับการเมือง แต่ “ดร.ยุ้ย - เกษรา” นักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ และอาจารย์จุฬาฯ ก็ดื้อตาใส ลงพื้นที่ทำงานกับอาจารย์ "ชัชชาติ" อยู่เนืองๆ ...ทำไมเธออยากทำงานเพื่อ กทม.
ล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ดร.ยุ้ย ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และทีมนโยบายผู้ว่าฯ กทม.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ปฏิเสธตำแหน่งรองผู้ว่าฯกทม. ขอทำงานเบื้องหลัง เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย น่าจะดีกว่า เพราะเธอยังต้องบริหารธุรกิจครอบครัว และเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย รวมถึงสิ่งสำคัญที่สุดคือ การดูแลครอบครัว ลูกๆ และพ่อแม่
ล่าสุดเรื่อง “ผ้าอนามัยฟรี สำหรับเด็กนักเรียน” หนึ่งในนโยบายทีมว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. “ชัชชาติ” ได้มีบางเขตเริ่มจัดให้เด็กๆ แล้ว นี่คือ ความคิดของ “ดร.ยุ้ย”
- กว่าจะมีวันนี้ ครอบครัวไม่อยากให้ยุ่งการเมือง
สองปีที่แล้ว ดร.ชัชชาติ ทาบทาม ดร.ยุ้ยให้มาช่วยงานหลายครั้ง แต่เธอปฏิเสธ และนำกลับมาคิดหลายตลบ เพราะรู้ดีว่า ครอบครัวเป็นห่วง
“ จริงๆ แล้วไม่มีใครเห็นด้วยนะ พ่อ แม่ พี่น้อง ลูกๆ สามี แต่เราก็กลับมานั่งคิดนะ ถ้าวันนี้เราไม่คิดจะทำหรือช่วยอะไรเลย ลูกๆ หลานๆ จะอยู่กันยังไง ในสภาพสังคมเมืองแบบนี้” ดร.ยุ้ย เกษรา เล่าไว้ในเฟซบุ๊กของเธอ
นอกจากนี้ยังเล่าในวันก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ช่วงที่มาเยือน “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า
“เมื่อสองปีที่แล้ว ช่วงที่ อาจารย์ชัชชาติ บอกว่าจะสมัคร ผู้ว่าฯ กทม. ทาบทามยุ้ยมาช่วย ตอนนั้นยุ้ยบอกว่า อย่าเพิ่งเลย พ่อด่าอยู่ เพราะยุ้ยทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และเป็นอาจารย์”
ย้อนไปที่ประวัติชีวิตสักนิด ดร.ยุ้ย เป็นชาวกรุงเทพมหานคร โดยกำเนิด จบการศึกษาจากโรงเรียนมาแตร์เดอี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะไปศึกษาต่อชั้นปริญญาโทด้านการเงินที่ University of California at Riverside และปริญญาโท และเอกด้านเศรษฐศาสตร์ โดยทุนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ Claremont Graduate University
เมื่อสำเร็จปริญญาเอก ได้เข้ามาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะร่วมช่วยงานของครอบครัวด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และล่าสุดอยู่ในทีมนโยบายของ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.
- ชัชชาติ เคยเป็นลูกศิษย์อาจารย์ยุ้ย
ตอนเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ เธอเคยร่วมงานกับอาจารย์ชัชชาติ หลายโครงการ จึงมีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ตั้งแต่ อาจารย์ชัชชาติเป็นอาจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในปี 2548 - 2555 เป็นผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ช่วงที่อาจารย์ชัชชาติ เป็นผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาฯ ดูแลด้านทรัพย์สิน ก็เคยทำงานด้วยกัน ตอนนั้นเขาไม่รู้เรื่องการเงินเลย ก็เลยอยากเรียนเอ็มบีเอ จึงสมัครเรียน และเป็นลูกศิษย์ ดร.ยุ้ย
"ตอนนั้นยุ้ยสอนอยู่ ก็สอนเขาด้วย และยุ้ยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาตอนเขาทำวิทยานิพนธ์ แต่ก่อนหน้านี้ยุ้ยเป็นลูกน้องเขามาตลอด ยุ้ยกับอาจารย์ชัชชาติ เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ มีช่วงชีวิตการทำงานที่ยาวที่สุดคือ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยกว่า 20 ปี”
นั่นเป็นความสัมพันธ์รุ่นน้อง รุ่นพี่ จุฬาฯ ส่วนงานด้านร่างนโยบาย กทม. ดร.ยุ้ย บอกว่า
“เขาเก่งกว่ายุ้ย ทำได้ทุกนโยบาย บางนโยบายยุ้ยก็ช่วยดู ยุ้ยทำเรื่องอสังหาริมทรัพย์มาก่อน ก็อยากทำเรื่องบ้าน ไม่ว่าคนจนหรือคนไร้บ้าน ก็อยากให้มีบ้านอยู่”
- โลกใบนี้ไม่มีคำว่า เพอร์เฟกต์
ไม่ว่าจะทำงานธุรกิจ เป็นอาจารย์ หรือทำงานอะไรก็ตาม ดร.ยุ้ย เล่าว่า เธอได้หลักคิดในการทำงานมาจากคุณพ่อหลายเรื่อง
"คุณพ่อจะสอนเสมอๆ ว่า โลกใบนี้ไม่มีคำว่า เพอร์เฟกต์ มีแต่คำว่า พยายามและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ยุ้ยและน้องสาวทั้ง 2 คน นำมาปรับใช้กับตัวเอง และสอนลูกน้องอยู่เป็นประจำเหมือนกันค่ะ เพราะไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตามแต่ วิธีคิดในการทำงาน วิธีคิดในการแก้ปัญหา ต้องมาพร้อมกับประสบการณ์
ซึ่งประสบการณ์ในที่นี้ เราต้องเจอด้วยตัวเองก่อน ... ถึงจะรู้ว่ามันผิดหรือมันถูกยังไง และจะเดินหน้าไปต่อหรือพอแค่นี้ เมื่อถึงตอนนั้น ค่อยมาวัดกันอีกที"
- วันหยุดของ ดร.ยุ้ย - เกษรา
สำหรับวันว่าง การอ่านหนังสือ เติมเต็มให้ชีวิต เป็นอีกเรื่องที่ ดร.ยุ้ย ทำมาตลอด
"พอลูกๆ เห็นเราอ่าน ก็จะมานั่งอ่านหนังสือด้วยกัน น้องๆ ก็จะอ่านหนังสือตามสไตล์วัยของเขาที่ตัวเองสนใจ
เรื่องการอ่านหนังสือ ยุ้ยว่าเราต้องค่อยๆ ทำให้เด็กๆ ซึมซับ และเห็นตัวอย่างจากตัวเรา ค่อยๆ ปลูกฝังการอ่านให้เขา จากนั้นเขาจะสร้างนิสัยรักการอ่านขึ้นมาด้วยตัวเขาเอง.."
ในฐานะที่เป็นลูกของคุณแม่ศรีอนงค์ และคุณแม่ของลูกสาว 2 คน (น้องธัญและน้องธีร์) เธอต้องรู้จักบริหารเวลาทั้งการทำงาน และครอบครัวให้สมดุล
"ลูกสาวก็เริ่มโตขึ้น ... อยากมีเวลา และได้ทำกิจกรรมกับพวกเขา เช่น ออกกำลังกาย พาไปเที่ยวทะเล หรือพาไปขับรถกอล์ฟที่โครงการ
ในทั้งสองฐานะลูกของแม่ และแม่ของลูก ไม่ได้มีกฎเกณฑ์อะไรที่ตายตัว เราแค่ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ และมีเวลาให้กันตามความเหมาะสม"
................
ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก ดร.ยุ้ย เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ และบทสัมภาษณ์จากกรุงเทพธุรกิจ
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์