หนุนพลังคนรุ่นใหม่ ลด "เจ็บ-ตาย" บนท้องถนน
ถึงเวลาลดเจ็บ-ตายบนท้องถนน เมื่อ "จักรยานยนต์" คร่าชีวิตคนไทย ครองแชมป์เสียชีวิตสูงอันดับ 1 ของโลก แนะผู้ใหญ่เปิดพื้นที่ หนุนพลังคนรุ่นใหม่ มีส่วนร่วมขับเคลื่อนถนนปลอดภัย
รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตของเด็ก และเยาวชนไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นบนท้องถนน โดยข้อมูลระบบบูรณาการข้อมูลการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปี 2554 - 2563 ประเทศไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน สะสมสูงถึง 206,588 คน หรือเฉลี่ย 20,659 คนต่อปี
โดยอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง ที่มีสัดส่วนการเสียชีวิตสูงถึง 73.59% หากเทียบกับประเทศอื่นๆ อัตราการเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์ของคนไทยอยู่ที่ 24.3 คน ต่อแสนประชากร ซึ่งทำให้ไทยป็นอันดับหนึ่งของโลก เฉพาะในปี 2563 ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิต จากอุบัติเหตุทางถนนต่อแสนประชากรอยู่ที่ 27.2%
แต่ที่สำคัญกว่านั้น กลุ่มอายุที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์สูงสุดคือ กลุ่มอายุ 15-19 ปี และ 20-24 ปี โดยปีนี้กลุ่มอายุ 20-24 เสียชีวิต 1,850 คน สูงกว่ากลุ่มอายุ 15-19 ปี 48 คน ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มอายุ 0-14 ปี นับรวมเด็กแรกเกิด และเด็กที่ยังไม่ถึงวัยที่สามารถทำใบขับขี่ได้ แต่กลับมีผู้เสียชีวิตรวมกันสูงถึง 797 คน
เมื่อสองล้อคร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับหนึ่งของโลก ทางออกจะเป็นอย่างไร? เพื่อไม่ให้ประเทศไทยครองแชมป์อีก
พลังคนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนถนนปลอดภัย
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "พลังคนรุ่นใหม่กับการลดการเจ็บตายจากอุบัติเหตุทางถนน" บอกว่า การสูญเสียหรือการจากไปของคนสำคัญในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ป้องกันได้
ดร.สาธิต มองว่า ต้องทำให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมกับทุกปัญหาดังกล่าว ในเมื่อเด็กและเยาวชนกำลังจะเป็นประชากรที่เราสูญเสียมากที่สุด วันนี้ถึงเวลาที่คนไทยทุกคนต้องเดินหน้าที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ แม้อาจไม่เท่าช่วงโควิด-19 แต่ก็ควรอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ โดยหลักคือ การมีส่วนร่วมในการคิดการแก้ปัญหาด้วยตัวของเด็กเอง และทราบตัวชี้วัดว่าจะสร้างพลังความเปลี่ยนแปลงแค่ไหน
ฟังผลงานของกลุ่มเครือข่ายเยาวชนรุ่นใหม่กับการขับเคลื่อนลดอุบัติเหตุทางถนน เริ่มที่ผู้แทนเครือข่ายเยาวชนยัวร์สเน็ตเวิร์ค (YOURS Network)
ธนบูรณ์ พ่อหลอน ประธานสภานักศึกษา จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร เล่าว่า โครงการจัดตั้งมาสองปี กิจกรรมหลักคือการกวดขันวินัยจราจร รณรงค์ให้นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยตระหนักความสำคัญการขับขี่อย่างปลอดภัย ลดอุบัติเหตุทางถนน โดยแม้จะอยู่ในช่วงของสถานการณ์โควิด-19 แต่ทางยัวร์สเน็ตเวิร์คก็ยังจัดกิจกรรมแคมเปญ 4 มี ซึ่งประกอบด้วย 1. มีใบอนุญาตขับขี่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ขับขี่มีความรู้ในเรื่องวินัยจราจร 2. มีหมวกนิรภัยทั้งผู้ขี่และผู้ซ้อน 3. มีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยอุบัติเหตุ และ 4. มีหน้ากากอนามัย
"ในเครือข่ายยังมีการเชื่อมโยงไปยังมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในสกลนคร ได้แก่ ราชภัฏสกลนคร เทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตสกลนคร วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร และยังได้ขยายกิจกรรมรณรงค์ไปยังโรงเรียนในพื้นที่และองค์การบริหารส่วนจังหวัดในสกลนคร แรกๆ ก็มีเสียงสะท้อนจากคนที่ไม่ชอบสวมหมวกนิรภัย เขามองว่าเราจะรณรงค์ไปทำไม ใส่หรือไม่มันเป็นสิทธิส่วนบุคคลของเขา แต่ในความจริงเราอยากสร้างความตระหนักให้เขาว่าเขาต้องป้องกัน" ธนบูรณ์ กล่าว
ธนพนธ์ โพธิ์ทรัพย์ ตัวแทนชมรมถนนปลอดภัยในสถานศึกษา (Road Safety Campus: RSC) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร เล่าว่า ความจริงทางชมรมมีการดำเนินการกิจกรรมมานานแล้วครับ แต่ต่อมาได้มาร่วมกับ RSC โดยบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด
"งานหลักของเรามีสองสามกิจกรรม อันดับแรก เราเริ่มการณรงค์โดยใช้สื่อออนไลน์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ โซเชียลมีเดีย พร้อมกับมีมาตรการ จัดตั้งจุดกวดขันวินัยจราจร ผ่านกิจกรรมจับปรับลด ซึ่งก็คือ จับนักศึกษาที่ขับขี่เข้ามาในมหาวิทยาลัยแล้วไม่สวมหมวกกันน็อค ปรับ ไม่ใช่การปรับเงินแต่เป็นการปรับทัศนคตินักศึกษาในเชิงบวกให้หันมาใส่หมวกกันน็อค ลด คือการลด สำหรับนักศึกษาที่มีชั่วโมงกิจกรรมไม่ครบ เราจะชวนมาทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ให้ครบ" ธนพนธ์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมนอกมหาวิทยาลัย เป็นกิจกรรมเยาวชนปลอดภัยมีใบขับขี่ ที่ยังได้รับการสนับสนุนโดยจังหวัดสกลนคร รวมถึงตั้งจุดตรวจ 7 วันอันตราย เป็นต้น
ศุภวิชญ์ เจ็ดรัมย์ นักศึกษาระดับ ปวช.จากวิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ ผู้แทนเยาวชนโครงการ Honda One Dealer One College ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทางบริษัทฮอนด้าได้อบรมความรู้ให้แก่ครูอาจารย์และนักศึกษาในโรงเรียนอาชีวศึกษาเพื่อสร้างความตระหนักรู้ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีรถจักรยานยนต์ไปพร้อมๆ กับการจัดอบรมขับขี่ปลอดภัยเพื่อลดอุบัติเหตุในสถานศึกษา รวมถึงเสริมทักษะการขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ถูกต้อง และสนับสนุนให้วิทยาลัยพานักศึกษาไปทำใบขับขี่อย่างถูกต้อง
จิรกิตติ์ เหมหิรัญ ผู้แทนสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย เผยถึงบทบาทหน้าที่ของสภาเด็กและเยาวชนว่า คือพื้นที่กลางในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในการรวมกลุ่มทำกิจกรรมขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ และมีส่วนร่วม ซึ่งเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนและการขับขี่ปลอดภัยเป็นหนึ่งในประเด็นที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
"สภาเด็กและเยาวชนฯ มีนโยบายขับเคลื่อนในเรื่องถนนปลอดภัย มุ่งเน้นให้น้องๆ ในสภาเด็กและเยาวชน ช่วยการคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะสร้างหรือก่อให้เกิดความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้ ซึ่งการขับเคลื่อนที่ผ่านมามีการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มสภาเด็กและเยาวชนในเทศบาลนครภูเก็ต ที่มีบทบาทในการรณรงค์ขับเคลื่อนโครงการถนนปลอดภัยให้แก่เยาวชนในพื้นที่ และยังมีข้อเสนอนโยบายได้" จิรกิตติ์ กล่าว
นอกจากนั้น ยังพยายามส่งเสริม ผลักดันเด็กที่เป็นเครือข่ายให้ต่อยอดเผยแพร่องค์ความรู้ ตระหนักรู้ในการร่วมเครือข่ายต่างๆ ในการรณรงค์เรื่องถนนปลอดภัยและการขับขี่ปลอดภัย เช่น การเข้าร่วมงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนนเมื่อสามปีที่แล้ว โดยมีเป้าหมายการขับเคลื่อนเป็นธงร่วมกันในเวลานั้น คือ หนึ่ง ประเทศไทยต้องมีเครือข่ายสภาเด็กและเยาวชนเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งปัจจุบันมีแล้ว สองมีการเสนอนโยบายเรื่องถนนปลอดภัย สาม มีการเสนอพัฒนาแกนนำเยาวชน ซึ่งขณะนี้มีมากกมาย และสี่ มีการวางแผนแนวทางในการขับเคลื่อนต่อมา
พชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า ภายใต้การสนับสนุนโดย สสส. ได้สร้างกิจกรรมของคนรุ่นขับเคลื่อนพลังเยาวชน ในการลดอุบัติเหตุทางถนน และยังร่วมมือกับกลุ่มเยาวชนขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ อาทิ กิจกรรมเครือข่ายเยาวชน YOURS Network ที่ขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายความปลอดภัย ภายในสถานศึกษา รวมถึงกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย และสถานศึกษาด้วยกันถึง 8 จังหวัด พื้นที่นำร่อง จ.ระยอง การลงนามความร่วมมือกับวิทยาลัยอาชีวศึกษา จำนวน 5 แห่งเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา โดยใช้แนวคิด "เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน"
"เราได้เห็นตัวอย่างที่ดีของสถานศึกษา วันนี้วิทยาลัยต่างๆ ในจังหวัดระยองลุกขึ้นมาขับเคลื่อน เราได้เห็นนวัตกรรมด้านการขับเคลื่อนประเด็นนี้ และภาคีต่างลุกขึ้นมาแก้ปัญหาอุบัติเหตุร่วมกัน ผมมองว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุมันห้ามไม่ได้ แต่ทำอย่างไรให้อัตราการเสียชีวิตน้อยลง" พชรพรรษ์ กล่าว
ปัญหาของเยาวชน ควรให้เยาวชนช่วยแก้
ธนพนธ์ นำเสนอแนวคิด หลังถูกถามถึงข้อเสนอที่อยากฝากถึงภาคนโยบายในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ เขาบอกว่า เราต้องชวนเขาไปขับเคลื่อน แล้วสิ่งเหล่านี้มันจะแก้ปัญหาในเชิงพฤติกรรมคน เพราะเมื่อใดที่เด็กเขารู้สึกว่าคือปัญหาของเขา เขาก็จะลุกขึ้นมาแก้ เป็นครู อาจารย์ พระหรือใครสักคนเขาเข้าไปบอกให้เขาทำอาจให้ความร่วมมือ อาจเพียงครึ่ง แต่เมื่อไหร่ที่เราให้เขามีส่วนร่วมในการคิด ในการทำในการแก้ไขปัญหาเองตั้งแต่ต้น เขาก็จะรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของปัญหา
"อยากได้รับการสนับสนุนมาช่วย เราอยากสร้างแกนนำในเรื่องความปลอดภัยทางท้องถนน และกระจายไปสู่อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน อาจจัดรูปแบบกิจกรรมเช่นการเข้าค่าย การให้โอกาสเขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แต่เรื่องนี้ ถ้าเด็กทำ ผู้ใหญ่ไม่หนุน คงเกิดยาก นอกจากนี้ อยากฝากให้มีการปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องการขับขี่รถบนท้องถนน ตั้งแต่เด็กๆ เลย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จริง ไม่จำเป็นต้องมาเรียนผ่านสื่อโซเชียล หากเรามีหลักสูตร หรือนโยบายตั้งแต่เด็กก็จะปรับให้เด็กมีความตระหนักรู้เรื่องการใส่หมวกกันน็อกและความปลอดภัยบนท้องถนน หรืออย่างในละคร ตัวพระเอกคนดังหรือไอดอล ก็ต้องเป็นแบบอย่าง สร้างจิตสำนึก หากในละครนักแสดงไม่ใส่หมวกกันน็อค เขาก็ไม่ใส่ตาม" ธนพนธ์ กล่าว
ด้าน พชรพรรษ์ เล่าถึงในต่างประเทศ หากเป็นละครซีรีส์หรือภาพยนตร์ จะมีคณะกรรมการมากำกับดูแล ถ้าหากตัวละครใดหรือใครไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย ก็จะถูกเรียกกลับไปถ่ายทำใหม่
"ข้อเสนอแรกที่อยากเสนอคือ ต้องมีหน่วยงานกำกับดูแล เราเคยเสนอกระทรวงวัฒนธรรม แต่ทางกระทรวงเองกล่าวว่าไม่มีบทบาทอำนาจในการกำกับเรื่องนี้ สอง เราอยากผลักดันให้เรื่องนี้อยู่ในหลักสูตรการศึกษา รู้ไหมครับว่า ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยการเรียนที่เป็นหลักสูตรและเนื้อหาวิชาเกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนน รวมกิจกรรมนอกหลักสูตรรวมแล้วแค่ปีละไม่เกิน 10 ชั่วโมงต่อปีเท่านั้น หากเราทำให้เรื่องนี้เป็นหนึ่งในทักษะชีวิตที่จำเป็น เหมือนประเทศญี่ปุ่นทำ" พชรพรรษ์ กล่าว
พชรพรรษ์ ยังเห็นด้วยว่า ต้องให้เด็กมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น เด็กและเยาวชนเป็นคีย์ซัคเซสสำคัญ เรื่องนี้จะไม่สำเร็จเลยถ้าไม่ให้เด็กไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ
ทางฝั่ง จิรกิตติ์ ผู้แทนของสภาเด็กและเยาวชนขอเสนอสั้นๆ อยากให้เสนอนโยบายที่เอื้อให้เด็กเยาวชนมีส่วนร่วมมากกว่านี้ และอยากให้มีตัวแทนฝั่งเด็กและเยาวชนเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น เพราะถ้ามีพื้นที่เปิดโอกาสในเรื่องประเด็นต่างๆ มากขึ้น และเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนที่เป็นเจ้าของปัญหามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น
มอบข้อเสนอเชิงนโยบาย
ท้ายสุด พชรพรรษ์ ในฐานะตัวแทน ได้กล่าวถึงข้อเสนอเชิงนโยบาย จำนวน 4 ข้อ ในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน คือ
- ส่งเสริมให้มีหลักสูตรหรือพัฒนาชุดการเรียนรู้ในระบบการศึกษา เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ตั้งแต่ระดับปฐมวัย
- เร่งรัดการบังคับใช้กฎหมาย กำหนดมาตรฐานยานพาหนะ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ให้ติดตั้งอุปกรณ์ช่วยลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุ เช่น ระบบป้องกันล้อล็อคตายขณะเบรกฉุกเฉิน (ABS) หรือระบบความปลอดภัยก่อนการชนในรถยนต์
- กำกับดูแล และส่งเสริมสื่อโฆษณาสร้างสรรค์ เพื่อลดการใช้เนื้อหาโฆษณาความแรงของเครื่องยนต์ รวมถึงการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง
- ส่งเสริมให้เกิดทางเลือกอื่นในการเดินทาง โดยเฉพาะการลดอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้า หรือระบบขนส่งมวลชนในประเทศให้สอดคล้องกับรายได้และทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้
- สถาบันการศึกษา มีกลไกกำกับดูแล ส่งเสริมให้มีการสวมหมวกนิรภัยก่อนขับขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์
ทั้งนี้ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับทั้ง 5 ข้อเสนอจากกลุ่มเยาวชน เพื่อนำไปหารือและดำเนินการต่อไป