ลุคใหม่ ไชน่าทาวน์! “ศิลปะบนฝาท่อ” ความงามบนถนน เล่าเรื่องราวของชุมชน
“ศิลปะบนฝาท่อ” จากงานวิจัยสู่ความหวังสร้างทัศนียภาพสุนทรีย์ “เยาวราช-เจริญกรุง” เผยแพร่แผนที่ทางวัฒนธรรมชุมชน ด้วยแนวคิดใช้กิจกรรมและงานสร้างสรรค์ทางศิลปะเป็นสื่อเผยแพร่อัตลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรม
ผ่านมาร่วมหนึ่งปีแล้วที่ ฝาท่อ สีสันสดใส ทำหน้าที่สื่อความหมายมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่เยาวราช-เจริญกรุง ฝาท่อเหล่านี้คือผลงานส่วนหนึ่งจากโครงการ “การออกแบบศิลปะบนฝาท่อเพื่อเผยแพร่แผนที่ทางวัฒนธรรมของชุมชน” ภายใต้งานวิจัย “การพัฒนาทุนทางศิลปะและวัฒนธรรมย่านเยาวราช” ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่ง รองศาสตราจารย์จักรพันธ์ วิลาสินีกุล อาจารย์จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นหนึ่งในทีมวิจัยผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ศิลปะบนพื้นที่สาธารณะเหล่านี้
กว่าจะมาเป็น ศิลปะบนฝาท่อ เริ่มต้นจากการสำรวจพื้นที่ในย่านเยาวราช-เจริญกรุง เพื่อหาความเป็นไปได้ที่จะใช้งานศิลปะและการออกแบบเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่สาธารณะในย่านชุมชนที่นำไปสู่การสร้างหมุดหมายบนแผนที่ทางวัฒนธรรม ซึ่งผลลัพธ์ของการสำรวจพื้นที่และการทำงานร่วมกับนักวิจัยด้านประวัติศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ข้อสรุปเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมจะพัฒนาให้เกิดฝาท่อที่มีความเป็นศิลปะ โดยการออกแบบสื่อถึงโบราณสถาน อาคาร ร้านค้า สถานที่อันเป็นที่มาของชื่อย่าน และสาธารณูปโภคที่มีขึ้นครั้งแรกของกรุงเทพมหานคร รวมถึงอัตลักษณ์ด้านการค้าของย่านเยาวราช
“ในการออกแบบเราได้สร้างภาพที่มีลักษณะกราฟิก เพื่อให้ผู้ชมจดจำได้ง่าย โดยคำนึงว่าต้องสื่อถึงที่มาได้โดยตรง และเชื่อมโยงไปสู่ความหมายและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ฝาท่อที่ออกแบบมาชุดนี้ ตัวอย่างเช่น วัดมังกรกมลาวาส ห้างทองเยาวราช การประปา และรถรางสายแรกบนถนนเจริญกรุง เป็นต้น การวางตำแหน่งฝาท่อครั้งนี้กำหนด 19 จุดสำคัญในย่านเยาวราช-เจริญกรุง ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปสู่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของจุดต่าง ๆ โดยโครงการวิจัยได้จัดทำฐานข้อมูลออนไลน์ไว้ นอกจากนี้ยังเพิ่มตัวอักษรระบุตำแหน่งฝาท่อ 3 ภาษา ได้แก่ ไทย จีน และอังกฤษ ส่วนด้านการผลิตโครงการวิจัยได้ประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการโรงงานหล่อเหล็กมาร่วมพัฒนาฝาท่อให้ได้คุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ และสามารถลดค่าใช้จ่ายในการผลิตได้ต่ำกว่าการดำเนินการครั้งก่อน”
ความน่ากังวลของเมืองเก่าในกรุงเทพฯ กลายเป็นประเด็นที่ รศ.จักรพันธ์ บอกว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเกิดโครงการเพื่อพัฒนาเมืองด้วยความคิดสร้างสรรค์มากกว่าการทำให้ทุกเมืองเก่าเป็นเสมือน “ธีมปาร์ค” หรือเมืองที่ถูกจัดตั้งขึ้น การนำศิลปะเข้ามาจรรโลงพื้นที่เดิมและสิ่งเดิม น่าจะเป็นการ “ปลุก” ให้เมือง “ตื่น” ได้อีกครั้ง
“เราเห็นเกาะรัตนโกสินทร์ก่อนหน้านี้แล้วที่มีลักษณะเป็นธีมปาร์ค มีลักษณะเป็นเมืองร้างในอนาคต เราเชื่อว่าเมืองที่มีชีวิตจะพาวิถีคน วิถีวัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลง ไปในทิศทางที่น่าปรารถนา ส่วนเยาวราชมีพลวัตสูง มีเดิมพันสูง เพราะเป็นชุมชนที่อยู่ได้ด้วยศรัทธาและความเชื่อ เป็นแหล่งรวมเศรษฐกิจ แหล่งบันเทิงสมัยโบราณ มันเปลี่ยนผ่านมาทุกยุคทุกสมัย หากมองย้อนกลับไปในยุคโก๋หลังวัง เยาวราชคึกคักมาก มันมีความรุ่งเรือง แต่ก็มีบางอย่างฟุบไป แล้วก็มีอย่างขึ้นมาทดแทน”
เหตุผลสำคัญที่เปลี่ยนจากฝาท่อระบายน้ำบนถนน มาใช้ "ฝาท่อสาธารณูปโภค" หรือ “ฝาท่อจ่ายน้ำ” ของการประปาซึ่งติดตั้งอยู่บนฟุตบาธ ก็เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องการรับรู้ของผู้คน
“จากการสำรวจของทีมวิจัยพบว่าฝาท่อระบายน้ำที่อยู่บนถนน มีรถสัญจรไปมาทับอยู่ตลอดเวลา ส่วนฝาท่อประปาก็ติดปัญหาที่มีขนาดเล็ก ออกแบบได้ค่อนข้างยาก แต่ทุกหัวท้ายของถนนย่านนี้มีบ้านและมีวาล์วจ่ายน้ำอยู่ พูดง่ายๆ มันคือหมุดหมายที่คนจะมองเห็นได้ จึงเกิดเป็นการผลิตต้นแบบฝาท่อประปาจากความร่วมมือของเครือข่าย มีบริษัท นวกาญจน์โลหะชลบุรี จำกัด ผู้ประกอบการผลิตฝาท่อ ได้ทดลองผลิตต้นแบบฝาท่อประปา ด้วยเหล็กหล่อเหนียวส่วนฝาท่อและวงแหวนรอบฝาหีบ แล้วลงสี โดยเลือกลายจากถนนเยาวราช 1 ลาย และถนนเจริญกรุง 1 ลาย
ผลก็คือการพัฒนาฝาท่อประปาให้สวยงามมีลวดลายและสีสันที่ดึงดูดสายตานอกจากจะช่วยให้ทัศนียภาพในเมืองน่ามอง ยังประกอบเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่ทางวัฒนธรรมที่ช่วยแสดงอัตลักษณ์ของชุมชนให้ปรากฏชัดยิ่งขึ้น”
ในแง่การใช้งาน การทำให้ฝาท่อประปาโดดเด่นมองเห็นได้ง่าย ช่วยให้เข้าถึงอุปกรณ์เมื่อยามจำเป็นได้ดีขึ้น และยังทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายบอกทาง แสดงเส้นทางไปยังจุดสำคัญของย่าน รวมทั้งขอบเขตและจุดเชื่อมต่อไปยังย่านอื่นๆ ได้อีกด้วย อย่างในหลายประเทศที่ติดตั้งฝาท่ออันเป็นเอกลักษณ์ของเมือง เช่น ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส คือตัวอย่างของการสร้างสรรค์หมุดหมายที่เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมได้อีกทางหนึ่ง
“ศิลปะบนฝาท่อ” นี้ยังมีเทคโนโลยีด้านข้อมูลอย่างการใช้ QR Code เพื่อแจ้งข้อมูลแต่ละหมุดหมาย อ่านได้ผ่าน QR Code ที่ติดตั้งอยู่ด้านซ้ายของวงแหวน โดยแต่ละลวดลายจะให้ข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ของย่านที่แตกต่างกันตามที่ติดตั้งฝาท่อนั้นๆ และแนบลิงก์เพื่อเชื่อมต่อกับเว็บไซต์อื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ เช่น เว็บไซต์ของการประปานครหลวง เว็บไซต์งานวิจัยเยาวราช-เจริญกรุง