"ชุดนักเรียน" ไม่มีชื่อ “ชุดลูกเสือ” ยืดหยุ่น "รร.อมาตยกุล" เรียนได้ คิดเป็น

"ชุดนักเรียน" ไม่มีชื่อ “ชุดลูกเสือ” ยืดหยุ่น "รร.อมาตยกุล" เรียนได้ คิดเป็น

การจับฉลากเข้าเรียนทั้งหมด, ชุดนักเรียนที่ไม่ต้องปักชื่อ, ชุดลูกเสือที่เครื่องแบบไม่ต้องเคร่งครัดไปทุกอย่าง ฟังเบื้องหลังวิธีคิดการพัฒนาโรงเรียนอมาตยกุล โรงเรียนที่อยากให้ทั้งความสุขและความรู้ เกิดขึ้นจริงได้ไปพร้อมๆกัน

คุณยังจำความรู้สึกของการไปโรงเรียนได้ไหม?

น่าเบื่อ, เครียด, ดีใจ, เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย และอีกฯลฯ

ความรู้สึกของใคร แต่ละคนก็คงหลายแบบ แต่ที่ โรงเรียนอมาตยกุล พัฒนาโรงเรียนจากสิ่งที่ตัวเอง “ไม่ชอบ” โดย รศ.ดร.เกียรติวรรณ อมาตยกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ก่อตั้งเริ่มจากความต้องการให้การศึกษาได้สร้างความสุขให้กับผู้เรียนมากที่สุด

“ผมเปิดร.ร.นี้คิดด้วยความคิดแรกที่ว่าสมัยที่ผมเป็นเด็กผมไม่ชอบไปโรงเรียน  อุดมการณ์อันดับหนึ่งของผมก็คือการเปิดโรงเรียนที่ทำให้เด็กอยากมาโรงเรียน ทำโรงเรียนให้เป็นสถานที่ที่มีความสุขมากที่สุดเท่าที่จะทำได้” ดร.เกียรติวรรณ อธิบายเมื่อครั้งก่อตั้งโรงเรียนเมื่อ พ.ศ.2533

กว่า 30 ปีที่ดำเนินมา โรงเรียนอมาตยกุล ผลิตนักเรียนหลายต่อหลายรุ่น จากเปิดสอนเฉพาะระดับชั้นอนุบาล 1-3 สู่การสอนระดับชั้นมัธยม อีกทั้งโรงเรียนแห่งนี้มักมีแนวทางที่เชื่อมโยงไปถึงประเด็นสังคมอื่นๆ หากแต่ไม่ปรากฎเป็นข่าว เช่น แต่งชุดไปรเวทมาเรียนสัปดาห์ละ 1 ครั้ง นานกว่า 20 ปี, ไม่ปักชื่อที่ชุดนักเรียน, ยืดหยุ่นและปรับกติกาการแต่งชุดลูกเสือ ทั้งนี้เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง

ด้วยเจตนาที่ดี แต่ละสถาบันการศึกษาล้วนมีแนวทางเป็นของตัวเอง เช่นเดียวกับ โรงเรียนอมาตยกุลแห่งนี้ ที่ออกแบบการเรียน ระเบียบกติกา ซึ่งมักได้รับคำชื่นชอบจากบรรดาผู้ปกครองและผู้ทราบข่าวอยู่เสมอ

ในวันที่กลิ่นอายของการเปิดเทอมใหม่ และคำถามว่าด้วยความเหมาะสมของกติกาในรั้วโรงเรียนยังคุกรุ่น “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ขอสนทนากับอาจารย์ รัชนี อมาตยกุล ผู้อำนวยการ โรงเรียนอมาตยกุล ถึงการพัฒนาและความเป็นไปของโรงเรียนขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็กแต่ยังคงยึดมั่นและยืนยันแนวทางที่ว่า การเรียนที่ดีต้องมีความสุข และครูก็ต้องไม่เสียเวลาทำเรื่องไร้สาระที่ไม่มีใครได้ประโยชน์  

\"ชุดนักเรียน\" ไม่มีชื่อ “ชุดลูกเสือ” ยืดหยุ่น \"รร.อมาตยกุล\" เรียนได้ คิดเป็น

  • ที่มาของการใส่ชุดไปรเวทมาเรียนได้ การไม่ปักชื่อในเครื่องแบบชุดนักเรียน ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อนคืออะไร?

เราไม่คิดว่าชุดหรือเครื่องแบบจะมีผลขนาดนั้น และการที่เขาใส่ชุดไปรเวทวันอังคารมา 20 ปีแล้ว มันทำให้เราเห็นเขาว่าเป็นอย่างไรเมื่อเขามีอิสระ 

จากการสอบถาม ทำแบบสำรวจ เราพบว่าการแต่งชุดไปรเวท ทำให้นักเรียนรู้สึกว่าวันนี้จะอิสระมากกว่าวันอื่นๆ แต่ในโอกาสที่เขาจะสามารถใส่อะไรมาก็ได้  เราถือว่าเขามีโอกาสได้ลอกรสนิยมซึ่งกันและกัน โชว์รสนิยมตัวเอง และเมื่อเขาได้แสดงออกมา ก็จะทำให้มีโอกาสที่จะแนะนำชี้แนะกันได้ ไม่ต้องกดดันว่าต้องทำแบบโน้น แบบนี้ ให้เขาอิสระต่อหน้า จากนั้นเขาจะค่อยๆเกลารสนิยมของเขา จนเขามีรสนิยมง่ายแต่ดูดี การจับคู่สี การรู้สึกเลือกเสื้อผ้าใส่แล้วถูกกาละเทศะ

ส่วนชุดนักเรียน ที่ไม่ปักชื่อก็ไม่ได้พิเศษ แต่เจตนาคือ ครั้งหนึ่งเราเคยได้รับการบอกสมัยเรียนที่มาแตร์ฯ ว่า การปักชื่อจะทำให้คนเห็นว่าเรานามสกุลอะไร เป็นลูกใคร ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับนักเรียน เมื่อเปรียบเทียบกับประโยชน์กับการปักชื่อว่าจะทำให้อาจารย์เรียกชื่อถูก มันจึงไม่จำเป็นสำหรับเรา ครูที่โรงเรียนอมาตยกุล 3 วัน สามารถจำชื่อได้หมดแล้ว ดังนั้นการปักชื่อคงไม่จำเป็น

ส่วนกติกาในเรื่องชุดนักเรียน เรามองถึงความเหมาะสม และความเรียบง่ายที่สุด อย่างชุดพละ เราก็จะออกแบบให้เป็นสีเดิม ซึ่งผู้ซื้อก็ซื้อทีเดียว ไม่ต้องเปลี่ยนในทุกปี รองเท้าพละคู่เดียวก็ใช้ในทุกวัน อะไรที่สิ้นเปลืองเราก็ไม่ทำ ไม่บังคับ

เรื่องชุดลูกเสือ รร.อมา​ตยกุล​ ให้นักเรียน​ป.1-4(ลูกเสือสำรอง)​ ใส่ชุดนักเรียนและผูกผ้าพันคอมาเรียนเท่านั้น ส่วนพี่ๆ​ ป.5 -​ม.3 (ลูกเสือสามัญ)​ ให้นักเรียนใส่ชุดพละและผูกผ้าพันคอมาเรียนในคาบลูกเสือเท่านั้นทั้งนี้เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของ​ ผู้ปกครอง​ และ​ ความคล่องตัวในการทำกิจกรรม สิ่งที่เลือกทำเพราะคิดแล้วว่ามีประโยชน์ อะไรไม่มีไม่จำเป็นต้องทำต่อ

เรื่องเครื่องแบบเราสอนให้เห็นถึงคุณค่าของความประหยัด ค่านิยมที่ดี เด็กที่นี่มีโครงการแลกกันใส่ พอสิ้นปี ก็จะเอาชุดนักเรียนที่ใส่ไม่ได้ มาแลกกันใส่ มีโครงการแลกกันใส่แลกกันอ่าน ผู้ปกครองที่มีลูกใส่ได้ก็เอาไป เราทำกันอย่างเงียบๆ อะไรที่เราทำแล้วผู้ปกครองดีขึ้น นักเรียนดีขึ้น เราทำหมด

  • นิยามของการศึกษาที่โรงเรียนอมาตยกุลคืออะไร?

พวกเราถนัดตอบอะไรที่ไม่เป็นทางการนะ (หัวเราะ) แต่ถ้าถามว่าคืออะไร มันง่ายๆว่า เราก็อยากจะทำให้คนเป็นคนดี ฉลาด และมีความสุข เด็กที่มีคุณภาพ โรงเรียนมีคุณภาพ คือการทำให้เด็กดีได้โดยการไม่ต้องควบคุม ต้องคิดเอง ตัดสินใจเองได้

มิติของความดี ประกอบทั้งร่างกาย ดีของจิตใจ ดีด้วยการเรียน ทำให้ตัวเองดีขึ้น ครอบครัวดีขึ้น สังคมดีขึ้น เราคิดเท่านี้ พอเราได้อันนี้เป็นโจทย์ เราก็ทำกิจกรรมที่นำไปสู่จุดนั้น ซึ่งก็เป็นไปตามหลักพัฒนาคนตามแนว นีโอฮิวแมนนิส ที่โรงเรียนวางเป็นแนวทางเมื่อครั้งก่อตั้ง จึงเป็นการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านร่างกายที่แข็งแรง, จิตใจที่มั่นคง เปิดกว้าง เฉลียวฉลาด, มีความรู้ที่จะนำไปประกอบอาชีพที่ตัวเองถนัด

\"ชุดนักเรียน\" ไม่มีชื่อ “ชุดลูกเสือ” ยืดหยุ่น \"รร.อมาตยกุล\" เรียนได้ คิดเป็น อาจารย์รัชนี อมาตยกุล และนักเรียนโรงเรียนอมาตยกุล 

  • ปรากฎการณ์การศึกษาในไทย ที่เราเห็นมาตลอดอย่างหนึ่งคือเรื่องความนิยมในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง โรงเรียนไหนที่มีชื่อเสียงก็จะมีคนมาสมัครคัดเลือกจำนวนมาก กลับกันที่จะมีโรงเรียนเล็กๆ ที่มีนักเรียนไม่กี่คน โรงเรียนอมาตยกุลอยู่ในกลุ่มโรงเรียนที่ได้รับความนิยม มองเรื่องนี้อย่างไร และมองว่าที่มาของความนิยมนี้คืออะไร?

ที่อมาตยฯ น่าจะเป็นเพราะการบอกต่อๆกัน ในยุคแรกที่ก่อตั้งเราก็คิดว่าจะมีคนมาสมัครไหม แต่เมื่อเวลาผ่านไปโรงเรียนก็เป็นที่รู้จักเรื่อยๆ ตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราเคยสัมภาษณ์ผู้ปกครองนะ ว่าทำไมถึงเลือกเรา เขาบอกว่าโรงเรียนนี้ทฤษฎีกับการปฏิบัติไปด้วยกัน มีความสมดุล คิดบวก เด็กมีความสุข นโยบายจากฝ่ายบริหารเป็นอย่างไร ปลายทางในการปฏิบัติก็จะเป็นแบบนั้นจริงๆ  

เราไม่ได้หมายว่าผู้ปกครองทั้ง 100% จะคิดแบบนั้น มันก็เป็นธรรมดาที่จะมีปัญหาบ้าง มีคนไม่เข้าใจบ้าง แต่ส่วนใหญ่เขาจะเข้าใจเรา ก็บอกยากนะว่าทำไมเขาถึงเลือกเรา แต่เรารู้ได้ว่าเมื่อเด็กจบไป บุคลิกและเด็กคนนั้นก็จะไม่เหมือนใคร แบบว่ารู้เลยว่าจบจากอมาตยฯ

ในตอนแรกๆ เคยมีผู้ปกครองบอกว่า ต้องการมาอยู่โรงเรียนแบบนี้ที่เรียนๆเล่นๆ ให้เด็กๆมีความสุข แต่เราก็จะขวาง เพราะเราจะไม่ยอมให้เด็กเล่นอย่างเดียว แล้วอย่าไปว่าโรงเรียนที่เขาให้เด็กกวดวิชาด้วย เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน ความต้องการของแต่ละครอบครัวต่อการศึกษาก็คนละแบบ 

มีผู้ปกครองมาบอกเราว่า มีเพื่อนที่เป็นคณบดีอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของรัฐ เขาเห็นเด็ก2คนนี้ แข็งแรง มีวิธีคิด ต่อมาเขามีโอกาสได้คุยกับเด็กสองคนนั้น คนละเวลา แล้วก็พบว่า เด็กทั้งสองคนนี้มาจากโรงเรียนเดียวกันคือ อมาตยกุล  เราเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ และพิสูจน์ว่าแนวทางของเราที่ทำมาตลอด ส่งผลกับเด็ก แนวทางนั้นคือความตรง ความชัดเจน ความยุติธรรม ที่นี่ไม่มีชนชั้น ทุกคนเท่ากัน มันซึมเข้าไปในหัวใจ และเด็กของเราคือคนที่มีความเชื่อว่า สังคมจะดีได้ และตัวเขาเองก็ต้องเป็นคนดี ฉลาด ร่างกายแข็งแรง มีความสุข

\"ชุดนักเรียน\" ไม่มีชื่อ “ชุดลูกเสือ” ยืดหยุ่น \"รร.อมาตยกุล\" เรียนได้ คิดเป็น

 

  • บุคลิกแบบเด็กโรงเรียนอมาตยกุลคืออะไร?

มีความมั่นใจ มี Self -Esteem (ความภาคภูมิใจในตัวเอง) ไม่กลัวที่จะสื่อสารกับคน กล้าแสดงออก บางทีอยู่กับเราเฉยๆ แต่จบออกไปเขาเป็นนักกิจกรรม

สิ่งเรานี้ มันเกิดขึ้นผ่านกิจกรรมที่เราออกแบบมา และบ่มเพาะในทุกๆกิจกรรม ทุกๆรายวิชา แม้กิจกรรมบางอย่างจะไม่มีชื่อเรียก ยกตัวอย่างเช่น เวลาไปทัศนศึกษา เราจะไม่ได้คิดเอง แล้วบอกว่าจะไปไหน แต่เราจะให้นักเรียนไปหาข้อมูล แล้วกลับมาคิด มาอภิปรายกัน ออกแบบวางแผนการเดินทางว่าจะไปทำอะไร เพื่ออะไร คิดจนจบแม้กระทั่งว่าจะไปด้วยรถประจำทาง หรือจะไปด้วยรถไฟฟ้า BTS และต้องใช้งบประมาณเท่าไร ระหว่างทางจะพักที่ไหน และรับประทานอะไรบ้าง

เมื่อเราแจกโจทย์ให้กว้าง ว่าจะไปทัศนศึกษาอะไร และเปิดโอกาสให้เขาได้อภิปราย เด็กที่นี่จึงเลือกไปทัศนศึกษาในสิ่งที่เขาต้องการและวางแผนโดยไร้กรอบโรงเรียนกำหนด เช่น ฝึกหัดทำอาหารญี่ปุ่น, ไปเล่นสเก็ตซ์น้ำแข็ง, ไปฝึกชกมวย, ไปลองใช้ยิมของโรงแรม

การไปทัศนศึกษาแต่ละครั้งเราคิดบนโจทย์ว่า จะทำอย่างไรให้งบประมาณที่ถูกจัดสรรมาเพื่อทัศนศึกษามันคุ้มค่าที่สุด เป็นประสบการณ์ที่เด็กจะได้ทำ และหลากหลาย ไม่ได้จบแค่ว่า “วันนี้เราจะไปสวนสัตว์กันทุกคน ตามมานะ” แต่เราจะแคร์ทุกขั้นตอน พอเขาไปอยู่ที่อื่น เลยนำเพื่อนคิด แล้ววางแผนนี่คือสิ่งที่สะท้อนผ่านบุคลิก

ในแต่ละกิจกรรม แต่ละหลักสูตร เรามีแบบแผนของเรา เรามีวิชาอย่างสังคมวิเคราะห์ ภาษาไทยใช้งาน บางวิชาบางกิจกรรมเราไม่ได้ตั้งชื่อก็เยอะ แต่ในทุกกิจกรรมเราจะสอนให้เขาคิด มากกว่าจะฟังเราว่าอะไรดี อะไรที่ควรทำ

มีกิจกรรมหนึ่งชื่อ “รักบ้านรักเมือง” เราตั้งคำถามถึงวงเวียนบางเขนที่เด็กนั่งรถผ่านทุกวัน เราตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรให้คนใช้ใช้ประโยชน์ หรือป้ายรถเมล์เนี่ยมีอะไรที่ต้องปรับปรุงไหม แล้วถ้ามี เราจะวางแผน และทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ถ้าใครมาฟังก็จะคิดว่า เออ! โรงเรียนนี้มันช่างคิด แล้วเด็กๆก็อยากคิดตาม  เด็กที่นี่หัดเปลี่ยนยางรถยนต์  รีดผ้า พับผ้า เป็นของขวัญให้กับคุณพ่อคุณแม่นะ ซึ่งการแสดงออกแบบนี้ มันเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ไม่ได้มีการจัดงาน ไม่ได้ประกวด

\"ชุดนักเรียน\" ไม่มีชื่อ “ชุดลูกเสือ” ยืดหยุ่น \"รร.อมาตยกุล\" เรียนได้ คิดเป็น

  • ทราบมาว่าที่นี่คัดเลือกนักเรียนด้วยการจับสลากเท่านั้น ที่มาของวิธีการนี้คืออะไร?

เรามองว่าในการที่จะรับเด็กเข้าเรียนมันมีวิธีอะไรบ้าง ถ้าเป็นสอบ เราก็จะได้แต่เด็กที่เก่งเข้ามา ถ้าสัมภาษณ์ผู้ปกครอง เราก็จะได้ผู้ปกครองที่ตอบเก่ง หรือถ้าจะใช้การบริจาคเราจะได้การรับเด็กที่มีเงินเป็นตัวตั้ง เมื่อมันไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่า เท่าเทียมกว่านี้เราจึงใช้วิธีจับฉลาก และการจับฉลากก็เป็นการท้าทายตัวเองว่าเราสามารถจะผลิตคนที่มีคุณภาพในแบบที่เราต้องการได้ไหม โดยที่ต้นทางของการรับก็ไม่ใช่เด็กเก่ง เด็กเรียนดีทั้งหมด

ย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อน ในตอนแรก เราไม่ได้จับฉลากนะ เราใช้วิธีใครมาก่อน รับก่อน ซึ่งผลที่ได้คือเราเริ่มเปิดจองตอน 8 โมงเช้า ก็จะพบว่ามีผู้ปกครองมารอตั้งแต่ตีสาม ตีห้า แล้วก็ค่อยๆเร็วขึ้นเป็นเที่ยงคืน แล้วก็กลายเป็นก่อนหน้าหนึ่งวัน เป็นการต่อคิวที่เร็วขึ้นเรื่อยๆ เราไม่อยากจะเห็นภาพเหล่านั้นจึงเลือกวิธีจับสลาก ซึ่งคิดว่าเป็นวิธีที่เท่าเทียมที่สุด

  • ที่นี่มีสิ่งที่เรียกว่า “อมาตยกุลโมเดล” โดยเฉพาะเรื่องแผนการสอน ที่มีสคริปให้ครูพูดตาม ปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร?

ยังมีอยู่  เราเรียกสิ่งนี้ว่า “อมาตยกุลโมเดล” เพราะเรามีแผนการสอนกลางที่มีแนวคิดแบบนี้ และเราจะพูดเช่นนี้ ครูที่นี่จึงไม่ต้องคิดแผนใหม่ ไม่ต้องเตรียมการสอนของตัวเอง เพียงแค่ทำความเข้าใจกับแผนและใจกว้างที่จะรับสิ่งนี้ 

อย่างในยุคโควิด-19 ที่สอนออนไลน์  สคริปแบบเดิมยังมีอยู่ เราก็มีการทำคลิปการสอน สอนแบบนี้ พูดแบบนี้ ซึ่งคลิปคือการสะสมความรู้ เด็กๆสามารถเรียนได้ตั้งแต่ต้นปีถึงปลายปี เพราะเช่นนั้นครูที่เขามาใหม่ ไม่ต้องทำแผน สอนตามคลิปต้นแบบ ช่วยลดภาระของครูได้ ทำให้ครูไม่ยุ่งจนเกินไป

(โชว์สคริปการพูด) รายละเอียดทั้งหมดมันมาจากการนั่งคุย เราเรียกมันว่า “วอร์รูม” ที่จะคุยกันทุกวัน และแผนของเราเกิดจากการนั่งคุยเช่นนี้มาหลายปี จนเกิดแผนการสอนเป็นร้อย เป็นหมื่นกิจกรรม ซึ่งตรงนี้เป็นแผนการสอนกลาง ซึ่งไม่ใช่แค่รู้รายละเอียดแต่ชั้นที่ตัวเองสอน แต่จะกี่ระดับชั้นเราเรียกมานั่งคุยกันหมด รู้กันตั้งแต่ต้นจนจบว่า แต่ละชั้นจะสอนแบบนี้ อย่างไร เวลาครูคนไหนไม่ว่าง อีกคนก็จะมาสอนแทนกันได้ ภายใต้แผนการสอนกลางนี้

\"ชุดนักเรียน\" ไม่มีชื่อ “ชุดลูกเสือ” ยืดหยุ่น \"รร.อมาตยกุล\" เรียนได้ คิดเป็น

  • ช่วยยกตัวอย่างแผนการสอนกลางที่ว่านี้?

อย่างเรื่องวิชาการเราทำให้มันง่าย เช่นเวลาให้แต่งประโยคภาษาอังกฤษ เราเริ่มจากให้เด็กคิดเป็นภาพ เช่นภาพลุงต๋อง เครื่องหมายบวก ป้ามะลิ  บวกกับภาพการ เครื่องหมายถูกและผิด คือ ชอบ-ไม่ชอบ เพื่อนำไปสู่การแต่งประโยค หัวใจคือให้เขาคิดเป็นภาพ เขาก็จะฝึกทำซ้ำๆ เขาก็พูดได้เลย โดยที่ไม่ต้องอ่านหนังสือก่อน ทุกอย่างเป็นรายละเอียดเลย

หรืออย่างสอนเรียกความ เรายกตัวอย่างเรื่องไข่ เราเอาไข่ปลอมมาติด แล้วให้ทุกคนพูดถึงสิ่งที่ตัวเองคิดเกี่ยวกับเรื่องไข่ คนก็พูด ไข่ต้ม ไข่เจียว แตกเป็นเรื่องๆที่เกี่ยวข้องกับไช่ จากนั้นเราก็ค่อยๆ อธิบายว่าจะเขียนเรื่องไหนในเรียงความเรื่องไข่ วิธีนี้ทำให้เขามีภาพในหัว มากกว่าจะเริ่มคิดว่า จะเขียนเรียงความเรื่องไข่อย่างไร

หรืออย่างสอนรัฐธรรมนูญ เราจะไม่ได้เริ่มจากบอกว่า รัฐธรรมนูญคืออะไร มีไว้ทำอะไร แต่เราเล่าถึง “เกาะๆหนึ่งกลางทะเล ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก วันหนึ่งก็มีคนว่ายน้ำพายเรือมา หลายๆคน ถามว่าคนร้อยพันคน เกิดปัญหาจะวุ่นวายไหม ดังนั้นจึงต้องมีกติกาที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันได้ นั่นแหละกฎกติกาที่เราเรียกว่ารัฐธรรมนูญ และประเทศไทยเป็นเกาะๆนั้น กับอีกเรื่องเกาะๆนั้น จะมีบรรดาพ่อบ้านมาประชุมกันทุกวันศุกร์ พ่อบ้านแบบนั้นแหละที่เราเรียกว่าเป็น ส.ส. ซึ่งแผนการสอนหรือสคริปแบบนี้เรามีทุกวิชา

  • ครูคนสอนต้องพูดตามนี้?

ใช่ เป็นวิธีการพูด

\"ชุดนักเรียน\" ไม่มีชื่อ “ชุดลูกเสือ” ยืดหยุ่น \"รร.อมาตยกุล\" เรียนได้ คิดเป็น โครงการแลกกันใส่​ ทาง​รร.ทำมานานกว่า​ 10 ปี​ โดยจัดให้มีจุดสำหรับให้ผู้ปกครองนำเสื้อผ้า​ ชุดนักเรียน​ ชุดพละ​ หรือ​ หนังสือและของเล่น​ มาวางไว้

  • ทุกโรงเรียนอยากให้เด็กเรียนอย่างมีความสุข แต่ก็ไม่ใช่ทุกโรงเรียนจะทำได้ ทำอย่างไรให้ปรัชญาในการตั้งโรงเรียนที่อยากให้เด็กมีความสุขด้วยกับการศึกษาไปสู่การปฏิบัติจริงๆ ?

อันดับแรกคือเราต้องแน่วแน่นะ เอาจริง ตั้งแต่เปิดจนถึงปัจจุบัน คิดอะไรก็ต้องทำให้จริง พวกเราเป็นนักฝัน และฝันไปฝันมาก็เป็นจริง เรารู้ว่าที่ผ่านมาโรงเรียนแบบไหนที่ไม่ชอบ แล้วเราก็เก็บความไม่ชอบ แล้วไม่มาทำต่อ เอาสิ่งที่ชอบมาทำ สิ่งที่เราทำ เราเริ่มตั้งแต่พื้นฐานนิสัย เริ่มตั้งแต่การลงจากรถ เด็กของเราจะลงรถไม่เกิน 5 วินาที ถ้าลงรถนานไม่ใช่ หรือวิธีคิด การพูดจาต่างๆ มันก็ต้องมาจากที่บ้าน ถ้าเราคิดว่าเหตุการณ์ไหนที่มันไม่ใช่ เมื่อเราทำความรู้จัก ทำความเข้าใจแล้ว ก็คงต้องพูดคุยกับที่บ้านด้วย

  • นับจากก่อตั้งโรงเรียนจนถึงวันนี้พอใจกับสิ่งที่เป็นไหม?

ถ้าเต็มร้อย ก็ทำไปได้แค่ 30% เองนะ อีก 70% ก็ต้องทำอีก เพราะทำดีกว่านี้ได้ และตั้งใจว่าจะดีกว่านี้ด้วย  30 ปีที่ผ่านมา เราคิดว่าผู้ปกครองค่อนข้างยอมรับนะ แต่สิ่งที่พยายามทำคือเราจะพยายามทำความยั่งยืนต่อไป แม้ผู้บริหารโรงเรียนจะเป็นใครก็ตามในอนาคต เหมือนกับที่สิงคโปร์ ลี กวนยู  (อดีตนายกรัฐมนตรี) ไปแล้ว แต่วิธีคิด การบริหารยังอยู่

  • องค์ประกอบที่ทำให้โรงเรียนเป็นในสิ่งที่อยากเป็น เช่นคำที่ว่า “อมาตยกุลโมเดล”เช่นนี้คืออะไร?

แผนการสอนที่พูดไปสักครู่นี้ กิจกรรม และยังมีครูที่ต้องเปิดใจให้กว้างๆ ทิ้งอีโก้ของตัวเอง หัวใจสำคัญของเราคือเราให้ครูฟังเด็ก เป็นครูที่ใช้หัวใจฟัง ไมได้ใช้อำนาจ และการไม่ใช่อำนาจนิยมก็จะทำให้ผลผลิตจากโรงเรียนแตกต่างกันไป

ในวอร์รูมของเรา เราจะคุยกันว่า วันนี้เรามีเรื่องแบบนี้ มีบริบทแบบนี้ แล้วเราก็หาวิธีการทันท่วงทีในแต่ละวัน เช่น อย่างวันนี้เราเปิดเรียนอีกครั้ง หลังจากปิดเพราะโควิด-19 ไป 2 ปี เราพูดเรื่องความเหมาะสมของทรงผม แต่ก็ให้เวลา 1-2 สัปดาห์ให้เขาไปแก้ไข

 เรามีวิธีพูด ไม่ใช่คำสั่งในเชิงอำนาจนิยมว่า “ต้องตัด เราเพียงแค่บอกว่า มันยาวไปหน่อยนะลูก ไปจัดการซะนะ จบ เข้าใจได้ และก็รอวันที่เขาหรือผู้ปกครองจะสะดวกไปตัดภายใน1-2 สัปดาห์ อมาตยกุลโมเดล คือ วิธีสอน วิธีคิด และกิจกรรม มีครูที่มีหัวใจ แต่ถ้าเราไม่มีสิ่งนี้เราก็เหมือนโรงเรียนทั่วๆไป  เราไม่มีการที่จะถามว่า “การจัดตู้เสื้อผ้าแบ่งเป็นกี่ชนิด” เราไม่มีการสอนที่จะเกิดขึ้นด้วยการตั้งคำถามแบบนี้แน่ๆ เรามีสคริป มีวิธีพูด แม้ว่าเป้าหมายจะเป็นการสอนในเรื่องเดียวกัน แต่เราแตกต่างในรายละเอียด

  • วิธีการพูดกับเด็ก วิธีการบอก ทำไมบางโรงเรียนถึงทำไมได้ และเกิดปัญหาอย่างที่เป็นข่าว เช่น ครูกล้อนผมเด็ก ครูสอนเด็กไม่เข้าใจและใช้วิธีการทำโทษ?

เราเคยคุยกับครูที่มาดูงาน เราก็คงตอบแทนไมได้ทุกโรงเรียน แต่เราคิดและทำทั้งโรงเรียนในแนวทางเดียวกันหมด ตั้งแต่แนวทางบริหารไปสู่การปฏิบัติ เราคิดวิธีการในทุกๆวิชา หากิจกรรมที่จะทำให้เด็กที่เรียนไม่เก่ง ต้องใช้เวลาในการเข้าใจ เข้าใจได้ ไม่ใช่แค่เป็นหน้าที่ของฝ่ายวิชาการ หรือปล่อยให้เป็นหน้าที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

  • หัวใจหลักของเรื่องนี้คือ “ครู” มีการคัดเลือกและเทรนนิ่งผู้สอนอย่างไร?

อย่างแรกเรารับคนโดยไม่จำเป็นว่าต้องจบในวุฒิการศึกษาบัณฑิต แต่คุณจบสาขาใดก็ได้ที่สนใจ และมีใจที่รักการสอน รักการเป็นครู

ในช่วงแรกๆ เราจ้างมานั่งสังเกตการณ์ 3 เดือน ยังไม่ต้องสอน ไม่ต้องทำอะไร ให้อยู่ใกล้เราก่อน เราจ้างมานั่งใกล้ๆเพื่อสังเกต ดูจิตดูใจกันก่อน แล้วพอเราเห็นแล้วว่าเขาอยากทำอะไร มีศักยภาพด้านไหน ค่อยถึงเวลาลงมือทำ วิธีการเช่นนี้ การสังเกตการณ์อยู่ใกล้ๆ เช่นนี้ เราพบว่าทำให้ปัญหาน้อยลง

เรามี วอร์รูม นั่งอยู่ด้วยกันทุกวัน เขามาฟังเรา ฝึกรับโทรศัพท์บ้าง ไปโบกรถ เป็นครูโรงเรียนนี้ต้องเป็นแบบอย่าง ลดอีโก้ของตัวเอง และเป็นแบบอย่างเรื่องการพยายามเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นครู เป็นผู้ใหญ่ด้วยกัน เพราะถ้ายังเข้าใจผู้ใหญ่ด้วยกันไม่ได้ แล้วจะไปเข้าใจเด็กได้อย่างไร เราไร้กระบวนท่า รวมเหมือนเป็นเรื่องเดียวกัน

เราตอบแทนโรงเรียนอื่นไม่ได้ แต่ครูโรงเรียนอมาตยกุล เราไม่มีการประเมินที่ไร้สาระ เรายินดีที่รับครูมาฝึก มาสำรองไว้ ไม่มีใครที่สอนหนักเกินไป สัดส่วนครูว่างโดยปกติจะอยู่ที่ 5 คน  ถ้าไม่มีอะไรทำก็นั่งสังเกตการร์ไป เตรียมตัวไว้ เราไม่มีการประเมินอะไรไร้สาระ และอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์กับเด็ก เราไม่จำเป็นต้องทำ

เราพัฒนาศักยภาพของครู พาไปดูงานต่างประเทศ มีทุนให้เรียน แต่ถึงเช่นนั้นก็มีเหมือนกันที่ครูที่นี่ เมื่อบรรจุเป็นข้าราชการครูได้ เขาก็เลือกที่จะไป ซึ่งก็เป็นธรรมดา และเราก็ไม่ปิดกั้นโอกาสนะ แม้ว่าเขาจะอยู่กับเรา 1 ปี หรือ 2 ปี สำหรับเราเมื่อเขารู้คุณค่าในสิ่งที่เราพยายามจะทำ แม้จะเพียงแค่ 1-2 ปี ก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย

  • อัตราการสอบเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย หรือสอบเข้าแข่งขันในเรื่องอื่นๆของที่นี่เป็นอย่างไร?

อยู่ในเกณฑ์ปกติ เทียบเท่ากับที่อื่นๆ เป็นธรรมดาที่จะมีทั้งคนเก่งและไม่เก่ง ที่สำคัญคือเมื่อเขามั่นใจว่าชอบทางไนก็ไปทางนั้น เช่น คนที่ชอบทำ Tiktok, Youtuber ก็ไม่สอบเลยก็มี มุ่งหน้าไปเรียนเอกชนในคณะที่ตัวเองต้องการ อยากเป็น เชฟ ก็มุ่งไปเลย

\"ชุดนักเรียน\" ไม่มีชื่อ “ชุดลูกเสือ” ยืดหยุ่น \"รร.อมาตยกุล\" เรียนได้ คิดเป็น

  • เด็กยุคนี้ต่างจากยุคก่อนอย่างไร?

ตอบยากมาก ถ้าเรามองเด็กเล็กก็แบบหนึ่ง เด็กโตก็อีกแบบ เด็กเล็กตอนนี้ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 เขาเหมือนกับอยู่กับอุปกรณ์สื่อสารเยอะ อยู่กับหน้าจอเยอะ เป็นเด็กที่ตอบโต้น้อย มีการสวมวิญญาณในสิ่งที่เขาได้ดู โลกเขาเป็นอีกแบบ

ส่วนเด็กโต เราคิดว่าเขามีโอกาสดีกว่าเรานะ หาความสุขได้มากกว่ายุคก่อน กล้าบอกที่จะอยากเป็นเชฟ อยากเป็น Youtuber มั่นใจ และถ้าถามว่าเขาเอาแต่ใจมากกว่ายุคเรา หรือยุคก่อนหน้าหรือไม่? ก็ในเมื่อเขารู้เยอะกว่า เขาก็มีความเป็นตัวตนมากกว่าในอดีต เราก็ต้องเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้